ภาพ เว็บไซต์ http://meatmarket.org.au/
เมืองที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นเป้าหมายหนึ่งของการพัฒนาเมืองในศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นการสร้างสมดุลในระบบนิเวศของเมือง ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ส่งเสริมการมีสภาพแวดล้อมและองค์ประกอบทางเศรษฐกิจ มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางสังคม สุขภาพ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
ทั้งหมดนี้จะเกิดได้จากการบริหารต้นทุนทางธรรมชาติ เศรษฐกิจ และสังคมกันอย่างสมดุล การรักษาสภาพแวดล้อมและการใช้ซ้ำ คือประเด็นที่ได้รับความสนใจและให้ความสำคัญในกระแสทิศทางของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงเฉพาะการสร้างพื้นที่สีเขียว หรือการลดปริมาณขยะเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นจากอดีต ซึ่งควรได้รับการพิจารณาและให้ความสำคัญเทียบเท่ากับแนวคิดการสร้างพื้นที่สีเขียวของเมืองด้วยเช่นกัน
งานสถาปัตยกรรมและอาคารเก่าจัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมือง มีเรื่องราวความเป็นมาสะท้อนถึงชีวิตของผู้คนในอดีต เราสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์หรือตัวตนของเมืองได้โดยผ่านงานสถาปัตยกรรม ดังนั้นการนำอาคารเก่ามาปรับปรุงและใช้ซ้ำ แทนการทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการรื้อถอนและใช้ทรัพยากรเพื่อการก่อสร้างจำนวนมาก จึงเหมือนกับการช่วยสนับสนุนการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนได้ในอีกทางหนึ่ง
ภายหลังการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความพยายามที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเกิดขึ้น รวมไปถึงแนวคิดในการอนุรักษ์มรดกของโลก “World Heritage” มีการประชุมระดับนานาชาติ เพื่อระบุกฎเกณฑ์และข้อกำหนดที่เกี่ยวเนื่อง บทสรุปแรกสุด คือ กฎบัตรเวนิส (Venice Charter, 1964) ที่ว่าด้วยการอนุรักษ์ และบูรณะโบราณสถาน รวมไปถึงกฎระเบียบอื่นๆ ที่พัฒนาต่อมาเพื่อความเข้าใจร่วมกัน จนมาสู่ กฎบัตรบูรา (Burra Charter, 1999) ที่ให้รายละเอียดเรื่องการอนุรักษ์ และการประเมินคุณค่าทางวัฒนธรรม โดยเสนอแนวทางการรักษา และการจัดการกับคุณค่าความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรมของสถานที่ โดยมีเป้าหมายคือ การอนุรักษ์ คุณค่า ความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรมของสถานที่ เพื่ออนุชนในปัจจุบันและในอนาคตต่อไป
ในแง่ของคำจำกัดความ อาคารอนุรักษ์ คือ อาคารเก่าที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพื่อการส่งต่อ การรักษาคุณค่า (value) และความสำคัญ (significant) ของมรดกวัฒนธรรมให้คงอยู่ นอกจากนั้นความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการร่วมสมัย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แก่คนในชุมชน ย่อมเป็นการเพิ่มคุณค่าในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นหลักสำคัญในการช่วยรักษา และดูแลมรดกทางวัฒนธรรมนั้นๆ ให้ยังคงดำรงอยู่อย่างยั่งยืนอีกด้วย
การปรับปรุงหรือการเปลี่ยนแปลงการใช้งานอาคาร (Adaptive Reuse / Adaptive Use) คือการปรับเปลี่ยนการใช้สอย ดัดแปลง และพัฒนาอาคารเพื่อตอบโจทย์การใช้งานใหม่ในเชิงเศรษฐกิจ โดยคงรักษาคุณค่าของมรดกเหล่านั้นไว้ การปรับปรุงนี้รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของงานระบบต่างๆ หรือการเพิ่มใช้งานแบบใหม่ หรือการเปลี่ยนแหล่งที่ตั้งเพื่อรักษาความปลอดภัยแก่องค์ประกอบของมรดกนั้นๆ
การนำอาคารกลับมาใช้ใหม่โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้สอย เป็นวิธีการหนึ่งเพื่ออนุรักษ์อาคาร ช่วยในการยืดอายุของอาคาร และป้องกันการถูกทิ้งร้าง เป็นทางเลือกที่ใช้การปรับปรุงอาคารเดิมจากที่ไม่ตอบโจทย์การใช้งานแล้ว มาสร้างการใช้งานใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบัน และช่วยสร้างผลลัพธ์ที่ดีแก่เมือง ดังนี้
(1) เพื่อสร้างความทรงจำทางวัฒนธรรม ฟื้นฟูสถานที่ซึ่งเคยมีความรุ่งเรือง และเคยมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้น
(2) เพื่อรักษาปฏิสัมพันธ์ในชุมชน เมื่อมีใช้งานพื้นที่ก็จะกระตุ้นการสร้างงาน ช่วยลดจำนวนการย้ายออกไป ตั้งถิ่นฐานที่อื่น ทำให้ความเป็นชุมชนยังคงอยู่หรือดีขึ้นกว่าเดิม
(3) ทำให้เกิดความหลากหลายของสภาพแวดล้อมและความสมดุลในระบบนิเวศสังคม รักษาเอกลักษณ์ ดั้งเดิมของพื้นที่ ไม่ให้ถูกปล่อยละเลยจนเป็นสถานที่เสื่อมโทรม
(4) ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาคารหรือพื้นที่โดยรอบ นอกจากจะสร้างรายได้แก่ผู้ ประกอบกิจการแล้ว ยังช่วยในเรื่องธุรกิจการท่องเที่ยวอีกด้วย
สจวร์ต แบรนด์ (Steward Brand) นักเขียนชาวอเมริกัน บรรณาธิการนิตยสาร Whole Earth Catalog ให้ความเห็นไว้ว่า อาคารเก่านั้นจะช่วยในการขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ได้ดีกว่าอาคารใหม่ที่สมบูรณ์แบบ เนื่องด้วยผู้ที่เข้าไปอยู่อาศัยจะรู้สึกมีอิสระ ไร้ความกดดัน อีกทั้งจากความไม่สมบูรณ์แบบของอาคารจะช่วยทำให้ผู้อาศัยสามารถเข้าถึงความเป็นธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการเติบโตทางความคิดและการแก้ปัญหา ยิ่งไปกว่านั้นอาคารเก่ายังเต็มไปด้วยความทรงจำ เรื่องราว และประสบการณ์ที่คอยสื่อสารกับผู้อยู่อาศัย นำไปสู่ความผูกพันและความสุขร่วมกับพื้นที่ได้มากกว่าอาคารใหม่
ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเป้าหมายการพัฒนาเมืองเพื่อความยั่งยืน และมุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการคิดสร้างสรรค์ และโดดเด่นในด้านการนำเอาอาคารเก่ามาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ มีตัวอย่างที่น่าสนใจในหลายเมือง อาทิ เมลเบิร์น ซิดนีย์ และบริสเบน
คลิปวิดีโอการปรับปรุงอาคารอนุรักษ์ (อาคาร Custom House อาคารศุลกากรเก่าที่ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และพื้นที่ทำงานร่วมกัน (co-working space)และ Eternity Playhouse (โบถส์ แบ๊บติสต์ (Baptist Church) ที่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นโรงละครของเมือง, เมืองซิดนีย์)
ที่เมืองเมลเบิร์น ในรัฐวิกตอเรีย ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเมืองแห่งศิลปะ และเมืองสร้างสรรค์ อีกทั้งติดอันดับเมืองน่าอยู่ของโลกถึง 7 ปีซ้อน หนึ่งในแนวทางการพัฒนาเมืองคือ การให้ความสำคัญกับมรดกทางวัฒนธรรม และต่อยอดการพัฒนาจากอดีตอันรุ่งเรืองเหล่านั้นสู่ปัจจุบันและอนาคต
รัฐวิกตอเรีย ออกกฎหมายจัดตั้ง Heritage Council Victoria1 เป็นองค์กรอิสระ ทำงานร่วมกับเทศบาล และหน่วยงานอิสระอื่นๆ ทำหน้าที่ดูแล ออกกฎระเบียบ เพื่อปกป้องสถานที่และวัตถุที่มีความสำคัญและถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของรัฐ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและตระหนักรู้ของสาธารณชน ซึ่งมีผลต่อการฟื้นฟูเมืองในด้านสังคมและเศรษฐกิจ การนำอาคารที่ปล่อยทิ้งร้างหรือมีสภาพเสื่อมโทรมให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องนำกลับไปใช้งานแบบเดิม แต่ทำให้อาคารหรือพื้นที่เหล่านี้ปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพความต้องการทางสังคมเศรษฐกิจของยุคสมัย เกิดการพัฒนาที่มีความยั่งยืน จากพื้นที่ที่ไร้ประโยชน์ เป็นแหล่งมั่วสุม ก่อเหตุอาชญากรรม มีประชากรลดน้อยลง ก็จะกลายเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัย และประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงาน และลดปัญหาการปล่อยอาคารหรือพื้นที่ให้รกร้างและเสื่อมโทรมไปอย่างเปล่าประโยชน์
การนำเอาอาคารเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ ไม่เพียงช่วยประหยัดทรัพยากร แต่ยังได้สร้าง ‘พื้นที่ใหม่’ ของเมืองที่ใช้พบปะ แลกเปลี่ยน จัดแสดงผลงาน นำเสนอนวัตกรรม และการประกอบการอื่นๆ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเมือง ตลอดจนเกิดพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ คือ พื้นที่ใช้สอยเพื่อการเรียนรู้ (learning space) และการทำงานร่วมกัน (co-working space) เป็นสถานที่สำหรับการสร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจด้านการเรียนรู้และการทำงานอย่างอิสระ โปรแกรมการใช้งานพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ มีส่วนอย่างสำคัญที่ช่วยให้กลุ่มผู้ใช้ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนั้น ยังมีการจัดตั้งโครงการ Creative Spaces ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง City of Melbourne และ Arts Victoria เพื่อช่วยเฟ้นหาสถานที่ที่เหมาะสมและราคาไม่แพง ให้ศิลปินได้ใช้เป็นสตูดิโอสร้างสรรค์ผลงาน เป็นการสานต่อการใช้ประโยชน์อาคารมรดกทางวัฒนธรรม ด้วยการจัดทำฐานข้อมูลออนไลน์ “อาคารที่ไม่ได้ใช้งานในเขตเมือง” และประสานงานกับเจ้าของอาคารเหล่านั้นเพื่อขออนุญาตให้กลุ่มศิลปินเข้าใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ทำงานและแสดงผลงานในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยศิลปินหรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่สามารถค้นหาพื้นที่ทำงานในรูปแบบที่ต้องการ ในงบประมาณที่กำหนด ผ่านทางเว็บไซต์ได้ด้วยตนเอง2
เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย มีโครงการปรับปรุงอาคารเก่าและพื้นที่รกร้างหลายโครงการ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความร่วมมือและการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เทศบาลเมือง เจ้าของอาคารหรือที่ดิน กลุ่มศิลปิน และชาวเมือง โดยมีกรอบคิดในการปรับปรุงอาคารประวัติศาสตร์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับบริบทใหม่และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของเมือง ดังกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจต่อไปนี้
คือพื้นที่สตูดิโอจำนวน 62 ห้อง ของศิลปินกว่า 80 คน แต่เดิมเคยเป็นโกดังใหญ่ริมแม่น้ำ Maribyrnong ในเขตตะวันตกของเมืองเมลเบิร์น ทำหน้าที่เป็นคลังสินค้าขนาดใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ก่อนจะถูกทิ้งร้างไปกว่า 20 ปี โครงการ Creative Spaces จึงได้ติดต่อขอเช่าเพื่อปรับปรุงให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์งานศิลปะ โดยทำสัญญาเช่าใน ค.ศ.2011
ตัวอาคารมีโครงสร้างสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่น่าตื่นตา โครงหลังคารูปฟันเลื่อย ทำให้อาคารได้รับแสงธรรมชาติและการระบายอากาศที่ดีจากช่องระบายอากาศด้านบนอาคาร
ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ การออกแบบปรับปรุงอาคารจึงนำไปสู่ทิศทางใหม่ๆ ผ่านการทำงานระหว่างสถาปนิกและกลุ่มศิลปิน โดยการแบ่งพื้นที่ภายในอาคารออกเป็นห้องสตูดิโออเนกประสงค์ ซึ่งมีขนาดและผังห้องที่แตกต่างกันไป มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับเป็นห้องครัว และโถงรวม รวมถึงทำที่จอดรถจักรยาน ตัวโครงสร้างของผนังกั้นห้องทำจากรั้วตะแกรงเหล็กและไม้ สามารถถอดประกอบติดตั้งได้สะดวก ส่วนองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอื่นๆ เช่น ประตู หน้าต่าง และของตกแต่ง ได้มาจากการรับบริจาคและการผลิตขึ้นโดยความร่วมมือของกลุ่มศิลปิน การออกแบบยังคำนึงถึงหลักการอารยสถาปัตย์ (Universal Design) เช่น การติดตั้งลิฟต์อำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เพื่อการเข้าถึงของทุกคนอย่างแท้จริง
คลิกที่นี่เพื่อชม Virtual Tour River Studios
การทำกิจกรรมภายใน River Studios
ภาพ เว็บไซต์ http://www.creativespaces.net.au/
ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองเมลเบิร์น ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงศิลปวัฒนธรรมชุมชน และพื้นที่ให้เช่าจัดกิจกรรม นิทรรศการ การประชุม สัมมนา คอนเสิร์ต เป็นต้น
แต่เดิมที่นี่เป็นตลาดค้าขายเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่ สร้างขึ้นใน ค.ศ.1880 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของรัฐ และถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของประวัติศาสตร์การค้าขายเนื้อสัตว์ยุคแรกของเมืองเมลเบิร์น ตลาดแห่งนี้เลิกดำเนินการไปใน ค.ศ.1974 ทำให้อาคารถูกทิ้งร้างไม่ได้รับการใช้งาน มีการนำพื้นที่ออกประมูลในตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจมากนัก นอกจากการเช่าเพื่อเป็นคลังสินค้า
ต่อมา Craft Association of Victoria ให้ความสนใจ โดยการแนะนำของกลุ่มศิลปินที่เล็งเห็นถึงคุณค่าดั้งเดิม และมองว่าตัวอาคารมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ทางศิลปะ จึงได้นำเสนอเรื่องให้ Victorian Ministry for the Arts พิจารณาซื้ออาคารดังกล่าว มีการตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูลและทำรายงานการศึกษาทิศทางความเป็นไปได้เพื่อพัฒนาพื้นที่ จนกระทั่งนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐบาล และทำการจัดซื้ออาคารในที่สุด
ในตอนแรกเริ่ม ตัวอาคารได้รับการปรับปรุงเพียงบางส่วนและใช้เพื่อการจัดแสดงนิทรรศการของสะสมของรัฐ ดำเนินการโดยหอศิลป์แบ็ควู๊ดส์ (Backwoods Gallery) ต่อมาจึงได้มีการรับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อจัดตั้งร้านค้างานศิลปะและงานฝีมือของชุมชน ใน ค.ศ.1982 จึงมีการระดมทุนเพื่อการปรับปรุงอาคารอีกครั้งจาก Victorian Ministry for the Arts และคณะกรรมการงานฝีมือ (Crafts Board of the Australia Council) โดยทำการปรับปรุงอาคารทั้งหมดจนสมบูรณ์ และเปิดเป็นศูนย์ศิลปะร่วมสมัยและพื้นที่จัดกิจกรรมใน ค.ศ.2004
ผู้ออกแบบได้คงลักษณะโดยรวมของอาคารไว้ ทั้งภายนอกและภายใน ไม่ว่าจะเป็นโถงกว้างมีพื้นหิน Blue stone แผ่นเรียบและเพดานโค้งเกือกม้าขนาดใหญ่ ตามแบบอย่างตลาดค้าเนื้อสัตว์ในยุโรป3
คลิกที่นี่เพื่อชม Virtual Tour Meat Market
คือโครงการพัฒนาพื้นที่ให้เช่า ประกอบไปด้วยคลังสินค้า สตูดิโอผลิตภาพยนตร์ โรงเบียร์คราฟท์ คาเฟ่ และร้านอาหาร
แต่เดิมสถานที่แห่งนี้เป็นโรงงานผลิตขนมช็อกโกแล็ตไข่อีสเตอร์ Red Tulip ในเครือผู้ผลิตช็อกโกแล็ตรายใหญ่อย่าง Cadbury สร้างขึ้นใน ค.ศ.1950 หลังจากนั้นจึงปรับใช้เป็นคลังสินค้าและถูกทิ้งร้างไปในที่สุด จนกระทั่ง Globe International ซึ่งประกอบธุรกิจออกแบบและจัดจำหน่ายสเก็ตบอร์ดและอุปกรณ์เล่นสเก็ต เข้ามาซื้อและปรับปรุงเป็นพื้นที่สำนักงาน คลังสินค้า โชว์รูม และลานสเก็ต
ผู้ออกแบบได้คงรูปลักษณ์และโครงสร้างภายนอกของอาคารไว้ เพื่อรักษาโครงสร้างและอารมณ์ความรู้สึกของพื้นที่เดิมให้มากที่สุด หลังคาโครงเหล็กแบบฟันเลื่อย ทำให้อาคารได้รับแสงธรรมชาติอย่างทั่วถึง วัสดุก่อสร้างดั้งเดิม เช่น ผนังอิฐก่อ โครงประตูและหน้าต่าง ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับการออกแบบใหม่ วัสดุอุปกรณ์ดั้งเดิมบางอย่างของโรงงาน ถูกนำมาแปลงหน้าที่ใหม่ เช่น รถเข็นช็อกโกแล็ตนำมาใช้เป็นรถเข็นอาหารและเครื่องดื่มในคาเฟ่ เป็นต้น
โครงการ 1 Fennell Street แม้จะดำเนินการโดยภาคเอกชน แต่ขณะเดียวกันก็เปิดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยมีเป้าหมายการใช้งานพื้นที่แบบผสมผสานภายใต้แนวคิด ‘Creative Hub’ หรือศูนย์รวมสร้างสรรค์ของชุมชน เพื่อสร้างพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนความคิด การประกอบกิจการและการจ้างงาน
โครงการการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการใช้งานอาคาร (Adaptive Reuse / Adaptive Use) ที่เกิดขึ้นในเมลเบิร์น แสดงให้เห็นถึงกลไกที่สำคัญประการหนึ่งในกระบวนการพัฒนา คือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตั้งแต่กระบวนการปรับปรุงไปจนถึงการใช้งาน ทำให้ทุกคนเกิดความรู้สึกร่วมในการเป็น ‘เจ้าของ’ สถานที่ที่ถูกปรับปรุงใหม่แห่งนั้น
การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม จึงไม่ใช่การพยายามทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างหยุดนิ่งไว้โดยไม่เปลี่ยนแปลง แต่คือการขับเคลื่อนมรดกนั้นๆ ไปพร้อมกับกระแสการพัฒนาของเมือง เพราะผู้คนส่วนใหญ่ต่างก็อยากรู้และเข้าใจเรื่องราวในอดีต ผ่านหลักฐานที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถมองเห็นหรือได้ยิน นั่นก็คือสถานที่หรืออาคารเก่าเหล่านั้น ดังนั้นการมีส่วนร่วมและการพัฒนาพื้นที่สำหรับสาธารณะ จึงเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดสําหรับการอนุรักษ์และจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของเมือง ที่ซึ่งเสียงจากชุมชนควรได้รับการสนับสนุนและยกระดับเข้าสู่กระบวนการอนุรักษ์
อาจกล่าวได้ว่าการนำอาคารอนุรักษ์กลับมาใช้งานใหม่นั้นเป็นมากกว่าการเก็บรักษา แต่มันได้กลายเป็นเครื่องมือเพื่อบันทึกความทรงจำของเมือง อีกทั้งยังเป็นการสร้าง ‘พื้นที่ใหม่’ เพื่อบรรจุเรื่องราวในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นห้องแห่งความทรงจำขนาดใหญ่ที่จะเติบโตไปพร้อมกับเมืองนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ การอนุรักษ์จึงไม่ขัดแย้งกับการพัฒนา และการพัฒนาไม่จำเป็นต้องแลกด้วยการรื้อทุบทำลายเสมอไป
ที่มา:
ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ. (2552). การอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมและชุมชน. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ยงธนิศร์ พิมลเสถียร. (2556). การปรับปรุงฟื้นฟูเมืองและการอนุรักษ์เมือง. กรุงเทพมหานคร: ธรรมศาสตร์, สนพ. ม.
แทนวุธธา ไทยสันทัด. (2555). รายงานผลการวิจัย เรื่อง วัดร้าง ปัญหาและโอกาสสำหรับเมืองเก่าเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยแม่โจ้, (PDF).
Brand, Stewart. (1995). How Buildings Learn: What happens after they’re built. London: Penguin Book.
Australian Government Department of the Environment and Heritage. (2004). Adaptive Reuse. (PDF).
The Heritage Council of Victoria https://heritagecouncil.vic.gov.au/research-projects/industrial-heritage-case-studies/
Meat Market in Melbourne https://meatmarket.org.au/
Creative Spaces of Melbourne http://www.creativespaces.net.au/
[1] สามารถศึกษาข้อมูล ติดตามข่าวสาร และค้นหามรดกทางวัฒนธรรมพร้อมทั้งข้อมูลของรัฐวิกตอเรีย พร้อมทั้งข้อมูลได้ใน https://heritagecouncil.vic.gov.au/heritage-protection/
[2] ศิลปิน หรือผู้ประกอบการ สามารถระบุขอบเขต ขนาด ราคาเช่า ที่ตั้งของสถานที่ที่ต้องการ และดูข้อมูลด้วยตนเองได้โดยสะดวกที่ http://www.creativespaces.net.au/
[3] พื้นที่ภายในและองค์ประกอบสถาปัตยกรรมอาคาร Meat Market ดูที่ https://www.youtube.com/watch?v=M8dW4K1eUT8