ในขณะที่กระแสของการเปิด AEC หรือการเปิดประชาคมอาเซียนเป็นเรื่องราวที่ถูกสื่อแขนงต่างๆ หยิบยกมาพูดถึงอยู่ไม่น้อยในแง่มุมทางด้านสังคม การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ จนหลายคนอาจตั้งคำถามถึงผลดีผลเสียต่อกิจการประเภทต่างๆ ของไทยว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อถึงวันที่พรมแดนของแต่ละประเทศในอาเซียนถูก กำจัดออกไป
สำหรับวงการภาพยนตร์แล้วก็เป็นเรื่องที่ชวนให้ตั้งคำถามไม่น้อยว่าทิศทางของ การผลิตภาพยนตร์จะมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร เพราะประเทศไทยนั้นอาจกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเป็นศูนย์กลางของแวดวง ธุรกิจบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่ไม่น้อยหน้าประเทศใดในอาเซียน
เมื่อวันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม 2557 เวลา 14.00 – 15.00 น. ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการทำความเข้าใจกับแวดวงของ ธุรกิจภาพยนตร์กับการเปิดประชาคมอาเซียนในกิจกรรม Inspired by Idol ในหัวข้อ ‘หนังไทยบุกอาเซียน’ ที่มีสองสุดยอดผู้กำกับฝีมือดีอย่าง คุณโต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล และ คุณโป๋ย-ศักดิ์ชาย ดีนาน มาร่วมพูดคุยและถ่ายทอดความคิดเห็นของอนาคตหนังไทยในอาเซียนในทุกแง่มุม ดำเนินรายการโดยดีเจ บาร์จ กัลย์ยุทธพงศ์ นพคุณ
คุณโต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับหนังชื่อดังจากค่ายหนังอารมณ์ดี GTH ที่สร้างชื่อไว้ในผลงานภาพยนตร์ชื่อดังหลายเรื่องอย่าง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ แฝด สี่แพร่งตอนคนกลาง ห้าแพร่งตอนคนกอง กวนมึนโฮ และล่าสุดกับภาพยนตร์ผีแนวตลกที่สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับคนทั่ว บ้านทั่วเมืองและยังทำรายได้ทะลุหลักพันล้านอย่าง พี่มากพระขโนง และเนื่องจากภาพยนตร์เกือบทุกเรื่องไม่เพียงแต่ได้รับกระแสตอบรับจากคนดูภาย ในประเทศเท่านั้น หากแต่ยังเป็นที่นิยมและถูกจริตของแฟนหนังชาวต่างชาติอีกด้วย จึงเป็นที่น่าจับตาว่าหลังจากเปิด AEC แล้ว จะมีการสร้างภาพยนตร์เพื่อออกไปตีตลาดประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ มากน้อยอย่างไร
คุณโป๋ย ศักดิ์ชาย ดีนาน เรียก ได้ว่าเป็นผู้กำกับที่คลุกคลีกับประเทศเพื่อนบ้านมาเนิ่นนานก่อนจะเริ่มเปิด AEC เสียด้วยซ้ำ เนื่องจากบรรดาภาพยนตร์เกือบทุกเรื่องของเขาในช่วงหลังที่หันมาสวมบทบาทผู้ กำกับอิสระไม่สังกัดค่ายไหน ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาวเสียแทบทุก เรื่อง โดยภาพยนตร์สร้างชื่อของเขาที่ทุกคนคุ้นหูคุ้นตามากที่สุดเห็นจะไม่พ้น ภาพยนตร์สองสัญชาติที่นางเอกและผู้กำกับร่วมอีกคนเป็นชาวลาว อย่างเรื่อง สะบายดี หลวงพระบางซึ่งมีภาคต่อมาถึงสองภาคคือ สะบายดี 2 ไม่มีคำตอบจาก..ปากเซ และ สะบายดี วันวิวาห์โดยล่าสุดเมื่อสองปีก่อนเขาก็มีผลงานหนังผีสัญชาติลาวออกมาอีก หนึ่งเรื่องคือ ผ้าพันคอแดง
คุณโป๋ย-ศักดิ์ชายได้แสดงทัศนะที่เขามีต่อ ‘ภาพยนตร์ไทย’ โอกาส ที่จะนำภาพยนตร์ไทยไปฉายในประเทศเพื่อนบ้านนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะภาพยนตร์ไทยทำเงินบางเรื่องเคยไปตีตลาดอาเซียนได้ เช่น พี่มากพระโขนงที่ค่อนข้างดังในพม่า และด้วยความที่โลกยุคปัจจุบันเปลี่ยนจากยุคของฟิล์มมาเป็นดิจิตอลแล้วก็ทำ ให้กระบวนการในการเดินทางของภาพยนตร์ง่ายขึ้น เพราะมีการแยกไฟล์ภาพกับเสียงไว้อยู่แล้ว ที่ต้องทำก็เพียงแค่ไปพากย์เสียงของประเทศนั้นๆ แยก ไม่จำเป็นต้องพากย์ทับดังเช่นสมัยที่ยังใช้ฟิล์ม ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงมาก โอกาสที่ภาพยนตร์ไทยจะได้เดินทางไปสู่โลกภายนอกจึงมีได้มากขึ้น
ส่วน คุณโต้ง-บรรจง ได้ตอบคำถามที่ว่า “การเปิด AEC จะดีต่อวงการภาพยนตร์ไทยอย่างไร” ว่าอันที่จริงแล้วจะเปิด AEC หรือไม่ก็ไม่ได้ต่างกันสักเท่าไหร่เนื่องจากการเดินทางของภาพยนตร์นั้นจะ เป็นในลักษณะเป็นเรื่องๆ ไป ดังเช่นยุคของชัตเตอร์ ก็อาจจะทำให้คนเริ่มหันมาดูภาพยนตร์ผีไทยมากขึ้น ต่อมาก็เป็นยุคของภาพยนตร์รัก เช่น กวนมึนโฮ สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก SuckSeedแต่คนก็จะเลือกดูเป็นเรื่องๆ ไปโดยพิจารณาจากเนื้อหาองค์ประกอบของเรื่องนั้นๆ ดังนั้นสิ่งที่คนทำภาพยนตร์ไทยจะทำได้ดีที่สุดก็คือการทำภาพยนตร์ให้ดี แล้วผลตอบรับก็จะมาเอง
ในแง่ของตลาดภาพยนตร์ในไทยที่ คุณโป๋ย ได้อธิบายไว้แต่แรกเริ่มว่าค่อนข้างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ อาจเรียกได้ว่าอันดับหนึ่งของอาเซียนก็ได้ คุณโต้งได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวงการภาพยนตร์ไทยว่า จริงๆ แล้วก็มีประเทศอื่นที่อยากร่วมงานกับประเทศไทยบ้างเรื่อยๆ เช่น ลาวหรือสิงคโปร์ หรือการใช้ประเทศไทยเป็นโลเกชั่นก็มีไม่น้อยเพราะอุปกรณ์พร้อม ค่าแรงก็ถูก ในส่วนการร่วมงานกับต่างประเทศของค่าย GTH นั้นมักจะในแง่ของตลาดมากกว่าว่าท้าทายไหม อย่างสิงคโปร์หรือพม่า นับว่าเป็นตลาดเล็ก เล็กเสียยิ่งกว่าประเทศไทยทำให้ไม่คุ้มต่อการลงทุน ในขณะที่ถ้าเป็นประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่น่าสนใจมากกว่า
สุดท้ายในส่วนของบทสรุปของการเปิดประชาคมอาเซียนที่มีต่อวงการภาพยนตร์ไทย สองผู้กำกับต่างเห็นพ้องต้องกันว่าอาจจะมีผลในแง่ของโรงภาพยนตร์ที่อาจขยาย กิจการไปตั้งสาขาในประเทศต่างๆ เสียมากกว่า แต่ในส่วนของการผลิตภาพยนตร์แล้วนั้นเรียกได้ว่าไม่มีผลอะไรเลยเพราะสุดท้าย แล้วคนก็ยังเลือกดูภาพยนตร์จากตัวเรื่องมากกว่า
ก่อนจบการสนทนาสองผู้กำกับมากฝีมือยังได้ฝากข้อความเล็กๆ น้อยส่งไปยังผู้ฟังว่า
“ตอนถ่ายสบายดีหลวงพระบางใช้เงินไปเป็นสิบล้าน ยุคนี้ดีที่ทำหนังเฉพาะกลุ่มได้ ยุคนี้ทำหนังฉายเฉพาะจังหวัด เฉพาะภาคได้ หนังของภาคอีสานใส่แต่ภาษาอีสานซับอีสานยังได้ ไม่ได้จำเป็นต้องเล่าเรื่องให้คนดูทุกเพศทุกวัยชอบ แต่เล่าให้คนเฉพาะกลุ่มได้ ทำให้โอกาสในการทำหนังมีมากขึ้น” คุณโป๋ย ศักดิ์ชาย กล่าว
“อย่าเพิ่งหมดหวังกับหนังไทยนะ” คุณโต้ง บรรจง ทิ้งท้ายสั้นๆ
อย่างน้อยการลบเส้นพรมแดนที่ทำให้วัฒนธรรมและรรดาผู้คนสามารถหลั่งไหลเข้าหา กันได้อิสระมากยิ่งขึ้นก็อาจทำให้ในอนาคตเราอาจเห็นวิวัฒนาการใหม่ๆ ของภาพยนตร์ไทยหรือในวันที่อาจมีการผนึกกำลังรวมวงการภาพยนตร์ในแถบประเทศ ของเราให้แข็งแกร่งมากขึ้นเป็นประชาคมภาพยนตร์อาเซียน ก็อาจจะเป็นได้
จารุวรรณ ชื่นชูศรี