เคยสงสัยกันไหมว่าเสียงเพลงโฆษณาที่เราได้ยินกันจนชินหูผ่านทางโทรทัศน์หรือวิทยุนั้น ใครกันเป็นคนแต่ง เขาแต่งกันอย่างไร ต้องผ่านกระบวนการใดบ้าง แตกต่างจากการแต่งเพลงของศิลปินทั่วไปอย่างไร ใช้โปรแกรมไหนในการทำเพลง และอีกสารพันคำถามที่เกี่ยวข้องกับ “เพลงโฆษณา” วันนี้พี่ๆ ใจดีจากค่าย Smallroom มีคำตอบของทุกคำถาม
อุทยานการเรียนรู้ TK Park ได้จัดกิจกรรมพิเศษในชื่อ Learning is opportunities...เรียนลัด ติวเข้มกับ 13 วิชาสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้เข้าร่วมเรียนรู้ใน 13 สาขาวิชากับมืออาชีพ ที่ตบเท้ากันมาถ่ายทอดวิชาอย่างไม่มีหวง ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ ความฝัน และจินตนาการ ตลอดจนการลงมือปฏิบัติจริง ตลอดเดือนกันยายน - ตุลาคม 2555
โดยในวันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2555 เวลา 15.00-18.00 น. มีกิจกรรมลำดับที่ 10 ภายใต้ชื่อ สโมสอน สมอลล์รูม ตอน“60 minutes ปิดเพลงโฆษณา” โดย อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับพี่ๆ ใจดีจากค่าย Smallroom ที่ตบเท้ากันมาร่วมสอนกระบวนการทำเพลงโฆษณาในบรรยากาศที่เป็นกันเอง ประกอบไปด้วย เจ - เจตมนต์ มละโยธา หนุ่มใหญ่ใจดีดีกรีผู้บริหารค่ายเพลงสมอลล์รูมและศิลปินวง Penguin Villa, นะ - รัตน จันทร์ประสิทธิ์ ศิลปินวง Polycat และ เย่ - จักรพันธ์ บุณยะมัต ศิลปินวง Slur
บรรยากาศในการถ่ายทอดวิชาเป็นไปอย่างสบายๆ เหมือนมานั่งคุยกัน เหล่านักเรียนต่างนั่งล้อมวงบนเบาะผ้า ตั้งหน้าตั้งตาฟังอย่างสนใจ โดยนักเรียนส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมคือ สมาชิก TK Band เยาวชนคนดนตรีจากอีกหนึ่งโครงการของอุทยานการเรียนรู้ TK park กิจกรรมแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือการให้ความรู้เกี่ยวกับการแต่งเพลงโฆษณา และส่วนที่สองคือการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทดลองแต่งเพลงจริง
เริ่มแรกเหล่าผู้ถ่ายทอดได้เล่าให้ฟังถึงความแตกต่างระหว่างการแต่งเพลงอัลบั้มทั่วไปและการแต่งเพลงโฆษณา โดยในกระบวนการการแต่งเพลงทั่วไปนั่นจุดเริ่มต้นมักจะมาจากตัวเรา คำที่เราชอบ อารมณ์ที่เราเป็นอยู่ หรือได้แรงบันดาลใจจากสิ่งต่างๆ แล้วจึงนำมาแต่งเป็นเพลง ในขณะที่การแต่งเพลงโฆษณานั้นแตกต่างกัน โดยจะมีข้อจำกัดที่มากกว่า โดยขั้นแรกจะเป็นการรับโจทย์จากลูกค้าถึงความต้องการ ซึ่งแบ่งออกได้อีกเป็นสองประเภทคือ ประเภทแรกคือลูกค้าที่ให้มาทั้ง Concept คำที่ต้องการให้ใช้ แนวทาง บางครั้งรวมไปถึงประโยคที่อยากให้ใส่ในเนื้อเพลง ซึ่งรูปแบบนี้ เจ - เจตมนต์ แอบกระซิบว่า หลายๆ ครั้งที่เพลงโฆษณาฟังดูตลกหรือ Hard sale ก็เพราะลูกค้าให้โจทย์มาในลักษณะนี้ แต่ก็เพราะความตลกนี้เองที่บางครั้งก็ทำให้ติดหูคนฟัง ส่วนประเภทที่สองคือลูกค้าให้มาแค่ใจความหลักที่อยากสื่อสาร ในส่วนของเนื้อเพลงเราสามารถจัดการได้เองเต็มที่ ทำให้เพลงในรูปแบบนี้ไม่ฟังดูเป็นการขายของมากจนเกินไป และมักจะทำให้เราสนุกกับการทำงานมากกว่า
หลังจากเกริ่นและเล่าประสบการณ์ในการทำเพลงโฆษณาแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนในการเขียนเพลง นะ - รัตน อธิบายว่าในการเขียนเพลงขั้นแรกประกอบไปด้วยสองส่วนนั่นก็คือ จังหวะและเมโลดี้ พื้นฐานง่ายๆ ในการสร้างเมโลดี้คือ สร้างเมโลดี้ใหม่ๆ ที่ไม่ฝืนคำและใช้เมโลดี้ซ้ำๆ เพื่อให้จำง่าย
ในการจัดการกับจังหวะและทำนองมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง 4 อย่าง สั้น-ยาว, สูง-ต่ำ, เร็ว-ช้า และ ถี่-ห่าง
ระหว่างนั้น เย่ - จักรพันธ์ ได้เล่าเรื่องในตอนที่ตนเองได้รับทำงานแต่งเพลงโฆษณาครั้งแรกว่า เจ - เจตมนต์ ได้เอาโจทย์งานจากลูกค้ามาให้ตอน 5 ทุ่ม ซึ่งตอนเองนึกว่าจะต้องส่งพรุ่งนี้ แต่กลายเป็นว่าจะต้องเอาเดี๋ยวนั้น เขาจึงรีบปั่นงานโดยใช้คำตรงๆ ง่ายๆ แทบไม่ได้กลั่นกรอง ซึ่งก็ปรากฏว่าถูกใจลูกค้า เขาจึงได้ข้อสรุปอีกหนึ่งข้อเกี่ยวกับงานการแต่งเพลงโฆษณาว่า บางครั้งการใช้คำง่ายๆ ไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองประดิดประดอยมาก ก็อาจจะเข้าถึงผู้ฟังได้มากกว่า และหลังจากสอนในส่วนของทฤษฎีเสร็จ เย่ - จักรพันธ์ ก็ยังตบท้ายด้วยประโยคน่าคิดว่า “แม้จะรู้ทฤษฎี แต่อย่าให้ทฤษฎีครอบงำเรา”
หลังจากนั้นก็เข้าในช่วงที่สองที่เหล่านักเรียนทั้งหลายจะได้นำทฤษฎีที่ได้เรียนรู้ไป มาประยุกต์ใช้ในการแต่งเพลงจริง ภายใต้โจทย์ที่ว่า “ทำเพลงโฆษณาให้กับอุทยานการเรียนรู้ TK park” โดยสิ่งที่มีให้คือ Backing Track และเนื้อเพลง (โดยทุกคนสามารถนำเนื้อเพลงไปประยุกต์ให้มีความแตกต่างได้) ซึ่งใน 1 เพลงจะประกอบไปด้วยท่อนต่างๆเรียงลำดับดังนี้ Intro - Hook - Verse - Hook
โดยเนื้อเพลงที่ทางวิทยากรกำหนดไว้ให้คือ (Hook) TK park อุทยานแห่งการเรียนรู้ TK park ทุกสิ่งในโลกเป็นครู (Verse) จุดประกายความคิด ให้ต้นไม้แห่งปัญญาได้งอกงาม เป็นห้องสมุดที่มีชีวิต คือจินตนาการที่ไม่รู้จบ
หลังจากปล่อยให้ทุกคนได้แยกมุมไปคิด บ้างนั่งคิดคนเดียว บ้างนั่งคุยกันเป็นกลุ่ม บ้างออกไปเดินเล่นหาแรงบันดาลใจข้างนอกห้อง ก็ถึงเวลาเรียกรวมมาโชว์ผลงาน ซึ่งแต่ละคนก็ถือว่าทำได้เยี่ยมยอดเหนือความคาดหมาย โดยผลงานที่ออกมาก็มีทั้งแนวป๊อปใสๆ ร็อค แร็พ มีการใช้ทั้งเสียงโทนต่ำโทนสูงได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะที่เหนือความคาดหมายคือแนวเพลงเพื่อชีวิต ที่เรียกเสียงปรบมือได้ลั่นห้อง
โดยก่อนจากกันวิทยากรทั้งสามได้ให้สัมภาษณ์ตอบคำถามสั้นๆ เกี่ยวกับการแต่งเพลงโฆษณาเอาไว้ดังนี้
“มีคำแนะนำอย่างไรสำหรับน้องๆ ที่คิดจะเริ่มแต่งเพลง แต่ยังแต่งเพลงไม่เป็น”
เจ - เจตมนต์ มละโยธา : สำหรับคนที่อยากจะเริ่มต้นแต่งเพลง วิธีง่ายๆ อย่างแรกก็คือ อาจจะลองแปลงเพลงก่อนก็ได้ เช่น เพลงในท้องตลาดที่มีอยู่แล้ว อย่างเช่นคนที่แปลงเพลง กังนัมสไตล์ เป็นกำนันสไตล์ หรือจะเป็นกำยำสไตล์ อาจจะเริ่มแปลงเพลงที่เราชอบ เพลงช้า เพลงเร็ว เพลงกลางๆ ลองให้หลากหลาย เราลองแปลงมัน ศึกษามัน แล้วเราจะเริ่มเข้าใจเรื่องของจังหวะ เรื่องของเมโลดี้ ต่อไปพอเราเริ่มแต่งเพลงของเราเอง ก็เริ่มจากประโยคหรือสองประโยคสั้นๆ ใส่เมโลดี้เข้าไปในสิ่งที่เราอยากจะพูด ง่ายๆ เลยก็คือหากเราอยากจะพูดอะไรให้ลองพูดเป็นเพลง น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของนักแต่งเพลง
“ฝากเทคนิคส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ ในการแต่งเพลงให้กับน้องๆ”
เย่ - จักรพันธ์ บุณยะมัต : พูดถึงเทคนิคส่วนตัวของผมเวลาแต่งเพลงก็… ไม่มีครับ เหมือนผมอยากจะพูดอะไรก็ร้องออกมาเลยออกมาพร้อมกับเล่นกีต้าร์ แต่มันมาจากการที่เราต้องฟังเพลงเยอะๆ ก่อนนะครับ ฟังเพลงคนอื่น ฟังเพลงเมืองนอก ฟังเพลงอะไรก็แล้วแต่ที่คุณฟัง เล่นกีต้าร์โปร่งร้องเพลงของคนอื่นเยอะๆ แล้วมันจะออกมาเองเวลาคุณจะแต่งเพลงครับ
“สำหรับน้องๆ ที่ปกติแต่งเพลงทั่วไปอยู่แล้ว มีคำแนะนำอะไรเพิ่มเติมบ้างในการแต่งเพลงโฆษณา”
นะ - รัตน จันทร์ประสิทธิ์ : ก็ใช้พื้นฐานเดียวกันครับ แต่อย่างแรกเลยที่ต้องคิดถึงก็คือลูกค้า คิดถึงสิ่งที่เขาต้องการและพยายามจะตอบโจทย์เขาให้มากที่สุด ถ้าเขาอยากได้แบบไหนก็ทำตามเขาครับ ยกเว้นว่ามันจะไม่ได้จริงๆ ก็ค่อยคุยกับเขาตรงๆ สรุปจุดสำคัญเลยก็คือตามใจลูกค้าครับ
ช่วงเวลาสุดท้ายก่อนจากกันอย่างแท้จริง เหล่านักเรียนได้เข้าไปร่วมกันชักภาพกับวิทยากรในดวงใจเพื่อเก็บเป็นที่ระลึก ทั้งยังได้แสดงความคิดเห็นต่อการจัดกิจกรรมพิเศษในครั้งนี้ไว้ด้วย ดังนี้
“วันนี้ก็ได้มาอบรมกับพี่ๆ ชาวสมอลล์รูม ก็ได้จินตนาการทำนองจากเนื้อเพลงที่มีอยู่แล้ว ได้โจทย์แต่งเพลงให้ TK Park จากทำนองที่เราได้ยินกัน ก็ได้จินตนาการไปว่าเพลงควรจะโดดเด่นยังไงให้คนจำได้ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก อยากให้จัดบ่อยๆ ค่ะ” ริบบิ้น - นิชาภา นิศาบดี สมาชิก TK Band
“รู้สึกได้ความรู้และสามารถเอาไปใช้ต่อได้ ปกติเป็นคนชอบแต่งเพลงอยู่แล้ว วันนี้ก็เหมือนเป็นความรู้ใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์โดยตรงและเป็นศิลปินอยู่แล้ว แถมยังเป็นค่ายเพลงที่ชอบด้วย ดีใจมากครับที่ได้มาร่วมกิจกรรม” พี - พูลยศ กัมพลกัญจนา สมาชิก TK Band รุ่น 1
“วันนี้ก็ได้อะไรไปเยอะมากเลย คือได้การแต่งเนื้อและทำนอง การขึ้นคีย์สูงต่ำ เกี่ยวกับการทำทำนองจะมีหลายอย่างครับ การใส่คำลงไปในช่องต่างๆ จังหวะหนึ่งจังหวะสอง ได้แต่งเพลงในหลายๆ แนว” จูล - จุลเมธ มละโยธา
ในขณะที่ไฟฝันของใครหลายๆ คนอาจจะเริ่มต้นด้วยกองฟืนกองเล็กๆ แต่หลังจากได้ฟังประสบการณ์ในการทำงานจริงของเหล่าวิทยากรมืออาชีพในวงการ รวมถึงได้เรียนรู้ในกระบวนการทำงานจริงที่เห็นภาพชัด จับต้องได้ อาจจะทำให้กองไฟกองเล็กๆ คล้ายได้รับการเติมเชื้อ ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคนได้รับแรงกระตุ้นในการมุ่งตามความฝันต่อไป และสักวันพวกเขาเหล่านี้อาจจะเป็นคนที่ก้าวมายืนในตำแหน่งมืออาชีพ เฉกเช่นวิทยากรในวันใดวันหนึ่งก็เป็นได้
จารุวรรณ ชื่นชูศรี