"อธิบายตัวเองให้ฟังหน่อยสิ"
"เธอเป็นคนแบบไหนเหรอ"
และอีกสารพัดคำถามที่เราพบเจอในหลาย ๆ โอกาส เรามักจะตอบคำถามเหล่านี้ด้วยการเอ่ยถึงชื่อ อายุ ภูมิหลัง งานอดิเรก หรืออาชีพ แต่ลึก ๆ แล้วบางทีก็ทำให้เราฉุกคิดว่าคำตอบที่ให้ไป มันเป็น 'ตัวตน' จริง ๆ ของเราหรือเปล่า โดยเฉพาะในสภาวะที่รายล้อมด้วยความกดดัน และตกอยู่ท่ามกลางการแข่งขันเสมอ หลายครั้งที่ต้องวิ่งไล่ตามความคาดหวังของคนอื่นให้ทัน จนทำให้เราไม่มั่นใจในคำตอบ อาจเพราะในทุก ๆ วัน เราต้องเจอกับเรื่องเครียด ๆ สิ่งที่รบกวนจิตใจ และปัญหาที่มาจากสังคมภายนอก จนทำให้รู้สึกหมดพลังและเหนื่อยล้า ในที่สุดเราก็หลงลืมความต้องการของตัวเอง ลืมไปว่าอยากเป็นหรืออยากทำอะไร ตัวของเราที่แท้แล้วเป็นใครกันแน่?
แล้วทำไมนะ.. ‘ตัวตน’ ถึงสำคัญกับตัวเรา?
การเข้าใจถึงตัวตนของเรานั้น ไม่ใช่แค่เพราะเราอยากให้คนอื่นจดจำเราอย่างไร แต่เพราะการรับรู้ถึง 'ตัวตน' หรือ ‘อัตลักษณ์’ ช่วยให้เรารับรู้ถึง ‘คุณค่า’ ของตัวเองอีกด้วย มันช่วยให้เกิดการยอมรับ ทั้งด้านที่น่าภาคภูมิใจและด้านที่ต้องพัฒนา ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่รู้สึกถึงสิ่งเหล่านั้นเลย มันก็ยากที่จะรู้ความต้องการที่ชัดเจนของตัวเอง แล้วเมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ เราก็จะเหมือนคนหลงทางและไม่รู้ว่าควรเลือกสิ่งไหน
หนึ่งในเส้นทางที่จะพาเราไปค้นพบตัวตนก็คือทฤษฎี ‘Self-Concept’ ของคาร์ล โรเจอร์ส (Carl Rogers) นักจิตวิทยามนุษยนิยม ที่ให้ความสนใจในการแสวงหาตัวตนเป็นอย่างมาก เขาเชื่อว่ามนุษย์มีแรงจูงใจพื้นฐานอย่างหนึ่งนั่นก็คือ แนวโน้มที่จะพัฒนาตัวเองไปสู่คนแบบที่มุ่งหวังเพื่อเติมเต็มศักยภาพ
เราเชื่อว่าทุกคนสามารถรู้จักตัวเองให้มากขึ้นได้ เพื่อที่จะพัฒนาและเดินทางไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ เราหวังว่าทุกคนไม่เพียงแต่จะพบตัวตน แต่จะค้นพบเป้าหมายที่ซ่อนอยู่ของตัวเองด้วย เพราะไม่ว่าใครก็อยากจะพบตัวเองในรูปแบบที่ดีขึ้น และการเข้าใจ Self-Concept ก็ยังเป็นวิธีที่ยั่งยืน เพราะการทำความรู้จักและค้นหาตัวตนเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้น การทำความเข้าใจตัวเองได้ตั้งแต่ตอนนี้ก็จะเป็นรากฐานอันแข็งแรงให้กับตัวตนเราในอนาคต มาเคลียร์พื้นที่ภายในใจแล้วออกค้นหาไปด้วยกัน
REAL SELF: มองให้เห็นตัวตนตรงหน้า
ในขณะที่บางคนอาจจะรู้สึกเข้าใจตัวเองอย่างดี แต่บางคนกลับไม่รู้สึกหรือไม่เข้าใจตัวตนของตัวเองเลย เราจะเริ่มรู้สึกสับสน หวาดกลัว ไม่มั่นใจ และแปลกแยกกับสังคม เมื่อเราพยายามจะไขว่คว้าหาความหมายของตัวเองก็ยิ่งมองไม่ออกว่า 'ตัวตน' นั้นคืออะไร ถ้ารู้สึกแบบนี้ก็ไม่ต้องตระหนกตกใจไป เราไม่ได้เป็นคนเดียวที่เผชิญกับสิ่งนี้ และการนิยามตัวตนนั้นไม่ได้ซับซ้อนเหมือนที่เราคิด
ภายใต้แนวคิดเรื่อง ‘Self-Concept’ ของคาร์ล โรเจอร์ส มีคุณลักษณะสองแบบที่เราต้องทำความเข้าใจ
คุณลักษณะแรก Real Self คือการนิยามตัวเองจากด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง อุปนิสัย จิตใจ ทัศนคติ ความรู้ความสามารถ หรือบทบาททางสังคม เช่น ตาสีน้ำตาล ชอบตัดผมสั้น เป็นคนพูดไม่เก่งในที่ทำงาน แต่ก็ร่าเริง ขยันและรับผิดชอบ ชอบอ่านหนังสือมากกว่าฟังเพลง เวลาเจอเพื่อนสนิทก็เปลี่ยนเป็นคนพูดไม่หยุด เป็นต้น ซึ่ง Real Self ไม่ใช่แค่สิ่งที่เรามองเห็นเท่านั้น เพราะยังรวมไปถึงภาพที่คนอื่นมองเห็นเราด้วย เมื่อนำสองอย่างนี้มาประกอบกัน เราก็จะยิ่งเห็นตัวเองได้ชัดเจนขึ้นว่า "ฉันเป็นใคร"
แต่การนิยามตัวเองก็มีจุดที่ควรระวังอยู่บ้าง เพราะบางครั้งการมองเห็นอาจไม่ตรงกับ 'ความเป็นจริง' เสมอไป บางคนมีการรับรู้ที่สูงเกินในเชิงบวกหรือเชิงลบ ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามองว่าตัวเองเก่งในงานเย็บปักถักร้อย ความภาคภูมิใจในตนเองของเราในด้านนั้นจะเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะทำงานนั้นต่อไป แต่ถ้าเรามองว่าผลงานของตัวเองแย่มาก ทำไปแค่ไหนก็ไม่ดี นั่นก็อาจทำให้ความนับถือในตัวเองลดลง และไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้ก้าวผ่านขีดจำกัดนั้นไปได้ ดังนั้น เราควรมองตัวเองให้รอบด้าน โดยไม่ยึดถือความคิดใดความคิดหนึ่งจนเกินไป
นอกจากการสำรวจบุคลิก นิสัย ความชอบ ของตัวเองในด้านต่าง ๆ ที่กล่าวไปข้างต้นแล้วก็ยังมีอีกหลากหลายวิธีที่จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น วิธีที่หลายคนเคยเห็นผ่านตากันมาบ้างก็เช่น การทำแบบทดสอบบุคลิกภาพอย่าง MBTI, Enneagram, DISC personality และ The Big Five เป็นต้น หรือกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็ก ๆ อย่าง การจับคู่ผลัดกันสัมภาษณ์กับเพื่อน, การออกแบบภาพปะติดตนเอง หรือการสร้างโฆษณาพรีเซนต์ตัวเอง เหล่านี้ก็เป็นกิจกรรมสนุก ๆ ที่ช่วยให้เห็น Real Self ได้เช่นกัน
การทำความเข้าใจ Real Self เป็นสิ่งสำคัญ เพราะทั้งหมดนี้ส่งผลโดยตรงต่อความคิด การแสดงออก และการตัดสินใจของเราในแทบจะทุก ๆ เรื่อง
คำว่า ‘ตัวตน’ นั้นฟังดูยิ่งใหญ่มาก ๆ ดังนั้นจึงไม่แปลกหรอกที่บางครั้งเราจะสับสน จนเผลอมองข้ามสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ไป แต่เมื่อได้ทำความเข้าใจ เราจะพบ ‘ตัวฉัน’ ได้ในที่สุด ฉะนั้น ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องแข่งขันกับใคร แค่ค่อยเป็นค่อยไปก็พอ
IDEAL SELF: ฉายภาพที่เราอยากเป็น
‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร?’
คำถามที่ตามมาหลอกหลอนตลอดวัยเด็กและวัยรุ่น มันเหมือนคำถามที่เข้ามาเร่งให้เราต้องคิด ต้องเติบโต ต้องเป็นอย่างนั้นสิถึงจะดี อย่างนี้สิถึงจะเวิร์ค จนบางครั้งเราก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราอยากเป็นตอนนี้มันเป็นความคาดหวังจากคนอื่น หรือสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ กันแน่ แต่ถึงคำถามนี้จะน่าอึดอัดอยู่บ้าง มันก็พอมีส่วนที่ดีอยู่เหมือนกัน เพราะคำถามนี้สื่อถึงความฝันหรือภาพแทนที่เราอยากเป็น ซึ่งนี่ก็คือคุณลักษณะแบบที่สองของ Self-Concept ที่เราต้องรู้จัก ‘ตัวตนตามอุดมคติ’ หรือ Ideal Self
ฉันอยากเป็นนักบินอวกาศ อยากเป็นนักขับรถแข่ง อยากเป็นเจ้าของสวนแอปเปิ้ล หรืออยากเป็นแบบคุณพ่อคุณแม่ ความฝันเหล่านี้ก็คือภาพแทนสิ่งที่เราอยากเป็นในช่วงเวลาหนึ่ง มันอาจจะคงอยู่หรือเปลี่ยนไปตามกาลเวลา นั่นก็ขึ้นอยู่กับความสนใจและความมุ่งหวังในแต่ละช่วงชีวิต แต่เชื่อไหมว่าเราไม่เคยไม่มีความฝัน
ทุกๆ คนมี ‘ความฝัน’ หรือ ‘ภาพของสิ่งที่เราอยากเป็น’ อยู่เสมอ ซึ่งนั่นก็คือ Ideal Self หรือตัวตนตามอุดมคติ “ฉันจะพรีเซนต์งานให้เก่งขึ้น” “ฉันใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนมือรางวัล” “ฉันต้องการมีร้านขายต้นไม้” จะว่าไปแล้วนี่ก็เหมือนกับเป้าหมายในชีวิต บางครั้งฟังดูเป็นไปได้ยากหรือบางครั้งก็ฟังดูธรรมดามาก ๆ แต่อย่าลืมว่าทุก ๆ ความฝันนั้นเป็นไปได้เสมอ
Ideal Self จึงเป็นทั้งแรงปรารถนาและแรงผลักดันให้เราพัฒนาตัวเอง ดังคำที่ฟรีดริช นิทเช่ (Friedrich Nietzsche) กล่าวไว้ว่า “คนที่มีเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ ย่อมอดทนได้กับทุกสิ่ง” ดังนั้น การที่เรารู้เป้าหมายก็เปรียบได้กับเหตุผลในการใช้ชีวิต ราบรื่นบ้าง เจออุปสรรคบ้าง เราก็จะฝ่าฟันมันไปได้
แล้วถ้ามีวันไหนที่ตัวตนตามอุดมคติของเราจะเลือนลางไปบ้าง อย่าเพิ่งคิดว่าเราไม่มีเหตุผลที่จะอยู่ต่อ เพราะยังมีวิธีอีกมากมายให้เราได้ค้นหาภาพที่เราอยากเป็น แค่อยากเป็นคนที่ตื่นเช้าก็เป็นเหตุผลให้เรามีวันพรุ่งนี้แล้ว จงจำไว้ว่า “ตัวตนเกิดขึ้นได้เสมอ”
ROOM OF IMPROVEMENT: พื้นที่ของความเป็นไปได้
คงจะดีมากถ้าเราได้เป็นคนในแบบที่ตัวเองมุ่งหวัง แต่โลกความเป็นจริงก็ช่างดูโหดร้าย จนบางครั้งมันก็บดบังเส้นทางที่จะไปถึงความฝัน แล้วแบบนี้เราจะสมหวังได้อย่างไร? Room of Improvement หรือพื้นที่แห่งการพัฒนาตนเอง เป็นส่วนสุดท้ายที่เราจะพูดถึง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะพาเราไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
ตามแนวคิด Self-Concept ของคาร์ล โรเจอร์ส หลังจากที่เรารู้แล้วว่า Real Self ภาพตัวตนที่เราเป็น และ Ideal Self ภาพตัวตนในอุดมคติที่เราอยากเป็นเป็นอย่างไร ให้จับภาพทั้งสองมาเปรียบเทียบกัน ลองนึกถึงวงกลม A อินเตอร์เซกชันกับวงกลม B พื้นที่ตรงกลางที่ซ้อนทับกันจะแสดงถึงส่วนที่เราต้องเติมเต็มหรือพัฒนาต่อไป
ดังนั้น ถ้าวงกลมของเราสองวงมีสิ่งที่เหมือนกันมากเท่าไรก็ยิ่งส่งผลดีต่อตัวเรามากเท่านั้น เพราะนั่นหมายความว่า Real Self กับ Ideal Self ของเราสอดคล้องกันหรือมีระยะห่างต่อกันน้อย เมื่อมีความสอดคล้องกันสูง ผลที่ตามมาคือเราจะตระหนักรู้ถึงคุณค่าในตนเอง (Self Esteem) และประสิทธิภาพในตนเองที่มากตามไปด้วย
วิธีคิดที่เรามีต่อตัวเองเป็นองค์ประกอบสำคัญมากในการพาเราไปสู่เป้าหมาย เพราะจะทำให้เราเกิดความเชื่อมั่นต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าเจออุปสรรคใดก็จะสามารถเผชิญหน้าและผ่านไปได้
สำหรับโรเจอร์ส บุคคลที่มีความมั่นใจและความรู้สึกเชิงบวกเกี่ยวกับตัวเองจะเชื่อมั่น กล้าเผชิญหน้า ยอมรับความล้มเหลวและความทุกข์ในบางครั้งได้ดีกว่าบุคคลที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ ถ้าเรารู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองน้อย เราอาจหลีกเลี่ยงความท้าทายในชีวิต และไม่ยอมรับว่าชีวิตอาจเจ็บปวดและไม่มีความสุขบ้างในบางครั้ง
การที่ Real Self กับ Ideal Self มีความสอดคล้องกันจึงมาช่วยเสริมให้เรารู้สึกถึงความเชื่อมั่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งช่องว่างตรงนี้สามารถเติมเต็มได้
พื้นที่ช่องว่างที่อยู่ระหว่าง Real Self กับ Ideal Self เรียกว่า พื้นที่แห่งการพัฒนาตนเอง (Room of Improvement) เปรียบเสมือนพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เพื่อให้เราเข้าใกล้ภาพตัวตนในอุดมคติที่เราอยากเป็น เริ่มต้นได้ตั้งแต่วิธีการปรับ Mindset ลงคอร์สเพิ่มทักษะ เรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จ อ่านหนังสือหาข้อมูล หรือแม้แต่การสร้างแรงจูงใจเล็ก ๆ ให้ตัวเอง เช่น ถ้าวันนี้ฉันฝึกฝนการเขียนแบบ Free Writing ได้ครบ 10 นาที ฉันจะอนุญาตให้ตัวเองกินไอศกรีมได้สองถ้วย
เมื่อมีใจที่เปิดกว้าง เราก็จะยิ่งเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างเต็มที่ แล้วยิ่งเราพัฒนาได้มากเท่าไร เราก็ยิ่งขยับเข้าใกล้เป้าหมายได้มากขึ้น สักวันหนึ่งวงกลมทั้งสองวงของเราก็จะซ้อนทับกันจนแนบสนิท เราจะพบตัวเองในอีกเวอร์ชันหนึ่งที่น่าภาคภูมิใจ
"เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่าเราคิดอย่างไร เราจึงเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ดีที่สุดในตัวเอง" นี่คือคำที่คาร์ล โรเจอร์ส ได้บอกกับเราไว้
TK Park เชื่อว่าทุกคนมีคุณค่าในตัวเองและต่างมีความสามารถที่จะเรียนรู้ เติบโต และเป็นตัวเองในแบบที่ดีขึ้นได้ ขอให้ทุกคนสนุกกับการค้นหา ‘ตัวตน’ เพื่อพัฒนาทั้งกายและใจไปพร้อม ๆ กัน
อ้างอิง
https://www.thoughtco.com/self-concept-psychology-4176368
https://positivepsychology.com/self-concept/
https://www.simplypsychology.org/carl-rogers.html
https://studymoose.com/carl-rogers-essay