สปอยล์กันหน่อย Learning Designer คืออะไร อธิบายยังไงให้พ่อกับแม่รู้เรื่อง
5 พฤษภาคม 2565
922
รีวิว: deep academy การรวมตัวของนักออกแบบการเรียนรู้
Rating: xxooppgg1133
Spoil Alert: 10/10
เรื่องย่อ
จากหนังสือการ์ตูนยอดฮิตของมาร์เวล ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกัน แต่การรวมตัวกันของผู้ก่อตั้งของ Deep Academy ทั้ง 5 คนเหมือนการรวมตัวของเหล่า ดิ เอเวนเจอร์ส ที่ค้นพบพลังพิเศษในการช่วยให้คนปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอันผันผวนด้วย ‘การเรียนรู้’
พวกเขาทั้ง 5 ค้นพบว่าวิถีทางเดียวที่จะช่วยให้โลกนี้รอดได้คือการติดตั้งมันลงไปในตัวผู้คน และหากต้องทำเช่นนั้น พวกเขาจำเป็นต้องรวบรวมกำลังมหาศาลเพื่อทำภารกิจให้สำเร็จ พวกเขาประกาศเอาไว้อย่างชัดเจนว่า จะขอใช้งานนี้ทวงคืนอำนาจการเรียนรู้ และทำให้การเรียนรู้มีศักดิ์มีศรีเท่ากับระบบการศึกษา และจะต้องทำสำเร็จให้ได้ในชาตินี้
ส่วนพวกเขาจะมีวิธีการอย่างไร ไปติดตามสปอยล์ ลุย ล่า ฝ่า โลกแห่งความผันผวนด้วยการเรียนรู้กับทีมก่อตั้ง deep academy ด้านล่างนี้เลย
อ้อ! ดิ เอเวนเจอร์ส หลีกทางหน่อย เพราะ deep กำลังจะมา
ตัวละคร
ประกอบด้วย
แม่บี รับบทโดย มิรา เวฬุภาค ครั้งนี้ผู้กำกับก็ลงสนามเป็นหนึ่งในตัวแสดงด้วย มิราคือแม่โฮมสคูลลูกสองที่ทำงานควบสองบริษัท คือ mappa และ Flock learning และบางวันก็ปลอมตัวไปเก็บข้อมูลในฐานะนักวิจัยอิสระด้านการศึกษา
มะโหนก รับบทโดย ศุภวิชช์ สงวนคัมธรณ์ มือจัดกระบวนการเรียนรู้จาก BlackBox มีประสบการณ์ด้านการออกแบบการเรียนรู้ให้กับกลุ่มครู อย่างโครงการก่อการครู หรือ STEAM4Innovator และอีกหลากหลายกระบวนการ
โน๊ต รับบทโดย วรัตม์ เชิดเกียรติตระกูล ชายหนุ่มอารมณ์ดี พูดน้อยแต่ต่อยหนักและต่อยเจ็บ ชอบอ่านหนังสือ ชอบพาตัวเองไปเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ โดยเฉพาะเรียนรู้เรื่องการเรียนรู้ เพราะเขาคือหนึ่งใน Learning Designer ของ BlackBox
ม๋ำ รับบทโดย เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ ผู้ค้นพบพลังพิเศษจากการเรียนวิศวอากาศยาน และเมื่อเขาได้เข้าถึงพลังพิเศษนั้น เลยเอามาใช้สร้างสรรค์บ้านหลังใหม่ที่ใช้ตัวเร่งพลังพิเศษให้ผู้คนในชื่อ BASE Playhouse
แม็ก รับบทโดย ภีศเดช เพชรน้อย เขาเหมือนชายหนุ่มอ่อนโยนที่ซ่อนตัวอยู่ในโลกหนังสือ แต่แล้วเมื่อจักรวาลจัดสรร ก็ทำให้เขามาร่วมประกอบบ้านหลังใหม่กับม๋ำ ที่ BASE Playhouse
ทำไมถึงรวมตัวกันเป็น deep จักรวาลจัดสรรรึเปล่า
มะโหนก น่าจะเป็นมิราจัดสรร (หัวเราะ) คือเราสามทีมสนใจอยากทำให้สังคมรู้จักอาชีพใหม่ๆ อย่าง Learning Designer แล้วก็เกิดจาก pain point ส่วนตัวด้วยที่หาคนทำงานด้านนี้ยาก ไม่ค่อยมีคนทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง เลยคุยกันว่า BASE Flock แล้วก็ BlackBox ต่างทำเรื่องออกแบบการเรียนรู้อยู่แล้ว แต่ก็อยู่ในสนามหรือแวดวงของตัวเองอย่าง โรงเรียน เด็กมัธยม องค์กร พ่อแม่ ครู การศึกษา ก็เลยอยากเอาจุดแข็งของแต่ละคนมาช่วยกัน ร่วมกันส่งเสียง ทำให้สังคมรู้จัก Learning designer รวมถึงทำคอนเทนต์เชิงลึกด้วย คือเอาจุดแข็งมารวมกัน
ม๋ำ ทำคนเดียวมันเหงา (ยิ้ม) ถ้าเอาตรงๆ เลยคือ เราเบื่อกับการที่ไม่มีใครรู้สักทีว่าสิ่งที่เราทำกันอยู่มันเรียกว่าอะไร ถ้าเอาฟีลลิ่งที่เรียลที่สุดอะ คือมันเบื่อกับการที่อธิบายไปคนก็ไม่เก็ตว่าทำเราอะไร
แม่บี ทุกวันนี้ยังอธิบายให้พ่อแม่เข้าใจไม่ได้ (หัวเราะ)
ม๋ำ ใช่ พ่อแม่ยังไม่รู้เลย คือทำไปคนเดียวแล้วมันก็เหนื่อย หมายถึงว่าพูดคนเดียวมันเหนื่อยเลยอยากเอาคนที่รู้จริงๆ มารวมตัวกันแล้วพูดพร้อมกันน้ำหนักมันจะได้กระจายและสร้างแรงกระเพื่อมได้ แล้วผลพลอยได้อื่นๆ จะตามมาเอง
งานที่ทำอยู่ไม่ใช่งานกระแสหลัก ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง มีความท้าทายอย่างไรบ้าง
มะโหนก แลกด้วยแฟน 2 คนอะครับ ท้าทายมั้ย (หัวเราะ) ความท้าทายอย่างหนึ่งก็คือ คนไม่ค่อยรู้จักสิ่งที่เราทำ โลกยังไม่ค่อยรู้จักหรือไม่รู้ว่าจะปฏิบัติกับคนทำอาชีพนี้ยังไง เขาจะจ้างเราเขาต้องรู้จักก่อนว่าเราทำอะไร คือถ้าคนเป็นหมอจะเห็นชัดเจนว่าเดี๋ยวจะเดินทางนี้ อันนี้เหมือนเราต้องสร้างเส้นทางของตัวเอง ความท้าทายคือตรงนี้
โน๊ต ต้องทำไปด้วยแล้วก็ค่อยๆ อธิบายคนอื่นไปด้วยว่าเราทำอะไรและเรามีประโยชน์กับโลกนี้ยังไง อีกมุมหนึ่งคือ พอมันไม่ใช่วิชาชีพ ไม่มีคณะที่สอนเรื่องนี้โดยเฉพาะ การพัฒนาตัวเองก็มีความยากอยู่เหมือนกัน
มะโหนก สมัยนั้นคนจ้างยังเรียกเราว่าทำสันทนาการอยู่เลย (หัวเราะ) แต่ว่าเราก็ทำ Active learning ไง เป็น Activity based
แม็ก ความท้าทาย คือ การรับรู้คำนี้ในสังคม มีความน่าสนใจคือถ้าคนในสังคมไม่รับรู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร คนจะไปใช้คำนิยามเก่า อย่างการทำงานกับองค์กรเขาก็จะมีคำนิยามหรือมีมุมมองอยู่ไม่กี่มุม เช่น การตลาด การสร้างแบรนด์ หรือ การเทรนนิ่ง อะไรแบบนี้ ซึ่งแต่ละมุมมันก็มีเป้าหมายของมันอยู่ เช่น เทรนนิ่งให้พนักงานเข้าใจเรื่องการสร้างแบรนด์ ก็คือทำให้ลูกค้าแฮปปี้ขึ้น มีคนสนใจสินค้าเรามากขึ้น มันก็จะมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าทำไปเพื่ออะไร แต่สิ่งที่เราทำคือ อยากเพิ่มอีกมุมหนึ่งคือ การออกแบบการเรียนรู้เพื่อให้คนเติบโต หรือเรียนรู้เป็น เราให้ทักษะเขา เราบอกเขาว่าถ้าเขาผ่านเรื่องนี้ไป เขาจะมีมุมมองใหม่ มีทักษะใหม่โผล่ขึ้นมา คือติดตั้งเลนส์อันนี้เข้าไปในตัวเขา แต่ถ้าองค์กรเอากลับไปเปรียบเทียบกับนิยามเดิม เช่น การขาย การตลาด หรือการสร้างแบรนด์ เขาจะมีกรอบในหัวเหมือนเดิม แล้วก็จะคุยยาก มันก็ไม่มีโอกาสใหม่ๆ หรือท่าใหม่ๆ ให้เล่น จริงๆ ตอนก่อนมาทำ BASE เราบ้าคลั่งเรื่อง Service Design มาก ไปดูรัฐบาลของอังกฤษ หรือออสเตรเลีย เขาตั้งกรมหรือกระทรวงขึ้นมาเพื่อสนับสนุนเรื่อง Service Design แม้มันจะเป็นศัพท์ใหม่ แต่เขาตั้งใจบอกกล่าวคนในประเทศ พอพูดคำนี้ มันก็ทำให้คนทั้งประเทศคิดกันว่าการให้บริการต้องปรับปรุงยังไง ออกแบบให้ดีขึ้นได้ยังไงบ้าง
ทีนี้ถ้ามันมีคำว่า Learning Design โผล่ขึ้นมา คนในสังคมควรจะได้เข้าใจ และทำให้การเรียนรู้ในองค์กรหรือที่ไหนก็ตามดีขึ้น มันน่าจะสร้างกระบวนการหรือ How บางอย่างที่ทำให้เปลี่ยนสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้นและน่าจะสนุกขึ้นมาก
ฝันเห็นเป้าหมายอะไรถึงมาทำงานนี้กัน
แม่บี คือการเห็น Industry นี้มันดำเนินต่อไปเรื่อยๆ การสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ไม่ใช่กระแสหลักไม่ใช่เรื่องง่าย เราไม่มีวันรู้เลยว่าในช่วงชีวิตหนึ่งที่เราทำงาน มันจะประสบความสำเร็จแค่ไหน ดังนั้นนอกจากทำงานที่ตัวเองทำแล้ว อีกสิ่งที่ต้องทำ คือการสร้าง Ecosystem (ระบบนิเวศ) ที่คอยสนับสนุนให้งานนี้มันทำต่อไปได้ เช่น ถ้าน้องๆ คนรุ่นใหม่จะลุกขึ้นมาสร้างโปรเจกต์ของตัวเอง เขาต้องเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย ถ้าเขาอยากแก้ปัญหานี้ ต้องมีหลักสูตร หรือมี insight มากพอให้เขาเข้าใจปัญหาจริงๆ มีองค์ความรู้พอประมาณในการออกแบบงานของตัวเอง ไม่ใช่นึกจะอยากแก้ก็แก้เลยโดยไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง หรือนึกอยากทำแต่ lost ไปหมดเพราะปัญหามันกว้างใหญ่ไพศาล ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน
มะโหนก ของผมก็จริงๆ เป็นความฝันที่มาทำ BlackBox ด้วยครับ รู้สึกว่าอยากเปลี่ยนประเทศ และผมเชื่อในพลังของคน เปลี่ยนคนแล้วคนก็จะไปช่วยเปลี่ยนสังคม ที่มาเลือกเส้นทางอันยากลำบากอยู่ก็ด้วยความคิดนี้ เพราะรู้สึกว่ากลไกที่อยู่เดิมมันไม่ถึง ก็ไม่ได้ว่ากัน แต่ว่ามันมีข้อจำกัด ซึ่งข้อจำกัดก็จะทำให้เกิดพื้นที่ใหม่ อันนี้เป็นระบบสังคมทั่วไป ทางออกใหม่ๆ พื้นที่ใหม่ๆ จะเกิดขึ้นเพราะคนพื้นที่เก่ามันอยู่ไม่ได้ แต่พื้นที่ใหม่นี้ก็ต้องมีคนทำ คือช่วยให้ทั้งสังคมเก่งขึ้น ช่วยให้คนเก่งขึ้น ดีขึ้น คือไม่ได้ต้องผูกขาดว่าคนที่จะมาสร้างการเรียนรู้ต้องเป็นระบบการศึกษา มีวุฒิหรือว่าต้องเป็นครูเท่านั้น ภาพฝันไกลๆ ก็คืออยากให้ประเทศนี้มันดีขึ้น ประเทศนี้จะดีขึ้นได้ คนมันต้องดีขึ้น คนต้องเก่งขึ้น และยึดโยงกับกับคนอื่นมากขึ้นด้วย ซึ่งก็คือนิยามของการเรียนรู้ การศึกษา คือทำให้คนวิวัฒน์ขึ้น
แม็ก สำหรับแม็ก อยากให้โลกนี้หรือประเทศนี้มีเสรี อยากเรียนเรื่องอะไรก็เรียนรู้ได้ ทุกคนตั้งเป้าหมายของตัวเองได้ แล้วก็เรียนรู้ หลังจากมีเสรี มีเป้าหมายแล้ว ต่อมาก็คือมีการสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้ทุกคนไปถึงเป้าหมายของการเรียนรู้ได้ จริงๆ เห็นด้วยกับพี่บี เพราะส่วนตัวเชื่อในเรื่องของ Self Directed Learning มากๆ รู้สึกว่าถ้าเราทุกคนมีทักษะของ learning how to learn ได้ ทุกคนเป็น Learning Design ให้ตัวเอง ณ ตอนนั้นมันแค่ ใช้บริบทของสังคม มันอาจไม่ต้องใช้โรงเรียน มหา’ลัยอย่างเดียว อาจใช้ฟังก์ชันห้องสมุด หรือฟังก์ชันอะไรก็ตามที่มันมีอยู่ในสังคม ทำให้เกิดการเรียนรู้ ก็ฝันว่าถ้ามันไปถึงจุดนั้น คนพร้อม Ecosystem พร้อม สังคมก็จะกลายเป็นสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการเรียนรู้ และพร้อมสนับสนุนศักยภาพของทุกคน นี่น่าจะเป็นภาพที่อยากเห็นมากๆ
ม๋ำ เราน่าจะต่างจากคนอื่นนิดหนึ่ง จากที่ฟังๆ มา เมื่อกี้จะพูดเรื่องสังคมวงกว้าง อย่างตัวเราเอง เราจะค่อนข้างสปาร์กมากๆ กับจุดการเติบโตของคนหนึ่งคน ที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการที่เราทำ อาจจะเป็นเพราะว่าจุดแรกที่ทำให้เราอินกับเรื่องนี้มากๆ มันคือประสบการณ์ตรงที่เคยดูน้องๆ มาแล้วเราเห็นการเติบโตของเขา แล้วมันทำให้เราเติมเต็มมากๆ ดังนั้นเป้าหมายที่เราอยากจะได้ คือ อยากทำให้เห็นว่า กระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุด มันทำได้ และสร้างได้จริงๆ มันสร้างให้ดีกว่านี้ได้ แล้วเราไม่ได้ดูแค่ในภาพใหญ่
แต่เราอยากเห็นกระบวนการหรืออยากสร้างกระบวนการหรือเครื่องมือสักอย่างหนึ่งที่ทำให้คนสามารถทรานส์ฟอร์มตัวเองได้จริงๆ แล้วทรานส์ฟอร์มด้วยกระบวนการที่ทำให้เขาสนุกระหว่างทาง และเปลี่ยนตัวเองได้จริงๆ อิมแพคกับชีวิตเขาได้จริงๆ คือเราอยากจะสร้างเครื่องมือที่สร้างอิมแพคตรงนี้ให้ได้ เพราะเราเชื่อว่าถ้าทำได้ ก็จะมีผลกับคนในวงกว้างด้วย
ทำไมการเรียนรู้ต้องมีการออกแบบ คนไม่ได้เรียนรู้เองอยู่แล้วเหรอ
แม่บี จริงๆ มนุษย์เรียนรู้อยู่แล้วเป็นธรรมชาติ แต่ก็น่าตั้งคำถามว่าระบบการศึกษาทำลายธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์หรือเปล่า ระบบการศึกษาลดทอนความสามารถทางการเรียนรู้ของปัจเจกแล้วให้ค่ากับการเรียนรู้ที่มีคนอื่นป้อนให้หรือเปล่า คือบางคนอยู่รอดในระบบนี้ได้มันก็โอเค คือรอรับว่า input คืออะไร process ได้ และสร้าง output ได้ แต่นี่ไม่ใช่การเรียนรู้ที่ทุกคนทำได้ เลยทำให้บางคนเอาตัวรอดไม่ได้ คนเหล่านั้นเขาถูกลดทอนคุณค่าการเรียนรู้ เราทุกคนที่ผ่านมาในระบบการศึกษาก็เป็น น่าจะมี pain คล้ายๆ กัน จะมีบางช่วงที่เรารู้สึกว่าเรารอคนอื่นป้อนเรา บอกคำตอบฉันหน่อย บอกมาสิว่าควรจะทำอะไร เราไม่สร้างสรรค์เอง เราไม่ใช้แรงขับของตัวเอง แต่ทำตามแรงขับของคนอื่น ต้องมีคนจัดการเรียนรู้ให้เหมือนสำเร็จรูป พอวันหนึ่งเราก็เลยรู้สึกว่า เอ๊ะ เราไม่ต้องหาความฝันก็ได้ เราไม่ต้องทำตามอะไรก็ได้ เราไม่ต้องมีแรงขับก็ได้ เพราะว่าจริงๆ เราไม่เคยได้ทำมันมาเลยใน 20 ปีของระบบการศึกษา คือเราเรียนตามโจทย์ของคนอื่นมา 20 ปี
ส่วนตัวเลยมองว่า Learning Design ในแบบที่อยากทำ คือการออกแบบการเรียนรู้เพื่อทวงอำนาจการเรียนรู้กลับมาเป็นของคนทุกคน ทวง 20 ปีนั้นกลับมาเป็นของเรา ทำให้ธรรมชาติการเรียนรู้มันกลับมา มันแปลกดีเนอะเหมือนเราทำงานย้อนแย้งมาก เหมือนการเรียนรู้มีอยู่แล้ว แล้วมันถูกทำลายไป แล้วเราก็ต้องจัดการดึงมันกลับมาอีก (หัวเราะ)
ม๋ำ จริงๆ อันนี้เป็นมิติหนึ่ง แต่มีอีกอันที่เราเพิ่งไปอ่านมาแล้วรู้สึกว่าก็จริงคือ เราว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันมันไม่ใช่ระบบที่ถูกออกแบบมาดี คือจริงๆแล้ว education มันควรจะเป็นแค่ตัว catalyst หรือเร่ง ถามว่าต้องมีไหม ต้องมี แต่ระบบที่ดีมันควรจะให้มนุษย์ตั้งคำถามด้วยตัวเอง แต่ด้วยระบบและกระบวนการปัจจุบัน มันไม่ได้ทำให้มนุษย์ตั้งคำถามด้วยตัวเอง สิ่งที่มันเกิดขึ้นมันก็เลยกลายเป็นว่าระบบไป disrupt การเรียนรู้ แต่ถ้ามันถูกจัดอย่างถูกต้อง มันจะช่วยเร่งให้ไปเร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น เราไม่ต้องกลับไปเป็นเซอร์ไอแซค นิวตันที่คิดทฤษฎีแรงโน้มถ่วงใหม่อีกครั้ง เพราะเขาใช้เวลาทั้งชีวิตของเขาในการคิดมาแล้ว สิ่งที่การศึกษามันควรจะเป็น คือการเอาสิ่งที่คนอื่นคิดมาแล้ว มาย่นย่อมัน แล้วตั้งคำถามว่าจะทำยังไงให้คนยุคใหม่ที่เพิ่งเกิดมาซึมซับสิ่งเหล่านี้ให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้เอาสิ่งเหล่านี้ไปเป็นสารตั้งต้นในการทำสิ่งอื่นๆ ต่อ แล้ว move forward มนุษยชาติไปข้างหน้า
มะโหนก ชักสนุก ขอต่อด้วย คือพอโยงการเรียนรู้เข้ากับระบบการศึกษา เราขอตั้งคำถามว่าทำไมต้องเป็นระบบการศึกษาอย่างเดียวที่เป็นเจ้าภาพเรื่องการเรียนรู้ เราอยากทวงคืนอำนาจในการเรียนรู้ ไม่ให้อยู่ในมือของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ดูแลระบบการศึกษาจะได้ไหม การเรียนรู้มันมากกว่าที่เขาจัดระบบในนั้นเอาไว้ เรานั่งกินข้าวอยู่ด้วยกันตอนนี้มันก็เรียนรู้ได้มากมาย ไม่อยากให้ติดกับความคิดเดิมๆ ที่ว่าการเรียนรู้อยู่ในมือครู เมื่อไหร่ออกจากประตูบ้านไปเข้าโรงเรียนก็เป็นหน้าที่ครู ไม่จริงหรอก พวกเราเองที่โตแล้ว แก่แล้ว อายุเท่าไหร่ก็ตามมันก็เรียนรู้ได้หมด
มีครู มี Facilitator มีโค้ช แล้วทำไมยังต้องมี Learning Designer
แม่บี คิดว่ารูปแบบการเรียนรู้มันเปลี่ยนไปมาก การพูดถึง Learning Design อาจจะไม่ได้พูดภายใต้กรอบความคิดของการจัดการชั้นเรียน ให้ห้องเรียน หรือในโรงเรียนอย่างเดียว โลกมันเปลี่ยนไป อย่างงานที่เราทำคือ mappa งานนี้เป็น EdTech ที่เราออกแบบแอปพลิเคชันที่ให้คนใช้ใช้ผ่านมือถือ หรือแท็บเล็ต Learning designer ต้องคิดและออกแบบกิจกรรมเพื่อให้อีกคนหนึ่ง ต่างมิติเวลา ต่างสถานที่ ต่างวิธีคิด ไม่ได้มีทรัพยากรเท่ากัน เรียนรู้จากกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนกัน
ดังนั้นการออกแบบกิจกรรมเราต้องพยายามนึกถึงการใช้อุปกรณ์น้อยที่สุด ใช้พื้นที่น้อยที่สุด ต้องคิดที่ minimum ไว้ก่อน โจทย์จะต่างจากเดิมที่เมื่อก่อนเราฝากการเรียนรู้ไว้ที่โรงเรียน โจทย์มันก็เลยมีไม่เยอะ คือมีแค่ทำยังไงให้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้คน 40 คนได้เนื้อหานี้ไปได้ ห้องเรียนคุมสภาพแวดล้อมได้ งานอย่าง Ed Tech คุมสภาพแวดล้อมไม่ได้ ใช้วิธีคิดแบบคนหมู่มากพาไป ใช้กระบวนการกลุ่มไม่ได้ มันต้องใช้การออกแบบคนละแบบกัน
แม็ก เรามองมันเป็นชุดสกิลที่กรุ๊ปกันเป็นอาชีพ หนึ่งอาชีพมันน่าจะถูกสร้างมาเพื่อตอบอะไรบางอย่าง แล้วอาชีพนั้นก็เป็นชุดสกิลที่กรุ๊ปมาเพื่อทำให้ตอบโจทย์เป้าหมายของอาชีพนั้นได้ เราว่าครูถูกสร้างมาด้วยบริบทหนึ่ง โค้ชก็ถูกสร้างด้วยบริบทหนึ่ง ซึ่งชุดสกิลอาจจะมีทับกันบ้าง แต่ก็คิดว่าทำไม ณ ตอนที่ instructional หรือ Learning Design มันถึงเกิดขึ้นนะ มันเกิดสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 น่าจะเกิดขึ้นมาเพราะมันถูกบีบคั้นว่าต้องเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วๆ จะไปเรียนรู้ผ่านระบบการศึกษาของกระทรวงไม่ทันแล้วนะ หรือจะสร้างเป็นหลักสูตรขึ้นมาใหม่ไม่ทันแล้วนะ เลยต้องมีอาชีพนี้ที่ออกมาเพื่อดีไซน์เป้าหมายการเรียนรู้ที่เร็วมาก ต้องหาวิธีการท่าไหนก็ได้ที่ทำให้เรียนรู้ได้เร็วที่สุด เราว่าบริบทสังคมมันเปลี่ยน มันเลยเกิดอาชีพใหม่ แต่ก็คิดว่าอาชีพนี้มันจำเป็นกับตอนนี้มากๆ เพราะว่า โลกเปลี่ยนเร็วมาก การเรียนรู้เปลี่ยนเร็วมากๆ จะไปผ่านกระทรวง ใช้เวลา 3 ปี ออกหลักสูตรแกนกลางใหม่มันก็ไม่ทัน เทรนด์นี้มันเลยมาเร็ว และมาแรงมากๆ ในต่างประเทศ องค์กรเริ่มคัดเลือกคนที่เป็น instructional design เข้าไปในองค์กรมากขึ้นแล้ว
เป้าหมายของ deep คือ
แม็ก จริงๆ อาจจะมีหลายๆ จุดประสงค์ซ้อนกันอยู่ อยากจะเพิ่มคนในวงการด้วย อยากสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ learning design ด้วย อยากเตรียม ‘การเรียนรู้’ อีกด้านหนึ่งที่กระทรวงไม่เตรียมหรือว่าวงการการศึกษา วงการการเรียนรู้ไม่เตรียม เราว่ามันคือการทำหลายๆ ความเคลื่อนไหวไปพร้อมกัน แต่เหตุผลที่ต้องมารวมกันเพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำมันไปกระทบความเชื่อเก่าหรือบรรทัดฐานเก่าที่มันทำอยู่แล้วระดับหนึ่ง ให้คิดว่าเหมือนโยนหินลงมหาสมุทร มันก็จะได้คลื่นเล็กๆ ถ้าเอาหินมามัดๆ กัน โยนทีหนึ่งมันจะได้คลื่นที่ใหญ่กว่า ก็เลยเป็นเหตุผลที่ต้องมารวมกัน
มะโหนก จริงๆ มีอีกหลายแผนที่จะตามมา การเปิดเพจก็เหมือนเป็นหินก้อนแรก เป็นเสียงแรกที่อยากจะชักชวน เพราะว่าหลังจากนี้เราก็อยากทำองค์ความรู้ของ learning designer ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าแค่ห้าหัวตรงนี้ มันไม่ครอบคลุมเรื่อง learning ทั้งหมดอยู่แล้ว รวมถึงทำหลักสูตรเพื่อช่วยกันสร้างคนที่สนใจอาชีพนี้ ก็คิดว่าเพจเหมือนกับเป็นก้าวแรกที่ทรงพลังดีในการรวมคน
หลังจากเปิดเพจ สร้างแรงกระเพื่อมแล้วก็ทำให้คนรู้จักมากขึ้น แผนการต่อไปคือ
มะโหนก มี 2 ชิ้นครับ ชิ้นแรกคือทำองค์ความรู้ขึ้นมา ทำ research สักหน่อยว่า ตกลงเรื่อง learning มันยังไงกันแน่ แล้วเราจะออกแบบการเรียนรู้ด้วยวิธีไหน เป็นส่วนของการทำวิจัยเชิงลึก อันที่ 2 ก็คือ ทำหลักสูตรที่จะช่วยผู้คนที่สนใจเรื่องนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม มาเข้าหลักสูตรนี้ ก็น่าจะได้มาทดลองร่วมกัน ได้สร้างองค์ความรู้ร่วมกันต่อไป ก็คือ research หนึ่งก้อนและพัฒนามาเป็นหลักสูตรอีกหนึ่งก้อน
โน๊ต ทำเครื่องมือชุดหนึ่งที่สามารถทำให้คนมาเป็น Learning Designer ได้
แม่บี แผนการนี้ คือการทำให้การเรียนรู้มันมีศักดิ์ศรีเท่าระบบการศึกษา เพราะตอนนี้มันไม่มีศักดิ์ศรี มันไม่มีปริญญา อย่างถ้ามีสักคนออกแบบการเรียนรู้ดีมากๆ เลย ทำเรื่อง entrepreneurship ล้ำสุดๆ แต่ทำเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนมันดันมีศักดิ์ศรีไม่เท่าจบป.5 ทั้งๆ ที่เด็กที่มาอาจจะได้อะไรมากกว่าในโรงเรียน ชุดวิธีคิดแบบนี้มันทำให้เราไม่ไปไหน คนที่ทำหลักสูตรดีๆ ว้าวๆ หลักสูตร financial literacy หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำออกมาแล้วอยู่ได้ 2-3 ปี ก็อยู่ไม่ได้ เพราะศักดิ์ศรีมันไม่เท่ากับระบบการศึกษา ดังนั้นอันนี้เป็นโจทย์หนึ่งของทีม ต้องคิดวิธีให้ศักดิ์ศรีมันเท่า
ถ้าแผนการทั้งหมดสำเร็จจะเป็นอย่างไร
มะโหนก เราคิดว่ามันจะเป็นสังคมที่สนุก มีชีวิตร่วมกันแล้วมันมีทางไปข้างหน้าว่า เราได้อะไรจากเรื่องนี้หรือจากกันและกันบ้าง รู้สึกว่ามันจะรุ่มรวยด้วยบทสนทนาที่มีคุณภาพแล้วก็สนุก ผู้คนมั่นใจในตัวเอง มั่นใจในศักยภาพซึ่งกันและกัน เราอยากอยู่ในสังคมแบบนั้น
โน๊ต ก็ไม่รู้เลยว่ามันจะเป็นยังไง แค่รู้สึกว่า ‘มันจะดีกว่านี้’ เราเชื่อว่า ถ้า deep สำเร็จมันจะต้องมีอะไรบางอย่างในสังคมดีขึ้นกว่านี้ ไม่ว่าจุดใดจุดหนึ่ง อาจจะเป็นสักคนหนึ่งที่ดีขึ้นก็ได้
ม๋ำ เราว่าทุกคนจะเก่งในแบบของตัวเเองได้ ทุกคนจะเลือกได้ว่าอยากจะเก่งเรื่องอะไร แล้วก็จะพัฒนาได้ง่ายขึ้นว่าตัวเองอยากจะเก่งเรื่องนั้นโดยไม่มีลิมิตของการเข้าถึง ทำให้เราได้คนที่มีคุณภาพมากขึ้น คนที่ถูกคัดออกจากระบบจะสามารถดึงตัวเองกลับมาได้ แล้วทุกคนจะได้เข้าถึงคุณภาพของกระบวนการเรียนรู้ที่ดีจริงๆ ทำให้ผู้คนมีแรงขับเเคลื่อนที่จะต่อยอดอะไรอีกได้หลายอย่าง แล้วมันน่าจะสนุก น่าจะได้เห็นอะไรที่เติบโต เห็นวิวัฒนาการที่ไปเร็วขึ้น เห็นสังคมที่มีการแบ่งปันความรู้มากขึ้น แล้วก็น่าจะได้เห็นนวัตกรรมหรือการก้าวหน้าของวิวัฒนาการต่างๆ ของคนเยอะขึ้นด้วย
แม็ก พอได้ยินคำถามปุ๊บก็จินตนาการคร่าวๆ ว่า สมมติทุกคนในประเทศมีสกิลการออกแบบการเรียนรู้ เมื่อกี้ภาพที่มันแวบมา 2-3 คน เช่น พ่อแม่ที่อาจจะอยู่ดีๆ มีลูก ก็ดีไซน์ให้ลูกได้เลย ต้องเรียนแบบไหนที่เหมาะกับตัวเด็กและเปิดอิสรภาพให้กับน้องๆ ด้วย แล้วเขาก็ได้สร้างการเรียนรู้ที่สนุกไปด้วยกัน ปราชญ์ชาวบ้านที่ไม่ใช่แค่ถ่ายทอดองค์ความรู้ แต่ดูว่าช่องว่างของคนที่มาฟังคืออะไร จะช่วยเขาแก้ปัญหาได้ยังไง พูดแบบไหนถึงจะเป็นการพูดที่ให้เขาได้ไปต่อยอดแบบดีที่สุด หรือแม้แต่นักเรียนหรือเด็กที่เข้ามหาลัย แทนที่จะรอคุณครูบอก เขาสามารถบอกตัวเองได้ว่าอยากเรียนรู้เรื่องอะไร แล้วให้ครูช่วยจัดการเรียนรู้ตามโจทย์นั้นให้หน่อยได้มั้ย เรารู้สึกว่าถ้าทุกคนออกแบบบางอย่างให้กับตัวเองได้การเรียนรู้มันจะแอคทีฟ และไหลลื่น สุดท้ายคนก็จะมีความสุข
แม่บี จริงๆ สังคมก็อาจจะไม่ได้เปลี่ยนเยอะมากจากการกระทำของคนกลุ่มเล็กๆ คือไม่ได้อยากขายฝันยิ่งใหญ่ แต่ถ้าสมมติมันได้ในภาพที่เราคิดกันจริงๆ ว่าเราอยากได้ สำหรับตัวเองจะคิดว่าชาวบ้าน คนธรรมดาทั่วไป เจ้าของความรู้ที่อยู่กับการลงมือทำในอาชีพของเขา แบบบังนีที่อำเภอจะนะ เขาจะมีศักดิ์ศรีมากขึ้น เขาจะเป็นคนที่สามารถสอนคนอื่นได้ สามารถจัดกระบวนการการเรียนรู้ได้ เราไม่ได้ต้องให้ครูพาไปหาบังนีอีกทีหนึ่ง คือเราไปหาเขาเองได้เลย เราจะเห็นแบบชาวปกาเกอะญอ หรือจริงๆ คือเจ้าป่า ผู้พิทักษ์ป่า ไม่ต้องไปเรียนในโรงเรียน เพราะสิ่งที่เขาทำมันคือการเรียนรู้และมีศักดิ์ศรีพออยู่แล้ว เขาไม่ต้องเอาตัวเองมาอยู่กับวัฒนรรมการแบ่งแยกในโรงเรียน และเปลี่ยนเขาจากเจ้าป่าให้กลายไปเป็นเด็กปั๊ม เพราะการศึกษาไม่มีที่ว่างพอให้เขาได้ใช้ศักยภาพของตัวเองในการเป็นเจ้าป่า การศึกษาไม่ได้ empower สิ่งที่เขามีอยู่ แต่ด้อยค่ามันลง เราอยากให้การเรียนรู้มันตอบโจทย์ความหลากหลาย และ (เสียงดัง) มีศักดิ์ศรี อันนี้คือภาพที่อยากเห็น
ใครบ้างที่สามารถเป็น Learning Designer ได้
มะโหนก ในความคิดคืออยากให้เป็นได้ทุกคน แต่ว่าต้องมีคุณสมบัติบางอย่างอันสำคัญ อย่างเช่นเมื่อกี้ที่เราพูดถึงโค้ชหรือนักจัดกระบวนการเรียนรู้ เราจะเล็งไปที่ผู้เรียน อย่างโค้ชเขาก็จะมีเป้าหมายในใจละ แต่ว่าเราจะปรับยังไงให้ผู้เรียนไปถึงได้ แต่ถ้าเป็น Learning Designer มันต้องมาเริ่มที่ผู้เรียนเลย หนึ่งคนก็ได้ หรือหนึ่งห้อง สิบคนก็ได้ หรือว่าทั้งกลุ่ม 400 คน คือมันต้องมา crack ตรงนี้ ถ้าเป็นคนที่คุณรู้สึกว่าอยากเห็นคนเติบโต ก็ต้องเริ่มต้นจากการมองมนุษย์คนหนึ่ง เราว่าใครก็เป็นได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ นึกอยากเป็นก็เป็น นึกขึ้นมาว่าเรียกตัวเองว่า Learning Designer ก็เป็นได้เลย มันก็ต้องฝึกตัวเอง ฝึกทักษะพวกนี้
โน๊ต ทุกคนมีโอกาสเป็นได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็น Learning Designer เพราะมีทักษะหลายอย่างที่เป็นตัวกำหนดเหมือนกัน อันที่สำคัญที่สุดคือการเข้าใจมนุษย์ สำหรับตัวเองคิดว่ามันเป็นแก่นของการออกแบบกระบวนการ เมื่อเราเข้าใจและเคารพคนจริงๆ อย่างอื่นมันจะเป็นทักษะเสริม
ม๋ำ คือทุกวันนี้ที่เราออกแบบ สิ่งที่ทำให้เราออกแบบและทำมันดีได้ในระดับหนึ่งคือ การที่เราจำลองตัวเองเป็นคนที่นั่งอยู่ตรงนั้นได้ แล้วเราตอบตัวเองได้ว่าเราอยากนั่งอยู่ตรงนั้นหรือเปล่า ซึ่งมันคือการเข้าใจผู้เรียนขั้นสูง แล้วออกแบบทุกอย่างให้มันตรงกับตัวตนเขา ตรงกับบุคลิกเขา ซึ่งสิ่งนี้เป็นคุณสมบัติอย่างที่บอก แล้วอาจจะไม่ใช่ทุกคนที่มีคุณสมบัตินั้น แต่ถ้าอยากเป็นก็ต้องฝึกสิ่งนี้ ซึ่งเป็นทักษะหลักของการเป็น Learning Designer
แม่บี อยากเปลี่ยนคำถามเป็นว่า ทุกวันนี้พวกเรามีใครไม่อยากมี Learning Designer อยู่ในองค์กรบ้าง คือเราลองจินตนาการว่ามันจะดีแค่ไหน ถ้าเรามี Learning Designer นั่งอยู่ข้างๆ เรา ช่วยกันออกแบบการเรียนรู้ หรือพีคสุดคือเราสามารถมองเห็นการเรียนรู้ของตัวเองและออกแบบช็อตถัดไปในชีวิตของเราได้ หรือว่าในองค์กรมีคนหนึ่งที่ช่วยออกแบบช็อตถัดไปของทุกคนได้ ให้ทุกคนเติบโต หรือว่าในโรงเรียนมีคนที่สามารถออกแบบช็อตถัดไปของเด็กๆได้และ personalize ได้ คือลองจินตนาการว่าถ้ามีคนแบบนั้นอยู่ในที่ต่างๆ มีในห้องสมุด แค่คิดก็รู้สึกเซ็กซี่แล้ว หรือในมิวเซียมที่เปลี่ยนมิวเซียมจากพื้นที่เก็บของให้เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน เลยรู้สึกว่าการมีมันน่าจะเพิ่มคุณภาพบางอย่างให้กับชีวิตที่เรามีอยู่ตอนนี้