
การเรียนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่ใช้กันมาทั่วโลกตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเรียนออนไลน์ดูเหมือนกลายเป็นสิ่งทางเลือกเดียวที่มีอยู่ แถมยังเป็นโจทย์อันท้าทายสำหรับครู อาจารย์ในโรงเรียน รวมถึงผู้ปกครองและนักเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็กในระดับอนุบาล ที่โดยธรรมชาติจะ สมาธิการเรียนสั้นกว่าเด็กวัยอื่นๆ ฉะนั้นการออกแบบการเรียนรู้ออนไลน์ จึงเป็นเรื่องสำคัญกับเด็กเล็กในวัยอนุบาลมากที่สุด
ดร.พรพิมล รอดเคราะห์
TK Park สนทนากับ ดร.พรพิมล รอดเคราะห์ ผู้ช่วยหัวหน้าภาคหลักสูตรและวิธีสอน ฝ่ายเทคโนโลยีและนวัตกรรม คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ พัฒนานวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนและการพัฒนาเกมดิจิทัลเพื่อการศึกษาสำหรับเด็ก ว่าด้วยเรื่องเด็กปฐมวัยกับการเรียนออนไลน์ และครูผู้สอนทำอย่างไรได้บ้าง จึงจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้ได้อย่างเต็มที่
ว่ากันว่า เด็กเล็ก ไม่เหมาะกับเรียนออนไลน์ จริงไหม เพราะอะไร
ถ้าให้เด็กเรียนเอง ก็ตอบได้ว่าไม่เหมาะ แต่ถ้าในรูปแบบที่ครูผู้สอนหรือผู้ปกครองเอื้อต่อกัน เด็กเล็กก็เหมาะอย่างมากในการเรียนออนไลน์ เพราะโลกปัจจุบันเป็นยุคดิจิทัลแล้ว ดังนั้นก็คือการเตรียมความพร้อมอย่างหนึ่ง ถึงแม้เราจะมองว่าเป็นเด็กเล็ก แต่ว่าโลกไม่ได้หยุดนิ่ง ดังนั้นถ้ามองว่าเป็นการเตรียมความพร้อมให้เขา พร้อมที่จะไปเผชิญโลกออนไลน์ในยุคดิจิทัล ส่วนตัวก็คิดว่า ถ้าครูผู้สอนและผู้ปกครองลงมาดูแลร่วมกันก็เป็นเรื่องที่ดี คือเราไม่สามารถหยุดการพัฒนาของโลกได้ หรือหยุดให้เด็กล้าหลัง การเรียนออนไลน์ ก็เป็นเหมือนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่ครูจะต้องออกแบบให้เด็กนักเรียนในอีกรูปแบบหนึ่ง
ในสถานการณ์ปัจจุบัน ครูปฐมวัย ควรเตรียมความพร้อม หรือวางแผนการออกแบบการเรียนการสอนสำหรับเด็กอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
เริ่มแรกครูควรวิเคราะห์ผู้เรียนของตัวเองก่อนว่า เด็กของเรามีความพร้อมในเรื่องออนไลน์ระดับไหนก่อน อย่างที่สอง คือ อาจจะต้องวิเคราะห์ตัวเองก่อนว่าตัวเองมีความถนัดหรือความสามารถด้านออนไลน์แค่ไหน อย่างที่สามคือต้องวิเคราะห์เกี่ยวกับสื่อ เช่นในโรงเรียน สภาพแวดล้อม หรืออุปกรณ์ในการเรียนมีความพร้อมแค่ไหน ถ้าเกิดว่าพร้อมในระดับหนึ่ง ก็จัดการเรียนการสอนในความพร้อมที่ทำได้ คือส่วนตัวมองว่า อาจไม่ต้องจัดการเรียนการสอนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ได้ แต่ให้มองว่าในบริบทต่างๆ เราและนักเรียนพร้อมแค่ไหน ดังนั้นครูปฐมวัยเองก็ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม คือโลกเราเป็น New Normal แล้วจริงๆ ให้กลับมาเหมือนเดิมคงเป็นไปไม่ได้ ถ้าเรามองวิกฤตตรงนี้ ในแง่ของโอกาสตรงที่ วันหน้าเราไม่รู้ว่าจะมีโรคร้ายแรงอะไรอีกหรือเปล่า ฉะนั้นเป็นโอกาสดีในการเตรียมตัวเอง เพราะดิจิทัลมาแล้ว และไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนแล้ว โควิดอาจจะทำให้การจัดการเรียนการสอนลำบากนิดหนึ่ง แต่ไม่อาจปิดกั้นการที่เราจะจัดการศึกษาได้ ซึ่งการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ควรส่งเสริมให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม และการเรียนรู้ควรกระตุ้น ส่งเสริม และท้าทายการคิดของเด็ก เพื่อให้เกิดกระบวนการคิดแก้ปัญหา รวมถึงเกิดการพัฒนาทักษะการรู้คิดของเด็ก นอกจากนี้จัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของเด็ก เพื่อให้เด็กสามารถใช้ภาษาในการสื่อสารความคิด
สำหรับเด็กปฐมวัย ความยืดหยุ่นของโครงสร้างเวลาเรียน และความหลากหลายของรูปแบบการเรียนรู้ มีความสำคัญอย่างไร
มีความสำคัญมากนะ เพราะธรรมชาติของเด็กปฐมวัยเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น ช่างชักถาม ชอบสำรวจ รักความเป็นอิสระ และที่สำคัญเด็กแต่ละคนก็มีสไตล์ไม่เหมือนกัน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เด็กปฐมวัยที่ต้องยืดหยุ่น ควรยืดหยุ่นในทุกวัย ในมุมมองส่วนตัวคิดว่าการศึกษาในรูปแบบใหม่ ไม่ควรจำกัดกรอบ แต่ควรดึงศักยภาพของเด็กแต่ละคนออกมามากกว่า และผลักดันพัฒนาในสิ่งที่เขาเป็น ดังนั้นครูปฐมวัยควรสังเกตว่าเด็กสนใจอะไร และออกแบบการสอนเพื่อเสริมทักษะด้านนั้น เช่นตั้งเป้าหมายสำหรับเด็กเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งเด็กแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ในเรื่องเดียว ฉะนั้นครูควรออกแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย แล้วใช้การสังเกตเด็กว่าไปทิศทางไหนกันบ้าง และครูก็ผลักดันเขาไปในทิศทางนั้น ส่วนเรื่องการจัดสรรเวลา เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่สมาธิสั้น ดังนั้นรูปแบบการเรียนการสอน ควรสลับสับเปลี่ยน เช่น เด็กนั่งระบายสีอยู่ สักพักอาจเปลี่ยนให้เขาทำอย่างอื่น ไม่ใช่บอกว่าเธอต้องนั่งระบายสีให้เสร็จถึงจะไปทำอย่างอื่นได้อันนั้นไม่ใช่
ครูปฐมวัยควรจัดเตรียมสื่อสำหรับการสอนออนไลน์ แบบไหนที่เด็กๆ ชอบ หรือสามารถช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กได้
ต้องบอกก่อนว่า เรียนออนไลน์สำหรับเด็กปฐมวัย อาจไม่ใช่สื่อการเรียนการสอนที่ใส่คอนเทนต์เยอะๆ เหมือนของเด็กประถม หรือ มัธยม เพราะเด็กปฐมวัยชอบสีสัน ความสนุกสนาน ชอบเล่น ดังนั้นรูปแบบการเรียน การสอนออนไลน์ของเด็กปฐมวัย อาจจะเป็นรูปแบบของคลิปวิดีโอ หรือการสาธิตกิจกรรม ให้ผู้ปกครองทำร่วมกับลูก และที่สำคัญเนื้อหาต้องส่งเสริมพัฒนาการของเด็กรวมถึงซอฟต์แวร์ที่ใช้ต้องเหมาะสมกับวัย อย่างเช่น ครูอาจทำเกม ที่ช่วยฝึกทักษะการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเด็ก ทำคลิปนิทาน ที่สอดแทรกเรื่องคุณธรรม จริยธรรม โดยมีตัวละครที่ดูน่ารักๆ มีสีสัน เพื่อสร้างสถานการณ์จำลองต่างๆ สร้างสรรค์จินตนาการของเด็ก ซึ่งสามารถทำสื่อที่เด็กมีส่วนร่วมได้ด้วยยิ่งดี เช่น ทำเป็นระบบทัชสกรีน เด็กก็จะได้สัมผัส ได้หยิบ ได้จับ อย่างแอปพลิเคชัน Quizlet อันนี้เด็กก็ได้ยินเสียงและได้เล่นเกมไปด้วย หรือ Wordwall เป็นเว็บไซต์ที่คุณครูสามารถใช้ในการสร้างสื่อการสอนประเภทเกมและแบบทดสอบได้ คือการเรียนรู้ ถ้าเรียนรู้ผ่านการมองและการฟังอย่างเดียว ตามหลักจิตวิทยาเด็กจะจดจำได้เพียง 10-20% แต่ถ้ามีกิจกรรมให้เด็กได้ร่วมลงมือทำ เช่น ได้ลากเส้น ได้จับคู่ สิ่งที่เด็กจะได้ก็คือการคิด ซึ่งจะผิดก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าคิดถูก เขาก็จะได้ความเข้าใจไปด้วย
ในยุคที่เด็กต้องเรียนออนไลน์ การติดตาม ประเมินพัฒนาการเด็ก มีการออกแบบการประเมินที่เหมาะสมอย่างไร
ถ้าใช้แอปพลิเคชันที่เล่นเกม จะมีเฉลยในตัวอยู่แล้ว ตอนท้ายเกมจะสรุปผลทั้งหมดส่งให้ครูให้ผู้ปกครองอยู่แล้วว่า เด็กได้คะแนนเท่าไหร่ หรือถ้าเป็นคลิปนิทาน ครูสามารถให้เด็กดูคลิปก่อนแล้วสร้างแบบทดสอบหรือคำถาม ที่เกี่ยวกับนิทานนั้นๆ ให้เด็กได้ร่วมหาคำตอบ ซึ่งเด็กๆ สามารถร่วมตอบไปกับผู้ปกครองได้ด้วย ก็จะได้เป็นกิจกรรมในครอบครัวอีกทางหนึ่ง โดยแบบสอบถามก็เสมือนเป็นตัววัดผลที่ครูจะได้รู้ว่าเด็กเข้าใจไหมอย่างไร ทั้งนี้ก็ควรขอให้ผู้ปกครองช่วยจดบันทึกพัฒนาการ เพราะผู้ปกครองคือคนที่อยู่ใกล้ชิดเด็กที่สุด เพื่อได้มาแลกเปลี่ยนร่วมกัน แล้วนำปรับรูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็กต่อไป
สำหรับผู้ปกครองเอง ควรเตรียมความพร้อมหรือบูรณาการร่วมกับครูปฐมวัยอย่างไร เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างเต็มที่
เมื่อก่อนเด็กอาจอยู่กับครูเกือบทั้งวัน แต่มายุคโควิด 19 การเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์ ฉะนั้นเด็กจึงอยู่กับผู้ปกครองเป็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้ปกครองต้องเห็นบทบาทของตัวเอง และเข้ามามีส่วนร่วมว่าจะพัฒนาลูกเราอย่างไรร่วมกับครู ซึ่งในการใช้งานสื่อออนไลน์ เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครองต้องประกบเด็กตลอดเวลา อย่าปล่อยให้เด็กปฐมวัยใช้งานเพียงคนเดียว เพราะเป็นวัยที่เขากำลังมีพัฒนาการเพิ่มมากขึ้น บางทีการคิดหรือความเข้าใจต่างๆ ยังไม่ถูกต้อง ดังนั้นครูและผู้ปกครองต้องประกบ เพื่อส่งเสริมให้เด็กเข้าใจในเนื้อหามากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันครูก็ต้องออกแบบการสอนให้ตอบโจทย์สำหรับเด็กแต่ละคนให้ได้ด้วย
ในมุมมองของอาจารย์ คิดว่ารูปแบบการเรียนการสอนหลังโควิด-19 ที่จะได้ประสิทธิภาพควรเป็นอย่างไร
ส่วนตัวมองว่าถึงไม่มีโควิด19 แล้ว ก็ยังควรมีรูปแบบการเรียน การสอนแบบออนไลน์ไปด้วย แต่ถามว่าทั้งหมดไหม อาจจะไม่ใช่ เพราะโดยธรรมชาติของเด็กปฐมวัย ก็ควรมีปล่อยให้เขาได้เล่นกับธรรมชาติ เรียนรู้ด้านอื่นๆ สิ่งแวตล้อมทางกายภาพ และสถานการณ์ที่พบในชีวิตประจำวัน เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับ สิ่งแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม แต่ส่วนตัวก็คิดว่าออนไลน์ก็ควรอยู่ อาจจะสัก 20-30% ที่ควรมี เพราะมองว่าต่อจากนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว ในชีวิตประจำวันเราเป็นดิจิทัลไปหมดแล้ว ดังนั้นเป็นการเตรียมความพร้อมของทักษะหนึ่ง คือทักษะดิจิทัลที่เด็กต้องมี
สำหรับผู้สนใจการออกแบบ และสร้างสรรค์สื่อการเรียนการสอน เพื่อการศึกษาสำหรับเด็ก สามารถดูคลิปการออกแบบการเรียน การสอนด้วยแอป Quizlet
หรือสนใจเรียนรู้ Canva โปรแกรมสำหรับสร้างงานกราฟิกและผลิตสื่อการสอน
และสุดท้ายอีกหนึ่งโปรแกรมที่ครูปฐมวัย ควรลอง Wordwall เว็บไซต์ที่คุณครูสามารถใช้ในการสร้างสื่อการสอนประเภทเกมและแบบทดสอบได้ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่