Photo : Andrey Shadrin
จุดเริ่มต้นของห้องสมุดฟินแลนด์คือ “ความเป็นสาธารณะอย่างแท้จริง” เราเชื่อว่าสิทธิด้านการศึกษา การมีความรู้ และการพัฒนาศักยภาพตนเอง เป็นโอกาสซึ่งทุกคนต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกัน หากเราไม่มีแนวคิดร่วมกันเช่นนี้ เราจะไม่สามารถสร้างมุมมองด้านการศึกษาและห้องสมุดให้เป็นแบบนี้ได้เลย
ระบบห้องสมุดฟินแลนด์
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาฟินแลนด์ใช้งบประมาณลงทุนเรื่องระบบห้องสมุด 320 ล้านยูโร หรือคิดเป็นเงินประมาณ 58 ยูโรต่อคนต่อปี ซึ่งนับเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง เพราะเชื่อว่าการศึกษาและห้องสมุดเป็นทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาสังคม ผลสำเร็จคือฟินแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือสูงที่สุด มีผู้ใช้บริการห้องสมุดมากที่สุด และห้องสมุดเป็นหนึ่งในบริการที่ชาวฟินแลนด์ชื่นชอบมากที่สุด
งบประมาณที่ห้องสมุดได้รับจากรัฐบาลถูกนำไปใช้ด้านการให้บริการและงานอื่นๆ ตามความจำเป็น เช่น การพัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ การเพิ่มอัตราการรู้หนังสือ การส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน การพัฒนาพื้นที่ห้องสมุดให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีงบประมาณอีกส่วนหนึ่งที่มาจากองค์กรส่วนท้องถิ่น
ฟินแลนด์มีห้องสมุดสาธารณะ 720 แห่ง มีรถห้องสมุดที่ 135 คัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่อยู่ห่างไกล แต่ละปีมีการยืมหนังสือจากห้องสมุดราว 85 ล้านครั้ง คิดเป็นประมาณ 15 เล่มต่อคน มีผู้ใช้บริการห้องสมุดเฉลี่ยคนละ 9 ครั้งต่อปี
ทรัพยากรของห้องสมุดประมาณ 1 ใน 3 เป็นหนังสือสำหรับเด็ก และเกือบครึ่งหนึ่งของหนังสือที่มีการยืมออกก็เป็นหนังสือเด็ก หมายความว่ากลุ่มลูกค้าสำคัญที่สุดคือเด็กและวัยรุ่น ด้วยเหตุนี้โรงเรียนจึงเป็นพันธมิตรที่สำคัญยิ่งของห้องสมุด ห้องสมุดประชาชนพยายามจัดหาสื่อที่หลากหลายและเพียงพอ เพื่อให้โรงเรียนหลายแห่งสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยไม่จำเป็นต้องสร้างห้องสมุดขนาดใหญ่ไว้ในโรงเรียน
รถห้องสมุดเคลื่อนที่ 'Stoori' Photo: Maarit Hohteri / the city of Helsinki
ห้องสมุดในยุค Disruption
ปัจจุบันเกิดการแทรกแซง (disruption) มากมาย ทั้งในสังคม การศึกษา การทำงาน รวมทั้งห้องสมุด ปัจจุบันห้องสมุดเป็นมากกว่าสถานที่อ่านหนังสือ แต่ให้บริการพื้นที่พบปะพูดคุย พื้นที่จัดกิจกรรม เมกเกอร์สเปซและทรัพยากรต่างๆ โดยนัยนี้ ห้องสมุดจึงเป็นทั้งบริการและสถานที่ ซึ่งทั้งสองด้านนี้จำเป็นต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน
ฟินแลนด์เชื่อมั่นว่าห้องสมุดเป็นรากฐานที่แท้ของการศึกษาและประชาธิปไตยในอุดมคติ ในภาษาฟินนิชคำศัพท์ว่า Sivistys (อ่านว่า ซี-วิส-ตุส) หมายถึงการศึกษา ความมีอารยะ ปัญญา และการรู้แจ้ง ส่วนแนวคิดที่ว่าทุกคนต้องมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในด้านการศึกษาและการพัฒนาตัวเอง มาจากคำศัพท์ในภาษาเยอรมันว่า belo จากรากฐานความคิดดังกล่าว รัฐจึงทุ่มเททรัพยากรและความสามารถให้ชาวฟินแลนด์ทุกคน รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในฟินแลนด์ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการศึกษาและวัฒนธรรม
ชาวฟินแลนด์มีวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต รู้สึกว่าตนมีความจำเป็นต้องพัฒนาและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา แต่ปัจจุบันการแทรกแซง (disruption) ในตลาดแรงงานและชีวิตการทำงานสร้างแรงกดดันมากขึ้นต่อระบบการศึกษา ห้องสมุด มหาวิทยาลัย ฯลฯ
ห้องสมุดมีบทบาทช่วยให้ประชาชนสามารถหาและใช้ข้อมูล สอนทักษะด้านเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในพื้นที่และบริการของรัฐที่ฝึกทักษะให้ทุกคนแม้ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา และหนึ่งในภารกิจที่มีความสำคัญมาโดยตลอดคือการส่งเสริมการอ่านและการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน
ในบริบทปัจจุบันมีหลายประเด็นท้าทายสำหรับห้องสมุด เช่น ข่าวปลอม (fake news) ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมีอารยะและการเรียนรู้ การแบ่งแยกในโลกเสมือน การไม่รับฟังความเห็นที่แตกต่าง ฯลฯ พลเมืองจึงจำเป็นต้องมีความรู้เท่าทันข่าวสารและสื่อดิจิทัล และต้องใช้ข้อมูลที่มีอยู่อย่างระมัดระวัง ในที่นี้ห้องสมุดสามารถเป็นพื้นที่อุดมคติในการเปิดเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก และเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการถกเถียงเรื่องอ่อนไหว ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการเมือง
เราไม่เชื่อเรื่องการเซ็นเซอร์ (censored) หรือให้รัฐบาลออกมาบอกว่าข้อมูลนี้เป็นจริงหรือเท็จ เราเชื่อว่าการศึกษาเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เราจัดการปัญหาได้หลายวิธี หมายความว่าเราจำเป็นต้องลงทุนเรื่องขีดความสามารถและทักษะตลอดชีวิตไม่ใช่แค่ในโรงเรียน
การกำหนดทิศทางห้องสมุด
รัฐธรรมนูญของฟินแลนด์ระบุไว้ว่า “ทุกคนต้องได้รับเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งศาสตร์ ศิลป์ และการศึกษา” มีการบัญญัติกฎหมายด้านวัฒนธรรมเพื่อสนับสนุนศิลปะทุกแขนง มรดกทางวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ และห้องสมุด โดยกำหนดเป็นแผนแม่บทและจัดสรรงบประมาณอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลตามรอบการเลือกตั้งทุก 4 ปี รัฐบาลชุดใหม่ก็จะดำเนินงานตามแผนแม่บทที่วางไว้
ประเทศฟินแลนด์มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีกรุงเฮลซิงกิเป็นเมืองหลวงตั้งอยู่ตอนใต้ รัฐบาลท้องถิ่นและภูมิภาคต่างๆ สามารถริเริ่มการพัฒนาท้องถิ่นได้เองตามความเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องรอการสั่งการจากกระทรวง ดังนั้นเมืองต่างๆ จึงสามารถพัฒนาเครือข่ายห้องสมุดของตนเอง
ห้องสมุดโอดิ (Oodi Library) Photo : วริษฐา ดำแก้ว
ห้องสมุดโอดิ (Oodi Library) คือหนึ่งในนวัตกรรมที่โดดเด่น เพิ่งเปิดตัวในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีการประกาศอิสรภาพของฟินแลนด์ในปี 2017 และเปิดใช้งานเมื่อปี 2018 ในฐานะของขวัญจากรัฐบาลและกรุงเฮลซิงกิ ชื่อ Oodi แปลว่า “บทกวี” ในที่นี้หมายความถึงบทกวีแห่งวัฒนธรรม ความเท่าเทียม และเสรีภาพ ในการแสดงออก
การสร้างห้องสมุดโอดิใช้งบประมาณเกือบ 100 ล้านยูโร ซึ่งชาวฟินแลนด์ถือว่าเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนมาลงทุนอย่างเหมาะสม กระบวนการออกแบบอาคารเปรียบเหมือนการสร้างบ้านให้ผู้คนมาอยู่อาศัย จึงใช้หลักการมีส่วนร่วม มีการอภิปรายหลายครั้งกับผู้คนหลากหลายกลุ่ม เพื่อให้ประชาชนบอกเล่าถึงภาพห้องสมุดในฝันกับนักออกแบบและสถาปนิก ให้ประชาชนออกความเห็นว่างบประมาณที่ได้มาควรนำไปใช้ทำอะไรบ้าง รวมทั้งชื่อห้องสมุดก็มาจากความเห็นของประชาชน
ฟินแลนด์ลงทุนมากมายด้านอาคารห้องสมุด แต่แทนที่จะคิดถึงเพียงเรื่องการมีพื้นที่สวยๆ สิ่งที่ควรจำไว้คือ การดำเนินงานเพื่อให้การศึกษามีคุณภาพเท่าเทียมกันซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ห้องสมุด
ความสำเร็จของฟินแลนด์ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน การพัฒนาห้องสมุดเป็นงานระยะยาวซึ่งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นทำงานร่วมกันมานับร้อยปี ภายใต้เงื่อนไขทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ปัจจัยความสำเร็จยังมาจากบุคลากรห้องสมุดที่มีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ ประการสำคัญคือภูมิปัญญาในการพัฒนาห้องสมุดมิได้มาจากกระทรวง ทว่ามาจากกลุ่มคนในท้องถิ่นที่มีวิสัยทัศน์และเป็นนวัตกรในการลงมือทำสิ่งต่างๆ อย่างมีส่วนร่วม
VIDEO วีดิทัศน์การบรรยาย เรื่อง How Library Can Promote the Quality of Education: The Experiences from Finland
ที่มา
สรุปความจาก การบรรยาย เรื่อง How Library Can Promote the Quality of Education: The Experiences from Finland โดย แอนนา คอร์ปิ (Anna Korpi) ในการประชุม TK Forum 2020 “Finland Library and Education in the Age of Disruption” วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมเอส 31