นักเรียนที่โรงเรียน ฮิเดนกิวิ (Hiidenkivi Comprehensive School) ประเทศฟินแลนด์ ไม่ได้ใช้เวลาทั้งหมดไปกับการเรียนรู้เรื่องราวที่คนอื่นค้นพบมาแล้ว แต่พวกเขากำลังเรียนรู้เพื่อค้นพบสิ่งใหม่ๆ ด้วยตัวของเขาเอง
เด็กนักเรียนใช้เวลา 9 สัปดาห์กับโครงการแบบสหวิทยาการที่ชาวฟินแลนด์เรียกว่า ‘การเรียนรู้ที่ใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน’ หรือ Phenomenon-based Learning ซึ่งเป็นคำที่ประดิษฐ์สร้างขึ้นมาโดยสำนักงานการศึกษาแห่งชาติฟินแลนด์
อันที่จริง การเรียนรู้ที่ใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน นั้นมีความใกล้เคียงอย่างมากกับ ‘การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน’ (หรือการจัดการเรียนการสอนโดยใช้โครงงาน) ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันแพร่หลายในสหรัฐ แนวคิดทั้งสองแบบนี้ให้ความสำคัญกับการลงมือปฏิบัติจริงหรือกิจกรรมที่ลงมือทำจริง เปิดให้ผู้เรียนเป็นคนกำหนดและควบคุมทิศทางของโครงการซึ่งสัมพันธ์กับโลกที่เป็นจริง เน้นให้ผู้เรียนรู้จักการใช้ทักษะหลากหลายผสมผสานกัน มากกว่าการยึดติดอยู่กับความรู้ที่ครูสอนหรือครูเป็นผู้กำหนด
การเรียนรู้แบบเปิดกว้างเช่นนี้ทำให้เด็กๆ มีอิสระมากขึ้นในการสำรวจค้นหาหัวข้อที่พวกเขาสนใจที่สุดอย่างแท้จริง ในกรณีของฟินแลนด์ การเรียนรู้ที่ใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องใช้ความรู้ผสมผสานแบบสหวิทยาการ ซึ่งจะต้องไม่มีข้อยกเว้น และคำถามที่อยากรู้ต้องเกิดขึ้นจากตัวของผู้เรียนจริงๆ ประเด็นนี้ทำให้มันมีลักษณะบางอย่างที่เหมือนกับ ‘การเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นฐาน’ หรือ Problem-based Learning (ซึ่งเรียกชื่อย่อว่า PBL เหมือนกัน)
ในงานประชุมวิชาการว่าด้วยการศึกษาโลก ที่เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซตต์ เพตเทอรี่ อีโล (Petteri Elo) ซึ่งสอนอยู่ที่โรงเรียนฮิเดนกิวิมานานกว่า 12 ปี อธิบายให้เห็นว่าการเรียนรู้ที่ใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานทำงานอย่างไร เขาบอกว่าขณะที่หน่วยงานด้านการศึกษาของฟินแลนด์เรียกร้องให้ทุกโรงเรียนจัดให้มีกิจกรรมที่ใช้กระบวนการการเรียนรู้ที่ใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานอย่างน้อยปีละ 1 กิจกรรม แต่บรรดาโรงเรียนและครูต่างก็ลงมือจัดการเรียนการสอนโดยใช้แนวคิดนี้กันไปแล้วอย่างกว้างขวาง ที่โรงเรียนฮิเดนกิวิ นักเรียนชั้นประถม 1 จนถึงมัธยม 3 ใช้กระบวนการเรียนรู้นี้ตลอด 9 สัปดาห์ในหนึ่งปีการศึกษา ผ่านเนื้อหา 4 สาระวิชาในลักษณะสหวิทยาการ ตัวอย่างเช่นเมื่อเร็วๆ นี้นักเรียนเพิ่งจะได้เรียนเรื่องราวที่สนใจจากหัวข้อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยการใช้วิชาฟิสิกส์ เคมี ภูมิศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ตัวอย่างเช่น ในวิชาภูมิศาสตร์ พวกเขาให้ความสนใจกับเรื่องทวีปอาร์กติกและภาวะโลกร้อน ส่วนวิชาคณิตศาสตร์พวกเขาได้ฝึกฝนเรื่องของการคำนวณหาค่าสถิติต่างๆ
อีโล เป็นครูที่เก่งที่สุดในการนำเอาแนวคิดการเรียนรู้ที่ใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานมาใช้จัดการเรียนการสอน แต่เพื่อนร่วมงานบางคนก็ลังเลที่จะยอมรับความกระตือรือร้นของเขาในเรื่องนี้ เพราะโดยปกติแล้วการจัดการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษานั้น ครูส่วนใหญ่มักจะสอนในวิชาที่พวกเขามีความเชี่ยวชาญ จึงเป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยากที่จะปรับมาใช้วิธีจัดการเรียนการสอนโดยผสานโครงการที่มีลักษณะวิชาแบบสหวิทยาการ เพื่อนครูของอีโลหลายคนจึงไม่ค่อยอยากจะเปลี่ยนแปลง และพยายามชี้ให้เห็นว่าบทบาทในห้องเรียนของพวกเขานั้นก็เป็นกระบวนการที่ (ทึกทักเอาเอง) เรียกว่าเป็นการสอนที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเช่นกัน
“เมื่อไรที่คุณบอกว่าจัดการเรียนการสอนโดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แล้วคิดไปเองว่ามันคือการสอนที่ครูไม่สามารถทำอะไรได้ ครูต้องถอยออกมา แล้วปล่อยให้นักเรียนลงมือทำสิ่งต่างๆ เอง ความคิดเช่นนั้นไม่เป็นความจริงเลย”
อีโลบอกว่า การเรียนรู้ที่ใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานนั้น ครูจะต้องมั่นใจว่านักเรียนจะได้รับความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต้องรู้ตามหัวข้อหรือเรื่องต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้ เพื่อที่จะสามารถคิดไตร่ตรองถึงคำถามเพื่อการวิจัยค้นคว้าในเรื่องที่เขาสนใจได้ ครูต้องสอนนักเรียนว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างหรือได้มาซึ่งคำถามวิจัยที่เหมาะสมและสามารถนำไปสู่กระบวนการค้นคว้าที่น่าสนใจ ได้ลงมือทำ หรือแม้แต่โอกาสที่จะได้ลองทำวิจัยแบบพื้นๆ ดังนั้นในบางจังหวะครูอาจจำเป็นต้องหยุดกระบวนการค้นคว้าของนักเรียนไว้ชั่วขณะ เพื่อที่จะสอนและช่วยแนะนำทักษะหรือสร้างตัวแบบการใช้ทักษะที่ผสมผสานอย่างหลากหลายให้กับผู้เรียน เพื่อให้นักเรียนนำไปใช้ในกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นของพวกเขาเอง
อีโลพบว่าตัวเขาได้ปรับเปลี่ยนมุมมองจากวิธีการสอนแบบ ‘สั่งสอนทางตรง’ ไปเป็นการยื่นมือออกไปช่วยเหลือนักเรียนเมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ สิ่งนี้สำคัญมากเพราะการถอยกลับสลับเดินหน้าเช่นนี้ทำให้นักเรียนมั่นใจได้ว่าจะได้รับคำแนะนำตามทักษะหรือเนื้อหาสาระที่กำหนดไว้อย่างถูกต้องเมื่อต้องรวมเอาทุกทักษะและเนื้อหาเข้ามาไว้ในโครงการของพวกเขา ตัวอย่างความช่วยเหลือจากครูในกรณีดังกล่าวนี้ก็เช่น เขาจะคอยช่วยนักเรียนในการตระเตรียมคำถามสัมภาษณ์ ก่อนที่พวกเขาจะไปพูดคุยกับผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญผ่านวิดีโอคอล แต่ในการสัมภาษณ์จริงก็จะปล่อยให้นักเรียนดำเนินการซักถามด้วยตัวพวกเขาเอง
ระบบการเรียนรู้รูปแบบนี้ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในกระบวนการเรียนรู้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญต่อตัวผู้เรียน นี่แหละคือเป้าหมายซึ่งเป็นแก่นกลางประการแรกสุดของการเรียนรู้ที่ใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน
“ผมถอนตัวออกมาเมื่อเห็นว่าเด็กๆ เริ่มไม่ต้องการความช่วยเหลือจากผม เพราะพวกเขาได้ค้นพบสิ่งที่ต้องการแล้ว” อีโลกล่าว และบอกว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่เขาอยากทดลองทำในห้องเรียน “ในความคิดของผม ผมกำลังสอนและกำลังสร้างตัวแบบการสอน แต่ผมไม่ได้สอนเนื้อหาสาระวิชาความรู้หรอกนะ มันคือการสอนและสร้างทักษะให้กับเด็กๆ ต่างหาก”
กระบวนการเรียนรู้แบบ Phenomenon-based Learning
Photo : janetlordeducation.com
วีดิทัศน์ การสอนแบบ Phenomenon-based Learning แทนที่การสอนแบบรายวิชา ในฟินแลนด์
หมายเหตุ
สนใจแนวคิดเรื่อง การเรียนรู้ที่ใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน (Phenomenon-based Learning) ดูที่ https://hechingerreport.org/the-teachers-role-in-phenomenon-based-learning/
เนื้อหาเกี่ยวกับ Phenomenon-based Learning ผลิตโดย The Hechinger Report องค์กรข่าวสารอิสระและไม่แสวงหากำไร นำเสนอสาระด้านนวัตกรรมการศึกษาและปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผู้ที่สนใจคลิกดูที่ https://hechingerreport.org/
ที่มาเนื้อหา
แปลและเรียบเรียง จาก https://www.kqed.org/mindshift/55006/the-teachers-role-in-finlands-phenomenon-based-learning