Photo : Andreas Meichsner
ฟินแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพด้านการศึกษาที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลกจากโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ผลการประเมิน PISA ใน พ.ศ.2558 พบว่า ฟินแลนด์ มีผลการประเมินการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ อยู่ในอันดับที่ 5 (531 คะแนน) ผลการประเมินการรู้เรื่องการอ่าน อยู่ในอันดับที่ 4 (521 คะแนน) และผลการประเมินการรู้เรื่องคณิตศาสตร์ อยู่ในอันดับที่ 12 (531 คะแนน) ส่วนประเทศไทยนั้นผลการประเมินการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ อยู่ในอันดับที่ 54 (421 คะแนน) ผลการประเมินการรู้เรื่องการอ่าน อยู่ในอันดับที่ 57 (409 คะแนน) และผลการประเมินการรู้เรื่องคณิตศาสตร์ อยู่ในอันดับที่ 54 ( 415 คะแนน)
ระบบการศึกษาของฟินแลนด์ จะเริ่มต้นตั้งแต่ Daycare หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสำหรับเด็กอายุ 8 เดือน – 5 ปี เนื่องจากการศึกษาในช่วงวัยเด็กเป็นช่วงที่จำเป็นและสำคัญมากที่สุด เพราะจะส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งจากการวิจัยทางประสาทวิทยา พบว่าร้อยละ 90 ของการเจริญเติบโตของสมองเด็กจะเกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปี ดังนั้นเด็กชาวฟินแลนด์ส่วนมากต้องเริ่มต้นการศึกษาตั้งแต่ Daycare แต่อย่างไรก็ตามมีผู้ปกครองบางส่วนที่ไม่อยากส่งลูกเล็กไป Daycare เนื่องจากเป็นห่วงด้านความปลอดภัย ดังนั้นจึงมีทางเลือกพิเศษอีกทางหนึ่งคือการดูแลลูกที่บ้าน โดยการปรับปรุงบ้านให้เป็น Daycare ซึ่งทางเทศบาลจะมีงบประมาณสนับสนุนให้แก่ผู้ปกครองที่ปรับปรุงบ้านให้เป็น Daycare และจะมีการสุ่มตรวจอยู่เสมอว่ามีผลสำเร็จในการจัดการศึกษามากน้อยเพียงใด
เด็กประเทศฟินแลนด์ เมื่ออายุครบ 6 ปี จะเข้าเรียนในโรงเรียน Pre-School/Kindergarten เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งเป็นโรงเรียนเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา โดยจะมีการเรียนอ่านเขียนหนังสือกันอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการฝึกตนเองให้เป็นคนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน เข้าใจในความต้องการของผู้อื่น และมีทัศนคติในแง่บวกต่อคนรอบข้างและวัฒนธรรมอื่น ๆ ต่อมาเมื่ออายุครบ 7 ปี จะต้องเข้ารับการศึกษาในภาคบังคับ ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 9 ปี ตั้งแต่เกรด 1-9 (ประมาณ ป.1-ม.3 ของประเทศไทย) โรงเรียนส่วนมากเป็นโรงเรียนรัฐบาล และมีการเรียนการสอนที่ไม่เก็บค่าใช้จ่าย ส่วนโรงเรียนเอกชนมีค่อนข้างน้อย ซึ่งมีการเรียนการสอนที่ไม่เก็บค่าใช้จ่ายเช่นกัน ทั้งนี้ เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของการเรียนในช่วงนี้คือ โรงเรียนในฟินแลนด์จะไม่มีหลักสูตรสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษด้านใดด้านหนึ่ง เพราะถือว่าเด็กทุกคนควรได้รับการพัฒนาไปพร้อมกันอย่างเท่าเทียม และการให้ความสำคัญแก่เด็กที่เรียนอ่อนมากกว่าเด็กที่เรียนเก่ง
บรรยากาศการเรียนการสอนนั้น ห้องเรียนหนึ่งจะมีนักเรียนไม่เกิน 20 คน สัปดาห์หนึ่งเรียน 4-11 วิชา และเรียนวันละไม่เกิน 5 ชั่วโมง เช่น ภาษาฟินแลนด์ ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ พลศึกษา ศิลปะ หัตถกรรม เป็นต้น และที่สำคัญโรงเรียนมีรถนักเรียนไปรับส่งนักเรียนโดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น และเมื่อจบเกรด 9 ถือว่าจบการศึกษาภาคบังคับและนักเรียนจะเรียนต่อหรือไม่ก็ได้ สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนต่อก็จะสามารถเลือกเรียนได้ 2 ทางคือ
1. โรงเรียนมัธยมปลาย คือ เรียนเกรด 10-12 เหมาะสำหรับนักเรียนที่ต้องการเรียนต่อในคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยในสายวิชาการ เช่น แพทยศาสตร์ ครุศาตร์ นิติศาสตร์
2. โรงเรียนสายอาชีพ เหมาะสำหรับนักเรียนที่ต้องการฝึกทักษะวิชาชีพ และเมื่อเรียนจบจากโรงเรียนมัธยมปลายหรือโรงเรียนสายอาชีพแล้ว ก็สามารถศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยทั่วไป และ โพลีเทคนิคต่อไป ซึ่งจะใช้เวลาเรียน 3-4 ปี เมื่อเรียนจบปริญญาตรี สามารถเรียนต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกได้ ปัจจุบันฟินแลนด์มีมหาวิทยาลัยประมาณ 20 แห่ง และมีโพลีเทคนิคประมาณ 30 แห่ง (ฟินแลนด์ ทำไมจึงมีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก, 2559)
บรรยากาศในห้องเรียน Saunalahti School
Photo : Andreas Meichsner
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การศึกษาของประเทศฟินแลนด์ประสบความสำเร็จ
Sophia Faridi นักการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงปัจจัยต่าง ๆ ของความสำเร็จทางด้านการศึกษาของฟินแลนด์ ดังนี้
1. การเรียนที่ฟินแลนด์เน้นไปที่การเล่นมากกว่า เพราะคิดว่าเด็กสามารถเรียนรู้ได้ดีผ่านการเล่นและการค้นพบด้วยตนเอง ครูจึงไม่เพียงแต่อนุญาตให้เล่นได้ แต่ยังสนับสนุนให้เด็ก ๆ เล่นด้วย จึงไม่แปลกที่แม้จะอยู่ระดับมัธยมศึกษาแล้ว ยังจะเห็นเด็กโตนั่งเล่นวิดีโอเกมที่ student center
2. การสอบไม่ได้เป็นไปแบบเอาเป็นเอาตาย โรงเรียนที่ฟินแลนด์เชื่อว่า หากต้องเตรียมตัวอ่านหนังสือจนไม่มีเวลา จะทำให้ไม่มีเวลาคิดอย่างอิสระ แต่จะมีการประเมินความรับผิดชอบของเด็กตลอดการเรียนการสอนแทน
3. ความเชื่อใจ เป็นสิ่งที่ Faridi เห็นว่าแตกต่างที่สุดจากประเทศอื่น ๆ เพราะรัฐบาลของฟินแลนด์เชื่อมั่นในเขตการปกครองย่อย ๆ ของตนเอง และหน่วยปกครองย่อยก็เชื่อมั่นในโรงเรียน รวมไปถึงครู ครูก็ไว้ใจนักเรียน ผู้ปกครองก็เชื่อมั่นในความสามารถของครูมาก เทียบเท่ากับอาชีพแพทย์
4. แต่ละโรงเรียนไม่แข่งกันเอง ไม่มีการจัดลำดับโรงเรียน เพราะเชื่อว่าทุกโรงเรียนนั้นดีเท่ากัน
5. การคัดเลือกครูเข้มงวดมาก ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ครูได้รับความไว้วางใจ และต้องเป็นเด็กเรียนเก่งเท่านั้นถึงจะได้เป็นครู นอกจากนี้ยังต้องผ่านการสัมภาษณ์ด้านศีลธรรม ในด้านแรงบันดาลใจในการเป็นครูและจะต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโทเท่านั้น
6. เวลาส่วนตัวของเด็กนั้นสำคัญมาก เพราะทุก ๆ 45 นาที เด็กจะมีสิทธิพักส่วนตัว 15 นาทีตามกฎหมาย เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้นั้นจะสำเร็จได้หากผู้เรียนได้รับการผ่อนคลายเป็นช่วงเวลา
7. เด็กไม่ต้องเข้าโรงเรียนจนถึงอายุ 7 ขวบ และระยะเวลาเรียนระหว่างวันไม่ยาวนานเกินไป เช่น ระดับประถมศึกษาเรียนประมาณ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน
8. เน้นที่คุณภาพชีวิต ระบบการศึกษาฟินแลนด์เชื่อว่า ครูที่มีความสุขคือครูที่ดี และครูที่ทำงานหนักเกินไปจะไม่ใช่ครูของพวกเขา ซึ่งครูควรสอนประมาณ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
9. เรียนสายไหนก็ได้รับการยอมรับ หลังจากอายุ 16 ปี เด็กสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนสายสามัญหรืออาชีพ แต่ทั้งสองสายจะได้รับการยอมรับสูงในสังคมฟินแลนด์ และสามารถเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้
10. ระบบการศึกษามีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งครูจะเป็นผู้สอนตามหลักสูตร และตามที่ครูจะสร้างสรรค์แต่ยังอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
11. จะไม่มีการตัดสินผลการใช้เกรดเฉลี่ยมาเป็นตัวแบ่งแยกความภาคภูมิใจให้แก่เด็ก เพราะเน้นการเรียนรู้มากกว่า
12. สอนจริยธรรมตั้งแต่ยังเล็ก แม้เด็กเล็กจะเรียนจริยธรรมจากห้องเรียนสอนศาสนาอยู่แล้ว แต่ก็จะมีนักเรียนบางส่วนที่ไม่นับถือศาสนา ก็จะต้องเข้าเรียนวิชาจริยธรรม
13. จัดสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนความร่วมมือซึ่งกันและกันระหว่างครูและนักเรียน โดยแต่ละห้องเรียนนั้นอาจมารวมกันในพื้นที่หนึ่ง ๆ เพื่อที่จะให้เด็กต่างระดับชั้นได้ร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกันโดยไม่แบ่งแยก รวมถึงครูยังได้ร่วมกันช่วยเป็นที่ปรึกษาให้เด็กเหล่านี้ด้วย (13 ข้อ ที่การศึกษาฟินแลนด์ ประสบความสำเร็จ, 2559 )
เปรียบเทียบครู การจัดการเรียนการสอน และการวัดและประเมินผลของประเทศฟินแลนด์กับประเทศไทย
Pasi Sahlberg ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาชาวฟินแลนด์กล่าวว่า ในด้านการเรียนการสอนครูฟินแลนด์ มีวิธีสอนแบบองค์รวมคือมองว่าเด็กทุกคนมีความสามารถ และไม่ใช้การสอบเพื่อการประเมินคุณภาพนักเรียน เช่น เด็กที่นับเลขไม่ได้ แต่มีความสามารถทางด้านศิลปะหรือดนตรี หรือเป็นเด็กที่ใส่ใจกับผู้คนรอบด้าน ล้วนได้รับความสำคัญจากครูที่มองว่าพวกเขาเป็นเด็กที่มีความสามารถเท่าเทียมกัน ซึ่งครูเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ โดยครูส่วนใหญ่ มีวุฒิการศึกษาปริญญาโท และเน้นด้านการวิจัยเป็นหลัก ดังนั้น ในแต่ละปีมีคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสมัครเป็นครูในโรงเรียนประถมมากขึ้น 10 เท่าของทุกปี ส่วนในด้านหลักสูตรให้อิสระแก่โรงเรียนในการกำหนดวิธีการสอนได้เอง และพึ่งพาส่วนกลางให้น้อยลง โดยโรงเรียนต่าง ๆ สามารถกำหนดการเรียนการสอนได้ในระดับหนึ่ง มีบุคลากรและนักเรียนเป็นผู้ร่วมออกแบบการเรียนการสอนในขณะที่รัฐบาลส่วนกลางจะทำหน้าที่ควบคุมวิธีการจัดการและงบประมาณ ซึ่งการเรียนการสอนในลักษณะนี้จะทำให้นักเรียนได้รับประโยชน์จากสิ่งที่พวกเขาเรียนที่โรงเรียน และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง (ความเสมอภาค หัวใจสำคัญความสำเร็จการศึกษาในฟินแลนด์, 2559) ดังนั้นการวิเคราะห์เปรียบเทียบระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์เพื่อนำมาพัฒนาระบบการศึกษาไทยพบข้อสรุปต่าง ๆ ดังนี้
งานบริหารบุคคลของข้าราชการครู
ฟินแลนด์
ครูฟินแลนด์ได้รับเงินเดือนสูง โดยเทศบาลจะเป็นผู้พิจารณาระดับเงินเดือนของครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ส่วนสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือนของอธิการบดีมหาวิทยาลัย ส่วนครูแต่ละคนจะได้รับเงินเดือนตามภารกิจและผลงานซึ่งครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ อธิการบดี เป็นผู้พิจารณา โดยมีสมาคมวิชาชีพครู สหภาพครู เข้ามาดูแลเจรจาต่อรองได้ อัตราเงินเดือนนี้องค์กรท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดสรร ส่วนรัฐบาลจะสนับสนุนเพียงบางส่วน ครูมีชั่วโมงของการทำงานประมาณ 600 ชั่วโมงต่อปี หรือประมาณ 4 บทเรียนต่อวัน
ไทย
ครูไทยเงินเดือนไม่สูงมาก ผู้บริหารสถานศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้พิจารณาเงินเดือน และรัฐบาลสนับสนุนเงินเดือนทั้งหมด
ความก้าวหน้าทางวิชาชีพครู
ฟินแลนด์
สำนักงานสภาการศึกษา กระทรวงการศึกษาและวัฒนธรรมฟินแลนด์จะกำกับมาตรฐานคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นที่ฐานและจัดบริการฝึกอบรมพัฒนาตลอดชีวิตการเป็นครู ส่วนโรงเรียนจะส่งครูไปฝึกอบรมพัฒนาอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ ฟินแลนด์ได้ยกเลิกการใช้ศึกษานิเทศก์ไปแล้วเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา โดยได้เน้นการสร้างความเข้มแข็งของผู้บริหารสถานศึกษาและครู รวมทั้งได้ทุ่มเทในการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วยการจัดการเรียนการสอน และการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างฐานข้อมูลและพัฒนานวัตกรรมใหม่
ไทย
ครูไทยมีความก้าวหน้าทางวิชาชีพครู โดยการทำผลงานเลื่อนวิทยฐานะด้วยตนเอง เพิ่งก้าวเข้าสู่ระบบใบประกอบวิชาชีพครูและยังใช้ศึกษานิเทศก์ในการสร้างความเข้มแข็งของผู้บริหารสถานศึกษาและครู รวมทั้งมีการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วยการจัดการเรียนการสอนและการศึกษาวิจัย เพื่อสร้างฐานข้อมูลและพัฒนานวัตกรรมใหม่
การปฏิรูปการศึกษา
ฟินแลนด์
ฟินแลนด์ปฏิรูปหลักสูตรโดยเน้นให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และเน้นความเข้มแข็งของเครือข่ายชุมชน ผู้ปกครอง และองค์กรที่เข้ามาช่วยสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยกำหนดนโยบายการศึกษา คือการศึกษาเพื่อทุกคนอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ
การบริหารการศึกษาของฟินแลนด์ คือ ความไว้วางใจกันและการมีความรับผิดชอบ ดังนี้
1) โรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของบริการสาธารณะในชุมชนอย่างแท้จริง เทศบาลเป็นผู้กำหนดขอบเขตภารกิจ อำนาจ และระบบการบริหารของโรงเรียน เทศบาลสามารถตัดสินใจวิธีการใช้งบประมาณ เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน
2) ไม่มีผู้ตรวจโรงเรียน แต่มีการสำรวจ เพื่อติดตามผลการเรียนรู้ของนักเรียน โดยเป็นการสุ่มตัวอย่างโรงเรียน และเลือกติดตามเฉพาะวิชาที่มีความสำคัญ เช่น การอ่าน การคำนวณ จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการและวัฒธรรม ทั้งนี้ เพื่อนำผลการเรียนรู้ดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนต่อไป ดำเนินการโดยคณะกรรมการจัดการศึกษาระดับชาติแห่งฟินแลนด์ กระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม
3) ไม่มีการสอบกลางระดับชาติ ยกเว้นการทดสอบกลางสำหรับนักเรียนที่จบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งจะทดสอบ 3 วิชา วิชาภาษาแม่เป็นวิชาบังคับ และเลือก 3 วิชา ระหว่างวิชาภาษาราชการที่สอง ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ หรือวิชาการศึกษาทั่วไปอื่น ๆ เช่น มนุษยศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เมื่อสอบผ่านนักเรียนจะรับประกาศนียบัตร ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับผลการทดสอบ คะแนน และระดับที่ได้
4) การกำหนดเวลาเรียน กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 190 วัน ต่อปี ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน โดยเทศบาลแต่ละแห่งสามารถกำหนดวันเปิด ปิด และวันหยุดพิเศษตามวัตนธรรมและบริบทของท้องถิ่นได้
5) หลักสูตรแกนกลางกำหนดไว้สำหรับให้โรงเรียนสามารถปรับให้เหมาะสมกับบริบทได้ โดยกำหนดวัตถุประสงค์และเนื้อหาหลักของแต่ละวิชา หลักการวัดและประเมินผล การจัดการศึกษาพิเศษ สวัสดิภาพนักเรียน การแนะแนวและช่วยเหลือดูแลนักเรียน หลักการจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ หลักในการทำงานด้านการศึกษา และทฤษฎีการเรียนรู้ โดยจะปรับปรุงทุก ๆ 10 ปี
6) ครูสามารถเลือกวิธีสอน วิธีการวัดและประเมินผล สื่อ และหนังสือได้อย่างอิสระ ครูสอนน้อยแต่สอนเชิงลึก โดยระบบการศึกษาของฟินแลนด์มั่นใจในคุณภาพของครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างมากคือครูจะต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านวิธีการสอน และเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูงเท่านั้นที่จะเข้าสู่วิชาชีพนี้
นักเรียนเรียนเนื้อหาไม่มาก แต่เรียนเชิงลึก การบ้านน้อย เน้นการมีส่วนร่วมและการปฎิบัติมากจำนวนนักเรียนต่อห้องน้อย ครูดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง ครูตามสอนนักเรียน 3-6 ปี อย่างต่อเนื่อง ทำให้รู้จักผู้เรียนอย่างใกล้ชิด
ไทย
ประเทศไทยปฏิรูปหลักสูตร โดยเน้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน โดยกำหนดนโยบายการศึกษา คือ การศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย มีคุณภาพ และมาตรฐานระดับสากล บนพื้นฐานของความเป็นไทย
ประเทศไทยบริหารจัดการศึกษา ดังนี้
1) ส่วนกลางสนับสนุนและกำหนดแนวทางการใช้งบประมาณ เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน
2) หน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กำกับ ติดตามผลการดำเนินการของโรงเรียน
3) มีการทดสอบระดับชาติ ทั้ง การทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (NT) และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET)
4) การกำหนดเวลาเรียน กำหนดไว้ 200 วัน ต่อปี ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมีนาคม โดยส่วนกลางจะเป็นผู้กำหนดวันเปิด ปิด ภาคเรียน
5) กำหนดหลักสูตรแกนกลางเป็นกรอบทิศทางสำหรับให้โรงเรียนสามารถปรับให้เหมาะสมกับบริบทได้ และจะปรับปรุงเป็นระยะ ๆ แต่ในทางปฏิบัติสถานศึกษายังขาดความรู้ ความสามารถในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา และครูชินกับหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาและการใช้ตำราเรียน
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีลักษณะเป็นหลักสูตร อิงมาตรฐาน (Standards-Based Curriculum) มีมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดเป็นตัวกำหนดคุณภาพผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยหลักสูตรแกนกลางฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ จุดหมาย สมรรถนะสำคัญของผู้เรียนคุณลักษณะอันพึงประสงค์ มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ผู้เรียนทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะที่จำเป็นในการเรียนรู้ การศึกษาต่อ การดำรงชีวิต การทำงาน และการประกอบอาชีพรวมทั้งมีเจตคติที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรรม และค่านิยมที่ดี ในการจัดการเรียนรู้ยึดหลักว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด เชื่อว่าทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ยึดประโยชน์ที่เกิดกับผู้เรียนกระบวนการจัดการเรียนรู้ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และพัฒนาการทางสมอง เน้นให้ความสำคัญทั้งความรู้และคุณธรรม ผู้สอนต้องพยายามคัดสรรกระบวนการเรียนรู้ การออกแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศักยภาพและบริบทของผู้เรียน การกำหนดบทบาทของผู้สอนและผู้เรียน การใช้สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายและการออกแบบการวัดและประเมินผล เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้
6) ครูสามารถเลือกวิธีสอน วิธีการวัดและประเมินผล สื่อการเรียนรู้และแหล่งการเรียนรู้ และหนังสือได้อย่างอิสระ แต่ครูสอนมาก สอนตามหนังสือเรียน เน้นการท่องจำ
7) นักเรียนเรียนเนื้อหามาก การบ้านมากเกินไป การมีส่วนร่วมและการปฏิบัติไม่มาก จำนวนนักเรียนต่อห้องมาก (เปรียบเทียบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย กับประเทศฟินแลนด์, 2559)
ความแตกต่างระหว่าง
การศึกษาฟินแลนด์ VS การศึกษาไทย
การศึกษาฟินแลนด์ |
การศึกษาไทย |
มีข้อสอบวัดมาตรฐานน้อย ทุกหน่วยงานช่วยกันดูแล อาชีพครูเป็นยาก เริ่มเรียนช้า การบ้านน้อย ไม่กังวลกับเรื่องไร้สาระ ทรงผม เครื่องแบบ พิธีกรรมหน้าเสาธง ที่ฟินแลนด์ล้วนเป็นเรื่องไร้สาระ |
มีทั้งสอบ ไม่มีหน่วยงานไหนทำอะไรสักอย่าง อาชีพครูเป็นอาชีพรอง รีบกันส่งลูกเข้าโรงเรียน การบ้าน การบ้าน การบ้าน เน้นพิธีกรรมสัพเพเหระ |
การศึกษาอยู่อันดับต้นของโลก |
การศึกษาอยู่อันดับโหล่ของโลก |
ที่มาข้อมูลตาราง เว็บไซต์ Dekdee.com
บทสรุปและข้อเสนอแนะจากผู้ศึกษา
จากข้อมูลระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ที่ได้กล่าวมานั้นเป็นรูปแบบวิธีการหนึ่งที่ประเทศไทยจะได้นำมาปรับใช้กับการศึกษาไทยได้อย่างเหมาะสม โดยสาระสำคัญที่ทำให้การศึกษาประสบความสำเร็จมีดังนี้
1. เด็กจะเริ่มต้นการศึกษาที่ Daycare หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพราะการศึกษาในช่วงวัยเด็กเป็นช่วงที่จำเป็นและสำคัญมากที่สุด อันจะส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่และจะได้เข้ารับการศึกษาภาคบังคับเมื่ออายุ 7 ปี
2. เด็กทุกคนได้รับการพัฒนาไปพร้อมกัน โดยไม่มีการคัดแยกนักเรียนไปตามความสามารถทางวิชาการหรือตามผลการสอบ
3. ไม่มีการสอบกลางระดับชาติ ยกเว้นการทดสอบกลางสำหรับนักเรียนที่จบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งจะทดสอบ 3 วิชา วิชาภาษาแม่เป็นวิชาบังคับ และเลือก 3 วิชา ระหว่างวิชาภาษาราชการที่สองภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ หรือวิชาการศึกษาทั่วไป
4. ครูฟินแลนด์ต้องจบปริญญาโทเป็นอย่างน้อยและได้รับคัดเลือกมาจากเด็กเรียนเก่ง ครูสอนวันละ 4 ชั่วโมง และครูทุกคนได้รับการพัฒนาวิชาชีพครูสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ครูสามารถเลือกวิธีสอน วิธีการวัดและประเมินผล สื่อ และหนังสือได้อย่างอิสระ ครูสอนน้อยชั่วโมงแต่สอนเชิงลึก
5. หลักสูตรและการเรียนการสอนให้อิสระแก่โรงเรียนโดยสามารถปรับให้เหมาะสมกับบริบทได้โดยกำหนดวัตถุประสงค์และเนื้อหาหลักของแต่ละวิชา หลักการวัดและประเมินผล การจัดการศึกษาพิเศษ สวัสดิภาพนักเรียน การแนะแนวและช่วยเหลือดูแลนักเรียน หลักการจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ หลักในการทำงานด้านการศึกษา และทฤษฎีการเรียนรู้ โดยจะปรับปรุงทุก ๆ สิบปี โดยรัฐบาลส่วนกลางจะทำหน้าที่ควบคุมวิธีการจัดการและงบประมาณ
6. ห้องเรียนหนึ่งจะมีนักเรียนไม่เกิน 20 คน สัปดาห์หนึ่งเรียน 4-11 วิชา มีการเรียนการสอนวันละไม่เกิน 5 ชั่วโมง
ระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจแต่การนำมาปรับใช้กับประเทศไทยอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากความแตกต่างทั้งในด้านนโยบาย งบประมาณ หลักสูตร ประชากรและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การกระจายทรัพยากรทางการศึกษาไม่เป็นธรรมยังเป็นปัญหาที่สำคัญของการศึกษาไทยในปัจจุบันนี้ ดังนั้น จำเป็นต้องพิจารณาให้ดีว่าวิธีการใดสามารถที่จะนำมาใช้กับประเทศไทยได้บ้าง เพื่อให้เกิดแนวความคิด ทางเลือก และการพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป
บรรณานุกรม
ความเสมอภาค หัวใจสำคัญความสำเร็จการศึกษาในฟินแลนด์. (10 ธันวาคม 2559).
สืบค้น 26 มกราคม 2560 จาก http://news.voicetv.co.th/thailand/440763.html
เปรียบเทียบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย กับประเทศฟินแลนด์. (20 มกราคม 2559)
สืบค้น 27 มกราคม 2560 จาก http://curriculum51.net/upload/20160120052823.pdf
เปรียบเทียบระบบการศึกษาระหว่างไทยกับฟินแลนด์. (28 มีนาคม 2556). สืบค้น 27 มกราคม 2560
จาก http://www.dek-d.com/board/view/2717742
ฟินแลนด์ ทำไมจึงมีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก. (12 มกราคม 2560). สืบค้น 27 มกราคม 2560
จาก http:/lripsm.wixsite.com21st/untitled-cvqu
สรุปผลการวิจัย PISA 2015. (12 มกราคม 2560). สืบค้น 27 มกราคม 2560
จาก http://drive.google.com/file/d/0BwqFSkq5b7zSZFU1YkhnWGlqWDQ/view
13 ข้อที่การศึกษาฟินแลนด์ ประสบความสำเร็จ. (2 กุมภาพันธ์ 2559). สืบค้น 27 มกราคม 2560
จาก http://blog.eduzones.com/kloyfaiiphattaraporn/155170
ที่มาเนื้อหา
ปรับปรุงจากบทความชื่อเดียวกันนี้ เขียนโดย นายสุริยา ฆ้องเสนาะ วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์หอสมุดรัฐสภา
(https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2560/hi2560-009.pdf) โดยได้รับอนุญาตจากสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและผู้เขียนแล้ว