ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน พ่อแม่ยุคใหม่ต่างมีแนวทางเตรียมพร้อมเสริมทักษะและวางแผนอนาคตให้ลูกแตกต่างกันไป ด้วยเป้าหมายเดียวกันว่าอยากให้ลูกเติบโตเป็นพลเมืองโลกอย่างมีคุณภาพ และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข อุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมกับ Edsy สตาร์ทอัพการศึกษา ได้มีโอกาสรับฟัง 3 ผู้บริหารใหญ่ของเมืองไทย คุณพรทิพย์ กองชุน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการและผู้ร่วมก่อตั้ง Jitta, ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท LINE ประเทศไทย และคุณสิทธิโชค นพชินบุตร รองประธานองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ว่าพวกเขามองว่าทักษะใดที่สำคัญ และลูกจะนำมาใช้รับมือกับชีวิตในวันที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ เนื้อหาเล่านี้ล้วนเป็นแนวคิดที่สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับแต่ละครอบครัวได้ทันที
วางแผนให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งที่สนใจ
คุณพรทิพย์ กองชุน คุณแม่ของลูกสาว 2 คน เล่าว่า เธอใช้หลัก VUCA WORLD ช่วยนำทางในการวางแผนระยะยาว VUCA คือ เทคนิครับมือความไม่แน่นอนสำหรับผู้นำยุคใหม่ มาจากคำว่า V-Volatility ความผันผวน, U-Uncertainty ความไม่แน่นอน, C-Complexity ความซับซ้อน และ A-Ambiguity ความคลุมเครือ โดยเธอวางแผนให้ลูกได้รับการศึกษาและการเรียนรู้มากที่สุด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าลูกต้องเรียนจบถึงปริญญาเอก แต่ลูกควรได้รับการศึกษา การเรียนรู้ ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน หรือชีวิตการทำงานได้ดี และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
“การวางแผนระยะใกล้ของเราคือ ต้องใกล้ชิดและดูลูกตลอดเวลา คอยสังเกตว่าเขาอยากเรียนรู้เรื่องอะไร อยากไปโรงเรียนแบบไหน อยากเป็นอะไรตอนนี้ พยายามยืดหยุ่น และวางแผนเพื่อตอบโจทย์เขา ซึ่งลูกอาจจะเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา พ่อแม่จึงต้องเฝ้าดู แล้ววางแผนระยะสั้นไปเรื่อยๆ เพื่อให้เห็นภาพระยะยาวให้ได้”
คุณพรทิพย์ยกตัวอย่างต่อว่า ด้วยความที่เป็นคุณแม่สายออนไลน์ จากการทำงานด้านไอที จึงอนุญาตให้ลูกดูยูทูบตามคอนเทนต์ที่คัดสรรมาแล้ว เช่น คลิปหนูยิ้มหนูแย้ม เพราะเขาทำการทดลองเยอะ อย่างการทดลองปล่องภูเขาไฟ อีกส่วนคือ การลงมือทำจริง ไปปั้นแป้งโดว์ เรียนดนตรี วาดรูป เพราะไม่รู้ว่าลูกชอบอะไร จึงต้องใช้การทดลองเป็นแรงกระตุ้น แรงผลักดันให้ลูกรู้ว่ามีสิ่งต่างๆ ที่เขาสามารถทำได้
“ส่วนพ่อแม่ก็ต้องเรียนรู้เหมือนกัน ลูกว่ายน้ำ ต้องว่ายด้วย ลูกขี่ม้าก็ทำด้วย เพราะก่อนพาลูกไปทำกิจกรรม พ่อแม่ต้องไปเรียนรู้ก่อนว่าแต่ละโรงเรียนมีเทคนิค มีเคล็ดลับ หรือมีกระบวนการอย่างไร ซึ่งสามารถนำมาใช้กับลูกได้ก่อน เพราะลูกเรียนรู้ได้เร็วที่สุดเมื่อมาจากพ่อแม่
คุณพรทิพย์ กล่าวเสริมว่า สำหรับ 20 ปีข้างหน้า ลูกจะกลับมาขอบคุณเรื่องอะไร เธอมองว่า ไม่ได้ต้องการให้ลูกกลับมาขอบคุณที่มีลูก แต่ถ้าลูกอยากขอบคุณ คงเป็นเรื่องที่ให้อิสระเขาได้เรียนรู้การอยู่รอดบนโลกใบนี้
“ขอบคุณที่ให้อิสระ เขาได้เรียนรู้ อยู่รอดบนโลกใบนี้ที่อาจมีเราหรือไม่มีเรา เขาเติบโตขึ้น มีความสุขในชีวิต คือสิ่งที่เราอยากได้ยินจากเขา เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจึงเตรียมให้เขามากที่สุด มีทั้งทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิต จึงเน้นว่า สอนให้เขาเรียนรู้ที่จะเรียนรู้ได้อย่างไร หรือ Learning How to Learn มันเป็นทักษะที่จำเป็นมากๆ เพราะแม่เองก็ต้องเจอเรื่องใหม่ๆ ทุกวัน ทั้งสงคราม ตลาดหุ้นตก ลูกจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง อยู่รอด มีความสุขกับชีวิต ได้ทำในสิ่งที่ชอบ สุดท้ายขอบคุณ คุณแม่ คุณพ่อที่ทำให้ชีวิตเขามาถึงจุดนี้ได้ค่ะ”
วางแผนให้ลูกค้นเจอในสิ่งที่ชอบ
ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา แบ่งปันความคิดเห็นว่า ไม่คาดหวังว่าลูกต้องมีปริญญา แม้ตัวเขาจะมีปริญญาถึง 3 ใบ ไม่เคยคาดหวังให้ลูกต้องเรียนหนังสือเก่ง หรือเรียนหนังสือเยอะ หากคาดหวังให้ลูกเอาตัวรอดเป็น และไม่ต้องเป็นคนจดจำเก่ง แต่เป็นคนที่สามารถจัดการข้อมูลได้ รู้ว่าข้อมูลนี้ต้องหามาจากไหนได้ รู้ว่าข้อมูลนี้หาได้จากใคร ข้อมูลไหนน่าเชื่อถือ ข้อมูลไหนไม่น่าเชื่อถือ
“สมัยผมเป็นเด็ก เด็กเรียนเก่งต้องเรียนหมอ เรียนวิศวะ ผมเลยต้องเป็นวิศวกร แต่ความชอบส่วนตัวด้านเทคโนโลยีเลยได้มาอยู่ตรงนี้ ผมจึงเรียนรู้ว่าหน้าที่ของผม หนึ่งคือช่วยให้ลูกหาสิ่งที่ชอบเจอ ไม่คาดหวังว่าต้องเรียนหนังสือดี เรียนหนังสือเก่ง สองคือในโลกแห่งการเรียนรู้ เขารู้ว่าข้อมูลที่ดีหาได้จากไหน สามคือ เอาตัวรอด แยกแยะระหว่างสิ่งที่จำเป็นในชีวิต กับสิ่งที่เกินจำเป็นในชีวิต อยากให้เขาบาลานซ์ได้ ถ้าเขามีพอแล้วก็จะไม่กดดันตัวเอง”
อย่างไรก็ตาม ดร.พิเชษฐ ยังเน้นการมองหา สถานศึกษา สิ่งแวดล้อม และภาษาอังกฤษควบคู่ไป ผ่านการพาลูกไปทำกิจกรรมพบเจอผู้คนบ่อยๆ คอยสังเกตว่า ลูกชอบอยู่กับคนประเภทไหน ทำให้ค้นพบว่า ลูกไม่ชอบเล่นกีฬา ชอบศิลปะระบายสี ไม่ชอบคณิตศาสตร์ ชอบอยู่กับคนเยอะแต่ไม่กล้าพูด และเป็นคนช่างสังเกต
“เวลาพาไปทำกิจกรรม ผมจะพยายามให้คุณแม่ไปด้วย ซึ่งคุณแม่เขาจะคอยอธิบายว่าทำไมเขาทำอย่างนี้ เช่น กิจกรรมแบบ play group เราต้องทำอย่างไรบ้าง ทำไมเพื่อนคุยกันเอง ทำไมไม่มาคุยกับเรา หรือการอ่านนิทานก่อนนอน ซึ่งอ่านให้ฟังทุกวัน เขาก็มีพฤติกรรมชอบการอ่าน ตอนนี้ลูก 7 ขวบ ก็เอานิทานมาอ่านให้พ่อฟัง หรือเวลาเราไปเที่ยวต่างจังหวัด ก็จะเล่นเกม พูดสัตว์เป็นภาษาอังกฤษ ผมก็ได้รู้จักสัตว์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน”
ดร.พิเชษฐ กล่าวเสริมว่า ถ้าในอีก 20 ปีข้างหน้า ลูกจะกลับมาขอบคุณเรื่องอะไร เขามองว่า เป็นเรื่องที่ทำให้ลูกค้นเจอในสิ่งที่ชอบ
“เขาได้ทำงานในสิ่งที่เขาชอบ ค้นพบตัวเอง ผมว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเขาต้องไม่รู้สึกว่าทำงานเพื่อเงิน แล้วเอาเวลาที่เหลือไปทำสิ่งที่ชอบ แต่เขาได้ทำสิ่งที่ชอบไปพร้อมกับเงินที่เขาต้องการ อย่างที่สอง เขาเข้าใจชีวิต แล้วมาขอบคุณเราว่า เขารู้จักพอ ไม่ใช่หาเงินเท่าไรก็ไม่พอ ถ้ารู้จักพอ มีเท่านี้มันก็พอ ใช้ชีวิตของเขา แล้วให้โอกาสลูกเขาเข้ามาตาม Cycle นี้อีกรอบ สองเรื่องนี้ผมพอใจแล้ว”
วางแผนให้ลูกเจอความถนัดที่ชอบ และแก้ปัญหาในชีวิตเป็น
คุณสิทธิโชค นพชินบุตร ได้แสดงความเห็นว่า เขาเน้นวางแผนเรื่องทักษะมากกว่าการศึกษา เพราะสมัยเด็กๆ พ่อแม่อยากให้ลูกรับราชการ ถัดมาก็อยากให้ลูกเป็นวิศวกร ถัดมาอีกรุ่นอยากให้เป็นนักการเงิน ปัจจุบันเด็กอยากเป็นผู้ประกอบการเองหมด เพราะฉะนั้นเมื่อผู้ใหญ่พยายามทำนายอนาคต ล้วนผิดตลอด จึงเน้นให้ลูกมีทักษะเพื่อรับมือกับสิ่งต่างๆ ในอนาคต ได้แก่ 1. การคิดวิเคราะห์ 2. ดิจิทัล และเทคโนโลยี 3. การเป็นผู้นำด้วยตนเอง 4. International Skills
“ผมดีไซน์ว่า อยากเปิดโอกาสให้ลูกได้ค้นหาสิ่งที่เขาชอบ ถ้าสมมติลูกผมอายุ 15-16 ปี แล้วอยากไปสายวิชาการ ผมคิดว่าใน 2 ปี ถ้าอยากไป ก็ไม่สายเกินไป ระหว่างทางผมจึงอยากให้ลูกค้นหาว่าตัวเองถนัดด้านไหน พัฒนา International Skills จะได้พัฒนาการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ รวมถึงการแก้ปัญหาในชีวิต เพราะพ่อแม่ไทย มักประคบประหงมลูก ลูกเลยแก้ปัญหาไม่เป็น”
คุณสิทธิโชค กล่าวเสริมว่า ถ้าในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า ลูกจะกลับมาขอบคุณอะไรเขา คงเป็นเรื่องขอบคุณที่เปิดโอกาสให้ทดลอง ให้ทำผิดพลาดแล้วกลับมาแก้ไขได้
“ที่พูดแบบนี้เพราะการยัดความรู้ให้ลูกมันไม่เวิร์ค ผมยังจำความรู้สมัยมัธยมไม่ได้เลย นอกจากเรื่องที่ผมสนใจ ผมอยากให้ลูกลองทำ ให้มั่นใจในชีวิตว่า ถ้าทำผิดพลาด มีพ่อแม่คอยเป็น Safety Net ถ้าลูกมั่นใจเขาจะกล้าทำอะไรได้อีกเยอะ แต่ถ้าลูกมีแต่ความกลัว เขาอาจกลับมาตำหนิเรา ผมจึงอยากให้ลูกมีทักษะ นี้ เจออะไรให้เหมือนเล่นเกม วิ่งชน แก้ไข ผ่านด่านได้ เก่งขึ้นระดับหนึ่ง ถ้าเป็นแบบนี้ลูกคงรู้สึกภาคภูมิใจ”