‘การเดินแบบ’ ในแวดวงแฟชันคือการที่นายแบบและนางแบบออกมาเดินโชว์เสื้อผ้าแฟชันสวยๆ ที่ใส่บนเวที ผู้ที่ออกแบบต้องมีความมั่นใจและใส่ใจในผลงาน จึงจะสร้างจุดขายให้กับลูกค้าผู้สวมใส่ได้ แต่สำหรับแวดวงนักเขียน ‘การเดินแบบ’ นั้นหมายถึง การนำผลงานเขียนของตนเองที่ได้รับการขัดเกลามาอย่างดี ออกเผยแพร่สู่วงกว้าง ผู้เขียนจึงต้องมีความมั่นใจและใส่ใจกับผลงาน จึงจะสร้างความประทับใจให้กับผู้อ่านได้เช่นเดียวกัน
เดินทางมาถึงสัปดาห์สุดท้ายแล้วสำหรับโครงการดีๆ ที่สร้างนักเขียนรุ่นใหม่มาประดับวงการที่จัดเป็นประจำทุกปี อย่างโครงการ TK Young Writer 2013 ครั้งนี้มากับคอนเซปต์ว่า ‘เดินแบบนักเขียน’ ซึ่ง ก็เป็นอีกปีหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้การทำนิตยสารในทุกๆ ขั้นตอน และเมื่อสิ้นสุดโครงการจะได้แสดงผลงานออกมาในรูปแบบ E-Book และพิมพ์แบบ On Demand อีกด้วย
หลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ เยาวชนผู้เข้าโครงการทั้งหมดกว่า 30 คน ได้ผ่านการอบรมเวิร์กช็อปอย่างเข้มข้นกับนักเขียนรุ่นพี่อย่าง ใบพัด - ภาณุมาศ ทองธนากุล, วิภว์ บูรพาเดชะ (บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening), ทรงกลด บางยี่ขัน(บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day), สุพิชา สอนดำริห์ (บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Cleo), จักรพันธุ์ ขวัญมงคล นักเขียน, ทีมงานนิตยสาร Hamburger และ ทีมงานนิตยสาร Way ที่ ได้ถ่ายทอดวิชาการทำนิตยสาร ตั้งแต่วิธีคิดไปจนถึงการลงมือเขียน ก่อนจะแบ่งกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อลงมือทำนิตยสารกันจริงๆ โดยมี คุณต๊ะ - จักรพันธุ์ ขวัญมงคล และทีมงานนิตยสาร Way เป็นบรรณาธิการอำนวยการ คอยดูแลผลงานโดยรวมให้ออกมาเป็นรูปเล่ม
ในวันที่ 22 มิถุนายน 2556 ก็เป็นวันสุดท้ายของโครงการ ในวันนี้จะเป็นการนำเสนอผลงานเขียนของทั้ง 2 กลุ่มที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว หลังจากเยาวชนผู้เข้าโครงการได้ลงมือสร้างสรรค์ผลงานกันอย่างหนัก ก่อนจะออกมาเป็นนิตยสารคุณภาพถึง 2 เล่มด้วยกัน
กลุ่มแรกที่ออกมานำเสนอผลงานคือนิตยสารที่ชื่อว่า คนสวน ซึ่ง สมาชิกในกลุ่มกล่าวว่าไอเดียแรกเริ่มมาจากสิ่งที่ทุกคนสนใจ นั่นคือเรื่องความฝัน ซึ่งความฝันก็เกี่ยวข้องกับการเติบโต และต้นไม้ก็เป็นสิ่งที่เติบโตเหมือนกัน จึงสรุปออกมาเป็นบุ๊กกาซีนที่มีคอนเซปต์เกี่ยวกับการเติบโตของต้นไม้ และชื่อ คนสวน มีความหมายคือ ‘คนสวน’ อาชีพที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้โดยตรง และในอีกความหมายคือ ‘คนสวนกระแส’ หรืออาจผวนเป็น ‘ควรสน’ ก็ได้ ส่วนชื่อคอลัมน์แต่ละคอลัมน์ก็มีความน่าสนใจคือมีที่มาจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ เช่น เติมปุ๋ย พรวนดิน เพาะกล้า เก็บเกี่ยว
ภายในเล่มประกอบไปด้วยคอลัมน์ต่างๆ ตามรูปแบบนิตยสารทั่วไป ทั้งบทสัมภาษณ์ สกู๊ป เรื่องสั้น บทความ ตัวอย่างคอลัมน์ที่น่าสนใจ เช่น คอลัมน์ ‘เติมปุ๋ย’ บท สัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ยงยุทธ จรรยารักษ์ นักพฤกษศาสตร์ และอาจารย์ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มากล่าวถึงเกี่ยวกับเรื่องวิชามนุษย์หรือสิ่งที่มนุษย์ต้องเรียนรู้
คอลัมน์ ‘ติดตา’ Info Graphic ให้ความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับต้นไม้ เช่น ปลูกต้นไม้ 1 ต้น ช่วยลดอุณหภูมิโลกได้ถึง 2-4 องศาเซลเซียส, คอลัมน์ ‘สังเคราะห์แสง’ สกู๊ปหลักของเล่มที่ใช้ชื่อว่า “The Sound of Leaves, The Whisper of Living” กล่าว ถึงการเรียนรู้ที่อยู่กับต้นไม้ในเมืองใหญ่ ประกอบไปด้วยบทสัมภาษณ์และความรู้เกี่ยวกับการณรงค์สร้างสวนสาธารณะใน กรุงเทพฯ ประโยชน์ของต้นไม้ในสภาพเมือง และสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ, คอลัมน์บทความที่ชื่อว่า “จับฝันมาปัดฝุ่น” ว่าด้วยคนปัจจุบันมองว่าการหาเงินคือความสุขที่แท้จริงหรือเปล่า และบทความเกี่ยวกับ โซตัส หรือการรับน้องในมหาวิทยาลัยที่ชี้ให้เห็นถึงข้อเสียของระบบนี้ และนอกจากนั้นยังมีคอลัมน์น่าสนใจอื่นๆ อย่างคอลัมน์แนะนำภาพยนตร์ ที่มีความน่าสนใจในการนำเนื้อเพลงมาประกอบบทความ เรื่องสั้นที่ชวนให้ขบคิดถึงชีวิตในวัยเด็ก และปิดท้ายด้วยคอลัมน์สัมภาษณ์คนทั่วไปสั้นๆ ว่าต้นไม้ให้อะไรกับเราและถ้าเกิดเป็นต้นไม้อยากเป็นต้นอะไร
โดยรวมเป็นนิตยสารที่กลมกล่อมทางด้านเนื้อหามาก ให้ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ในแง่ต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ และหลังจากนั้นนักเขียนรุ่นพี่ได้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อคิดแก่นักเขียน รุ่นน้องเจ้าของผลงาน
คุณเต้ย ใบพัด ภาณุมาศ กล่าวว่า “ชอบ ที่ชื่อนิตยสาร คนสวน ตีความได้หลายแบบ ถ้าเปรียบเทียบบุ๊กกาซีนเล่มนี้เป็นคน เขาจะเป็นที่เป็นมิตร ไม่มีรถยนต์ขับ ขี่จักรยาน รักธรรมชาติ การตั้งชื่อคอลัมน์ที่เกี่ยวกับกิจกรรมต้นไม้ คนอ่านสามารถสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของคนทำจริงๆ ถ้าเราใส่ใจและเคารพในการทำงานของเรา ในที่สุดคนอ่านก็จะเคารพการทำงานของเราเช่นกัน วิธีคิดของคนทำนิตยสารมีสิ่งที่เหมือนผู้กำกับหนัง ที่ไม่ใช่แค่กำกับนักแสดง แต่ยังกำกับความรู้สึกคนดูด้วย คนทำนิตยสารก็เช่นเดียวกัน ผมจะรู้สึกอินเวลามีคนตั้งใจทำอะไรบางอย่างให้กับเรา”
คุณรุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ บรรณาธิการจากนิตยสาร Way กล่าวว่า “ขอชมน้องๆ ที่มีวิธีการจัดการที่ลงตัวมากๆ ทุกคนสามารถแบ่งความรับผิดชอบได้ดี คอนเซปต์เรื่อง คนสวน เป็นไอเดียที่ดี แต่มีข้อเสียคือถ้ามีกิมมิกเยอะเกินไป คนอ่านอาจจะเข้าใจได้ยาก และอาจส่งผลต่อการคิดไอเดียเล่มต่อไปได้ โดยรวมทักษะการเขียนทุกคนดีมาก หลายคอลัมน์นำเสนอได้น่าสนใจ”
คุณต๊ะ - จักรพันธุ์ กล่าวว่า “อยาก ฝากน้องๆ ว่า ต้องออมความคิดไว้ อดใจรอเวลา เหมือนผลไม้สุก แล้วค่อยๆ ปล่อยออกมา มันจะมีพลังมากกว่าใส่ไปทั้งหมด เวลาที่เขียนสมัครเข้าโครงการมา เราจะเขียนสิ่งที่เรารู้สึก แต่เวลาทำงานสื่อจริง จะไม่สามารถเขียนสิ่งที่รู้สึกอย่างเดียวได้ เพราะความรู้สึกอาจจะซ้ำได้ ต้องเอาสิ่งอื่นมาพูดแล้ว ทุกคนทำงานได้ดี แต่ก็มีเงื่อนไขบางอย่างที่ต้องทำให้ได้ เพื่อสื่อสารกับคนอ่านด้วย”
และปิดท้ายที่คุณวิภว์ กล่าวว่า “ถ้า พูดถึงเฉพาะงานเขียนก็ถือว่าดีทีเดียว รู้สึกทึ่งที่น้องๆ ทำได้ เพราะการทำงานนี้มีข้อจำกัดเยอะ ทั้งจำนวนคนเยอะและเวลาอันสั้น แต่ก็เป็นแง่ดีที่ว่าในชีวิตจริงมีเรื่องข้อจำกัดที่เยอะกว่านี้”
หลังจากที่กลุ่มแรกได้นำเสนอผลงานเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ต่อด้วยกลุ่มต่อไป ที่มาพร้อมกับนิตยสารที่ชื่อว่า หาย คอนเซปต์พูดถึงเรื่องที่หายไปหรือเรื่องที่มองไม่เห็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งชื่อสามารถถอดออกมาเป็นคำว่า ‘หา’ กับ ‘หาย’ ได้ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า ‘Lost and Found’ หมายถึงการหาสิ่งที่หายไปกลับมาเล่าสู่กันฟังผ่านตัวอักษร
ภายในเล่มประกอบไปด้วยคอลัมน์อย่าง ‘คนบันดาลไฟ’ บทความที่ใช้ชื่อว่า “หาย (นะ) ไปไหน?” กล่าวถึงแรงบันดาลใจจากคนที่ไม่มีตัวตนจริงๆ แต่สามารถสร้างแรงบันดาลใจได้, คอลัมน์ ‘สิ่งที่หายไป’ เรื่องสั้นที่กล่าวถึงตัวการ์ตูนโดราเอมอน เมื่อเข้ามาอยู่ในยุคปัจจุบันพร้อมกับของวิเศษโลกจะเป็นอย่างไร, คอลัมน์ ‘Who am I?’ บทสัมภาษณ์ประกอบบทความที่พูดถึงตัวตนที่หายไปของเพศที่สาม คอลัมน์ ‘Picture พลิกเจอ’ คอลัมน์พักสายตาที่รวมภาพถ่ายคอนเซปต์ หาย, คอลัมน์ ‘มนุษย์ล่องหน’ บทสัมภาษณ์หลักของเล่ม ที่กล่าวถึงอาชีพที่มีอยู่จริง แต่เราไม่เคยรู้จักตัวตนของเขามาก่อน เช่น คนเก็บขยะ โกสต์ไรท์เตอร์ แอดมินเว็บเพจ, คอลัมน์ ‘คนหายในประวัติศาสตร์’ บทความที่เล่าถึงประวัติศาสตร์ของนางนพมาศที่อาจไม่มีตัวตนอยู่จริง และนอกจากนั้นยังประกอบไปด้วยคอลัมน์เรื่องสั้น, บทกวี, รีวิวหนังสือ ภาพยนตร์ เพลง และคอลัมน์ที่ชวนให้นึกถึงสิ่งที่เคยจำได้ แต่ลืมไปแล้ว
โดยรวมเป็นนิตยสารที่มีเนื้อหาเข้มข้น สื่อสารถึงประเด็นเรื่องสิ่งที่หายไปได้เป็นอย่างดี และหลังจากนั้นนักเขียนรุ่นพี่ได้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อคิดแก่นักเขียน รุ่นน้องเจ้าของผลงานเช่นเคย
คุณเต้ย ใบพัด ภาณุมาศ กล่าวว่า “เป็นนิตยสารที่น่าอ่านมาก ยิ่งได้มาฟังสิ่งที่แต่ละคนเล่าถึงการทำงาน ทำให้ได้เห็นการทำงานหนัก อยากฝากเรื่องความมั่นใจในตัวเอง เพราะเรื่องบางเรื่องอาจจะทำยาก ต้องใช้ความมั่นใจในการอธิบาย ซึ่งการหยิบยืมพลังงานจากต่างอุตสาหกรรมช่วยได้ดีเสมอ ผมทำงานหนังสือมาประมาณสิบปี บางทีก็ได้ความรู้มาจากหนังสือทำครัว หรือหนังสือศิลปะการป้องกันตัว ยกตัวอย่างหนังสือการเพาะพันธุ์ข้าวกล่าวว่า คุณสมบัติของข้าวที่ดีต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ นักเขียนอย่างเราก็เช่นกัน”
คุณต๊ะ - จักรพันธุ์ กล่าวว่า “ชอบคอนเซปต์ของนิตยสารมากๆ เหมือนจะเป็นนามธรรม แต่สามารถทำให้เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ซึ่งการทำงานภายใต้เงื่อนไขสามารถช่วยเราได้เหมือนกัน ทำให้เราหาอะไรบางอย่างเจอ”
และปิดท้ายที่คุณวิภว์ กล่าวว่า “ใน แง่คอนเซปต์ของเล่มนี้กับเล่มที่แล้วแตกต่างกัน เล่มนี้จะค่อนข้างนามธรรมกว่า ภาพรวมจะมีความฉีกไปฉีกมาก มีงานเขียนที่เบาๆ และเรื่องที่หนักมากอย่างเรื่องประวัติศาสตร์ พอเห็นคอนเซปต์แล้วรู้สึกว่ามีความทะเยอทะยาน ทำออกมาได้ก็ถือว่าสำเร็จแล้ว”
หลังจากที่นักเขียนทั้งสองกลุ่มได้นำเสนอผลงานและรับฟังความคิดเห็นจากนัก เขียนรุ่นพี่กันไปแล้ว ก็มาถึงช่วงที่เปิดโอกาสให้เยาวชนนักเขียนรุ่นน้องได้ถามนักเขียนรุ่นพี่ถึง ประสบการณ์ในการทำงานนิตยสาร ว่ามีความยากง่ายอย่างไร และเรียนรู้ที่จะอยู่ในวงการนิตยสารได้อย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้ก็เป็นแรงใจสำคัญสำหรับนักเขียนรุ่นน้องที่จะก้าวเข้ามาสู่ วงการนี้ต่อไป
ตลอดเวลาในโครงการ TK Young Writer 2013 กว่าหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นักเขียนหน้าใหม่ทุกคนต่างต้องพบเจออุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเขียนหรือการจัดการเรื่องเวลา ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วสิ่งที่นักเขียนหน้าใหม่ได้เรียนรู้จากโครงการนี้ นั่นคือ ‘การเดินแบบนักเขียน’ อาจไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำไม่ได้
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย