ทำไมเราจึงไม่ “มูฟออน” จากหนังสือเล่มเก่า จะดีหรือเปล่าหากชอบอ่านซ้ำ?
26 สิงหาคม 2564
1,998
โลกใบนี้มีหนังสือนับล้านให้เลือกอ่านมากมาย ยิ่งสำหรับคนรักหนังสืออย่างพวกเราชาว TK Park ยิ่งถูกรายล้อมด้วยหนังสือที่น่าสนใจนับไม่ถ้วน แต่เคยสังเกตไหมว่า ไม่ว่าจะเป็นนักอ่านทั่วไปหรือเป็นหนอนหนังสือผู้ชอบผจญภัยในโลกใบใหม่ผ่านหนังสือเล่มใหม่ ๆ ก็ดูเหมือนว่าทุกคนล้วนมีหนังสือที่ยึดตำแหน่ง “เบอร์หนึ่ง” “ท็อปไฟว์” หรือ “ท็อปเท็น” ในใจเสมอ และอดใจไม่ได้ที่จะหยิบมาอ่านซ้ำเมื่อมีเวลาว่าง แม้จะมีหนังสือ “กองดอง” (To Be Read-TBR) หรือหนังสือน่าสนใจที่ยังไม่ได้อ่านกองพะเนินรออยู่ก็ตาม
วันนี้ TK Park จะมาชวนคุยว่า ทำไมกันนะ...หนังสือเล่มเก่าบางเล่มจึงเหมือนรักแรกที่เราไม่สามารถจะ “มูฟออน” ได้เสียที แล้วเราควรจะกลับไปอ่านหนังสือเล่มเดิมบ่อย ๆ หรือควรจะเก็บเพื่อนเก่าเหล่านั้นไว้ในความทรงจำ แล้วเริ่มต้นใหม่กับเล่มใหม่ดีกว่า
หนังสือเล่มเดิม ประตูสู่ความทรงจำแสนสุข
การเปิดอ่านหนังสือหนึ่งเล่มคือการเดินทางสู่โลกอีกใบ และหากเป็นโลกใบที่เราเคยมีความทรงจำแสนสุข ก็มักจะกลับไปเปิดประตูบานเดิมที่คุ้นเคยบ่อยๆ ถ้าเราเป็นแฟนตัวยงของนวนิยายชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ จะอดใจอย่างไรเมื่อเห็นชานชาลา 9¾ ปรากฏอยู่ตรงหน้า เพราะทันทีที่ก้าวเข้าไป เรื่องราวมหัศจรรย์ของโลกเวทมนตร์ก็จะหวนกลับมา
แม้จะรู้อยู่แล้วว่าเรื่องราวจะดำเนินต่อไปอย่างไร แต่สิ่งที่การอ่านซ้ำมอบให้เราไม่ใช่ความตื่นเต้นที่ได้เจอเหตุการณ์แปลกใหม่ แต่เป็น “ความทรงจำ” ที่มีต่อเหตุการณ์ในเรื่องต่างหาก ความแปลกใจครั้งแรกที่รู้ว่าตัวเอกไม่ใช่เด็กกำพร้าผู้ถูกทอดทิ้ง แต่เป็นผู้ที่ถูกเลือกในโลกแห่งเวทมนตร์ ความตื่นเต้นครั้งแรกที่ได้ตวัดไม้กายสิทธิ์และปกป้องโลกจากจอมมาร ความทรงจำเหล่านี้หวนคืนมาทุกครั้งที่ได้พลิกหน้ากระดาษ เกิดความอบอุ่นและคุ้นเคยทุกครั้งที่ได้กลับไปยังโลกใบเดิมและผจญภัยไปกับผองเพื่อนในวัยเด็ก
อีกประการหนึ่ง การที่เรื่องราวในหนังสือนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยที่จะได้พลิกหน้าต่อไป เพราะผู้อ่านเองก็รู้อยู่แล้วว่าตัวละครและเรื่องราวที่อ่านมาตั้งแต่หน้าแรกจะไม่หักหลังหรือไม่ทำให้เสียใจในตอนจบ ตัวเอกต้องพบกับอุปสรรคและบททดสอบที่ยากลำบากมากมาย แต่แล้วเขาก็ฝ่าฟันมาได้อย่างงดงาม คว้าชัยชนะมาได้สมกับความพยายามที่มีมาตั้งแต่ต้นเรื่อง หรือหากมีตอนจบที่เศร้าสร้อย ผู้อ่านก็ได้ทำใจไว้อยู่แล้วก่อนที่จะพลิกหน้ากระดาษไปถึงช่วงเสียน้ำตา
นอกจากนี้แล้ว “ความทรงจำแสนสุข” ยังไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับตัวละครและเรื่องราวในหน้ากระดาษเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์กับความรู้สึกและความทรงจำที่เชื่อมโยงไปถึงสภาพแวดล้อมตอนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้นเป็นครั้งแรก หนังสือนิทานเล่มเก่าที่เคยนอนอุ่นในอ้อมกอด โดยมีเสียงนุ่มละมุนของแม่เป็นคนเล่าเรื่องราว หนังสือนิยายฮิตติดเทรนด์ที่ต้องอดตาหลับขับตานอนเพื่อจะได้ร่วมวงสนทนาแสนสุขกับเพื่อน ๆ ในเช้าวันรุ่งขึ้น บรรยากาศเหล่านั้นคล้ายจะหวนคืนมาทุกครั้งที่ได้หยิบจับหนังสือเล่มเดิมขึ้นมาพลิกอ่านอีกครั้ง คล้ายกับที่ เจ.ฮิลลิส มิลเลอร์ นักวิจารณ์วรรณกรรมชาวอเมริกันกล่าวว่า เรื่องหนึ่งที่เขามักจะอ่านซ้ำคือ The Swiss Family Robinson ซึ่งเล่าถึงครอบครัวเรืออับปางบนเกาะร้าง สมาชิกในครอบครัวทุกคนต้องคอยช่วยเหลือกันเพื่อเอาตัวรอดและปกป้องตัวเองจากสัตว์ร้ายในเกาะจนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง ทุกครั้งที่มิลเลอร์หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน ความทรงจำเกี่ยวกับการเดินทางไปแคมป์ปิ้งกับครอบครัวก็ผุดขึ้นมาอย่างแจ่มชัด
“ฉันยังจำความสุขที่ได้หลับไปในท่าเอียงคอไปกับพี่น้องของฉัน ซุกร่างในผ้าห่ม (ตอนนั้นไม่มีถุงนอน) ได้กลิ่นยางไม้หอม และฟังเสียงพึมพำของผู้ใหญ่ในขณะที่พวกเขานั่งคุยกันข้างกองไฟที่ใกล้มอด”
อาการถวิลหา (Nostalgia) จึงเป็นเหตุผลหลักของการเปิดประตูไปสู่ความทรงจำแสนสุขผ่านหนังสือเล่มเดิม ไม่ว่าจะทุกข์ เศร้า ผิดหวังมาจากเรื่องราวอื่นใดในชีวิต หรือเพียงแค่ต้องการดื่มด่ำช่วงเวลาแห่งความสุขในวัยเด็ก เพียงแค่พลิกหน้ากระดาษในหนังสือเล่มเดิมก็เป็นเครื่องการันตีว่าจะได้พบกับความสุขนั้นอย่างแน่นอน
ลองอ่านซ้ำอย่างละเอียด ละเลียดรสชาติทุกตัวอักษร
ยังจำได้ไหม ความตื่นเต้นเมื่อต้องลุ้นไปกับตัวละครว่าจะต้องเจอเหตุการณ์อะไรต่อไป ชวนให้มือที่กำลังสั่นเทานั้นพลิกหน้ากระดาษอย่างรวดเร็ว เผลอแป๊บเดียวเรื่องราวสนุกสนานก็จบลง เมื่อนึกย้อนไปในวันแรกของการอ่าน เหมือนว่าเราออกผจญภัยไปกับตัวละครด้วยรถไฟความเร็วสูงจนอาจจะไม่ได้ชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามระหว่างทาง
การกลับมาอ่านหนังสือเล่มเดิมซ้ำอีกครั้งจึงเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ค่อยๆ เดินทางด้วยรถไฟไอน้ำเพื่อละเลียดเรื่องราวระหว่างทางอีกครั้ง ความซับซ้อนของปราสาทฮอกวอตส์จากแฮร์รี่ พอตเตอร์ ความสวยงามของดินแดนแห่งเอลฟ์จากเดอะลอร์ดออฟเดอะริง ภูมิทัศน์ของเขต 12 ที่หล่อหลอมแคตนิส เอฟเวอร์ดีน เด็กสาวผู้แข็งแกร่งจากเดอะฮังเกอร์เกม ผู้คนที่ตัวเอกได้พูดคุยระหว่างการเดินทางผจญภัย สัตว์ตัวเล็กตัวน้อยในป่าหน้าตาแปลกประหลาดชวนให้ฉงนใจ ภาษาพรรณนาที่งดงามเหมือนภาพวาดของผู้เขียน ดังที่วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ นักเขียนนวนิยายชาวรัสเซียเขียนไว้ใน Lectures On Literature ว่า เมื่อเราอ่านหนังสือครั้งแรก กว่าที่เราจะขยับตาอย่างลำบากจากซ้ายไปขวา ทีละบรรทัด ทีละหน้า ความเคลื่อนไหวทางกายภาพที่ซับซ้อนระหว่างอ่านหนังสืออาจคอยขัดขวางระหว่างตัวเรากับความซาบซึ้งทางศิลปะ (Artistic Appreciation) ที่อยู่บนหน้ากระดาษ รายละเอียดที่เราอาจจะเผลอข้ามไปในครั้งแรกที่อ่านจึงค่อยๆ เติมเต็มเมื่อกลับมาพลิกหน้ากระดาษอีกครั้ง
เช่นเดียวกับฟรานเซส ออสบอร์น นักเขียนชาวอังกฤษที่กล่าวถึงประโยชน์ของการอ่านซ้ำว่าเพื่อให้ผู้อ่านมีเวลาทำความเข้าใจข้อความที่ซับซ้อนมากขึ้น การอ่านซ้ำจะช่วยพัฒนาความเข้าใจที่ลึกซึ้งแม้เป็นคำศัพท์พื้นฐาน เข้าใจเหตุผลและที่มาที่ไปของเหตุการณ์ในเรื่อง นำไปสู่การวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ และการตีความในอีกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงวิชาการ การอ่านซ้ำเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจข้อความดังกล่าวให้ดีพอก่อนที่จะสร้างข้อโต้แย้งหรือการวิพากษ์วิจารณ์ที่ดีได้
อ่านหนังสือเล่มเก่าด้วยมุมมองแบบใหม่
เมื่อเราเติบโตขึ้น ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาในระดับหนึ่ง การมีโอกาสกลับไปอ่านหนังสือเล่มเดิมอีกครั้งอาจช่วยเปลี่ยนความคิด ความผิดหวัง ข้อสงสัยต่างๆ ที่เคยมีในวัยเด็กให้กลายมาเป็นความรื่นรมย์อีกครั้ง ตัวละครบางตัวที่เป็นขวัญใจแต่กลับเสียชีวิตตอนกลางเรื่องจนเราต้องร้องห่มร้องไห้ เกิดความคับข้องใจว่าตัวละครทำผิดอะไร ทำไมจึงไม่อยู่กับเราจนถึงหน้าสุดท้าย ทำไมตัวละครบางตัวต้องมีชีวิตที่หม่นหมอง ได้พบกับครอบครัวแค่ในความทรงจำ เมื่อโตขึ้นเราถึงจะรู้ว่าความตายนั้นมีอาจเหตุผลหรือมีความหมายบางอย่าง คนเราอาจยอมตายได้หากต้องการปกป้องคนที่รัก หรือเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ตัวละครบางตัวอาจมีชีวิตที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็เพื่อให้เขาได้เห็นใจคนอื่นที่ขาดบางสิ่งบางอย่างเช่นเดียวกับเขา
เทรย์ สโตน นักเขียนชาวนอร์เวย์ กล่าวถึงการอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพณ์ซ้ำอีกครั้งหลังจากผ่านมา 15 ปีว่า เขาเข้าใจแล้วว่าเหตุใดแฮร์รี่จึงมองเห็นครอบครัวได้เพียงการมองผ่านกระจกบานนั้น และนั่นก็ทำให้มุมมองของเขาเปลี่ยนไปจากในวัยเด็ก
“มันยังคงมีมนต์ขลังและน่าอัศจรรย์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุใดเรื่องราวนี้จึงดึงดูดผู้อ่านทั้งเด็กและผู้ใหญ่เอาไว้ได้ ขณะเดียวกัน ผมรู้สึกเหมือนได้ดึงเอาความทรงจำในวัยเด็กออกมาล้างคราบฝุ่นและโคลนออกไป ราวกับได้ดัดของเล่นที่เคยคดงอให้เข้ารูปเข้ารอย ตอนนี้ความทรงจำเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ดูสดใหม่และทันสมัยมากพอสำหรับการเป็นนิทานแห่งศตวรรษที่ 21 เลยทีเดียว”
เช่นเดียวกับโรซารี เนทซ์ นักเขียน นักแปล และนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เธอเขียนถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เคยอ่านตอนเด็กเรื่อง โดมินิก ของวิลเลียม สเตก ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าสุนัขร้อยเล่ห์ผู้ได้ผจญภัยไปยังที่ต่าง ๆ สุดท้ายแล้วการผจญภัยของเจ้าสุนัขแสนฉลาดตัวนี้ก็มาจบลงที่สวนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่มันรู้สึกว่าที่นี่คือบ้านแสนสุข แม้ว่ามันจะไม่เคยมาที่สวนแห่งนี้มาก่อน
“ณ ที่แห่งนั้น เขาได้พบกับความรัก” โรซารีจดจำประโยคนั้นไว้ด้วยความไม่เข้าใจ เพราะนั่นไม่ได้มีความหมายอะไรกับเธอเมื่อตอนเป็นเด็ก ต่อเมื่อเธอเป็นผู้ใหญ่และได้กลับมาอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง เธอก็ได้แต่อุทานว่า “ว้าว! นั่นแหละคือความหมายของบ้าน มันเป็นอย่างนั้นเสมอ”
ความไม่เปลี่ยนแปลงของตัวหนังสือและเรื่องราวต่างๆ ทำให้บางครั้งเมื่อเรากลับมาอ่านซ้ำ ตัวหนังสือก็ทำหน้าที่เหมือนไม้บรรทัดที่คอยวัดว่าผู้อ่านเติบโตขึ้นมากแค่ไหน การอ่านซ้ำจึงเป็นการหวนกลับมาพิจารณาตนเองได้อีกทางหนึ่ง แพทริเชีย เมเยอร์ สปาร์ก นักวิชาการวรรณกรรมชาวอเมริกันให้ความเห็นว่า “ความไม่เปลี่ยนแปลงของตัวหนังสือช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปของตนเองชัดเจนมากขึ้น การอ่านซ้ำเป็นการบันทึกทั้งพัฒนาการและกระบวนการสร้างตัวตนของผู้อ่านที่เกิดขึ้นจากการอ่าน” เราอาจเติบโตมาพร้อมกับตัวละครที่เป็นเด็กบางคนและเคยมองว่าเขาเป็นเพื่อนสนิท แต่เมื่อโตขึ้น บางครั้งเราอาจมองพวกเขาด้วยสายตาของผู้ใหญ่ที่กำลังมองเด็กน้อยคนหนึ่ง เพราะตัวละครจะไม่เปลี่ยนแปลง มีก็แต่ผู้อ่านอย่างเราเท่านั้นที่เติบโตขึ้นทุกวัน
ผิดหรือเปล่าที่ไม่ประทับใจหรือร้องไห้เหมือนตอนเด็ก
อย่างไรก็ตาม การอ่านหนังสือเล่มเดิมซ้ำอาจไม่ได้มีเพียงข้อดี บางครั้งก็ก่อให้เกิดความรู้สึกผิดในใจต่อความทรงจำในวัยเด็ก หนังสือบางเล่มที่เคยทำผู้อ่านเสียน้ำตาไปมากมายอย่างแมงมุมเพื่อนรัก (Charlotte's Web) ของอี.บี.ไวท์ สำหรับจิลล์ แคมเบลล์ ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษจากมหาวิทยาลัยเยล เธอจำได้แม่นว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่ทำให้เธอร้องไห้ฟูมฟาย เมื่อโตขึ้น เธอจึงนำวรรณกรรมคลาสสิกเล่มนี้รวมไว้ในรายวิชาเกี่ยวกับหนังสือเด็ก ทว่าเธอและนักเรียนของเธอกลับสังเกตเห็นว่าตัวละครเฟิร์นซึ่งตอนเป็นเด็กสาวคือผู้ช่วยชีวิตและดูแลเจ้าหมูวิลเบอร์ แต่เมื่อเธอเติบโตขึ้นมา เธอกลับให้ความสำคัญกับเพื่อนต่างเพศและสิ่งอื่น ๆ แทน
“ฉันชื่นชมงานเขียน อารมณ์ขัน และตัวละครในหนังสือคลาสสิกเล่มนี้อย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงพลังแห่งมิตรภาพที่เด็ก ๆ มีในการดูแลและต่อสู้เพื่อสิ่งต่าง ๆ” แคมป์เบลล์กล่าว “ทว่าบางครั้งหนังสือก็พูดถึงมุมมองที่จำกัดว่าเด็กผู้หญิงจะทำอะไรได้บ้างเมื่อโตขึ้น”
ความผิดหวังอีกประการหนึ่งที่จิลล์ได้พบเมื่ออ่านหนังสือเล่มเดิมในวัยเด็กคือการพบว่า หนังสือหลายเล่มที่เธอเคยภาคภูมิใจเกี่ยวกับวีรบุรุษผิวขาวชาวอเมริกัน เมื่อเธอกลับมาอ่านอีกครั้งในวัยผู้ใหญ่จึงพบว่าหนังสือเหล่านั้นเป็นเครื่องมือกีดกันความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภายหลังเธอจึงเพิ่มหนังสือหลายเล่มลงไปในการเรียนการสอนของเธอ เช่น American Born Chinese นิยายภาพของ ยีน หลุน หยาง หรือ The Birchbark House ของลูอีส เออร์ดริช ซึ่งเป็นหนังสือสำหรับคนหนุ่มสาวที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับตัวละครชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและชาวพื้นเมืองอเมริกันในศตวรรษที่ 19 เพื่อให้ลูกศิษย์ของเธอได้รับรู้ความหลากหลายของชนชาติตั้งแต่ยังเยาว์ จะได้ไม่ผิดหวังกับหนังสือบางเล่มเหมือนเธอเมื่อพวกเขาโตขึ้น
การอ่านซ้ำไปมา กระทบเวลาในภารกิจพิชิต “กองดอง”
ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือเล่มใหม่หรือหนังสือเล่มเดิมล้วนต้องใช้เวลาทั้งสิ้น ยิ่งสำหรับหนอนหนังสือที่รักการเสพตัวอักษร ย่อมมีหนังสือ “กองดอง” (To Be Read) รอให้อ่านอีกมากมาย ในแง่หนึ่งการอ่านหนังสือซ้ำก็คือการใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดไปกับประสบการณ์เดิมที่เคยผ่านมาแล้ว คำถามคือ มีเหตุผลที่ดีเพียงใดที่ใครคนหนึ่งจะกลับมาอ่านเล่มเดิมซ้ำ ๆ?
การกลับมาอ่านหนังสือเล่มเดิม บางครั้งเกิดจากความคาดหวังและความผิดหวัง เช่น การอ่านหนังสือเล่มใหม่ในแนวเดียวกันกับที่เคยประทับใจ เช่นแนวผจญภัยในโลกเวทมนตร์และพบว่า หนังสือเล่มใหม่ไม่สนุกเหมือนเล่มเดิม จึงปิดกั้นการรับประสบการณ์ใหม่ ๆ จากหนังสือเล่มใหม่เล่มอื่น ๆ แนวเดียวกันนี้ และอ่านแต่เล่มเดิมซ้ำ ๆ เพราะกลัวว่าจะเกิดความผิดหวังเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
นอกจากนวนิยายแล้ว หนังสือสารคดีหรือหนังสือฮาวทูหลายเล่มก็เป็นเป้าหมายของการอ่านซ้ำจากนักอ่านหลาย ๆ คน ด้วยเหตุผลว่า “ยิ่งอ่านยิ่งเชี่ยวชาญ” แต่แท้จริงแล้ว การอ่านซ้ำอาจไม่ส่งผลให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น ดังที่ ดร. แมรีเอลเลน ไวเมอร์ ตีพิมพ์บทความใน Harvard University Press ว่า การอ่านซ้ำอาจเป็นการหลอกลวงตนเองโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากความคุ้นเคยที่เพิ่มขึ้นจากการอ่านข้อความเดิมทำให้รู้สึกเหมือนเป็นผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหา แต่ที่จริงแล้วความหมายของข้อความไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากการอ่านครั้งแรก ซึ่ง ดร.ไวเมอร์ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งนี้ใช้ได้กับการอ่านวรรณกรรมเช่นกัน คนที่อ่านหนังสือหลายสิบครั้งอาจไม่ได้เข้าใจเนื้อหามากไปกว่าคนที่อ่านเพียงครั้งเดียวหรือสองครั้ง ดังนั้นจึงต้องแยกให้ออกระหว่างความคุ้นเคยกับความเข้าใจ การคุ้นเคยกับข้อความเดิมนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
อย่างไรก็ตาม หนังสือแต่ละเล่มก็มีเนื้อหาหรือเป้าหมายแตกต่างกันออกไป หนังสือประเภทลึกลับสืบสวนสอบสวน (Suspense/ Mystery) อาจไม่ได้สร้างความตื่นเต้นหรือประหลาดใจเมื่ออ่านอีกครั้ง แต่งานวรรณกรรมคลาสสิก วรรณกรรมรางวัลโนเบล แม้ในการอ่านข้อความเดิมเป็นครั้งที่สองหรือครั้งที่สิบก็ยังคงตีความได้หลายแบบไม่รู้จบ ดังนั้นการเลือก “ใช้เวลา” ในการอ่านซ้ำเล่มไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้อ่านมีวัตถุประสงค์แบบใด เป็นการกลับไปสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ หรือเป็นการหลบหนีความผิดหวังจนเสียเวลาในภารกิจพิชิต “กองดอง” มีก็แต่ผู้ที่กลับมาอ่านหนังสือเล่มเดิมเท่านั้นที่รู้
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการอ่านหนังสือคือกระบวนการหนึ่งที่หล่อหลอมให้เรากลายเป็นเราในปัจจุบัน เราทุกคนเคยอ่านหนังสือ เคยกอดคอหัวเราะและร้องไห้ไปกับตัวละครและเรื่องราวในนิยายที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับเรา จึงอดไม่ได้ที่จะผูกพันและคิดถึงเพื่อนเก่าคนนั้นเสมอ ไม่ผิดแปลกอะไรถ้าเราจะเปิดประตูความทรงจำกลับไปเยี่ยมเยือนเพื่อนคนนั้นบ้าง แต่หากคอยแต่เปิดประตูกลับไปหาบ่อยเกินไป เราก็คงไม่ได้สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ๆ เสียที แต่หากการกลับไปเยี่ยมเพื่อนคนเดิมแล้วทำให้เราเติบโตขึ้นอีก เพื่อนคนนั้นก็คงจะยินดีไม่น้อย ขึ้นอยู่กับว่าเราคาดหวังผลลัพธ์อย่างไรในการกลับมาอ่านหนังสือที่เคยอ่านมาแล้วครั้งหนึ่งหรือหลายครั้ง
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ไม่ว่าเราจะเติบโตและออกไปพบเพื่อนใหม่ๆ ในหนังสือเล่มใหม่มากน้อยแค่ไหน หรือกลับมาคิดถึงช่วงเวลาอันแสนสุขบ่อยครั้งเพียงใด “หนังสือเล่มเก่าในดวงใจ” ก็คือเพื่อนสนิทผู้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง และยังวางรออยู่ในชั้นหนังสือที่เดิมเพื่อให้เรากลับมาทักทายอยู่เสมอ
รายการอ้างอิง
Celin Zimmer. (2018) Why Reread Books? The Pros and Cons of Rereading. Retrieved August 1, 2021, from https://the-artifice.com/reread-books-pros-cons-rereading
Emma Court. (2018). What Rereading Childhood Books Teaches Adults About Themselves. Retrieved August 1, 2021, from https://www.theatlantic.com/education/archive/2018/07/what-rereading-childhood-books-teaches-adults-about-themselves/566261/
Margaret Weird. (2019). How does nostalgia affect how I read books?. Retrieved August 1, 2021, from https://weirdzeal.com/2019/06/24/how-does-nostalgia-affect-how-i-read-books
Trey stone. (2019). The Magic Of Rereading And The Dangers of Nostalgia. Retrieved August 1, 2021, from https://trey-stone.com/2019/02/11/the-magic-of-rereading-and-the-danger-of-nostalgia