อีกไม่นาน ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทำให้หลายคนกระตือรือล้นที่จะเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเปิดประตูแห่งความเข้าใจ และช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน
“ภาพยนตร์” ถือเป็นสะพานสำคัญอย่างหนึ่งที่เชื่อมโยงผู้คนที่มีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ได้ศึกษาและเรียนรู้กันแบบง่ายๆ
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับบ้านพี่เมืองน้อง อย่างประเทศลาว ได้รับความสนใจจากชาวไทยในระดับหนึ่ง ถือว่าสร้างปรากฏการณ์ให้แก่สังคมไทยให้ได้เห็นความเหมือน ความแตกต่างของมิตรประเทศ อันถือว่าเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน
ในวันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน 2555 เวลา 14.00 น. ณ ห้องมินิเธียเตอร์ 1 โครงการความร่วมมือระหว่างอุทยานการเรียนรู้และหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จึงได้นำภาพยนตร์แนวรักโรแมนติก ระหว่างหนุ่มไทยกับสาวลาว เรื่อง “สะบายดี วันวิวาห์” มาให้ผู้สนใจได้ชมความรักและเรื่องราวชีวิตของผู้คนอีกฝั่งโขง
เชน (บอย - ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์) นักเขียนอิสระหนุ่มชาวไทย ทำงานให้กับนิตยสารการท่องเที่ยวฉบับหนึ่ง เชนเคยเดินทางมาเที่ยวและเขียนบทความที่ประเทศลาว ในครั้งนั้นเขาได้รู้จักกับ คำ (คำลี่ พิลาวง) หญิงสาวชาวลาว ทั้งสองได้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน และทำให้เขากับเธอ รู้สึกผูกพันและก่อเกิดมิตรภาพ จนสร้างสายสัมพันธ์กลายมาเป็นความรัก ก่อนเชนจะกลับประเทศไทย เขาให้สัญญาว่าจะกลับมาที่ประเทศลาวอีกครั้ง แต่คำไม่เชื่อและไม่หวังว่าเขาจะทำตามอย่างที่พูดเอาไว้ได้
หกเดือนต่อมา เชนกลับมาเยือนตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ และได้พบกับคำ ทั้งสองไปเที่ยวด้วยกันจนดึก เชนเผลอกินเหล้าจนเมา ทำให้คำต้องนั่งรถตามมาส่งเขาถึงโรงแรม ภาพในวันนั้นกลายเป็นข่าวซุบซิบนินทาของชาวบ้าน ทำให้ชื่อเสียงของคำต้องเสียหาย
แม้ว่าทั้งคู่จะไม่ได้ทำอะไรเกินเลยอย่างที่คนอื่นๆ เข้าใจ แต่เชนรู้สึกผิดและขอรับผิดชอบด้วยการแต่งงานกับคำ เพื่อปกป้องศักดิศรีและชื่อเสียงของเธอไว้
การเตรียมตัวแต่งงานค่อนข้างฉุกละหุก โดยทั้งคู่ไม่ทันได้เตรียมพร้อมหรือคาดหมายเอาไว้
นอกเหนือจากความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแล้ว เชนยังพบปัญหาในเรื่องอื่นๆ เช่น การเตรียมเอกสารเพื่อจดทะเบียนสมรสกับคำให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงปัญหาการทำงานระหว่างประเทศ หรือเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งทั้งสองคนจะต้องเลือกว่าจะใช้ชีวิตที่บ้านเกิดของใครคนใดคนหนึ่งหรือจะโยกย้ายไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง
ชายหนุ่มจากเมืองใหญ่ และหญิงสาวในเมืองเล็กที่มีวัฒนธรรมแวดล้อมแตกต่างกัน ต้องเรียนรู้และปรับตัวร่วมกันเพื่อที่จะเริ่มต้นชีวิตครอบครัวใหม่ให้ได้ หลายวันก่อนจะถึงงานแต่งงาน ทั้งสองคนต่างวุ่นวายกับการเตรียมพิธี การถ่ายรูป ส่งบัตรเชิญแขกผู้ใหญ่มาร่วมงาน ขณะเดียวกัน ฝน (ธนิยา อำมฤตโชติ) แฟนเก่าของเชน ที่เพิ่งรู้ข่าวการแต่งงานได้เดินทางมาร่วมงานด้วย การปรากฏตัวของเธอทำให้ความสัมพันธ์ของว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวเริ่มสั่นคลอน
นอกจากนี้พ่อแม่ของเชนเกิดติดธุระสำคัญ ทำให้ไม่สามารถมาช่วยเตรียมงาน และไม่ได้มาเข้าร่วมพิธีในช่วงเช้า ทำให้คำกังวลใจว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับ และเริ่มไม่มั่นใจในการแต่งงานครั้งนี้ ว่าเกิดจากความรัก หรือเป็นเพราะความสงสารจากชายคนรัก สุดท้ายหญิงสาวจึงตัดสินใจหนีก่อนจะเริ่มพิธีเลี้ยงฉลองสมรสตอนเย็น ทำให้เชนต้องออกตามหาเธอ และขอคืนดีกับเธออีกครั้ง
เชนและคำ ปรับความเข้าใจ
“สะบายดี วันวิวาห์” กำกับโดย ศักดิ์ชาย ดีนาน เป็นบทสรุปของหนังไตรภาคชุดสะบายดี ซึ่งภาคแรกคือ “สะบายดี หลวงพะบาง” ฉายในปี พ.ศ. 2551 นำแสดงโดย อนันดา เอเวอริ่งแฮม ส่วนภาคสอง คือ “สะบายดี 2 ไม่มีคำตอบจากปากเซ” ฉายในปี พ.ศ. 2553 นำแสดงโดย เรย์ แม็คโดนัลด์ ส่วน “สะบายดี วันวิวาห์” ฉายในปี พ.ศ. 2554 นำแสดงโดย ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์
ตลอดทั้งสามภาคได้คำลี่ พิลาวง นักแสดงสาวชาวลาวรับบทเป็นนางเอก โดยแต่ละภาค เธอต้องรับบทแตกต่างกันไป ในส่วนภาคที่สามนี้ เธอรับบทเป็นหญิงสาวชาวลาวที่ต้องแต่งงานด้วยความไม่ตั้งใจ
“สะบายดี วันวิวาห์” เนื้อหามีการล้อกับประเด็นของภาคแรกเอาไว้มาก เพราะในภาคแรก “สะบายดี หลวงพระบาง” ได้ทิ้งปมเอาไว้ว่าหากฝ่ายชายและฝ่ายหญิงยังรักกันอยู่ ทั้งคู่จะต้องกลับมาเจอกันอีกครั้ง ซึ่งในภาคสามได้หยิบเหตุการณ์นั้นนำมาใส่เอาไว้ในต้นเรื่อง แต่เปลี่ยนตัวละครใหม่ หนังภาคนี้จึงเล่าเรื่องส่วนต่อว่าหลังจากที่ คนเคยให้คำสัญญาว่าจะกลับมาเจอกันได้กลับมาพบกันอีก จะสามารถมาอยู่ร่วมกันได้ไหม การต้องเผชิญกับความจริง นั้นไม่โรแมนติกอย่างฝัน สภาพวัฒนธรรม ความคิด วิถีชีวิตที่แตกต่างกัน จะทำให้ทั้งคู่ข้ามผ่านหรืออยู่ร่วมกันได้หรือไม่ ซึ่งหนังสามารถสะท้อนความจริงได้เป็นอย่างดี
สะบายดี หลวงพะบาง และ สะบายดี 2 ไม่มีคำตอบจาก..ปากเซ
แม้ว่าปมขัดแย้งหรือปัญหาจะไม่รุนแรงมากนัก เพราะต้องการเน้นวิถีชีวิตของการสร้างครอบครัว แต่ก็ไม่สามารถจะตอบปัญหาเรื่องความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ผู้กำกับพยายามจะแทรกปัญหาเรื่องการจดทะเบียนสมรส ธรรมเนียมงานแต่งงานที่ต้องมีญาติผู้ใหญ่ การโยกย้ายถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเอง หรือคนรักเก่ากลับมาเจอกันอีกครั้งเอาไว้
ทว่าประเด็นปัญหาเหล่านี้กลับนำมากล่าวถึงขึ้นลอยๆ และไม่เพิ่มความขัดแย้งที่จะทำให้ตัวละครต้องแก้ไขหรือทำให้เขาเติบโตที่จะจัดการเรื่องนี้เอาไว้เลย ทำให้พอถึงช่วงตอนจบ ปัญหาทั้งหมดกลับถูกโยนทิ้งให้หายไป และพยายามตัดจบด้วยการให้เชนพยายามจะเผยความในใจว่าเขารักคำ ซึ่งเป็นการคลี่คลายปมปัญหาที่ค่อนข้างจะฉาบฉวย และสำเร็จรูปเกินไป
ช่วงสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ในช่วงสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น คุณชาญชนะ หอมทรัพย์ ตัวแทนจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมพูดคุยและบอกเล่าเกร็ดของหนังเรื่องนี้ว่าเป็นหนังร่วมลงทุนระหว่างลาวกับไทย เหตุผลส่วนหนึ่งเพื่อต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศลาว เพราะในอดีตสื่อเผยแพร่จะทำเป็นข่าวหรือสารคดี แต่การทำเป็นภาพยนตร์ ทำให้สามารถผูกปม เล่าเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ได้น่าสนใจกว่า อย่างพิธีกินดองหรือการแต่งงาน หรือการเต้นบัดสลบ ซึ่งเป็นท่าเต้นที่นิยมเหมือนการรำวงของคนไทย รวมถึงการสอดแทรกภาพสถานที่ทางธรรมชาติที่ยังสวยสดงดงาม
แม้ว่ารายได้จากการเข้าฉายในเมืองไทยจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก แต่การจัดฉายในต่างประเทศ ถือว่าเป็นความสำเร็จในด้านการเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ประเทศลาวได้อย่างแนบเนียน และต้องยอมรับว่าลาวสามารถเปิดตลาดสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ทำให้ชาวต่างชาติ สามารถเข้าใจวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวของประเทศตนได้ง่ายยิ่งขึ้น
อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้ชมสามารถสังเกตได้จากหนัง คือคำพูดหรือภาษาจะคล้ายคลึงกับภาษาอีสานของไทย แต่มีสำเนียงที่อ่อนหวานกว่า ซึ่งปัจจุบันคนลาวเข้าใจภาษาไทยได้เป็นอย่างดี แต่คนไทยส่วนใหญ่กลับรู้ภาษาลาวน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม มุมมองของหนังเรื่องนี้ยังไม่อาจจะฉายภาพของประเทศลาวได้อย่างชัดเจนทั้งหมด เพราะเป็นการเล่าด้วยสายตาของผู้กำกับคนไทย ซึ่งถือเป็นมุมมองจากคนนอกมองเข้าไป หากอยากจะเห็นภาพของประเทศลาวที่แท้จริง คงต้องรอดูผลงานภาพยนตร์จากฝีมือผู้กำกับทางฝั่งลาวบ้าง
พลตรัย