ภาพชายในกรอบสี่เหลี่ยมที่ติดอยู่บนผนัง ในตำแหน่งที่สูงกว่าภาพปู่และย่า พ่อและแม่ เมื่อยังเด็กฉันแปลกใจ ถามพ่อไปว่าคนในภาพคือใคร พ่อหันมายิ้มก่อนตอบว่า ชายในภาพคือ พระเจ้าอยู่หัว เจ้าของแผ่นดินที่พวกเราอาศัยอยู่ ทรงเป็นทั้งพ่อทั้งครูและที่พึ่งพิงของคนไทย
พ่อหันกลับไปที่ภาพพร้อมประนมมือยกขึ้นเหนือหัว มือเล็กๆ ของฉันประนมมือ...ทำตามแบบพ่อ
ตอนเด็กๆ ฉันมักจะตามติดพ่ออยู่ไม่ห่าง พ่อไปไหนฉันไปด้วย พ่อทำอะไรฉันทำด้วย นอกจากความอบอุ่นในภาพความทรงจำ คำพูดและการกระทำของพ่อก็เป็นอีกสิ่งที่ฉันไม่เคยลืมเลือน...
พ่อไม่เคยกินข้าวเหลือ ไม่เคยทิ้งของที่ใช้ยังไม่หมด
ฉันสังเกตเห็นว่าพ่อจะตักข้าวแต่พออิ่ม ไม่มีวันไหนที่เห็นข้าวเหลือติดจาน พ่อบอกไม่ว่าข้าวหรืออะไรก็ตาม กว่าจะผลิตมาได้ต้องใช้ทั้งเงิน แรงงาน และพลังงาน พ่อเล่าว่าในหลวงทรงแบบเป็นแบบอย่างการประหยัดและเห็นถึงคุณค่าของทุกอย่าง
“ปีหนึ่งพระองค์เบิกดินสอ 12 แท่ง ใช้เดือนละแท่งจนกระทั่งกุด ใครอย่าไปทิ้งของท่านนะท่านจะกริ้วเลย อย่างหลอดยาสีฟันน่ะลูก ท่านใช้จนหลอดแบนเรียบ ส่วนอาหารท่านก็ทานเหมือนเราๆ พ่อจำเรื่องหนึ่งได้ดี ครั้งที่ท่านเสด็จฯ ไปที่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ท่านก็ทานข้าวผัดแบบเดียวกับที่ผู้ที่ติดตามทานกัน รู้ไหมลูกว่าข้าวจานนั้นน่ะตักไว้นานจนเริ่มเย็นแล้ว แต่ท่านก็ไม่ได้ให้คนครัวทำให้ใหม่ เพราะท่านรู้ว่าถ้าผัดข้าวอีกหนึ่งจานต้องสิ้นเปลืองเงินและพลังงานเพิ่มขึ้น แม้แต่เสื้อผ้าหรือรองเท้าของท่านก็จะทรงใช้อยู่นาน ถ้าขาดก็ทรงสั่งให้นำไปซ่อม”
ที่บ้านเราทุกคนจึงติดนิสัยแบบเดียวกันไปหมด กินข้าวจนหมดจาน แม่อุ่นกับข้าวมื้อกลางวัน ใส่หมูใส่ผักเพิ่มนิดหน่อย เป็นอาหารเย็นที่น่าทานได้อีกหนึ่งมื้อ พวกเราบีบยาสีฟันจากปลายหลอดและใช้จนหมด เลือกเปลี่ยนยางยืดของกางเกงที่หลวมแทนการซื้อตัวใหม่ เป็นสิ่งที่ฉันภูมิใจที่ทุกอย่างในบ้านถูกใช้อย่างคุ้มค่า
พ่อลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่น้ำท่วม ทั้งที่บ้านเราก็น้ำท่วม
งานอาสาสมัครทั้งกั้นกระสอบทราย บรรจุถุงยังชีพ หรือแม้แต่ช่วยทำอาหารเพื่อนำไปให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม เป็นสิ่งที่พ่อและฉันทำในช่วงที่บางพื้นที่ของประเทศกำลังจมน้ำ บ้านของเราย่านฝั่งธนฯ น้ำท่วมเกือบถึงเข่าแล้ว แต่พ่อก็พาครอบครัวลุยน้ำออกมาช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนมากกว่า
“จำที่พ่อเคยให้อ่านได้ไหม ในหลวงท่านว่าอย่างไรเรื่องการช่วยเหลือส่วนรวม”
ฉันนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่พ่อเคยให้อ่าน เป็นหนังสือเล่มหนาที่รวบรวมพระราชกรณียกิจและพระราชดำริในการพัฒนาและช่วยเหลือพสกนิกรในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชดำรัสตอนหนึ่งที่พ่อใช้กระดาษคั่นไว้ มีเนื้อความว่า...
‘...ใครต่อใครบอกว่า ขอให้เสียสละส่วนตัวเพื่อส่วนรวม อันนี้ฟังจนเบื่อ อาจรำคาญด้วยซํ้าว่า ใครต่อใครมาก็บอกว่าขอให้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม อาจมานึกในใจว่า ให้อยู่เรื่อยแล้วส่วนตัวจะได้อะไร ขอให้คิดว่าคนที่ให้เพื่อส่วนรวมนั้น มิได้ให้ส่วนรวมแต่อย่างเดียว เป็นการให้เพื่อตัวเองสามารถที่จะมีส่วนรวมที่จะอาศัยได้...’
ในหลวง ทรงเป็นตัวอย่างที่ดีในการเสียสละความสุขความสบายส่วนพระองค์เพื่อราษฎร ทั้งที่พระองค์อาจให้ผู้อื่นลงพื้นที่ทุรกันดารได้ แต่ท่านกลับลงพื้นที่ด้วยพระองค์เอง สิ่งที่ยืนยันคำพูดของพ่อคือภาพที่ปรากฏในหนังสือมากมายในตู้หนังสือที่บ้านหรือภาพพระราชกรณียกิจที่เห็นผ่านทางโทรทัศน์
พ่อบอกว่า เราจะเป็นผู้รับในเวลาเดียวกันกับที่เราเป็นผู้ให้ สิ่งที่ได้รับแน่นอนคือความสุขใจ และการที่เราช่วยเหลือส่วนรวมจะส่งผลกลับต่อตัวเราเองด้วย เมื่อลงมือช่วยสังคม ก็เป็นการช่วยเหลือตัวเราเองอีกทางหนึ่ง เพราะทุกคนคือส่วนหนึ่งของสังคม
ทางด่วนน้ำบายพาส โครงการแก้มลิง
หลักการทำงานให้สำเร็จของพ่อ
1. รู้ทั้งทางลึกและทางกว้างของงาน
2. มีความคิดเห็นถูกต้องตามหลักวิชาและความชอบธรรม
3. ปฏิบัติงานให้สำเร็จตรงตามจุดมุ่งหมาย
นี่เป็นกฎการทำงาน 3 ข้อที่พ่อจดไว้บนกระดานเตือนความจำบนโต๊ะทำงาน พ่อบอกว่าสรุปมาจากพระราชดำรัสตอนหนึ่ง อ่านเมื่อไรก็จะนึกถึงการทรงงานของในหลวงที่มากและหนัก แต่พระองค์ก็ทรงงานสำเร็จผลทุกครั้ง
พ่อเล่าว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ นั้น เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงคิดไว้นานแล้ว พระองค์ได้ศึกษาเรื่องระบบน้ำในกรุงเทพฯ ย้อนหลัง ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ เคยตรัสว่า..
“...เริ่มต้นท่านไปค้นแผนที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยโบราณ เอาที่โบราณที่สุดเท่าที่จะโบราณได้ แล้วก็เอามาเรียงต่อกัน ตั้งแต่สมัยเก่าที่สุดถึงสมัยใหม่ มาดูว่าสมัยเริ่มต้นนั้นมีน้ำที่เข้า-ออกกรุงเทพฯ เท่าไร แล้วก็มีภูมิประเทศอย่างไร การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนเป็นอย่างไร ท่านก็ดูประกอบกับภาพถ่ายทางอากาศตั้งแต่สมัยเก่าที่สุดเท่าที่จะหามาได้ แล้วก็ศึกษาข้อมูลพวกนั้นมา พอจะถึงวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งสุดท้าย ท่าก็ออกไปเองในหลายพื้นที่...”
หลังจากนั้นพระองค์ได้เรียกหน่วยงานต่างๆ ทั้งกรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร กรมทางหลวง และการรถไฟฯ มาหารือ สรุปสาเหตุปัญหาร่วมกัน วางแผนแก้ปัญหา เป็นที่มาของโครงการต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม อย่างโครงการแก้มลิง ที่จัดให้มีสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ ปรับปรุงระบบท่อระบายน้ำย่อยในตรอก ซอย ขยายความกว้างและลึกของคูคลอง ฯลฯ
เวลาพ่อได้รับมอบหมายให้ทำงานสักชิ้นหนึ่ง ฉันจะเห็นพ่ออ่านหนังสือหลายเล่ม ถามจากคนที่เคยทำ วางแผนการทำงานไว้หลายๆ แผน ทำตารางการทำงาน และลงมือทำจนงานสำเร็จ ฉันเองก็ใช้วิธีเดียวกันกับพ่อ และงานของฉันก็ออกมาดีและทันเวลาจริงๆ
พ่อของฉันเก่งหลายอย่าง
“รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล”
ประโยคนี้ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้กับพ่อ เพราะหลังจากที่พ่อรู้อะไรอย่างหนึ่ง พ่อก็จะเรียนรู้อย่างอื่นต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ทิ้งอย่างแรก พ่อบอกฉันเสมอว่าให้ฉันลองเรียนรู้อะไรไปเรื่อยๆ อย่าเพิ่งคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ ได้หรือไม่ได้ต้องลองลงมือทำก่อนเท่านั้นถึงจะรู้ คนเก่งอย่างเดียวมี แต่คนเก่งหลายอย่างก็มีมาก พระเจ้าอยู่หัวของพวกเราก็พระองค์หนึ่งแล้วที่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า คนเราเรียนรู้และทำอะไรออกมาดีหลายๆ ด้านได้
นอกจากพระองค์จะเป็นกษัตริย์นักปกครองแล้ว ยังทรงมีพระปรีชาสามารถอีกหลายด้าน อย่าง ‘วรรณศิลป์’ ทรงแบ่งเวลาทรงพระอักษร ทำให้คนไทยได้อ่านพระราชนิพนธ์ที่ทรงคุณค่ามากมาย อย่าง ‘นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ’ พระราชนิพนธ์แปล ซึ่งสะท้อนภาพของผู้ที่เสียสละเพื่อส่วนรวม ทรงใช้เวลาว่างส่วนพระองค์แปลหนังสือเล่มนี้ทีละเล็กละน้อยเป็นเวลานานถึง 3 ปี ‘พระมหาชนก’ ที่นอกจากจะทรงแปลแล้ว พระองค์ยังทรงตรวจทานในทุกขั้นตอนจนออกมาเป็นรูปเล่ม หรือ ‘ติโต’ พระราชนิพนธ์แปล เนื้อหาเกี่ยวกับชีวประวัติของอดีตประธานาธิบดีแห่งยูโกสลาเวีย ที่มีภาษาที่เข้าใจง่าย
ด้านดนตรี ทรงเครื่องดนตรีได้ดีหลายชนิด เช่น แซกโซโฟน คลาริเนต พระองค์พระราชนิพนธ์เพลง และเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิด และทรงซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วยพระองค์เอง เมื่อมีพระชนมพรรษาได้ 18 พรรษา ทรงพระราชนิพนธ์เพลง ‘แสงเทียน’ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก จนถึงปัจจุบันมีเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น 48 เพลง
พระเจ้าอยู่หัวโปรดกีฬาหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันเรือใบ ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านเรือใบสูงมาก ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ทรงชนะเลิศทรงเรือใบเข้าสู่เส้นชัยเป็นอันดับ 1 ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ
ด้านศิลปะ ทรงศึกษาด้วยพระองค์เองทรงฝึกเขียนเอง และทรงศึกษาจากตำราต่างๆ เมื่อสนพระราชหฤทัยงานเขียนของศิลปินผู้ใดก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้นถึงที่พัก เพื่อทรงมีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตร วิธีการทำงานของเขา การที่เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรงานของศิลปินที่พระองค์สนพระราชหฤทัยนั้น มิใช่เพื่อจะทรงลอกเลียนแบบงานของศิลปินเหล่านั้น เพียงแต่พระองค์ทรงนำวิธีการทำงานของเขามาสร้างสรรค์งานของพระองค์ขึ้นมาใหม่ให้เป็นแบบฉบับของพระองค์เอง
เพราะพระองค์เป็นแรงบันดาลใจ พ่อจึงได้ไม่หยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่หยุดที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ฉันซึมซับมาจากพ่อ และดำเนินตามรอยของพ่อซึ่งยึดหลักการคิด การทำงาน การใช้ชีวิตจากพ่อหลวงของคนไทย
ในวันนี้ฉันแหงนมองภาพพระองค์ท่าน ความรู้สึกต่อพระองค์ตอนนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกเทิดทูน ฉันประนมมือยกขึ้นเหนือศีรษะ...ฉันทำตามแบบพ่อ ...ด้วยความภาคภูมิใจ
พี่ตองก้า
--------------------
อ้างอิง
- วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. ในหลวง นายช่างใหญ่ของแผ่นดิน. ตุลาคม 2543
- กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. www.ops.go.th/ethic [สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2554]