ฟินแลนด์ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก มีการศึกษาที่มีคุณภาพ เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข อีกทั้งยังมีห้องสมุดชั้นเยี่ยม กว่าจะเป็นเช่นทุกวันนี้ ประเทศเล็กๆ เติบโตงอกงามบนพื้นฐานความคิดเช่นไร และได้ก้าวผ่านอะไรมาบ้าง ลองมาฟังเรื่องเล่าจากปากของชาวฟินแลนด์ และผู้เชี่ยวชาญเรื่องการศึกษาฟินแลนด์
แบบไหนที่เรียกว่า ห้องสมุดที่ดีที่สุดในโลก
เริ่มต้นจากการทำความรู้จักห้องสมุดเมืองเอสโป (Espoo City Library) ซึ่งได้รับรางวัล Library of the Year 2019 จากงานมหกรรมหนังสือลอนดอน (London Book Fair) รางวัลดังกล่าวนอกจากจะการันตีคุณภาพของห้องสมุดแห่งนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานห้องสมุดฟินแลนด์ที่มีรากเหง้าความคิดเรื่องความเท่าเทียม การเข้าถึงความรู้ และการปรับตัวของห้องสมุดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้คน
หลักคิดของห้องสมุดฟินแลนด์คือการพาความรู้ไปหาคน ห้องสมุดเมืองเอสโปเป็นห้องสมุดแห่งแรกๆ ของฟินแลนด์ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า เพราะผู้คนจำนวนมากนิยมไปที่นั่น ปัจจุบันห้องสมุดจำนวน 3 ใน 4 แห่งของเมืองนี้ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าเช่นกัน ส่วนในพื้นที่ห่างไกลมีการให้บริการรถห้องสมุดเคลื่อนที่และเรือห้องสมุดเคลื่อนที่
เงื่อนไขเรื่องเวลาเปิดปิดห้องสมุดเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อจำนวนผู้ใช้บริการ โครงการ “Open Library” ขยายเวลาให้ผู้คนสามารถนำบัตรสมาชิกมาใช้บริการห้องสมุดด้วยตนเองนอกเวลาทำการแม้ไม่มีบรรณารักษ์คอยดูแล นับตั้งแต่เช้าตรู่ 7.00 น. ยาวไปจนถึง 22.00 น. ใครว่างเวลาไหนก็สามารถเดินเข้าไปในห้องสมุดได้เสมอ
ยาน่า เตือร์นิ (Jaana Tyrni) ผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองเอสโปกล่าวว่า “ก่อนหน้านี้มีการตั้งคำถามถึงการปิดห้องสมุดขนาดเล็กในท้องถิ่น เนื่องจากการเปิดให้บริการห้องสมุดแห่งหนึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ Open Library ทำให้เห็นว่า แค่เพียงห้องสมุดปรับเปลี่ยนนิดเดียว จำนวนคนเข้าห้องสมุดก็เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และทุกวันนี้ประเด็นเรื่องการปิดห้องสมุดก็ไม่ถูกพูดถึงอีกแล้ว”
ยาน่า เตือร์นิ (Jaana Tyrni) ผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองเอสโป
ห้องสมุดบนปรัชญาแห่งความเท่าเทียม
ฟินแลนด์มีพระราชบัญญัติห้องสมุดสาธารณะตั้งแต่เมื่อร้อยปีที่แล้ว (พ.ศ. 2463) ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า ห้องสมุดต้องให้บริการแก่ทุกคนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ดังนั้นทุกคนจึงสามารถยืมคืนหนังสือ ใช้บริการพื้นที่ทำงาน (working space) และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ฟรี ครอบคลุมถึงคนต่างชาติและผู้อพยพจำนวนมากที่หลั่งไหลไปยังฟินแลนด์ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 มีการให้บริการรถห้องสมุดไปยังย่านที่พักผู้ลี้ภัย จัดเสวนารับฟังความต้องการซึ่งพวกเขาระบุว่า อยากเรียนรู้ภาษาฟินิชและการใช้ชีวิตประจำวันนอกแหล่งพักพิงผู้อพยพ หมายความว่าห้องสมุดมีบทบาทช่วยเหลือให้พวกเขาสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ในดินแดนแห่งนี้ นอกจากนี้ห้องสมุดยังให้คำแนะนำในการกรอกแบบฟอร์มต่างๆ และเปิดให้บริการด้านสาธารณสุข
กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ เลขากลุ่มมิตรภาพรัฐสภาไทยฟินแลนด์ วิเคราะห์ว่า “เมื่อพื้นที่ห้องสมุดถูกผสานเข้ากับการให้บริการของภาครัฐก่อให้เกิดประโยชน์หลายทาง ห้องสมุดกลายเป็นพื้นที่ผ่อนคลายระหว่างที่เด็กๆ มารอพบหมอ ได้เล่น และหยิบหนังสือมาอ่าน เป็นที่ที่ผู้อพยพรู้สึกว่าน่าไปใช้บริการมากกว่าสถานที่ราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐก็สามารถทำงานกับผู้อพยพได้ง่ายขึ้น”
บริการห้องสมุดแบบนี้ก็มีด้วย
หลายบริการที่เกิดขึ้นในห้องสมุดฟินแลนด์เป็นเรื่องแหวกแนว แต่สร้างเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนอยากเข้าห้องสมุดอย่างเหนือความคาดหมาย เช่น เรื่องราวของเจ้าเบอริเย สุนัขที่ครั้งหนึ่งเคยถูกทิ้งในโรงแรมที่สหรัฐอเมริกา มันถูกฝึกให้เป็นผู้ช่วยอ่านของเด็กๆ ในห้องสมุดเมืองเอสโป “การฝึกอ่านกับน้องหมา คือการที่เด็กมีใครสักคนมาคอยนั่งฟัง แล้วก็ทำหน้าตาตื่นอินไปกับเรื่องที่อ่าน โดยไม่ตัดสินว่าเด็กอ่านถูกหรืออ่านผิด นั่นคือการเสริมแรง ทำให้เด็กๆ มีกำลังใจในการอ่าน” กุลธิดาเล่าถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังโครงการดังกล่าว
ปัจจุบันฟินแลนด์มีสุนัขช่วยในการอ่านกว่า 500 ตัว และมีการนำสุนัขไปใช้ช่วยพัฒนาเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ในโรงเรียนด้วย อีกกิจกรรมหนึ่งที่มีสีสันไม่แพ้กันคือกิจกรรมที่ให้เด็กๆ อุ้มตุ๊กตาหมีไปเที่ยวห้องสมุดตอนกลางคืน ส่องไฟฉายดูตามซอกมุมต่างๆ แล้วนำไปเล่าผ่านโซเชียลมีเดียว่าพบเห็นอะไรและมีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง
ห้องสมุดฟินแลนด์ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยน้ำจิตน้ำใจของบรรดาผู้สูงอายุที่ร่วมเป็นอาสาสมัครห้องสมุด ทั้งสอนอ่าน สอนทำการบ้าน สอนร้องเพลง ฯลฯ แม้แต่นายอเล็กซานเดอร์ สตุบบ (Alexander Stubb) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็มาเป็นอาสาสมัครในห้องสมุดเช่นกัน “ห้องสมุดมิได้สร้างบริการพิเศษเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการทำให้คนทุกคนไม่ว่าจะมีความต้องการแบบใดรู้สึกว่า ได้รับการต้อนรับและใช้พื้นที่ได้อย่างสบายใจ” ยาน่ากล่าว
ห้องสมุดของประชาชน เพื่อประชาชน
กุลธิดาเล่าเสริมถึงห้องสมุดที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งสามารถสะท้อนแนวคิดประชาธิปไตยอันหยั่งรากลึกในสังคมฟินแลนด์ได้เป็นอย่างดี ห้องสมุดโอดิ (Helsinki Central Library Oodi) เปรียบเหมือนของขวัญในวาระครบรอบ 100 ปีประเทศฟินแลนด์ “โอดิใช้เวลาสร้างนานนับสิบปีไม่ใช่เพราะความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการของภาครัฐ แต่โอดิใช้กระบวนการรับฟังความต้องการของประชาชนตั้งแต่วันแรก ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าพวกเขาคือเจ้าของห้องสมุดนี้
“ห้องสมุดตั้งอยู่ในทำเลแพงระยับ รัฐบาลจัดสรรพื้นที่กลางเมืองที่ดีที่สุด การให้บริการมีความหลากหลายไม่ใช่เพียงแค่หนังสือ ยังมีสนามเด็กเล่น เกม สื่อเสมือนจริง เครื่องพิมพ์สามมิติ คนฟินแลนด์ไม่ต้องซื้อเครื่องพริ้นเตอร์ไว้ที่บ้าน ธุรกิจที่อาจไม่มีในประเทศนี้เลยก็คือ co-working space คุณไม่จำเป็นต้องเช่าพื้นที่ในการคิดสร้างสรรค์ เพราะห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์มีพื้นที่เหล่านี้ให้ใช้ฟรี ดังนั้น ทุกๆ อย่างที่มีในห้องสมุดจึงช่วยลดต้นทุนในการใช้ชีวิตของประชาชน”
นอกจากนี้ ห้องสมุดโอดิยังมีพื้นที่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นว่าอยากเห็นอะไรเกิดขึ้นในเมืองเฮลซิงกิ คล้ายกับศาลาประชาคมขนาดย่อมๆ รวมทั้งการถกเถียงประเด็นอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน
“ตลอดช่วงการเปลี่ยนผ่านจะมีคนตั้งคำถามว่า นี่คือห้องสมุด ทำไมไม่เอาเงินไปซื้อหนังสือ มาทำเรื่องที่เกี่ยวกับบริการภาครัฐอื่นๆ ทำไม รวมทั้งมาคุยเรื่องการเมืองและศาสนาในห้องสมุดทำไม ห้องสมุดควรทำหน้าที่เหล่านี้หรือไม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายมาก แต่ห้องสมุดก็เดินหน้าทำมันต่อไป จริงๆ แล้วทุกครั้งที่มีการทำอะไรใหม่ๆ ย่อมเกิดเสียงวิจารณ์เป็นธรรมดา” กุลธิดากล่าว
กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ เลขากลุ่มมิตรภาพรัฐสภาไทยฟินแลนด์
วิถีการเรียนรู้แบบฟินแลนด์
สำหรับชาวฟินแลนด์การอ่านและหาความรู้เป็นเรื่องปกติสามัญดังเนื้อหาตอนหนึ่งในวรรณกรรมชื่อดัง “7 ภราดร” (Seven Brothers) พี่น้องกำพร้า 7 คนไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชน ต่อมาตัดสินใจหนีเข้าป่า ได้หัดเรียนรู้การอ่านเขียนด้วยตัวเอง จนในที่สุดสามารถกลับเข้าหมู่บ้านได้อย่างภาคภูมิ
การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่งแม้จะอยู่นอกรั้วโรงเรียน โรงเรียนในฟินแลนด์ไม่จำเป็นต้องมีห้องสมุดเป็นของตัวเอง แต่สามารถให้เด็กๆ อ่านหนังสือที่สอดคล้องกับการเรียนการสอนได้ที่ห้องสมุดในชุมชน โดยห้องสมุดกับโรงเรียนมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและมองภาพการเรียนรู้ไปในทิศทางเดียวกัน
ห้องสมุดเมืองเอสโปมีบทบาทสำคัญยิ่งในด้านการเรียนรู้ โดยทำงานอย่างหนักร่วมกับครูเพื่อสร้างกิจกรรมที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่ เรียกว่า “Library Service Path” ปัจจุบันมีหลักสูตรตามโครงการนี้ 5 หลักสูตร เช่น การเรียนโค้ดดิ้ง และเกม Treasure Hunt
ผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองเอสโปมองเรื่องพื้นที่กับการเรียนรู้ของปัจเจกว่า “การออกแบบพื้นที่ห้องสมุดคำนึงถึงความเข้าใจถึงความต้องการอันหลากหลาย ...เด็กๆ มีวิธีเรียนรู้ไม่เหมือนกัน บางคนเรียนรู้ด้วยการฟัง บางคนเรียนรู้ด้วยการอ่าน บางคนเรียนรู้ด้วยประสบการณ์และการลงมือทำ บางคนเรียนรู้ด้วยการเขียน”
รัชนก วงศ์วัฒนกิจ ผู้ก่อตั้งโรงเรียน Rainbow Trout Creativity, The Harbour School กล่าวสอดคล้องกันว่า “การศึกษาของฟินแลนด์เน้นเรื่องความเป็นมนุษย์ ทุกคนมีประกายในความรักการเรียนรู้โดยธรรมชาติ เด็กแต่ละคนมีความต้องการแตกต่างกัน มีจุดอ่อนจุดแข็งไม่เหมือนกัน การสอนเด็กทุกคนเหมือนๆ กันจึงเป็นสิ่งจำกัดขีดความสามารถของพวกเขา”
การเรียนรู้ในระบบโรงเรียนของฟินแลนด์เกิดจากการนำแนวคิดและหลักสูตรการศึกษาหลายๆ แนวทาง เช่น มอนเตสซอรี่ (Montessori) เรจิโอ เอมิเลีย (Reggio Emilia) และการศึกษาแนวดั้งเดิม นำมาทดลองวิจัยและปฏิบัติจนกลายเป็นระบบการศึกษาที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว
รัชนกกล่าวว่า “ที่ฟินแลนด์เอาจริงเอาจังกับการประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (twenty-first century skill) ทั้งเรื่องการคิดเชิงวิพากษ์ สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ การมีความคิดสร้างสรรค์ การมีมนุษยสัมพันธ์ดี มีความสามารถในการเจรจาต่อรอง มีไหวพริบทันคน มีความอดทนไม่ย่อท้อ ประการสำคัญคือเน้นความเอื้ออาทรและความร่วมมือกัน นิยามความสำเร็จจึงไม่ใช่เรื่องความฉลาดอย่างเดียว แต่ฉลาดแล้วมีสันติสุขด้วย”
สิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ของฟินแลนด์เป็นการเรียนรู้เชิงบวก (Positive Learning) เน้นการให้กำลังใจ ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและกล้าแสดงตัวตนของตัวเองออกมา ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลระยะยาวต่อความพึงพอใจในชีวิตและการประสบความสำเร็จในชีวิต การเรียนรู้ยังเน้นการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างและการพึ่งพากัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นถึงความเอาใจใส่และความละเอียดอ่อนที่แฝงอยู่ในวิถีการเรียนรู้แบบฟินแลนด์
รัชนก วงศ์วัฒนกิจ ผู้ก่อตั้งโรงเรียน Rainbow Trout Creativity, The Harbour School
VIDEO วีดิทัศน์การบรรยาย เรื่อง เล่าเรื่องห้องสมุดฟินแลนด์: ระบบการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีห้องสมุดเป็นฐาน
ที่มา
สรุปความจาก การบรรยาย เรื่อง “เล่าเรื่องห้องสมุดฟินแลนด์: ระบบการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีห้องสมุดเป็นฐาน” โดย ยาน่า เตือร์นิ (Jaana Tyrni) กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ และรัชนก วงศ์วัฒนกิจ วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ห้องประชุมอาคารพิพิธภัณฑ์ มิวเซียมสยาม