การปฏิรูปการศึกษา และการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นครั้งแรกในสยาม
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชปณิธานที่จะทรงปรับปรุงประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศในทุกๆ ด้าน รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา ดังทรงมีพระราชดำรัสว่า
“วิชาหนังสือเปนวิชาที่น่านับถือ แลเปนที่น่าสรรเสริญมาแต่โบราณ ว่าเปนวิชาอย่างประเสริฐ ซึ่งผู้ที่เปนใหญ่ยิ่ง นับแต่พระมหากษัตริย์เปนต้นจนตลอด ราษฎรพลเมืองสมควรแลจำเปนจะต้องรู้ เพราะเปนวิชาที่อาจทำให้การทั้งปวงสำเร็จไปได้ทุกสิ่งทุกอย่าง..."1
ทรงให้ตั้งโรงเรียนอย่างเป็นทางการขึ้นโดยเริ่มต้นจากในวัดและวัง กำหนดวิชาที่ต้องเรียน มีการสอบไล่ชิงทุนไปต่างประเทศ รวมไปถึงการทำตำราเรียน ใน พ.ศ.2414 ทรงจัดตั้ง โรงสอน หรือ โรงสกูล เพื่อรับบุตรหลานของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเข้าศึกษาเล่าเรียน ตั้งอยู่ข้างโรงละครเก่าในสนาม ต่อกับระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทางด้านทิศตะวันตก ดังมีพระราชประสงค์ดังที่ปรากฏใน “ประกาศเรื่องโรงเรียน” ว่า
“...จึงทรงพระราชดำริห์ว่าบุตรหลานของท่านทั้งปวงบันดาที่เข้ามารับราชการฉลองพระเดชพระคุณนั้น แต่ล้วนเปนผู้มีชาติมีตระกูล ควรจะเข้ารับราชการต่อไปไปในเบื้องหน้า แต่ที่ยังไม่รู้หนังสือไทย แลขนบธรรมเนียมราชการโดยมาก ที่รู้อยู่บ้างแต่ยังใช้อักษรเอกโทและตัวสะกดผิดๆ ไม่ถูกต้องตามแบบอย่างก็มีอยู่มาก แลการรู้หนังสือก็เปนคุณสำคัญข้อใหญ่ เปนเหตุจะให้ได้รู้วิชาและขนบธรรมเนียมต่างๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดโรงสอนขึ้นไว้ที่ในพระบรมมหาราชวัง...”2
และต่อมายังได้โปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษขึ้นที่พระราชวัง นันทอุทยาน ฝั่งธนบุรี โรงเรียนทำแผนที่ในกรมมหาดเล็ก โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ และ พ.ศ. 2427 ก็โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรทั่วไปขึ้นตามวัดหลายแห่ง
แบบเรียนหลวง
แบบเรียนภาษาไทยเท่าที่ปรากฏหลักฐานขึ้นครั้งแรกในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ชื่อว่า จินดามณี ตำราว่าด้วยระเบียบทางภาษาไทย แต่งโดยพระโหราธิบดี ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ มีแบบเรียนภาษาไทยเท่าที่พบ 3 เล่ม ประกอบด้วย ประถม ก กา ประถมมาลา สันนิษฐานว่าแต่งในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และอักษรนิติ ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเล่าเรียนหลวงขึ้นนั้น จึงทรงให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) เรียบเรียงแบบเรียนหลวงขึ้น 1 ชุด ประกอบด้วยหนังสือจำนวน 5 เล่ม คือ มูลบทบรรพกิจ วาหะนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน พิศาลการันต์ และภายหลังจึงได้เรียบเรียงเพิ่มอีกหนึ่งเรื่อง คือ ไวพจน์พิจารณ์ รวมเป็น 6 เล่ม เมื่อแล้วเสร็จ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นอักษรสาสนโสภณจึงได้นำต้นฉบับดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งเก๋งราชฤาดี และโปรดเกล้าฯ ให้ลงพิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวงในพระบรมมหาราชวัง จำนวน 2,000 ฉบับ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อไว้สำหรับเป็นแบบให้กุลบุตรศึกษาเรียนหนังสือไทย เป็นเครื่องเรืองปัญญา ให้ได้ความฉลาด รู้ใช้อักษรแลไม้เอกโท ให้ถูกถ้วนชำนาญชัดเจน กว้างขวางเป็นคุณแก่ราชการสืบไป3
ตำราชุดนี้นับได้ว่าเป็นแบบเรียนภาษาไทยเบื้องต้นอย่างเป็นทางการที่มีการเรียบเรียงขึ้นและกำหนดให้ใช้อย่างแพร่หลาย เมื่อมีการสอบไล่หนังสือไทยครั้งแรกใน พ.ศ.2427 ก็กำหนดให้ศึกษาจากแบบเรียนดังกล่าวนี้ ดังประกาศการเรียนหนังสือสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งออก ณ วันศุกร์ เดือนสามขึ้นสองค่ำ ปีระกา สัปตศก จุลศักราช 1247 (พ.ศ. 2428) มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า
“กําหนดวิชาที่จะไล่นั้น ชั้นประโยคต้นจะสอบวิชาตลอดแบบเรียนหลวงทั้งหกเรื่อง คือแต่มูลบทบรรพกิจจนจบพิศาลการันต์ ถ้าผู้ใดไล่ได้ตลอดก็จะได้หนังสือสําหรับตัวใบหนึ่ง ลงชื่อข้าหลวงพร้อมกับรับรองว่าผู้นั้นเป็นคนมีความรู้จริง…”4
แบบเรียนดังกล่าวใช้ในโรงเรียนหลวงมาโดยตลอดจนกระทั่งมีการตั้งกรมศึกษาธิการขึ้นเมื่อ พ.ศ.2430 และเมื่อ พ.ศ.2433 จึงเปลี่ยนมาใช้แบบเรียนเร็ว อันเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศึกษาธิการ แต่ก็ยังคงมีเค้าโครงเดิมจากมูลบทบรรพกิจนั่นเอง
มูลบทบรรพกิจ แบบเรียนภาษาไทยเบื้องต้นเพื่อการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง
หนังสือแบบเล่าเรียนหลวงดังกล่าวนี้ เข้าใจกันว่าพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) อาจจะได้เค้าโครงมาจาก จินดามณี โดยคำว่า มูลบท ได้ใช้เรียกเป็นชื่อย่อของตำราเรียนทั้งห้าตอนนี้ ในเนื้อเรื่องแต่ละตอน จะมีเนื้อความสอนวิธีอ่าน และเขียนหนังสือไทย โดยหนังสือทั้ง 6 เล่ม ประกอบด้วย
มูลบทบรรพกิจ ว่าด้วย สระ และพยัญชนะ
วาหะนิติ์นิกร ว่าด้วย อักษรนำ
อักษรประโยค ว่าด้วย อักษรควบและการใช้บุรพบท กับ แก่ แต่ ต่อ
สังโยคพิธาน ว่าด้วย พยัญชนะที่สะกดในมาตราแม่กน กก กด กบ
ไวพจน์พิจารณ์ ว่าด้วย คำพ้องเสียง
พิศาลการันต์ ว่าด้วยการใช้การันต์และการใช้วรรณยุกต์ ตรี จัตวา และไม้ไต่คู้
ปกนอก และภาพพระยาศรีสุนทรโวหาร
เนื้อหาของมูลบทบรรพกิจประกอบด้วย ปกนอกที่บอกข้อมูลรายละเอียดการพิมพ์ ถัดมามีภาพประกอบ 3 ส่วน ส่วนแรก คือภาพของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ผู้แต่ง ส่วนที่สอง เป็นชุดพยัญชนะ 44 ตัว ก-ฮ พร้อมรูปภาพประกอบ ส่วนที่สาม เป็นภาพตัวพิมพ์พยัญชนะทั้ง 44 ตัวเรียงกันอีกครั้ง โดยแบ่งเป็นวรรค คือ ก-ง/ จ-ญ/ ฎ-ณ/ ด-ฟ และเศษวรรค ภ-ฮ เนื้อหาต่อมาคือที่มาของแบบเรียน ตามด้วยบทนำเป็นโคลงสี่สุภาพจำนวน 10 บท กล่าวถึงวัตถุประสงค์และบทไหว้ครู
ภาพชุดพยัญชนะ 44 ตัว ก-ฮ พร้อมรูปภาพประกอบ
ตามด้วยเนื้อหาในแบบเรียนว่าด้วย สระ และพยัญชนะ เรียงพยัญชนะตามวรรคโดยเรียกว่าตอน แบ่งเป็น ตอน ก 7 ตอน จ 6 ตอน ฎ 6 ตอน ด 6 ตอน บ 8 ตอน ย 11 รวมเป็น 44 ตัวนี้ รวมเข้ากับสระเรียกว่าอักษร ต่อไปกล่าวถึงอักษรสูง อักษรกลาง และอักษรต่ำ เครื่องหมายต่างๆ และชื่อรูปสระ เช่น “สระ อา คือลากข้าง ... สระเอ คือไม้นำอันหนึ่ง สระแอ คือไม้นำสองอัน”
ต่อไปเป็นการประสมพยัญชนะกลุ่มอักษรสูงกับสระให้อ่านไปจนครบทุกตัว แล้วให้ผันอักษรมีคำอธิบายสั้นๆ เมื่อผู้เรียนประสมพยัญชนะและสระในมาตราต่างๆ จนครบพยัญชนะแล้ว ก็ผันวรรณยุกต์ตามแบบอักษรสามหมู่จนครบอักษรทั้งหมด แล้วจึงต่อด้วยไม้ม้วน ไม้มลาย และอักษรนำ
พออ่านคล่องแต่ละมาตราแล้วจึงให้อ่านกาพย์พระไชยสุริยาตรงตามมาตรานั้นๆ เรียกว่า “คำกลอนสำหรับสอนอ่านเทียบ” ซึ่งทุกคำเป็นการผสมพยัญชนะกับสระเท่านั้น เมื่อมีการผสมแบบนี้เรียกว่า แม่ ก.กา แต่ถ้ามีตัวสะกดตั้งแต่แม่ กก จนถึงแม่เกย ก็จะมีคำอ่านเทียบเป็นแม่เป็นหมวดไปอีกจนจบเรื่องพระไชยสุริยา
ตัวอย่างหน้ามาตราตัวสะกดแม่ ก กา
อนึ่ง กาพย์พระไชยสุริยานี้ สุนทรภู่แต่งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2383 - 2385 ขณะบวชเป็นพระอยู่ที่วัดเทพธิดาราม โดยแต่งเป็นกาพย์ซึ่งแทรกความรู้เกี่ยวกับภาษาไทย ในเรื่องของมาตราตัวสะกดแม่ต่างๆ เช่น แม่กก กง กน กด กบ และเกย เป็นต้น นอกจากนั้นยังสอดแทรกคติธรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ เมื่อนำมาใส่ไว้ในมูลบทบรรพกิจ จึงทำให้ผู้เรียนได้ทั้งการฝึกทักษะด้านภาษา และได้อ่านเรื่องราวต่างๆ ไปพร้อมกัน ทำให้เกิดความสนุกในการเรียน
ถือได้ว่า มูลบทบรรพกิจ เป็นแบบเรียนภาษาไทยพื้นฐาน ซึ่งเมื่อเรียบจบจะสามารถอ่านและเขียนภาษาไทยขั้นต้นได้เป็นอย่างดี และเหมาะสำหรับให้ผู้สอนใช้เป็นแบบเรียนเบื้องต้น ดังโคลงในมูลบทบรรพกิจ ที่ว่า
ซึ่งเมื่อพื้นฐานทางด้านภาษาแข็งแรงแล้วก็จะทำให้สามารถเรียนรู้ขั้นตอนต่อไปได้โดยง่ายและรวดเร็ว ว่ากันว่าการเรียนภาษาไทยที่มีพื้นฐานการแจกลูกสะกดคำผันวรรณยุกต์ตามแบบการสอนของมูลบทบรรพกิจเป็นแม่บทนั้น หากผู้เรียนฝึกฝนจนชำนาญตั้งแต่วัยอ่านออกเขียนได้ก็จะจดจำได้ติดตัวตลอดไปจนโต สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่วและถูกต้อง
หลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทยนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่เรามักพบปัญหาว่า เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถอ่านออกเสียง หรือสะกดคำในภาษาไทยบางคำได้ รวมไปถึงการสะกด การใช้สระ และการผันวรรณยุกต์ แม้ว่าภาษานั้นจะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น และสามารถปรับเปลี่ยน แปรผันไปตามวิถีของสังคม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ภาษา ทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน คือเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญ การใช้ภาษาที่ถูกต้อง เหมาะสม จะช่วยสร้างความเข้าใจและสื่อความหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับผู้สนใจอยากลองศึกษาภาษาไทยจากแบบเล่าเรียนหลวงดังกล่าว หรือต้องการข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเรียนการสอนภาษาไทย สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ ‘ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน’ ซึ่ง TK Park จัดทำขึ้น พบกับอีบุ๊ค มูลบทบรรพกิจ ฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2472 พร้อมทั้งคำอธิบายขยายรายละเอียดต่างๆ เพื่อความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น
[1] พระบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแก่นักเรียนผู้ไล่หนังสือ พระบรมวงศานุวงศ์ หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และข้าราชการ เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรการไล่วิชาหนังสือนักเรียนที่โรงเรียนพระตำหนักเดิมสวนกุหลาบ ณ วันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นแปดค่ำ ปีรกา ยังเปนฉศก จุลศักราช 1246-7 (พ.ศ.2427).
[2] “ประกาศเรื่องโรงเรียน” ประกาศ ณ วันพฤหัสบดี เดือนอ้ายแรมสามค่ำ ปีมะแม ตรีศก จุลศักราช 1233 (พ.ศ.2414), ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 จ.ศ.1236 หน้า 257.
[3] พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร). (2472). มูลบทบรรพกิจ.
[4] “ประกาศกรมศึกษาธิการ” ณ วันศุกร์ เดือนสามขึ้นสองค่ำ ปีระกา สัปตศก จุลศักราช 1247 (พ.ศ.2428), ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 จ.ศ.1246 หน้า 525.