ห้องสมุดไดค์มัน บยอร์วิกาสว่างไสวในยามค่ำคืนบนเวิ้งน้ำของเมืองออสโล courtesy of Einar Aslaksen
ไดค์มัน บยอร์วิกา (Deichman Bjørvika) ห้องสมุดแห่งใหม่ของประเทศนอร์เวย์ ตั้งตระหง่านอยู่ริมอ่าวฟยอร์ดของเมืองออสโล เคียงข้างโรงละคร Oslo Opera House ในเขตวัฒนธรรมบยอร์วิกา ห้องสมุดห้าชั้นรูปทรงเก๋ไก๋แห่งนี้นอกจากจะเป็นที่จัดเก็บหนังสือกว่า 450,000 เล่มแล้ว ยังเป็นสถานที่นัดพบของชาวเมืองที่ตอบโจทย์การใช้งานหลากหลาย เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 2020
ห้องสมุดไดค์มันตั้งอยู่บนเวิ้งน้ำของบยอร์วิกา ทำเลทองที่เมืองออสโลตั้งเป้าพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมตามแผนการฟื้นฟูเมือง Fjord City1 มีการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบระเบียบ ตึกรามบ้านช่องถูกออกแบบให้กลมกลืนกับภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อม อาคารที่โดดเด่นในย่านนี้ซึ่งทยอยสร้างเสร็จและเปิดให้บริการ ได้แก่ โรงละคร Oslo Opera House ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิก Snøhetta เปิดใช้งานในปี ค.ศ. 2008 ห้องสมุดไดค์มัน บยอร์วิกา ออกแบบโดยสองบริษัทสถาปนิกชั้นนำ Atelier Oslo และ Lundhagem ส่วนพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Munch Museum แห่งใหม่ ออกแบบโดยสถาปนิกชาวสเปน Juan Herreros คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ. 2021
ห้องสมุดแห่งอนาคตบนรากฐานของอดีต
ไดค์มันเป็นห้องสมุดประชาชนที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของประเทศนอร์เวย์ ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1785 ชื่อไดค์มันได้มาจาก Carl Deichman (คาร์ล ไดค์มัน) คหบดีที่เขียนพินัยกรรมบริจาคหนังสือที่ตนสะสมไว้กว่า 6,000 เล่มให้กับห้องสมุดเมืองคริสเตียเนีย (ชื่อเดิมของเมืองออสโล) ปัจจุบันไดค์มันมีเครือข่ายห้องสมุดอยู่ 22 แห่งทั่วเมืองออสโล
ห้องสมุดแห่งใหม่ของไดค์มันที่บยอร์วิกา สร้างขึ้นเพื่อทดแทนห้องสมุดประชาชนที่เขตเซนต์ ฮันส์เฮาเกน ห้องสมุดทรงนีโอคลาสสิกที่มีประวัติยาวนานกว่า 80 ปี สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1933 เป็นหนึ่งในอาคารที่ได้รับผลกระทบจากการก่อเหตุวินาศกรรมในนอร์เวย์เมื่อปี ค.ศ. 2011
ในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 2020 (ก่อนที่ห้องสมุดไดค์มัน บยอร์วิกา จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการราว 5 เดือน) ได้มีการจัดกิจกรรมพิเศษ “พาหนังสือขึ้นบ้านใหม่” โดยมีอาสาสมัครเป็นเด็กนักเรียนประถม 1,000 คนเดินเท้านำหนังสือจำนวน 6,000 เล่มจากอาคารหลังเดิมมาไว้ที่ห้องสมุดไดค์มันที่กำลังใกล้แล้วเสร็จ2
กิจกรรมพาหนังสือขึ้นบ้านใหม่ เด็กๆ ชาวนอร์เวย์ช่วยกันขนย้ายหนังสือไปไว้ที่ห้องสมุดไดค์มัน บยอร์วิกา
Courtesy of Didrick Stenersen / VisitOSLO
ไดค์มัน บยอร์วิกา ถูกออกแบบให้เป็นห้องสมุดยุคใหม่ที่คงไว้ซึ่งกลิ่นอายของห้องสมุดยุคเก่า อาคารภายนอกโดดเด่นสะดุดตา ตึกทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนบล็อกตัวต่อถูกครอบไว้ด้วยโครงสร้างยื่นยาว (cantilever) ที่มีหน้าตาคล้ายกับกองหนังสือที่วางซ้อนทับกัน พื้นที่ภายในเปิดโล่ง สามารถรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย มีการใช้ลูกเล่นต่างๆ ผ่านช่องรับแสงรูปทรงเรขาคณิต และการเล่นระดับ สร้างความรู้สึกตื่นตาตื่นใจ และเชื้อเชิญให้ผู้คนเข้ามาสำรวจอาณาบริเวณใหม่ๆ ในขณะเดียวกันทีมสถาปนิกได้นำสถาปัตยกรรมห้องสมุดยุคเก่ามาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบพื้นที่ห้องสมุด โครงสร้างหลัก เพดาน และผนังอาคารภายนอก (façade) ออกแบบอย่างพิถีพิถันด้วยวัสดุที่คงทน ให้ความรู้สึกมั่นคงถาวร
ท่องไปในประภาคารความรู้
ห้องสมุดไดค์มัน บยอร์วิกา เป็นสถานที่ที่ตอบโจทย์การใช้งานทั้งสำหรับผู้ที่ชอบความคึกคัก หรือผู้ที่ชอบความสงบเงียบ ชั้นล่างของอาคารออกแบบไว้เป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ เหมาะกับกิจกรรมที่ใช้เสียงได้ ขณะที่ชั้นบนเป็นสัดส่วนสำหรับพื้นที่การอ่านและการเรียนรู้ เหมาะกับกิจกรรมเชิงวิชาการที่ต้องการความเงียบ
จากชั้นล่างสู่ชั้นบน ที่ชั้นใต้ดิน มีหอประชุม Deichman Hall ความจุ 200 ที่นั่ง ใช้สำหรับกิจกรรม เช่น งานเสวนา การประชาพิจารณ์ การโต้วาที และมีโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ชั้น 1 มีร้านกาแฟ ภัตตาคาร ที่นั่งอ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ชั้น 2 เป็นพื้นที่สำหรับเด็กที่ให้บรรยากาศสบายและอบอุ่น มีโซนอ่านหนังสือ มีโซนเวิร์กช็อปสำหรับประดิษฐ์สิ่งของ และโซนสันทนาการที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ผ่านการเล่น ชั้น 3 เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ มีโซนเวิร์กช็อปสำหรับชุมชน (Communal Workshop) โซนนักประดิษฐ์ (Maker Space) ที่มีอุปกรณ์ต่างๆ ให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้งานได้ เช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ชุดคอมพิวเตอร์สำหรับออกแบบงานกราฟิก และจักรเย็บผ้า นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สันทนาการ เช่น ห้องมินิเธียเตอร์ และห้องบันทึกเสียง ชั้น 4 และ 5 เป็นพื้นที่การเรียนรู้ ใช้อ่านหนังสือ ติวสอบ หรือประชุมกลุ่มย่อย ชั้นบนสุดมีผนังกระจกที่สามารถชมทิวทัศน์ของอ่าวออสโลแบบพาโนรามาได้
คลิปวิดีโอ “นำชมห้องสมุดไดค์มัน บยอร์วิกา”
ชั้นบนสุดของห้องสมุดไดค์มัน ผู้ใช้สามารถทอดสายตาชื่นชมทิวทัศน์ของอ่าวออสโลได้แบบรอบทิศทาง courtesy of Einar Aslaksen
สภาเมืองออสโลคาดว่าหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว จะมีผู้มาใช้บริการที่ห้องสมุดไดค์มัน
บยอร์วิกา ปีละกว่า 2 ล้านคน สเวน ลุนด์ (Svein Lund) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสถาปนิก Lundhagem กล่าวว่า
“ห้องสมุดได้ผันตัวเองจากที่จัดเก็บหนังสือมาเป็นสถานที่ที่ผู้คนมาพบปะและเรียนรู้ ที่นี่คุณจะได้พบกับพื้นที่ต่างๆ เช่น ห้องประชุม ห้องซ้อม ห้องเล่นเกม พื้นที่จัดนิทรรศการ ห้องบันทึกเสียง และห้องอ่านหนังสือเงียบๆ”