Photo : Facebook @KulttuuriEspoo
เมืองเอสโป (Espoo) ตั้งอยู่ใกลกับกรุงเฮลซิงกิ ไม่มีย่านที่เป็นชุมชนเมือง แต่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ทั้งผืนป่า ทะเลสาบ และชายหาด เมืองนี้ได้รับการยกย่องว่ามีห้องสมุดที่ดีที่สุดในโลก เพราะห้องสมุดยึดมั่นในหลักการของประชาธิปไตย มุ่งส่งเสริมให้ผู้คนเข้าถึงความรู้อย่างเสมอภาค และริเริ่มการให้บริการใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงคุณลักษณะสำคัญที่มีอยู่ในห้องสมุดทุกแห่งของฟินแลนด์
ห้องสมุดบนรากฐานของความดีงาม เปลี่ยนแปลง และเติบโต
ฟินแลนด์มีกฎหมายห้องสมุดมายาวนานนับตั้งแต่การสร้างประเทศ โดยมีรากฐานมาจากค่านิยมเรื่องประชาธิปไตย ได้แก่ความเสมอภาคและเสรีภาพ มีสุภาษิตหนึ่งกล่าวไว้ว่า “จงให้มวลดอกไม้ผลิบาน” หมายถึงการยินดีต้อนรับทุกคน ทุกความเห็น ไม่ว่าพวกเขาจะมีภูมิหลังอย่างไร
เมื่อ 100 ปีก่อนฟินแลนด์เป็นประเทศที่ยากจน กฎหมายว่าด้วยห้องสมุดฉบับแรกเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 จึงเน้นย้ำถึงสิทธิของทุกคนในการใช้ห้องสมุด ผู้ที่ยากจนเช่นแรงงานหรือเกษตรกรก็สามารถเข้ามาใช้ห้องสมุดได้
กฎหมายฉบับต่อมาในยุค 60 กำหนดให้มีห้องสมุดในทุกเทศบาล เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงห้องสมุด ส่วนฉบับในยุค 80 เน้นเรื่องการขยายพื้นที่ให้บริการห้องสมุด เช่น การมีรถห้องสมุด และฉบับในยุค 90 เน้นการสร้างกลไกให้ทุกคนเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ห้องสมุดจึงเป็นสถานที่แรกๆ ในฟินแลนด์ที่มีบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ ส่วนฉบับล่าสุดในปี 2559 มีการกำหนดให้คำว่า “Sivistys” (ออกเสียงว่าซีวิสตุส) เป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของห้องสมุด เพื่อเปิดโอกาสให้ห้องสมุดสาธารณะสามารถพัฒนาวิสัยทัศน์และวิธีดำเนินงานใหม่ๆ
"Sivistys" มาจากรากศัพท์ว่า “siveä” ซึ่งหมายถึง “ความดีงาม” หรือ “ความบริสุทธิ์” เมื่อมองในแง่การศึกษา คำนี้จะหมายถึงการนับถือความรู้และการเรียนรู้ เคารพการศึกษาและวัฒนธรรม รวมทั้งเคารพผู้อื่น ชาวฟินนิชล้วนให้คุณค่ากับคำคำนี้
“Sivistys ไม่ใช่สิ่งถาวรที่จะอยู่กับคุณตลอดไป มันเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอย่างไม่หยุดนิ่ง คำนี้จึงมีนัยยะถึงการเปิดรับเปลี่ยนแปลง การเติบโต”
ในวันนี้ห้องสมุดฟินแลนด์เป็นส่วนสำคัญของสังคม ไม่เพียงแค่เรื่องการอ่าน แต่ยังสัมพันธ์กับเรื่องการเมืองและการส่งเสริมให้ผู้คนเป็นพลเมืองที่ใส่ใจสังคม ในปี 2562 รัฐบาลฟินแลนด์ชุดใหม่ได้นำเสนอแผนงานของรัฐบาลต่อสาธารณชนที่ “โอดิ” (Oodi) ห้องสมุดกลางของกรุงเฮลซิงกิ หลังนั้นสมาชิกของรัฐบาลได้สัญจรไปยังห้องสมุด 10 แห่งทั่วประเทศ เพื่อนำเสนอแผนการดำเนินงานของรัฐบาลไปพร้อมกับรับฟังเสียงประชาชน
ห้องสมุดที่ทุกคนเข้าถึงอย่างเสมอภาค
ฟินแลนด์มีห้องสมุดอยู่ในทุกเทศบาล ก่อนหน้านี้ห้องสมุดมักเปิดให้บริการ 10.00-16.00 น. หรือ 20.00 น. และปิดให้บริการช่วงสุดสัปดาห์หรืออย่างน้อยปิดวันอาทิตย์ แต่ในปัจจุบันห้องสมุดหลายแห่งมีความยืดหยุ่นเรื่องเวลาในการเปิดให้บริการ เมืองเอสโปมีแนวคิดเรื่อง “ห้องสมุดแบบเปิด” (open library) สมาชิกห้องสมุดสามารถใช้บัตรเปิดเข้าไปใช้บริการห้องสมุดขนาดเล็กในช่วงเช้าและค่ำ แม้ไม่มีบรรณารักษ์อยู่ที่ห้องสมุด
“แม้แต่ในเมืองเอสโปที่มีงบประมาณห้องสมุดค่อนข้างมาก ก็เคยมีการพูดกันถึงการปิดห้องสมุดขนาดเล็ก เพื่อให้คนไปใช้บริการที่ห้องสมุดขนาดใหญ่แทน เมื่อ ‘ห้องสมุดแบบเปิด’ ทำให้ปริมาณผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องการปิดห้องสมุดอีกเลย”
ทุกคนในฟินแลนด์สามารถใช้บริการห้องสมุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งการทำบัตรสมาชิก การยืมสื่อต่างๆ การจองหนังสือล่วงหน้า รวมทั้ง สามารถ“จองเวลาบรรณารักษ์” เพื่อให้ความช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เช่น ช่วยกรอกแบบฟอร์มเพื่อขอฝากลูกไว้ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก
ห้องสมุดเมืองเอสโปมิได้รอให้ผู้คนเข้ามาหา แต่พยายามออกไปหาผู้คน ตัวอย่างที่สำคัญคือกลุ่มผู้ลี้ภัย ในปี 2558 มีผู้ลี้ภัยเข้ามาอาศัยอยู่ในฟินแลนด์กว่า 30,000 คน รวมถึงเมืองเอสโป ศูนย์ผู้ลี้ภัยมักตั้งอยู่ในป่า ห้องสมุดจึงเดินสายไปตามศูนย์เหล่านั้นด้วยรถห้องสมุดเคลื่อนที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ ห้องสมุดได้รับฟังความต้องการต่างๆ ของผู้ลี้ภัย เช่น นำหนังสือเรียนภาษาฟินนิชไปให้ ช่วยกรอกแบบฟอร์มการขอสัญชาติหรือขอใบอนุญาตอยู่ในฟินแลนด์ บอกเส้นทางไปห้องสมุดและร้านขายของชำ ทำให้เมื่อผ่านไป 3-4 ปี พวกเขาก็กลายเป็นขาประจำของห้องสมุด
ห้องสมุดเอสโปเคยมีการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้บริการห้องสมุด พบว่า 89% คิดว่า “ห้องสมุดมีการจัดการที่ดี” 9% บอกว่า “ไม่แน่ใจว่าห้องสมุดจัดการได้ดีหรือแย่” และอีก 2% บอกว่า “ห้องสมุดไม่ได้เรื่อง”
ปัจจุบัน เมืองเอสโปผู้ใช้บริการห้องสมุดเกือบ 12,000 คนต่อวัน ประชากรเข้าห้องสมุดเฉลี่ย 14 ครั้งต่อคน และยืมหนังสือ 13 ครั้งต่อคน ขณะที่สถิติระดับประเทศของฟินแลนด์ ประชากรเข้าห้องสมุดเฉลี่ย 8 ครั้งต่อคน และยืมหนังสือ 15 ครั้งต่อคน สะท้อนให้เห็นว่าชาวเมืองเอสโปไปห้องสมุดด้วยเหตุผลอื่นๆ ไม่ใช่เพื่อต้องการยืมหนังสือ
บทบาทห้องสมุดในกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคม
กฎหมายห้องสมุดฉบับล่าสุดเปิดโอกาสให้ห้องสมุดสามารถพัฒนาวิสัยทัศน์ใหม่ๆ และขยายขอบเขตการดำเนินงานให้กว้างขวางกว่าการส่งเสริมการอ่าน หลักเกณฑ์ในการจ้างเจ้าหน้าที่ห้องสมุดมีความผ่อนปรนมากขึ้น ห้องสมุดสามารถจ้างบุคลากรที่มีความรู้และการศึกษาที่หลากหลาย ไม่จำกัดเฉพาะบรรณารักษ์ ที่ห้องสมุดเมืองเอสโปจึงมีทั้งครูสอนศิลปะ วิศวกร นักดนตรี ฯลฯ
ปัจจุบันห้องสมุดเป็นมากกว่าพื้นที่เก็บข้อมูล แต่ยังสนับสนุนการเรียนรู้หลากหลายวิธี ทั้งการอ่าน การเห็น การเขียน การจดบันทึก การฟัง หรือการลงมือปฏิบัติ ดังนั้นการที่ห้องสมุดมีนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น เมกเกอร์สเปซ และสื่อประเภทความเป็นจริงเสมือน (VR - Virtual Reality) จึงมิได้เป็นเพียงการเล่นสนุก แต่ห้องสมุดใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อการเรียนรู้
“การเรียนรู้ของเราเป็นไปแบบไม่มีลำดับขั้น ผู้ใช้บริการสามารถเรียนรู้จากเรา และเราก็เรียนรู้จากพวกเขาเช่นกัน และสิ่งสำคัญไปกว่านั้นคือผู้ใช้บริการสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้อีกด้วย จะเห็นได้ว่าในเมกเกอร์สเปซทุกคนต่างเรียนรู้ไปด้วยกัน”
ห้องสมุดเมืองเอสโปมีกิจกรรมที่เรียกว่า “Helmet Reading Challenge” ชุมชนของนักอ่านที่มีสมาชิกอยู่กว่า 14,000 คน จะมีการตั้งคำท้าขึ้นในแต่ละสัปดาห์ เช่น อ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับสีเหลือง อ่านหนังสือของนักเขียนที่คุณไม่เคยอ่านมาก่อน อ่านหนังสือเกี่ยวกับความเหงา ฯลฯ แล้วทุกคนก็ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊ก
“สิ่งที่น่ายินดีของกิจกรรมนี้คือการแลกเปลี่ยนความเห็นเป็นไปอย่างเป็นมิตรและเคารพกัน ไม่มีใครแสดงความคิดเห็นว่า ‘โอ้ คุณอ่านหนังสือขยะนั่นหรอ’ ผู้อ่านต่างสนับสนุนและแนะนำกัน ‘อ่านเล่มนี้สิไม่หนาเท่าไหร่’ นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของการที่ผู้คนได้เรียนรู้จากกันและกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีบรรณารักษ์ช่วยเหลือตลอดเวลา”
ห้องสมุดยังมีภารกิจในการสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังคม ห้องสมุดเมืองเอสโปได้สร้างหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์เพื่อให้ผู้คนมีประสบการณ์ตรงกับหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ห้องสมุดยังตัดสินใจซื้อเครื่องพิมพ์สามมิติตั้งแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างและเจ้าหน้าที่ห้องสมุดก็ยังไม่รู้วิธีใช้งานมัน
ห้องสมุดเมืองเอสโปสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น มีการวางแผนกับโรงเรียนเพื่อให้เด็กๆ ได้มาห้องสมุดในทุกๆ วิชา และห้องสมุดได้ริเริ่มกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับเด็กนักเรียน เช่น การส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมแนะนำหนังสือ สนับสนุนการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ การเขียนโค้ด และเกมต่างๆ มีการจัดรถห้องสมุดเคลื่อนที่ไปยังโรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็ก รถห้องสมุดเป็นพื้นที่ขนาดเล็กจึงให้ความรู้สึกอบอุ่น จึงเหมาะสำหรับการชวนเด็กๆ และวัยรุ่นพูดคุยเรื่องละเอียดอ่อน เช่นเรื่องความรักและเพศสัมพันธ์ การกลั่นแกล้งรังแก ฯลฯ
ห้องสมุดยังดำเนินกิจกรรมอื่นอีกหลากหลายด้าน เช่น การทำกิจกรรมดนตรีในชุมชน การมีส่วนร่วมในงานเทศกาลเพศทางเลือกของเฮลซิงกิ สนับสนุนพื้นที่กิจกรรมสำหรับเยาวชน การสอนผู้สูงอายุใช้ไอซีที ฯลฯ
“สังคมมีการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเรื่อยๆ ห้องสมุดจึงต้องตื่นตัวตลอดเวลา ค้นหาว่าผู้คนต้องการหรืออยากเรียนรู้อะไร ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล โซเชียลมีเดีย ข่าวปลอม โลกาภิวัตน์ หรือเรื่องทางจิตใจ ทั้งหมดนี้เป็นชุดข้อมูลใหม่ที่สังคมต้องการรู้ เราต้องตอบสนองต่อความต้องการของคนทุกคนไม่ใช่แค่ของเด็กๆ”
VIDEO วีดิทัศน์ เรื่อง Living and flourishing with change – development of Finnish libraries บรรยายโดย ยาน่า เตือร์นิ (Jaana Tyrni) ผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองเอสโป บันทึกในโอกาสการประชุม TK Forum 2020 หัวข้อ Finland Library and Education in the Age of Disruption
ที่มา
สรุปความจาก การบรรยาย เรื่อง “Living and flourishing with change – development of Finnish libraries ” โดย ยาน่า เตือร์นิ (Jaana Tyrni) ผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองเอสโป ประเทศฟินแลนด์ในการประชุม TK Forum 2020 “Finland Library and Education in the Age of Disruption” วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมเอส 31