‘ครอบครัว เพื่อน และคนรัก’ สิ่งเล็กๆ ที่ผลักดันให้ชีวิตมีความสุข
2 กันยายน 2564
2,867
‘ความรัก’ คือการมีอยู่ของชีวิต ถ้าไม่มีความรัก ก็เหมือนไม่มีชีวิต ความรักที่ว่านี้ไม่ได้จำกัดแค่ความรักของคู่รักเท่านั้น แต่เป็นความรักจาก ‘ความสัมพันธ์’ ที่แต่ละคนมีให้กันทั้งความรักของครอบครัว ความรักของครู หรือความรักของเพื่อน ความรักฟังดูงดงามแต่หากวันหนึ่งความรักกลายเป็นพิษ เช่น เด็กคนหนึ่งถูกบังคับให้เรียนพิเศษ ต้องเรียนให้เก่งเพราะคำว่ารักของพ่อแม่ วัยรุ่นคนหนึ่งต้องฝืนความเป็นตัวตนของตัวเองเพื่อให้เข้ากับกลุ่มเพื่อนได้ คนรักที่เปลี่ยนความรักให้เป็นบาดแผลด้วยความสัมพันธ์แบบ Toxic Relationship ใจพัง ใจเจ็บ เป็นรักที่กองด้วยน้ำตา และความเจ็บปวด แล้วเราจะมีวิธีจัดการกับความสัมพันธ์เหล่านี้อย่างไร ให้ความรักไม่กลายเป็นคำกล่าวอ้างที่สร้างบาดแผลให้จิตใจมากขึ้น
TK Park ชวนมาล้อมวงอ่านเรื่องความรักความสัมพันธ์กับ 4 วิทยากร ผู้เข้าใจชีวิตและความรัก ในหัวข้อ ‘LOVE LOST LUST ความสัมพันธ์ ครอบครัว เพื่อน และคนรัก’ ผ่านการสนทนาของ นีท - เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาประจำ Starfish Education, นิดนก - พนิตชนก ดำเนินธรรม นักเขียน โฮสต์รายการ Salmon Podcast, โดม - ธิติภัทร รวมทรัพย์ นักจิตวิทยา เจ้าของเพจ He, Art, Psychotherapy และ อีฟ - มาริษา รุ่งโรจน์ คุณแม่ และช่างภาพจากเพจ ABOVE THE MARS มาร่วมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้ครอบครัว เพื่อน คนรัก โอบกอด โอบอุ้มและผลักดันให้เราเป็นคนที่มีความสุข
โดม - ธิติภัทร รวมทรัพย์
ตัวตนของคนคนหนึ่ง เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง
ความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่จำเป็นกับมนุษย์ คนหนึ่งคนจะอยู่รอดยาก ถ้าไม่เชื่อมโยงกับใครเลย ทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างในแต่ละช่วงวัยส่งผลต่อการสร้างตัวตนของคนคนหนึ่ง โดม - ธิติภัทร นักจิตวิทยา เล่าว่า วัยเด็กเป็นวัยที่สำคัญมากโดยเฉพาะในช่วงอายุ 0-2 ขวบ เด็กจะสร้างความสัมพันธ์กับพ่อแม่เป็นหลัก เมื่อเด็กสื่อสารผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ร้องไห้ ยิ้ม แล้วพ่อแม่ตอบสนองสัญญาณได้ เด็กจะรู้สึกปลอดภัย อบอุ่น ได้รับความรัก ความไว้ใจ ส่งผลต่อการไว้ใจโลกด้วย เพราะถ้าพ่อแม่น่ากลัว ใช้ความรุนเเรง เด็กจะรู้สึกว่าโลกน่ากลัว ไม่ปลอดภัยเลย
ต่อมาเมื่อลูกอายุตอน 6 ขวบ เริ่มเข้าโรงเรียนประถม จะมีครู เป็นความสัมพันธ์ใหม่ที่มีอิทธิพลใกล้เคียงกับพ่อแม่ เด็กเริ่มประเมินตัวเอง 4 ด้านได้แก่ การเรียน สถานะทางสังคม ร่างกาย และรูปลักษณ์ เกิดการเปรียบเทียบกับเพื่อน ทำไมเพื่อนผิวขาว เราผิวดำ ทำไมเพื่อนเรียนเก่ง เราเรียนไม่เก่ง เด็กจะดูผลตอบรับจากคนรอบตัวว่าคิดยังไง แล้วเริ่มส่งผลต่อตัวตนของเขา อันนี้เราเด่นหรือเราด้อย อะไรดีหรือไม่ดี ดังนั้นพ่อแม่และครูจึงเป็นคนที่มีอิทธิพลมากๆ สิ่งที่สำคัญ คือ ทำให้เด็กรู้ว่าอะไรที่เขาทำได้ดี คอยชื่นชมเขา ส่วนอะไรที่ผิดพลาด พยายามไม่ดุด่าด้วยอารมณ์ พูดคุยปรับความเข้าใจด้วยเหตุผล ถ้าใช้การลงโทษ ดุด่า จะไปฝังที่ตัวตนของเขา ส่งผลกับตัวตนในระยะยาวทั้งวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ว่าฉันไม่ดีพอ ไม่เก่ง ไม่มั่นใจ ทำอะไรก็คงล้มเหลว กระทบกับ Self-Esteem หรือ การรับรู้คุณค่าของตัวเอง
นีท - เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์
นีท - เบญจรัตน์ นักจิตวิทยา กล่าวเสริมว่า การสร้างตัวตนของเด็กๆ จากที่บ้านก็มีการปรับพฤติกรรมบางอย่างเมื่อไปเจอเพื่อนเพื่อให้อยู่สังคมได้ดีขึ้น เช่น พ่อแม่สอนให้แบ่งปัน หากโรงเรียนจะทำให้เรียนรู้ว่าไม่สามารถช่วยเหลือแบ่งปันได้ตลอดเวลา เพราะอาจถูกเอาเปรียบ สังคมจะทำให้เห็นทั้งด้านดีและไม่ดี ต้องรู้จักแบ่งปันให้ถูกที่ถูกเวลา และการแบ่งปันอย่างไรไม่ให้เอาเปรียบกัน
มีนักจิตวิทยาอธิบายว่าตัวตนของเด็กแบ่งออกเป็น 6 แบบ คือ การเรียน, ลักษณะนิสัยและคุณลักษณะต่างๆ, ความชอบความสามารถ, รูปลักษณ์ภายนอก, ความสัมพันธ์ในครอบครัว และทักษะการเข้าสังคม ซึ่งครอบครัว โรงเรียน เพื่อนหรือชุมชนจะหล่อหลอมเด็กๆ ให้เกิด 6 ตัวตนนี้ขึ้นมา ซึ่งมักเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กันอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น อาการแสดงออกเวลาไม่พอใจ ถ้าตอนเด็กๆ ร้องไห้ แล้วพ่อแม่สอนการจัดการอารมณ์ทางลบที่ไม่ดี เด็กจะขี้หงุดหงิด
นิดนก - พนิตชนก ดำเนินธรรม
นิดนก - พนิตชนก เล่าเสริมจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า ความเชื่อมั่นของตัวเองบางเรื่องมาจากวัยประถม จากสิ่งที่ครูชม มันมีหลักการว่า ไม่ให้ชมที่ผลลัพธ์ แต่ให้ชมที่วิธีการ สมัยนี้พ่อแม่จะเทรนด์การชมลูกว่า หนูพยายามมากเลยนะ เราไม่ได้ชมว่าเขาเก่ง เราชมว่าเขาใช้ความพยายามมากแค่ไหน ซึ่งเราตอนประมาณ ป.3-4 ครูชมว่ามีปฎิญาณไหวพริบมากเลยนะ เราเลยคิดมาแบบนั้นมาจนโต
รักของพ่อแม่เป็นรักที่ไม่มีเงื่อนไขจริงหรือ
หลายคนสงสัย คำที่บอกว่า พ่อแม่รักลูกอย่างไม่มีเงื่อนไขนั้นจริงไหม นีท - เบญจรัตน์ แสดงความคิดเห็นว่า ในการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งมีความหวังกับการบังคับ ‘ความหวัง’ คือเรื่องทั่วไป เช่น อยากให้ลูกเป็นคนดี อยากให้ลูกประสบความสำเร็จ เป็นความหวังที่เราช่วยสนับสนุนได้ แต่เมื่อเอาไปคาดหวังกับผลลัพท์ เช่น อยากให้ลูกประสบความสำเร็จ ก็เอาเกรด 4.00 ให้นะ แม่ขอ มันเริ่มเป็นความรักที่มีเงื่อนไข หรือ Conditional Love แล้ว เมื่อไรที่ความหวังเป็น ‘การบังคับ’ หรือบังคับด้วยเงื่อนไขรางวัล สุดท้ายเด็กจะคิดว่า แม่จะรักฉันหรือเปล่าถ้าฉันไม่เก่ง กลายเป็นว่าเราไม่ได้มองในสิ่งที่เขาเป็น แต่มองเขาในสิ่งที่เราหวังให้เป็น
โดม - ธิติภัทร มองว่าความรักแบบมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อน ไม่ได้เป็นสิ่งที่ขาวหรือดำ มันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะบางวันพ่อแม่พร้อมสนับสนุนทุกอย่าง หากบางวันอะไรต่างๆ ก็ไม่พร้อมหรือไม่เป็นใจ แล้วความรักจริงๆ คืออะไร แค่ละคนนิยามแตกต่างกัน ตำราจิตวิทยาเองก็เล่ามุมมองต่างกัน แต่สิ่งที่มีร่วมกันคือ ‘ความเข้าใจ’ ต้องเข้าใจ ให้อิสระ และยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น เช่น ให้ลูกเรียนกวดพิเศษเลย 7 วัน พ่อแม่อาจมองว่าคือความรัก แต่ลูกอาจไม่มีความสุข ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ สิ่งนี้อาจนำไปสู่การผูกขาดความรัก คิดว่ารักลูกจะทำได้ทุกอย่าง ฉันรักลูกแล้วฉันผิดอะไร
ถ้าครอบครัวไม่ใช่ Comfort Zone เด็กจะมีที่พึ่งตรงไหนได้บ้าง
นีท – เบญจรัตน์ แนะนำว่า ครอบครัวควรเป็น Comfort Zone ที่เด็กๆ พึ่งพึงได้ ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่พ่อแม่ แต่อาจเป็นลุงป้าน้าอาที่เด็กรู้สึกว่าถ้าเล่าปัญหาให้ฟังแล้วสบายใจ ถัดมาจากคนในครอบครัวคือคุณครู โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ ครูประจำชั้น หรือครูในโรงเรียน ทางระบบการศึกษาอยากให้ครูเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นโรงเรียนปลอดภัยให้กับเด็กๆ ส่วนเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับเพื่อนจะมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงมัธยม เพื่อนจะเป็นพัฒนาการที่เด่นมากสำหรับวัยรุ่น เพราะเขาเริ่มมีตัวตน มีเอกลักษณ์ มองหาคนที่เหมือน ๆ กัน เพราะฉะนั้นพื้นที่ปลอดภัยของเด็กมัธยมมักจะเป็นเพื่อนมากกว่าครูหรือพ่อแม่ แม้ไม่ใช่คนที่มาช่วยแก้ปัญหา แต่พูดเรื่องเดียวกันแล้วรู้เรื่อง เหมือนเป็นการช่วยทางความรู้สึก เช่น เข้าใจว่าอกหักครั้งแรกเป็นยังไง เพราะพ่อแม่ก็อาจมองว่าไม่เป็นไรหรอก แม้เพื่อนจะแก้ปัญหาไม่ได้ แต่เพื่อนจะช่วยรับฟัง มีเพื่อนอยู่ตรงนี้นะ แล้วสุดท้ายคนที่ตัดสินใจก็คือตัวของเด็กเอง
นิดนก - พนิตชนก เล่าเสริมจากประสบการณ์ตัวเองว่า ด้วยความที่ไม่สนิทสนมกับครอบครัว แต่สนิทกับคุณแม่มาก ทำให้หลังคุณแม่เสียชีวิตเมื่อเรียนปี 1 จึงรู้สึกไม่เชื่อในครอบครัวว่าสายเลือดเป็นทุกคำตอบในการแก้ปัญหา แต่คนเราต้องมีใครสักคนให้ยึด ซึ่งเราผ่านทุกอย่างในชีวิตได้เพราะ ‘เพื่อน’ หากที่สุดในใจคือ ‘แม่’ สายสัมพันธ์ที่จะตัดสินอะไรสักอย่างในชีวิต ดีชั่วถูกผิด มันมีแรงดึงดูดจากสายสัมพันธ์ของแม่ ถึงแม้แม่จะไม่อยู่แล้ว แต่สายสัมพันธ์ยังวนเวียนอยู่ในร่างเรา แม้จะใช้ความสัมพันธ์ของเพื่อนแก้ปัญหาในชีวิต หากสุดท้ายคนที่เคาะทุกอย่างยังเป็นเรา
อีฟ - มาริษา รุ่งโรจน์
เมื่อเพื่อนเศร้า จะให้คำปรึกษาเพื่อนแบบไหนดีที่สุด
อีฟ – มาริษา แนะนำจากประสบการณ์ที่เป็นที่ปรึกษาให้เพื่อนๆ ว่า วิธีที่สามารถทำได้คือ ‘รับฟังโดยไม่ตัดสิน’ แม้อาจให้คำตอบไม่ได้ แต่เป็นผู้ฟังที่ดี ถ้าเราตัดสินเขา อาจทำให้เพื่อนไม่สบายใจในการคุยกับเราครั้งต่อไป แล้วตามมาด้วยการแก้ปัญหาที่ผิดพลาด เพราะไม่มีคนคอบรับฟัง บางครั้งเพื่อนมีคำตอบในใจที่ต้องการอยู่แล้ว อาจต้องการแค่ระบาย หรือขอความคิดเห็นเฉยๆ แต่เขาจะเก็บความคิดเห็นเราไปหรือเปล่านั้นไม่สำคัญ ไม่เป็นไรเลย
โดม – ธิติภัทร มองว่าเมื่อเพื่อนมาปรึกษาเรามักจะตั้งธงในใจว่าต้องช่วยเพื่อให้ได้ ไม่งั้นเพื่อนจะผิดหวัง กลายเป็นว่าเรารู้สึกไม่ดี เราอาจถามเขาตั้งแต่เริ่มคุยเลยว่าอยากให้ช่วยยังไง เช่น ‘ใจเย็นๆ นะ เรายินดีรับฟังนะ อยากให้ช่วยอะไรบ้าง’ เพราะถ้าเพื่อนแค่อยากระบาย จะได้ไม่เกิดการยัดเยียดด้วยวิธีการต่างๆ
แล้วถ้าหากว่าวันหนึ่งเพื่อนมาขอคำปรึกษา แล้วเรากำลังเศร้าอยู่ควรทำยังไง โดมแนะนำต่อว่า อย่าลืมใจดีกับตัวเองว่าเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน มีลิมิตว่าวันนี้ไม่พร้อม ไม่ไหว เราสามารถบอกได้เลยว่าวันนี้เราไม่พร้อม ลองปรึกษาคนนี้ดีไหม อาจช่วยได้ดีกว่าเราตอนนี้ เพราะถ้าคุยกันตอนไม่ไหวอาจส่งผลเสียกันทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนนีท – เบญจรัตน์ เล่าเสริมในประเด็นนี้ว่า สำหรับคนที่รู้สึกผิดมากๆ อาจเติมประโยคว่า ‘เป็นกำลังใจให้กันและกันนะ ถ้าเราไหวมาคุยกันนะ’ จะทำให้เราไม่รู้สึกผิดมากขึ้น วันไหนที่พร้อมก็มาคุยกัน เราเป็นห่วงกันและกันเสมอ
ถ้ารู้สึกไม่เข้ากับเพื่อนในกลุ่ม จะฝืน หรือเปลี่ยนกลุ่มดี
นีท – เบญจรัตน์ มองว่าถ้ารู้สึกไม่พอดี การเปลี่ยนกลุ่มไม่ใช่คำตอบที่แย่ หรือถ้ายังไม่อยากเปลี่ยนกลุ่ม ลองปรับตัวหาจุดร่วมกัน อย่างตอนเด็กๆ ติดการ์ตูนมาก แต่เรียนโรงเรียนหญิงล้วนเลยเปลี่ยนกลุ่มไม่ได้ แต่หาบางส่วนเพื่อให้อยู่ด้วยกันได้ เช่น เอาพาร์ทดูดวงมาเป็นจุดร่วมกัน เป็นสิ่งที่จอยร่วมกันได้ พอย้ายโรงเรียนก็มีกลุ่มเพื่อนผู้ชายที่อ่านการ์ตูน เรารู้สึกว่าเราไม่ต้องอยู่กลุ่มผู้หญิง เราไปอยู่กลุ่มผู้ชายได้ ดังนั้นมี 2 ข้อ คือ หนึ่ง จูนกันในบางเรื่องเพื่อให้ประคับประคองกันได้ สอง ถ้าเปลี่ยนกลุ่มได้ การเปลี่ยนกลุ่มไม่ใช่ปัญหา
โดม – ธิติภัทร เล่าว่า เมื่อความสัมพันธ์ไม่ใช่แค่เราคนเดียว จึงมีการพยายามปรับตัว ไม่ปรับอีกฝ่าย ก็ปรับที่เรา ไม่มีอันไหนถูกผิด เราเรียนรู้ว่าการไปคาดหวังกับอะไรก็ตามทำได้ยาก สิ่งที่ปรับได้ง่ายคือตัวเราเอง บางครั้งเรายอมทำบางอย่างที่เราไม่ชอบ แล้วเราจะ Fit in มากขึ้น แต่ถ้าพยายามทำสิ่งที่ไม่ชอบ แล้วรู้สึกฝืนมาก เต็มที่แล้ว ไม่ไหวแล้ว แปลว่าต้องยอมรับว่าเราเต็มที่กับกลุ่มนี้แล้ว การเปลี่ยนกลุ่มไม่ใช่เรื่องที่แย่ แต่มันจะมีความรู้สึกว่า เราเข้ากับเพื่อนไม่ได้ เราแย่ เราไม่เท่ อยากให้เข้าใจว่าการเข้าไม่ได้กับคนหนึ่ง กับคนกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าเราไม่ดี ‘เราแค่แตกต่างกันเท่านั้นเอง’
นิดนก - พนิตชนก เล่าจากประสบการณ์ว่า เวลารู้สึกไม่ Fit in กับเพื่อนในกลุ่ม หลายครั้งเป็นคนที่เดินออกมา เพราะไม่สามารถไปเปลี่ยนเพื่อนหรือคนในกลุ่มได้ เวลาอยู่ตรงนั้นแล้วเราไม่เป็นตัวเอง ไม่สบายใจ หรือคุยกันในเรื่องที่เราเข้าไม่ถึง แต่การเดินออกมาก็เจ็บปวดและเคว้งคว้าง แต่เมื่อออกมาจากกลุ่มหนึ่ง เราจะพบเพื่อนกลุ่มใหม่ กระบวนการแบบนี้มันเกิดขึ้นเรื่อยๆ เพราะสุดท้ายมนุษย์ต้องการสังคมและความสัมพันธ์ เพื่อนอาจเคยคลิกกันได้ วันหนึ่งคลิกกันไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติ
Toxic relationship ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ
สำหรับความรักที่กำลังกลายเป็นความสัมพันธ์แบบ Toxic Relationship นีท - เบญจรัตน์ แนะนำว่า ต้องไปเช็คว่าความสัมพันธ์ว่าทำให้เรามีความสุขอยู่หรือเปล่า ถ้ามีความสุขก็ไปต่อได้ แต่ถ้ามีแล้วเป็นพิษ เหนื่อยเกินไป ทำไมเขาเอาเปรียบ เราอยู่แล้วไม่มีความสุขเลย ไม่เป็นตัวของตัวเอง คือ Toxic Relationship ความรู้สึกนี้มีอยู่ 2 ช่วง ช่วงแรกคือ ช่วงตามจีบ ความรักไม่ได้เกิดเพียงฝ่ายเดียว ถ้าเราเลือกพุ่งชนให้เขาฝ่ายเดียว คิดไปเองว่าเขาชอบเรา ทั้งๆ ที่เขาไม่ชอบจะเป็น Toxic ที่เราฝืนตัวเองเกิดไป เราคิดว่าความรักต้องพุ่งชนจึงสำเร็จ แต่จริงๆ มันใช้กับความรักไม่ได้ ซึ่งฝ่ายที่ถูกจีบจะรู้สึก Toxic เหมือนกัน เพราะเขาไม่รู้จะทำยังไง ช่วงที่สองคือ เราจะไปต่อ หรือพอแค่นี้ วันหนึ่งเรารู้สึกว่ารักเราไม่เท่าเดิม หรือเราเปลี่ยนไป ทำให้เห็นว่า การเป็นแฟนกันไปจนถึงแต่งงานคือการนับหนึ่งถึงร้อย ต้องเช็คตามระยะทางด้วยว่าความรักยังพอดีอยู่หรือเปล่า
อีฟ - มาริษา เล่าในมุมมองของตัวเองว่า Toxic Relationship คือความสัมพันธ์ที่ทำให้รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง หรือไม่มีความสุขทั้งกับคนรักและกับตัวเอง เพราะไม่มั่นใจว่าความสัมพันธ์ที่คนรักมอบให้คืออะไรกันแน่ ความไม่แน่นอนทำให้เจ็บปวด ซึ่งพอรู้สึกแย่ตัวเอง ทำให้กระทบกับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตไปด้วย เช่น การทำงาน หรือ การสูญเสียความมั่นใจในตัวเองอย่างรุนแรง เพราะเรามอบทั้งชีวิตให้กับคน ๆ หนึ่งไปแล้ว แต่กลับถูกดูแลไม่ดี แล้วทำให้คิดไปว่าเราไม่ดีพอหรือเปล่าถึงไม่ถูกรักกลับ ส่วนใหญ่คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้จะมองไม่ค่อยออกว่ากำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ดังนั้นสิ่งที่ช่วยได้คือ ‘รู้จักและรู้ใจตัวเอง’ ให้มากขึ้นว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอย่างไร รู้ว่าความเจ็บปวดแบบไหน ถ้าใครรู้ตัวเองว่ามีความสัมพันธ์แบบนี้ ลองก้าวออกมาสักก้าว อย่ายื้อ แล้วออกมาดีกว่า เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะอยู่กับคนที่ทำให้เราไม่รักตัวเอง
โดม – ธิติภัทร ให้คำแนะนำว่า Toxic Relationship ที่ควรเซ็ตเป็นมาตรฐาน คือ การถูกละเมิดทางร่างกาย และทางเพศ นี่คือสิ่งที่ไม่ควรยอมรับได้ ซึ่งคนที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้มักมองไม่เห็น จะถอยออกมามองเองก็ยาก ทำให้คนรอบตัว เพื่อน ครอบครัว ต้องคอยเช็ค คอยสะท้อน เพื่อให้คนที่โดน abuse ได้รับความช่วยเหลือ
ตลอดการสนทนา ‘LOVE LOST LUST ความสัมพันธ์ ครอบครัว เพื่อน และคนรัก’ ทำให้มองเห็นว่ารากฐานของชีวิตคือการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเอง โดยมีครอบครัว ครู เพื่อน และคนรัก คอยประคับประคองผลักดันให้คนคนหนึ่งใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แต่หากว่าวันหนึ่งรู้สึกไม่สบายใจ เริ่มมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ก็สามารถไปพบนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ เพื่อให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ความสัมพันธ์ที่ดีกลับมาเกิดขึ้นกับตัวเองอีกครั้ง สิ่งนี้คือความสัมพันธ์ที่ดีกับสุขภาพใจ ที่ช่วยให้เราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงแข็งแรง