“ใครเอาสวนสับปะรดมาไว้ที่ทีเคพาร์คกันนี่”
สีหน้าแววตาแฝงความสงสัยของสมาชิก TK park เกิดขึ้นเมื่อเดินผ่านบริเวณลานสานฝัน ที่ถูกเนรมิตให้เป็นสวนสับปะรด ชูใบ อวดผลเล็กใหญ่ ดึงดูดให้ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาต้องแวะชมให้คลายความสงสัย
เมื่อวันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน และวันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม 2555 อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ยกสวนสับปะรดขนาดย่อมมาไว้ในนิทรรศการ “ผ่าเปลือกสับปะรด ผลไม้ร้อยตา” ที่ได้นำผลงานวิจัยของทาง สกว.มาปรับโฉมเป็นนิทรรศการความรู้
คุณรัตนวดี เศรษฐจิตร เจ้าหน้าที่สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงความเป็นมาของนิทรรศการว่าเกิดจากการเลือกสรรงานวิจัยที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ได้รับความรู้ที่เหมาะสม “สกว.กับทางทีเคพาร์คร่วมมือกันมาตลอด โดยเลือกงานวิจัยที่ทาง สกว.ทำปีละพันกว่าชิ้นงาน นำมาทำเป็นนิทรรศการ โดยนำเนื้อหาบางส่วนที่ไม่หนักเกินไป เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายคือเด็กเยาวชน อย่างโครงการสารออกฤทธิ์สำคัญในสับปะรดพันธุ์ที่เลี้ยงเพื่อการค้าในประเทศไทย ซึ่งอธิบายว่าสารในสับปะรดสามารถนำมาแปลงให้เกิดประโยชน์อะไรได้บ้าง”
นิทรรศการครั้งนี้นอกจากจะได้เห็นเจ้าต้นสับปะรดหลากหลายพันธุ์มาประชันความน่าลิ้มรสชาติแล้ว ยังมีการผ่าเปลือกสับปะรดให้ได้รู้จักกับเจ้าผลไม้ร้อยตานี้กันมากขึ้น รวมถึงได้ชิมขนมหวานที่มีส่วนประกอบจากสับปะรดกันอีกด้วย
ลานสานฝันกลายเป็นสวนสับปะรด
การเดินทางของสับปะรด
สับปะรด หรือ “ปินยา (Pinya)” ตามภาษาสเปน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ค้นพบโดย คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักเดินเรือชาวสเปน เมื่อปี พ.ศ. 2036 ที่หมู่บ้านชาวอินเดียนแดงแห่งหนึ่ง ชื่อเดิมของสับปะรดตามภาษาถิ่น คือ “นานา (Nana)” หมายถึง ผลไม้รสวิเศษ ซึ่งชาวฝรั่งเศสก็นำไปเรียกทับศัพท์ว่า “อนานา (Ananas)” จนถูกนำไปตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ ส่วนชาวอังกฤษที่เรียกสับปะรดว่า “Pineapple” เนื่องจากยุคแรกที่พบ เห็นว่าผลของมันดูคล้ายลูกสนที่มีชื่อสามัญว่า “Pine”
เส้นทางระหว่างสับปะรดกับประเทศไทยใกล้เข้ามา เมื่อชาวสเปนได้นำสับปะรดมาปลูกในประเทศฟิลิปปินส์เมื่อราว 500 ปีที่แล้วในยุคของการล่าอาณานิคม จากรายงานชาวตะวันตกอ้างว่า พบสับปะรดในไทยเมื่อราวปี พ.ศ. 2223-2243 โดย “สับปะรดพันธุ์อินทรชิต” ถือเป็นพันธุ์เก่าแก่ที่สุดของไทย สันนิษฐานว่าชาวโปรตุเกสนำเข้ามาครั้งติดต่อค้าขายกับประเทศไทย ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนกระทั่งปัจจุบันเราสามารถพบสับปะรดได้ทั่วไปในประเทศแถบเขตร้อนและกึ่งร้อนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
คุณพ่อคุณแม่พาลูกๆ มาเรียนรู้เรื่องสับปะรด
ผ่าเปลือกสับปะรด
หากนำสับปะรดสักลูกมาปอกเปลือกดู จะรู้ว่าผลไม้รสชาติแสนอร่อยนี้มีเรื่องน่าเรียนรู้อีกมากมาย
ในฐานที่ 1 ของนิทรรศการซึ่งมีชื่อว่า “ผ่าเปลือกผลไม้ร้อยตา” อัดแน่นไปด้วยเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสับปะรด นอกจากจะได้มองลักษณะเนื้อเยื่อใบสับปะรดผ่านกล้องจุลทรรศน์แล้ว ยังได้ความรู้อื่นๆ เพิ่มเติมด้วย โดยสับปะรดเป็นพืชล้มลุกใบเลี้ยงเดี่ยวที่ดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่น้ำน้อยได้ดี ส่วนเนื้อที่เรานำมารับประทานนั้นคือช่อดอกนับร้อยๆ ที่มารวมกัน เรียกว่า “ผลรวม” ตาแต่ละตาที่เห็นคือส่วนของดอกแต่ละดอก โดยมีกลีบเลี้ยงเป็นแผ่นสามเหลี่ยมรองอยู่ด้านล่าง สับปะรดจึงเป็นผลไม้ที่มีผลเล็กๆ เกาะกันเป็นหนึ่งผลรวม เช่นเดียวกับขนุน น้อยหน่า
สับปะรดพันธุ์ศรีราชา ภูแล และภูเก็ต สายพันธุ์ยอดนิยมของไทย
ครอบครัวร้อยตา
สับปะรดที่ปลูกเพื่อบริโภคนั้น ทั่วโลกมีอยู่ด้วยกัน 5 กลุ่มสายพันธุ์ ซึ่งประเทศไทยพบถึง 3 กลุ่มด้วยกัน คือ
1. Cayenne: เป็นกลุ่มที่นิยมปลูกมากที่สุด เพื่อใช้ทั้งบริโภคสดและแปรรูป ตัวอย่างสายพันธุ์ในประเทศไทย ได้แก่ พันธุ์ปัตตาเวีย (สับปะรดศรีราชา) และพันธุ์นางแล
2. Queen: กลุ่มนี้จะมีขนาดเล็กกว่ากลุ่มแรก ตัวอย่างสายพันธุ์ในประเทศไทย ได้แก่ พันธุ์ภูเก็ต และพันธุ์ภูแล
3. Spanish: กลุ่มนี้จะมีกลิ่นและรสชาติแตกต่างจากสองกลุ่มแรก ตัวอย่างสายพันธุ์ในประเทศไทย ได้แก่ พันธุ์อินทรชิต (เป็นสับปะรดพันธุ์พื้นเมืองของไทย) และพันธุ์ขาว
อีก 2 กลุ่มที่ไม่พบในไทย คือ Pernambuco และ Mordilona
สับปะรดที่นำมาให้ทำความรู้จักกันมากขึ้นในนิทรรศการนี้ ประกอบด้วย 3 สายพันธุ์ยอดนิยมของไทย คือ สับปะรดศรีราชา ที่มีรสหวานฉ่ำ สับปะรดภูแล ผลขนาดเล็ก เนื้อสีทอง กลิ่นหอม และ สับปะรดภูเก็ต เนื้อเหลืองฉ่ำ กรอบ รสหวานจัด
เมนูสลั๊ด สลัด สับปะรด น่าทานมาก
สรรพรส by สับปะรด
คนไทยถือเป็นชนชาติที่ใช้สับปะรดเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารคาว-หวานมากที่สุดชนชาติหนึ่ง โดยใช้สับปะรดเป็นเครื่องปรุงหลักหรือใช้เป็นตัวรองในการแต่งรส รวมถึงเพิ่มสีสันหน้าตาของอาหาร อาหารของไทยที่ใช้สับปะรดเป็นหลักมีอยู่หลากหลาย อาทิ ขนมจีนซาวน้ำ แกงคั่วสับปะรด ข้าวอบสับปะรด ฯลฯ ส่วนอาหารที่ใช้สับปะรดเป็นตัวประกอบยังมีอีกมากมาย เช่น ผัดเปรี้ยวหวาน แกงเผ็ดเป็ดย่าง ฯลฯ สมัยก่อนคนไทยถึงกับเอาจากสับปะรดขึ้นโต๊ะเป็นกับข้าวหรือเครื่องเคียงอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นครัวท้องถิ่นอุบลราชธานีและยโสธร ยังเอาสับปะรดไปหมักกับเกลือทำเป็น “เค็มหมากนัด” เป็นอาหารพิเศษเหมือนน้ำพริกของภาคกลาง สำหรับของหวานที่ใช้สับปะรดมีหลากหลายไม่น้อยหน้าไปกว่าของคาว เช่น สับปะรดลอยแก้ว สับปะรดกวน สับปะรดหยี
หลังจากรับความรู้ในฐานแรกมาอย่างอิ่มสมองแล้ว ฐานที่ 2 เปลี่ยนบรรยากาศมาลิ้มรสชาติของสับปะรด ด้วยเมนูของหวานจากสองเมนูที่มีสับปะรดเป็นพระเอกของงาน คือ “สลั๊ด สลัด สับปะรด” ที่นอกจากจะมีเนื้อสับปะรดหวานฉ่ำพันธุ์ภูเก็ตแล้ว ยังมีผลไม้อีกหลากหลายชนิด เช่น ฝรั่ง แก้วมังกร แคนตาลูป องุ่น ราดด้วยน้ำสลัดใสหรือน้ำสลัดขุ่น อีกเมนูที่ถูกใจเด็กๆ คือ “เยลลี่ผลไม้” เนื้อในสับปะรด นอกจากรสชาติจะอร่อยถูกปากแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายด้วย
สับปะรดเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และอุดมไปด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (Bioactive compound) นอกเหนือจากแร่ธาตุและวิตามิน อย่างเช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินซี ฯลฯ แล้ว สารสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่อยู่ในสับปะรดก็คือ โบรมีเลน (Bromelain) ซึ่งเป็นเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่สามารถย่อยโปรตีนได้ สามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และมีฤทธิ์รักษามะเร็งบางชนิด แสดงให้เห็นศักยภาพในการเป็น Functional Fruit (ผลไม้ที่มีคุณสมบัติพิเศษ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายในเชิงสุขภาพ) ของสับปะรดไทย อันจะเป็นการเพิ่มมูลค่าสับปะรดไทยให้เกษตรกรผู้ผลิตต่อไปอีกด้วย
ครอบครัวรัตนกุลมาร่วมผ่าเปลือกสับปะรด
คุณรัชฎา รัตนกุล และลูกสาว ด.ญ.ปุณยานุช รัตนกุล อายุ 10 ขวบ สมาชิก TK park สะดุดตากับสวนสับปะรดกลางลานสานฝันจึงได้พาลูกๆ เข้ามาชมนิทรรศการ “ไม่ทราบมาก่อนว่ามีกิจกรรมนี้ ตอนแรกตั้งใจจะมาที่ห้องสมุดอยู่แล้วค่ะ พอผ่านมาเห็นกิจกรรมน่าสนใจ ลูกเขาก็สนใจด้วย เลยเดินเข้ามากัน ลูกสาวชอบกิจกรรมทั้งสองฐานเพราะได้ทั้งความรู้และได้ชิมของหวานเมนูสับปะรด ได้ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับสับปะรดจากบอร์ดนิทรรศการที่จัดไว้ด้วยค่ะ”
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “สับปะรด”
ไม่เป็นสับปะรด..สำนวนนี้มีที่มา
“ไม่เป็นสับปะรด” สำนวนที่เคยได้ยินกันจนคุ้นหู ใช้กับคนที่ทำอะไรไม่ได้เรื่องสักอย่าง แม้จะมีคำว่าสับปะรด แต่แท้จริงแล้วสำนวนนี้ไม่เกี่ยวกับผลไม้ร้อยตาเลย โดยที่มานั้นสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “สรรพรส” ซึ่ง แปลว่าหลายรส มีทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ครบถ้วน ดังนั้นอาหารที่ไม่เป็นสรรพรส คืออาหารที่ไม่ค่อยมีรสชาติ ไม่มีความอร่อย จากการพูดปากต่อปากจนเกิดการผิดเพี้ยนจากคำว่า “ไม่เป็นสรรพรส” กลายมาเป็น “ไม่เป็นสับปะรด”
สับปะรด...หลากชื่อ
แต่ละท้องถิ่นเรียกสับปะรดแตกต่างกันออกไป เช่น ภาคกลางเรียกว่า “สับปะรด” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “บักนัด” ภาคเหนือเรียกว่า “มะนัด, มะขะนัด, บ่อนัด” ภาคใต้เรียกว่า “ย่านัด, ย่านนัด, ขนุนทอง”
อุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรด
อุตสาหกรรมสับปะรดและผลิตภัณฑ์เป็นอุตสาหกรรมส่งออกในระดับโลกของประเทศไทย สับปะรดที่ประเทศไทยปลูกได้นั้น มีเพียงส่วนน้อยที่นำไปบริโภคสด นอกนั้นจะใช้เพื่อการแปรรูป โดยกว่า 90% ของการแปรรูปทั้งหมดจะถูกส่งออกไปยังตลาดทั่วโลก จนประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นผู้นำอันดับ 1 ของโลกในตลาดสับปะรดแปรรูป เช่น สับปะรดกระป๋อง แยมสับปะรด นอกจากนี้ไทยยังนำสับปะรดมาแปลงร่างเพื่อสร้างมูลค่า เช่น นำมาทำกระดาษซึ่งมีลวดลายเฉพาะตัวที่สวยงามแปลกตา นำเส้นใยมาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ
สับปะรดสีแต่งแต้มสวนสวย
ต้นสับปะรดที่ให้ผลลูกเล็กๆ สีสันสวยงามตามสวน หรือที่เรียกว่า “สับปะรดสี” เป็นไม้ประดับที่มีค่าทางเศรษฐกิจ สับปะรดสี (Bromeliads) หรือ บรอมีเลียด เป็นสับปะรดที่เกิดจากการผสมพันธุ์สับปะรดให้กลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ จนเป็นพันธุ์ไม้ที่มีสีสันสวยงาม ทนทาน เลี้ยงง่าย ซึ่งสับปะรดสีแบ่งได้หลายประเภท คือ สับปะรดสีแบบอยู่บนดิน-ทนแล้ง, สับปะรดสีแบบอิงอาศัย ชอบความชื้น, สับปะรดสีแบบอิงอาศัย ชอบอากาศแห้ง
อยากรู้เรื่องสับปะรดเพิ่มเติม แวะเข้ามาอ่านหนังสือเกี่ยวกับผลไม้ร้อยตาสารพัดประโยชน์ต่อได้ที่อุทยานการเรียนรู้ TK park นะคะ
พี่ตองก้า
--------------------
ข้อมูลอ้างอิง
- เอกสารประกอบความรู้นิทรรศการผ่าเปลือกสับปะรด ผลไม้ร้อยตา