การเลี้ยงดูลูกที่กำลังอยู่ในวัยรุ่นน่าจะเป็นความท้าทายที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับคนเป็นพ่อแม่ โดยเฉพาะลูกที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เมื่อลูกเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น กล้าที่จะปฏิเสธและต่อต้านมากขึ้น บทเรียนแรกที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรได้เรียนไปพร้อมๆ กับลูกน้อยก็คือ พลังของคำว่า ‘ไม่’ นั่นเอง
เมื่อคำว่า ‘ไม่’ คือสัญญาณที่ดี
ในช่วงที่ลูกเติบโตเปลี่ยนผ่านจากช่วงวัยเด็กสู่วัยรุ่น ไม่ต้องแปลกใจถ้าเราจะได้ยินคำว่า ‘ไม่’ บ่อยครั้งขึ้นกว่าแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อการปฏิเสธ แสดงความไม่เห็นด้วย เห็นค้านกับความเห็นของพ่อแม่ หรือเพื่อโต้เถียงอะไรบางอย่าง กฎระเบียบเดิมที่เคยใช้ได้ผลมานานหลายปีอาจเริ่มถูกโต้แย้งเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง คำพูดที่เคยใช้ได้ผลอาจถูกตอบกลับด้วยคำว่า ‘ไม่’ เป็นครั้งแรก ทว่านั่นอาจไม่ใช่สัญญาณที่ไม่ดีเสมอไป
คำว่า ‘ไม่’ เป็นคำที่ทรงพลังมาก อย่างน้อยก็ช่วยให้เด็กๆ สามารถสร้างเกราะเพื่อปกป้องตัวเองได้ เพราะจะทำให้เด็กๆ กล้าจะปฏิเสธเมื่อไม่ต้องการ กล้าบอกให้อีกฝ่ายหยุดเมื่อรู้สึกว่าถูกล้ำเส้น นั่นคือสัญญาณที่ดีที่บอกว่าเด็กของเราจะสามารถเอาตัวรอดในสังคมได้
เด็กบางคนอาจเติบโตขึ้นมาโดยมีนิสัยขี้เกรงใจและไม่กล้าปฏิเสธใครเพราะกลัวจะทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ ผิดหวัง ทำให้ตัวเองไม่เป็นที่รัก หรือถูกมองว่าเห็นแก่ตัว นั่นก็เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้และทำความเข้าใจว่า การพูดว่า “ไม่” ไม่ได้ทำให้เรากลายเป็นคนไม่น่ารัก การยืนหยัดในความต้องการของตัวเองและลุกขึ้นมาปฏิเสธไม่ใช่เรื่องผิด แม้จะทำให้คนอื่นรู้สึกไม่พอใจ ทำให้เจ้าตัวที่พูดคำว่าไม่รู้สึกเสียใจ แต่พวกเขาต้องเรียนรู้และผ่านมันไปให้ได้ เพราะแบบนี้เด็กๆ ถึงจะกล้าปฏิเสธเมื่อถึงเวลาต้องปฏิเสธ เช่น เวลาที่แฟนแตะเนื้อต้องตัวโดยที่เจ้าตัวไม่ได้เต็มใจ หรือเวลาที่ถูกรุ่นพี่ในโรงเรียนกลั่นแกล้งโดยใช้ข้ออ้างต่างๆ มาข่มขู่ ถ้าพวกเขาเรียนรู้ที่จะปฏิเสธในสถานการณ์เหล่านี้ได้ พ่อแม่ก็สามารถวางใจได้ว่าเด็กๆ จะสามารถปกป้องร่างกายและจิตใจของตัวเองให้ปลอดภัยได้ไปขั้นหนึ่ง
รับมือกับคำว่า ‘ไม่’ ด้วยใจเป็นกลาง
ในขณะที่คำว่า “ไม่” ของลูกต่อคนอื่นๆ ช่วยให้พ่อแม่รู้สึกวางใจ ในทางกลับกันพ่อแม่หลายคนที่ถูกลูกเอ่ยปากปฏิเสธอาจจะกำลังรู้สึกว่าตนเองโดนท้าทายอำนาจในลำดับครอบครัว เมื่อลูกเติบโตมากขึ้น ได้เห็นโลกมากขึ้น ความคิดของพวกเขาก็ย่อมเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เทรนด์การเลี้ยงลูกกำลังเปลี่ยนแปลง รูปแบบการเลี้ยงดูแบบ ‘เด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่’ ไม่ได้รับการยอมรับในหมู่เด็กๆ อีกแล้ว พวกเขาเร่ิมตระหนักในสิทธิของตัวเองมากขึ้น ทั้งคนส่วนใหญ่ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าเด็กๆ ควรจะมีอำนาจเหนือร่างกายและจิตใจของตนเอง พวกเขาควรมีโอกาสได้ตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร ตราบใดที่ยังอยู่ในขอบเขตตามที่กฎหมายกำหนด
ในทางทฤษฎีนี่เป็นแนวคิดที่ตอบโจทย์กับสังคมสมัยใหม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วพ่อแม่ส่วนใหญ่กลับยังไม่สามารถยอมรับแนวคิดนี้ได้อย่างเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ในจุดนี้จึงถึงเวลาที่พ่อแม่เองก็ต้องเรียนรู้ร่วมไปกับลูกแล้ว ลองคิดในอีกแง่ ขณะที่พ่อแม่รู้สึกว่าลูกในวัยรุ่นนั้นแสนเอาแต่ใจ ไม่ยอมทำตามในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการเหมือนแต่ก่อน ทำให้รู้สึกเหนื่อยหน่ายที่ต้องรับมือกับลูกในวัยนี้ เด็กๆ เองก็คงกำลังรู้สึกในแบบเดียวกัน เวลาที่ขอกลับบ้านดึกแล้วถูกปฏิเสธ ขอไปเที่ยวกับเพื่อนก็ยังถูกปฏิเสธ อยากจะเลือกเรียนในสิ่งที่ใช่ เลือกทำงานอดิเรกแบบที่ชอบแต่ถูกคัดค้าน พวกเขาเองก็คงรู้สึกเหนื่อยในการรับมือกับคำปฏิเสธเหล่านี้ไม่แพ้กัน
เพราะต่างคนต่างมีความคิดที่ตั้งอยู่บนจุดยืนของตัวเอง มองทุกอย่างผ่านเลนส์ความรู้สึกของตัวเองเท่านั้น หลายๆ ครั้งคำว่า ‘ไม่’ จึงถูกเอ่ยออกไปโดยปราศจากความเข้าอกเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจต่ออีกฝ่าย จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องเรียนรู้การรับมือกับคำว่า “ไม่” ด้วยใจเป็นกลางเสียก่อน แทนที่จะมองว่าทำไมลูกถึงเอาแต่ต่อต้าน พ่อแม่ควรจะทำความเข้าใจถึงความต้องการของลูกให้มากขึ้น ใช้การอธิบายเหตุผล และการประนีประนอม แทนการพยายามบังคับให้ลูกทำในสิ่งที่ต้องการ คิดเอาไว้เสมอว่ายิ่งลูกกล้าพูดคำว่าไม่กับคนในครอบครัวมากเท่าไหร่ เวลาที่ลูกใช้ชีวิตข้างนอกย่อมต้องสามารถใช้คำว่าไม่กับเพื่อนหรือคนอื่นๆ ได้อย่างเป็นประโยชน์ต่อตนเองมากขึ้นเท่านั้น
อย่าให้คำว่า ‘ไม่’ กลายเป็นปัญหาครอบครัว
การใช้ไม้แข็งกับลูกในวัยต่อต้าน ก็ไม่ต่างอะไรจากการราดน้ำมันลงไปในกองเพลิง นอกจากจุดประเด็นให้กลายเป็นการทะเลาะกันในครอบครัวแล้ว ก็มีแต่จะทำให้พ่อแม่กลายเป็นจอมเผด็จการในสายตาลูกๆ แทนที่เด็กๆ จะยอมเชื่อฟังทำตาม พวกเขามีแต่จะยิ่งตีตัวออกห่างและตอบโต้ด้วยวิธีที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นการพูดปฏิเสธหรือรับมือกับคำว่าไม่ของพวกเขา พ่อแม่จึงจำเป็นต้องมีวิธีที่เหมาะสม ดังเช่นตัวอย่างที่เรากำลังจะอธิบายให้ฟัง
ใช้เหตุผลเป็นหลัก
เรื่องของอารมณ์เก็บเอาไว้ใช้แค่ในยามดีใจหรือเสียใจ แต่สำหรับการพูดว่าไม่แล้วสิ่งที่จะช่วยเสริมให้สถานการณ์เป็นไปในเชิงบวกคือการพูดคุยกันด้วยเหตุผล แทนที่จะปฏิเสธไม่ให้เงินลูกออกไปปาร์ตี้กับเพื่อน ลองเปลี่ยนเป็นอธิบายสถานการณ์การเงินภายในบ้านให้ลูกฟัง พร้อมแจกแจงว่าเงินส่วนนั้นอาจจะสามารถช่วยจ่ายค่าเทอมในยามฉุกเฉินได้อาจจะดีกว่า เมื่อเด็กสามารถเข้าใจถึงเหตุผลเบื้องหลังคำว่าไม่ โอกาสที่พวกเขาจะเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับเหตุผลก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย
ประนีประนอมในบางโอกาส
บางครั้งคำว่าใช่หรือไม่อาจไม่ใช่คำตอบเดียวของสถานการณ์เสมอไป ลองเปลี่ยนจากการปฏิเสธมาเป็นการประนีประนอมที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้แพ้ในการเจรจา พวกเขายังคงได้ในสิ่งที่ต้องการแต่อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด เช่น แทนที่จะบอกให้ลูกเลิกเล่นเกมก่อนนอน ก็เปลี่ยนมาเป็นการจำกัดเวลาแทน
เคารพสิทธิส่วนบุคคล
การปะทะกันในหลายสถานการณ์พ่อแม่ส่วนหนึ่งมักคิดว่าตนเองมีอำนาจเต็มในการสั่งให้เด็กๆ ทำในสิ่งที่ต้องการ เมื่อถูกปฏิเสธจึงเกิดความรู้สึกรับไม่ได้อย่างรุนแรง โดยที่หลายครั้งพ่อแม่อาจลืมพิจารณาไปว่าความต้องการเหล่านั้นขัดกับสิทธิส่วนบุคคลของลูกหรือเปล่า เช่น การสั่งให้ลูกเปิดประตูห้องนอนไว้เสมอ การติดแอปติดตามตัวในโทรศัพท์ของลูก หรือการออกหน้าจัดการปัญหาบางอย่างให้โดยไม่ได้ขอความเห็นจากลูกก่อน ดังนั้นก่อนที่จะรู้สึกต่อต้านคำปฏิเสธของลูก พ่อแม่ควรพิจารณาให้ดีว่าความต้องการของตนเองเป็นฝ่ายละเมิดสิทธิ์ของลูกก่อนหรือเปล่า
พูดคุยกับลูกอยู่เสมอ
ยิ่งลูกเติบโตเรื่องที่ลูกนำมาปรึกษาก็ดูเหมือนจะลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะเด็กๆ มักจะตั้งแง่เอาไว้ก่อนว่าพ่อแม่ต้องไม่เห็นด้วยหรือไม่พอใจกับความคิดของตนเองแน่ๆ การเป็นฝ่ายเริ่มเปิดใจเข้าหา พยายามพูดคุยกับลูกอยู่เสมอๆ จะทำให้เด็กรู้สึกไว้วางใจและกล้าบอกความในใจของตัวเองมากขึ้น การได้พูดคุยปรับทัศนคติกันอยู่เนืองๆ อาจทำให้ไม่ต้องมีฝ่ายไหนพูดคำว่าไม่อีกเลยก็ได้
อ้างอิง
https://www.psychologytoday.com/us/blog/surviving-your-childs-adolescence/202106/parenting-adolescents-and-the-power-saying-no?
https://kidshealth.org/en/parents/adolescence.html