ความท้าทายเกี่ยวกับสภาพสังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่มาพร้อมกับความเติบโตของเมืองต่างๆ ทั่วโลก ทำให้เกิดแนวคิดด้านการพัฒนาใหม่ๆ เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน เมืองอัจฉริยะ รวมทั้งเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเน้นการพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ ของเมืองให้เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผู้คนในเมืองสามารถเก็บเกี่ยวความรู้ในเมือง นำไปต่อยอดจนเกิดประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกๆ ด้าน
เมืองแห่งการเรียนรู้ ในฐานะระบบนิเวศของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นประเด็นที่การประชุม TK Forum 2022 ได้หยิบยกขึ้นมานำเสนอ เนื้อหาว่าด้วยแนวคิดและประสบการณ์การขับเคลื่อนระบบนิเวศการเรียนรู้ของเมืองด้วยนวัตกรรมและความสร้างสรรค์ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อหาคำตอบว่า โลกการเรียนรู้ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างไรต่อการเรียนรู้ บทบาทแหล่งเรียนรู้ควรเป็นแบบไหน และจะทำอย่างไรให้เกิดเงื่อนไขที่เอื้อให้ผู้คนทุกวัยเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
พัฒนาเมืองและพัฒนาคน ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล
ดร.นน อัครประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญด้าน Smart City สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เสนอว่าการพัฒนาเมืองและการพัฒนาคนเป็นปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกัน และจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาควบคู่กัน โดยไม่อาจละทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง “ถ้าเมืองฉลาดแต่คนไม่ฉลาด ก็คงไปด้วยกันไม่ได้ ขณะเดียวกัน ถ้าคนฉลาดแต่เมืองไม่ได้รับการพัฒนาให้ฉลาดด้วย ก็คงมีปัญหาไม่แพ้กัน การจะรักษาข้อดีของเมืองให้คงอยู่ และแก้ไขข้อเสียของเมืองให้หมดไป ต้องมีคนที่กล้าคิด กล้าทำ และฉลาดขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นการเรียนรู้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เมืองฉลาดขึ้น”
อิทธิพลของเทคโนโลยีดิจิทัลรวมทั้ง COVID-19 ได้ผลักดันให้โลกใบนี้มีลักษณะแบบ Convergence คือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและดิจิทัลหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้มนุษย์สามารถมีรูปแบบชีวิตได้ตามที่ตนต้องการ โดยไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งที่เป็นกายภาพเสมอไป รวมทั้งมีส่วนช่วยเติมเต็มการเรียนรู้ให้ดีกว่าเดิม
จากแนวคิดเรื่อง ‘Flow’ ของนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน-ฮังกาเรียน มิฮาลี ชิเก็กเซนท์มีฮาลี (Mihály Csíkszentmihályi) ระบุว่า มนุษย์จะเรียนรู้ได้เร็ว ลื่นไหล และทำสิ่งต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเกิดความสมดุลระหว่างระดับความยากของงานและระดับทักษะที่ตนมี แนวคิดนี้สามารถประยุกต์เป็นแนวทางเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่ชาญฉลาด ได้แก่ การเรียนรู้อย่างสมจริง (Immersive Learning) การเรียนรู้โดยเน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้จากที่ไหนก็ได้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การใช้เทคนิคของเกมในการเรียนรู้ (Gamification) และการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างเต็มที่ เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถช่วยเติมเต็มการเรียนรู้เหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น
ในอนาคต เทคโนโลยีจะยิ่งก้าวไปไกล และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนรู้ เช่น Metaverse, AR, VR สินทรัพย์ดิจิทัล NFT ฯลฯ ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมคนให้มีทักษะความรู้ที่เท่าทัน สนับสนุนให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่บนพื้นฐานของนวัตกรรม มีการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยไซเบอร์ และสนับสนุนการเติบโตของเทคโนโลยีที่หลอมรวมระหว่างโลกความเป็นจริงและโลกเสมือน
กรณีตัวอย่างแหล่งเรียนรู้ล้ำสมัยที่น่าสนใจ เช่น สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมไอทีแห่งปูซาน หรือ BIPA ของเกาหลีใต้ ได้ลงทุนสร้าง ASEAN-RoK ICT Convergence Village พื้นที่ทดลองและทดสอบการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีด้านการเรียนรู้ ส่วนในประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ก่อตั้ง KMITL Interactive Digital Center พื้นที่สำหรับวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่มาจากศาสตร์หลากหลายสาขา
อย่างไรก็ตาม ดร.นน ได้ให้แง่คิดและข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีในอนาคตข้างหน้าจะก้าวไปไกลแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดแล้วเทคโนโลยีก็มีบทบาทเป็นเพียงเครื่องมือไปสู่เป้าหมายที่หวังไว้ มนุษย์ควรมีวิจารณญาณในการเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสม โดยคำตอบอาจไม่จำเป็นต้องเป็นดิจิทัลเสมอไป
เมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
หนึ่งในแนวทางการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนขององค์การยูเนสโก คือการพัฒนาคนให้สามารถเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต นำไปสู่โครงการเพื่อขับเคลื่อนเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้จนกระทั่งแพร่หลายไปทั่วโลก มีการกำหนดคุณลักษณะหรือหลักเกณฑ์ของการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ การสร้างเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ (UNESCO GNLC) ให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างเมืองสมาชิก และทุก 2 ปี มีการประชุมระดับนานาชาติด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นวาระที่จะมีการมอบรางวัลให้กับเมืองที่โดดเด่นในด้านนวัตกรรมการเรียนรู้ที่เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย
ตัวอย่างเมืองแห่งการเรียนรู้ในต่างประเทศที่น่าสนใจ เช่น เมืองเอสโป (Espoo) ประเทศฟินแลนด์ ริเริ่มแอปพลิเคชัน ‘The Wilma’ เพื่อเป็นสื่อกลางในการพูดคุยระหว่างครอบครัวและโรงเรียน ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เมืองแกลร์มง-แฟร็อง (Clermont-Ferrand) ประเทศฝรั่งเศส ใช้งบประมาณมากกว่าร้อยละ 43 ของงบประมาณทั้งหมดเพื่อการศึกษาและเยาวชน และมีการผสมผสานระหว่างกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการเรียนรู้ เมืองฮิวจ็อตซิงโก (Huejotzingo) ประเทศเม็กซิโก จัดทำโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ได้ส่งผลให้อัตราประชาชนที่ไม่รู้หนังสือลดลงถึง 50% และเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ที่เน้นการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น
ปัจจุบัน (ณ เดือนมีนาคม 2565) UNESCO GNLC มีสมาชิกกว่า 200 เมือง จากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทย มีเมืองที่ได้รับการประกาศให้เป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก จำนวน 4 เมือง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลนครเชียงใหม่ และเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา
กรณีเทศบาลนครเชียงราย ซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้เมืองแรกในประเทศไทย มีการริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกกลุ่ม เช่น เกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัย พลังงานทางเลือก ภูมิปัญญาสมุนไพร การส่งเสริมผู้ประกอบการดิจิทัล ฯลฯ รวมทั้งพัฒนาพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น ห้องเรียนธรรมชาติ ‘คีรีชัย ยามะ’ พื้นที่ส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น ‘กาดดอยสะเก็น’ ห้องสมุดเสมสิกขาลัย ย่านสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย สวนสาธารณะริมแม่น้ำกกที่เหมาะสำหรับการเล่นกีฬาและทำกิจกรรมร่วมกันของครอบครัว ฯลฯ
คริสตินา ดรูวส์ (Christina Drews) ผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโก ได้สรุปบทเรียนในการทำงานว่า หัวใจสำคัญที่ทำให้เมืองแห่งการเรียนรู้แต่ละแห่งประสบความสำเร็จ คือการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และผู้คนจากหลากหลายวิชาชีพในท้องถิ่น ซึ่งร่วมกันหารือ วางแผน และขับเคลื่อนโครงการต่างๆ จนบรรลุเป้าหมาย
ประเทศไทยกับเงื่อนไขสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center - UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำวิจัยว่าด้วยการสร้างเมืองบนฐานความรู้ เพื่อวิเคราะห์โอกาสและข้อจำกัดของประเทศไทยในการขับเคลื่อนสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ตามแนวทางของยูเนสโก พื้นที่ศึกษามี 2 แห่ง คือ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นตัวแทนของเมืองใหญ่ และเทศบาลนครนครสวรรค์ ซึ่งเป็นตัวแทนของเมืองในภูมิภาค นิยามของเมืองแห่งการเรียนรู้ที่สามารถเข้าใจและสื่อสารง่ายๆ คือ เมืองที่ผู้คนสามารถหาคำตอบในสิ่งที่อยากรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยเมืองมีบทบาทสนับสนุนการจัดหาสาธารณูปการด้านการเรียนรู้
เมื่อวิเคราะห์เมืองในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนเมืองด้วยเศรษฐกิจฐานความรู้ เช่น ญี่ปุ่น หรือฝรั่งเศส พบว่า เมืองเหล่านั้นมักมีวัฒนธรรมการเรียนรู้และวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็ง มีอำนาจในการจัดการเมืองของตน มีโครงสร้างการบริหารจัดการที่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น มีประชาสังคมเข้มแข็ง และผู้คนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่าย
ความท้าทายหรืออุปสรรคที่สำคัญในการประยุกต์แนวคิดเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกมาใช้ในประเทศไทย คือ โครงสร้างการบริหารจัดการเมืองที่รวมศูนย์และแยกส่วน การตัดสินใจเชิงนโยบายสำคัญมักมาจากระดับที่สูงกว่าระดับเมือง ผลลัพธ์คือเกิดการกระจุกตัวของแหล่งเรียนรู้อยู่ในบางพื้นที่ นอกจากนี้ การพัฒนาเมืองส่วนใหญ่มักยึดการดำเนินงานตามพันธกิจ ซึ่งอาจไม่ได้สอดคล้องกับเรื่องการเรียนรู้ รวมทั้งขาดแพลตฟอร์มในการเก็บและกลั่นความรู้ในระดับย่าน
ดร.นิรมล เสรีสกุล ได้กล่าวถึงข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ไว้ 3 ประการ คือ การสร้างเครือข่ายความรู้ทั้งในระดับย่านและระหว่างองค์กร การสร้างแพลตฟอร์มความรู้ให้เกิดกับย่าน เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการเสริมพลังคนในชุมชนให้สามารถจัดการและนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์
ห้องสมุด ฟันเฟืองเคลื่อนเมืองสู่อนาคต
ห้องสมุดเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของเมือง ที่สามารถมีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับทิศทางความเปลี่ยนแปลงของสังคมในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น ฟอรัม โกรนิงเง่น (Forum Groningen) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเข้ารอบสุดท้ายรางวัลห้องสมุดแห่งปี 2021 ของสหพันธ์นานาชาติแห่งสถาบันและสมาคมห้องสมุด (IFLA)
โกรนิงเง่น (Groningen) เป็นเมืองเล็กๆ มีประชากรเพียง 2.3 แสนคน ทว่ามีแหล่งเรียนรู้ทันสมัยขนาดมหึมาตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางเมือง ‘Forum Groningen’ ได้รับการขนานนามว่า ‘ห้างสรรพสินค้าวัฒนธรรม’ มีทั้งพื้นที่ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ นิทรรศการ โรงละครศิลปะ ร้านอาหารหรูบนดาดฟ้า และจุดชมวิวที่งดงาม
เดิร์ค นิจดัม (Dirk Nijdam) ผู้อำนวยการห้องสมุดและศูนย์วัฒนธรรมฟอรัม โกรนิงเง่น เล็งเห็นว่าแหล่งเรียนรู้ในอนาคตจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเมืองและเสริมสร้างศักยภาพของผู้คน เขากล่าวถึงจุดยืนของห้องสมุดว่า “เราต้องการก้าวไปข้างหน้าโดยไม่มองกลับไปข้างหลัง เพื่อออกไปสำรวจโลกและพบกับอนาคต ผู้ที่เข้ามาเยือนฟอรัม โกรนิงเง่น ควรจะเข้าใจว่าทุกอย่างในโลกกำลังกลายเป็นดิจิทัล เราต้องการสร้างแรงบันดาลใจและสนับสนุนผู้คนให้เก่งยิ่งขึ้นและคิดไปไกลขึ้นด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ”
ฟอรัม โกรนิงเง่น ต้องการหลุดพ้นจากธรรมเนียมปฏิบัติเก่าๆ ของห้องสมุด แม้จะมีหนังสือให้บริการนับแสนเล่ม แต่หัวใจสำคัญของแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ไม่ใช่การอ่าน แต่สิ่งที่ต้องการนำเสนอคือ ข้อเท็จจริงที่เป็นกลางเกี่ยวกับสถานการณ์ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก เทคโนโลยีล้ำสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของผู้คน และวัฒนธรรมสมัยนิยมที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน เช่น เกม การ์ตูน ภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ และการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย
ภายในอาคาร ฟอรัม โกรนิงเง่น มีบรรยากาศโปร่งสบาย การออกแบบและตกแต่งภายในให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน มีการเลือกสรรวัสดุที่มีรสนิยม โดยมีความเชื่อว่า หากผู้คนสามารถสัมผัสว่าที่นี่คือบ้านอีกหลังหนึ่ง ก็ย่อมจะรักและทะนุถนอมสิ่งต่างๆ ในบ้านของตนเป็นอย่างดี
ทุกหนทุกแห่งของเมือง คือห้องเรียนขนาดใหญ่
นอกจากแหล่งเรียนรู้ที่เป็นทางการ เช่น โรงเรียน ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ ฯลฯ หากมีการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสม ทุกหนทุกแห่งในเมืองก็สามารถก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น ดังกรณีตัวอย่างโครงการ ‘Wandering Challenge’ ในไต้หวัน ซึ่งมีกติกาคือให้เยาวชน 3 คนร่วมกันพิชิต 30 ภารกิจทั่วเมือง ในเวลา 3 สัปดาห์
แรงบันดาลใจของ แอนนี่ ชาง (Anny Chang) ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร ‘City Wanderer’ เริ่มต้นมาตั้งแต่อายุ 22 ปี ขณะที่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เธอได้สัมผัสถึงความทุกข์ของเยาวชนคนหนุ่มสาวที่หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการเรียนและการสอบ จนไม่มีความสุขและขาดโอกาสที่จะทำความรู้จักกับความต้องการหรือความฝันที่แท้จริงของตนเอง ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ไต้หวัน แต่ยังเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศทั่วเอเชีย
โครงการ Wandering Challenge นำหลักการของเกม (Gamification) มาใช้ในการออกแบบภารกิจให้สนุกและสร้างแรงจูงใจให้ผู้ร่วมกิจกรรม ตัวอย่างภารกิจเช่น กอดฟรี (Free Hugs) พูดบอกเล่าความฝันของตนในที่สาธารณะ เขียนจดหมายบอกความในใจแก่พ่อแม่ ออกเดินทางนอกเมืองโดยไม่ใช้เงิน ทำอาหารไปมอบให้คนไร้บ้าน และพูดคุยเรื่องราวในชีวิตตนเอง
ภารกิจต่างๆ มอบประสบการณ์ตรงที่เยาวชนหาไม่ได้ในห้องเรียน และยังปลูกฝังคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ทั้งมิติด้านการรู้จักตัวเอง (Self-Awareness) ความกล้าหาญ ความสัมพันธ์กับผู้อื่น และการมีส่วนร่วมทางสังคม ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต
ชมคลิปการบรรยายงาน TK Forum 2022 “Learning City and Lifelong Learning Ecosystem”
“Smart City, Smart Learning เมืองอัจฉริยะและรูปแบบการเรียนรู้หลังยุคโควิด” โดย ดร.นน อัครประเสริฐกุล คลิก https://bit.ly/3JOZPl2
“ระบบนิเวศการเรียนรู้กับความเปลี่ยนแปลงของโลกการงานอาชีพและทักษะใหม่” โดย ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู คลิก https://bit.ly/3EuGaGc
“Build a World with Purpose - How City Wanderer Redesigns Education” โดย แอนนี่ ชาง (Anny Chang) คลิก https://bit.ly/3rxmuMo
“UNESCO GNLC: Empowering Civil Society, Strengthening Local Community” โดย คริสตินา ดรูวส์ (Christina Drews) คลิก https://bit.ly/3xTsq6D
“ประสบการณ์และข้อคิดจากเทศบาลนครเชียงราย สมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ UNESCO GNLC แห่งแรกของไทย” โดย นายวันชัย จงสุทธานามณี คลิก https://bit.ly/3xTsq6D
“Knowledge-based City Remaking เมืองการเรียนรู้แห่งอนาคต” โดย ดร.นิรมล เสรีสกุล คลิก https://bit.ly/3vs0rrI
“Library as Key Element to Urban Development: The Case of Forum Groningen” โดย เดิร์ค นิจดัม (Dirk Nijdam) คลิก https://bit.ly/3OjkGAv
“กองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ” โดย ดร. เดชรัต สุขกำเนิด คลิก https://bit.ly/3JUbGhN
--------------------------------------------------------------------
Cover Photo by Alyona Bogomolova on Unsplash