Thailand Conferrence on Reading 2011
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) จัดกิจกรรมสัมมนาวิชาการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เริ่มต้นด้วยการสัมมนาหัวข้อ “เติมชีวิตให้ห้องสมุด” ต่อมาปี 2549 ในหัวข้อ “ชวนเด็กไทยให้เป็นนักอ่าน” ปี 2550 หัวข้อ “TK เปิดโลกห้องสมุดเด็ก” ปี 2551 หัวข้อ “เปิดโลกการอ่าน ด้วยนิทานเล่าเรื่อง” ซึ่งการจัดกิจกรรมวิชาการประจำปีทุกครั้งต่างก็ได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นอย่างดี
กระทั่งในปี 2552 สอร.ริเริ่มจัดทำโครงการ “เวทีสาธารณะเพื่อผลักดันนโยบายการอ่าน” หรือ TK Forum เป็นปีแรก โดยกำหนดกรอบเนื้อหามุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการอ่าน โดยกระบวนการถอดบทเรียนจากองค์กรภาคีที่ทำงานด้านหนังสือเด็กและเยาวชนและด้านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน พร้อมกับจัดทำเป็นรายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบายส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประสบผลสำเร็จด้วยดี
ในปี 2553 โครงการ TK Forum ปรับจุดเน้นจากการผลักดันนโยบายมาเป็นการติดตามนโยบาย เนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากการที่รัฐบาลประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และมีนโยบายมาตรการส่งเสริมการอ่านออกมารองรับการประกาศดังกล่าว นอกจากนั้นองค์กรเครือข่ายที่เข้าร่วมเวที TK Forum ยังได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต การผลักดันนโยบายจึงดำเนินการผ่านตัวแทนในคณะกรรมการชุดนี้ได้โดยปริยาย ดังนั้น กิจกรรมในปีนี้จึงให้น้ำหนักกับความรู้เชิงลึก ด้วยการถอดประสบการณ์เปรียบเทียบจากประเทศอื่นที่น่าสนใจ อาทิ สวีเดน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น โดยนำงานวิจัย ที่รวบรวมข้อมูลสำคัญเบื้องต้นไว้แล้วมาวิเคราะห์และนำเสนอในเวทีสาธารณะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการอ่านของไทย
ในปีงบประมาณ 2554 สอร.ยังคงมีแนวคิดที่จะมุ่งให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการดังเช่น TK Forum และการสัมมนาวิชาการที่จัดขึ้นมาตั้งแต่แรก แต่จะยกระดับรูปแบบและเนื้อหาให้มีความเป็นงานระดับชาติหรือสากลมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงนโยบายอย่างจริงจัง โดยปีนี้จะจัดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการที่มีเนื้อหาสาระเข้มข้น ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน ภายใต้โครงการ “ประชุมวิชาการประจำปี 2554” ซึ่งเป็นโครงการใหม่ที่มีความต่อเนื่องมาจากกิจกรรมทางวิชาการในปีที่ผ่านๆ มา
อนึ่ง แนวคิดในการเตรียมงานสำหรับปี 2554 นั้น มาจากการมองภาพความร่วมมือด้านการส่งเสริมการอ่าน ในอนาคตระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากอีก 4 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2558) ประเทศในกลุ่ม อาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะรวมกันเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ดังนั้นการริเริ่มจัดประชุมวิชาการ ด้านการอ่านในปีนี้จึงเสมือนการประชุมนำร่อง เพื่อสำรวจประเด็นทั้งที่มีความแตกต่างและที่มีความร่วมกัน (common issue) ในเชิงประสบการณ์ของหน่วยงาน กิจกรรมโครงการ และนโยบายด้านการส่งเสริมการอ่านและ การเรียนรู้ ระหว่างประเทศไทยกับบางประเทศในอาเซียน จากนั้นในปีต่อๆ ไปจึงจะลงลึกในประเด็นอื่น รวมถึงขยายความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศในกลุ่มให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยหวังว่าการอ่านจะนำไปสู่ ความเข้าใจซึ่งกันและกันในฐานะพลเมืองอาเซียนได้ (Towards ASEAN Citizenship with Books Reading)
คลิกเพื่อเข้าชมเว็บไซต์งาน Thailand Conferrence on Reading 2011