อุทยานการเรียนรู้ TK park เชิญชวนนักอ่านมาร่วมเปิดมุมมันส์ของวรรณคดีไทยกับ วิว ชนัญญา เตชจักรเสมา เจ้าของผลงานวรรณคดีไทยไดเจสต์ ในกิจกรรม TK Reading Club ตอน มัทนะพาธา ณ ห้องมินิเธียเตอร์ 2 อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 Dazzle Zone ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มนักอ่านที่มาให้กำลังใจอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ในงานยังมีการถ่ายทอดสด (live) ผ่านทางช่องทางของ TK park อีกด้วย
มัทนะพาธา : ความเจ็บปวดจากความรัก
วิวเกริ่นว่าเรื่องมัทนะพาธาเป็นวรรณคดีเรื่องโปรดตลอดกาลตั้งแต่ตอนอ่านครั้งแรกคือสมัยเรียนชั้น ม.5 เมื่อกล่าวถึงชื่อเรื่อง “มัทนะพาธา” น้องนักอ่านแสดงความเห็นว่ากุหลาบเป็นภาษาเปอร์เซีย ส่วนคำว่ากุหลาบในอินเดีย (หรือภาษาสันสกฤต) คือคำว่า กุพชกะ ซึ่งแปลว่านางค่อมด้วยหากยืดเสียงพยางค์ท้ายเป็น กุพชกา วิวเสริมว่ารัชกาลที่ 6 จึงไม่ทรงตั้งชื่อนางเอกด้วยคำนี้ ต่อมาพระองค์ทรงไปเจอคำว่า มัทนะ ที่แปลว่าความรัก จึงกลายเป็นชื่อเรื่องว่ามัทนะพาธา ที่แปลว่าความเจ็บปวดจากความรัก
ทั้งนี้หากพูดถึงตำนานดอกกุหลาบที่เราคุ้นน่าจะเป็นตำนานของกรีก-โรมันที่พูดถึงดอกไม้สีขาวที่มีหนามทิ่มแทงแล้วเลือดออกกลายเป็นดอกกุหลาบสีแดง ส่วนมัทนะพาธาเป็นสิ่งที่รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นมาใหม่ มีแค่เรื่องดอกกุหลาบที่เป็นเรื่องสากลที่แสดงถึงความรัก
วรรณคดีไทยมีแต่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ?
วิวบอกว่าวรรณคดีไทยไม่ได้มีแต่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ แต่มีอย่างอื่นเยอะมาก แต่คนไม่ได้โฟกัส เช่น ลิลิตโองการแช่งน้ำที่เป็นวรรณคดีเทิดทูนพระมหากษัตริย์ เป็นวรรณคดีที่เป็นฟังก์ชันการใช้งานหรือหากพูดถึงละครไทย อย่างละครเรื่องอยู่กับก๋ง คนก็ไม่ได้โฟกัส เพราะสนใจแต่เรื่องง่ายๆ เช่น เรื่องความรักอย่างเรื่องบ้านทรายทอง เหมือนเรื่องเพลงก็มีเรื่องรักเป็นหลักเพราะความรักก็เป็นแรงบันดาลใจทำให้คนแต่งสร้างชื่อได้ด้วย
มัทนะพาธาคือผลงานมาสเตอร์พีซของรัชกาลที่ 6
นักอ่านท่านหนึ่งร่วมแสดงความเห็นว่า มัทนะพาธาน่าจะเป็นผลงานชิ้นสำคัญของรัชกาลที่ 6 เพราะเป็นงานที่มีความแปลกใหม่ ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เอง มีฉันท์หลากหลาย และภาษาสละสลวย
น้องนักอ่านคนหนึ่งแสดงความเห็นว่ารู้สึกว่าเรื่องมัทนะพาธาไม่ได้เป็นงานที่แตกต่างจากงานอื่นของรัชกาลที่ 6 นัก เพราะพระองค์ทรงมีงานหลากหลาย มีผลงานแปล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศกุนตลา สาวิตรีหรือผลงานเชิงรัฐศาสตร์อย่างเรื่อง โคลนติดล้อ งานแต่ละด้านก็มีความโดดเด่นในแต่ละเรื่อง ส่วนเรื่องมัทนะพาธา แม้พระองค์จะทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นมาใหม่ แต่อนุภาค (motif) และความแอบเสิร์ด (absurd) ของตัวละครก็มีความอินเดียเช่น ท้าวสุเทษณ์ก็ไม่ค่อยมีเหตุผลไม่ได้ใหม่ขนาดนั้น
ส่วนวิวแสดงความเห็นว่ามัทนะพาธาถือเป็นผลงานมาสเตอร์พีซของรัชกาลที่ 6 เป็นผลงานชิ้นท้ายๆ ในชีวิตของพระองค์ เหมือนวิทยานิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 รวบรวมทุกอย่างที่เด็ดมากๆ จากทุกเรื่องมาไว้ในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เยอะมากในทุกด้าน ไม่ว่าจะภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษไม่ว่าจะเป็นกลอนสไตล์เชกสเปียร์ แปลงานอินเดียอย่างสาวิตรี ศกุนตลา โรเมโอและจูเลียต เวนิสวาณิช หัวใจนักรบ หัวใจชายหนุ่ม พระองค์ทรงมีผลงานทุกแนว เห็นสาวิตรีที่ฉลาดในการตอบโต้กับพระยมในนางมัทนาที่ตอบโต้กับสุเทษณ์ เห็นความงามของจูเลียตที่อยู่ในนางมัทนา เห็นการเมืองการปกครองในท้าวชัยเสน รวมผลงานทุกเรื่องในเรื่องนี้ กลอนก็สวยงาม
ผู้เจ็บปวดจากความรัก
วิวเกริ่นว่าเรื่องมัทนะพาธาซึ่งแปลว่าความเจ็บปวดจากความรัก ทุกตัวละครจึงประสบกับความเจ็บปวดจากความรัก เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นจากสุเทษณ์ เทพบนสวรรค์ (ไม่อยู่ในจักรวาลฮินดู) หลงรักมัทนาที่เป็นนางฟ้า แต่ตามตื๊ออย่างไรนางก็ไม่สนใจ สุเทษณ์ให้คนขับรถไปวาดรูปสาวงามทั่วโลกมา วาดมาหลายรูปแต่ก็รักแต่นางมัทนา ไม่มีใครสวยเท่า มายาวินผู้เป็นผู้มีมนตร์วิเศษถูกเรียกมาช่วยสุเทษณ์ มายาวินบอกว่าตนใช้มนตร์เรียกตัวมัทนามาได้ แต่ก็ไม่สามารถบังคับให้นางมัทนารักสุเทษณ์ได้ เพราะชาติก่อนสุเทษณ์เป็นกษัตริย์ หลงรักนางมัทนาที่เป็นลูกสาวอีกเมือง สุเทษณ์ไปจับพ่อนางมัทนามาและขู่ฆ่า มัทนายอมแกล้งแต่งงานด้วย แต่พอปล่อยพ่อก็ฆ่าตัวตาย ทำให้นางมัทนาผูกใจติดว่าอย่างไรก็ไม่รักสุเทษณ์
มายาวินเรียกมัทนามา มัทนาพูดจาตอบโต้กับสุเทษณ์แบบไม่มีสติเพราะตกอยู่ในมนตร์ เช่นเมื่อสุเทษณ์ถามว่ารักมั้ย นางก็ตอบว่ารักไม่รักก็ตามแต่ใจท่านสิ พอคลายมนตร์ มัทนาก็โวยวายและอย่างไรก็ไม่ยอมรับรักสุเทษณ์
สุเทษณ์โกรธมากจึงสาปมัทนาให้ลงไปเกิดเป็นดอกไม้ นางมัทนาเลือกเป็นกุพชกะหรือดอกกุหลาบในป่าหิมพานต์ นางมัทนากลายเป็นดอกไม้สวยงามมีหนามทุกวันยกเว้นคืนวันเพ็ญที่จะกลายร่างกลับมาเป็นมนุษย์ แต่ถ้าเจอความรักก็จะกลายร่างเป็นมนุษย์ตลอดไป แต่จะต้องเจ็บปวดจากความรักจนต้องร้องขอให้สุเทษณ์กลับมารับและพากลับสวรรค์
เมื่อนางมัทนากลายเป็นกุหลาบในป่า ลูกศิษย์สองคนของฤๅษีไปเจอและรับขุดกุหลาบมาปลูกใกล้อาศรม ฤๅษีรู้ว่านี่ไม่ใช่ดอกกุหลาบธรรมดา เมื่อมัทนากลายร่าง ฤๅษีก็รับเลี้ยงนางเหมือนเป็นลูกสาว นางมัทนาก็ดูและฤๅษีอย่างดี จนกระทั่งวันหนึ่ง ท้าวชัยเสนเสด็จประพาสป่าในคืนวันเพ็ญ จึงได้เจอนางมัทนา ทั้งสองผูกสมัครรักใคร่กัน เกิดคนธรรพวิวาห์ คือรักกันเองไม่ต้องขอพ่อแม่ นางมัทนากลายเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ ทั้งคู่ได้มาบอกกล่าวฤๅษี ฤๅษีจึงได้กล่าววรรคทองว่า
“ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน ไม่ยินและไม่ยล อุปสรรคใดใด ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิขังไว้ ก็โลดออกจากคอกไป บ ยอมอยู่ ณ ที่ขัง ถึงหากจะผูกไว้ ก็ดึงไปด้วยกำลัง ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง บ หวนคิดถึงเจ็บกาย” ฤๅษีรู้ว่าความรักของนางจะไม่สมหวัง แต่ก็ห้ามไม่ได้
ท้าวชัยเสนพานางมัทนากลับไป แต่ให้พักอยู่นอกเมือง เพราะความจริงท้าวชัยเสนแต่งงานแล้วกับนางจัณฑี ซึ่งเป็นการแต่งงานทางการเมือง ท้าวชัยเสนไม่ได้รักนาง แต่นางจัณฑีรักท้าวชัยเสน วันหนึ่งนางค่อมซึ่งเป็นคนรับใช้ของนางจัณฑีออกมาเก็บดอกไม้และรู้ว่าซ่อนนางมัทนาไว้นอกเมือง จัณฑีจึงฟ้องพ่อซึ่งเป็นเจ้าเมืองอีกเมืองหนึ่งว่าท้าวชัยเสนมีเมียน้อย ให้ยกทัพมาตี แต่ท้าวชัยเสนไม่กลัวเพราะเก่งกาจการรบและมีแววว่าจะชนะ
จัณฑีกับนางค่อมจึงนำหมอยาเข้ามาและหลอกท้าวชัยเสนว่านางมัทนาทำเสน่ห์ใส่ และใส่ความว่านางมัทนากับศุภางค์ ทหารคนสนิทของท้าวชัยเสนเป็นชู้กัน ท้าวชัยเสนไม่ได้ไต่สวนแต่สั่งประหารทั้งสองทันที ทั้งสองถูกปล่อยตัวไปเพราะความสงสาร นางมัทนาหนีกลับเข้าป่า ส่วนศุภางค์แอบไปช่วยท้าวชัยเสนรบจนตายในสนามรบ ท้าวชัยเสนชนะศึก ตัดศีรษะพ่อนางจัณฑีขาดและให้นางเอาศีรษะพ่อเดินทูนหัวกลับเมืองไป
ส่วนนางมัทนาคร่ำครวญเรียกหาสุเทษณ์เพื่อขอให้ท้าวชัยเสนกลับมารักเหมือนเดิม สุเทษณ์โกรธมากจึงสาปให้นางมัทนาเป็นกุหลาบตลอดไป หมอยามาสารภาพกับท้าวชัยเสน ท้าวชัยเสนรีบตามไปแต่ไม่ทัน จึงได้แต่ขุดดอกกุหลาบกลับไปปลูกที่ปราสาท จบโศกนาฏกรรมความรัก
วรรณคดีในดวงใจ
วิวกล่าวว่าที่เป็นวรรณคดีในดวงใจเพราะเห็นวิวัฒนาการของวรรณคดีไทยที่จบไม่แฮปปี้ แม้วรรณคดีของไทยจะมีเรื่องพระลอเมื่อนานมาแล้วที่จบแบบโศกนาฏกรรม แต่มัทนะพาธาได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกคือโรเมโอและจูเลียต มีลักษณะการชมความงามแบบตะวันตก เช่นของไทยพระลอเปรียบเป็นพระอาทิตย์ ผู้หญิงเปรียบเป็นพระจันทร์ ส่วนเรื่องมัทนาธา นางมัทนาเป็นพระอาทิตย์เองเลยเหมือนตอนชมความงามของจูเลียต
นอกจากนี้มัทนะพาธายังเป็นวรรณคดีที่มีความเป็นเอกภาพ ต่างจากเรื่องรามเกียรติ์หรืออิเหนาที่ไม่มีทางอ่านจบหรือเล่นจบในวันเดียวเพราะเป็นบทละครต้องหยิบมาเล่นเป็นตอนๆ
น้องนักอ่านร่วมแสดงความคิดเห็นว่าภาษาสละสลวย เนื้อเรื่องรักๆ ใคร่ๆ เหมาะกับสมัยม.ปลายที่กำลังสนใจเรื่องความรัก แต่ส่วนตัวไม่รู้สึกว่าแปลกใหม่ เพราะคุ้นชินกับคลับฟรายเดย์ และเหมือนคลับฟรายเดย์คือพระเอกมีแฟนอยู่แล้วแต่มารักคนใหม่
วิวเสริมว่าเหมือนละครเรื่องนางสาวทองสร้อย และน่าสนใจว่าหากมีการนำเรื่องมัทนะพาธามาทำให้เป็นยุคปัจจุบัน สุเทษณ์คงเป็นซีอีโอบริษัทที่บังคับมัทนาให้เป็นเลขาฯ (นักอ่านหัวเราะ)
มัทนะพาธาต่างจากวรรณคดีไทยสมัยโบราณเรื่องอื่นอย่างไร
น้องนักอ่านแสดงความคิดเห็นว่า เรื่องมัทนะพาธาได้รับอิทธิพลจากตะวันตก มีการแยกบทบรรยายกับบทพูดออกจากกัน
วิวเสริมว่าการจัดฉากก็เหมือนตะวันตก ต่างจากรามเกียรติ์ที่อ่านแล้วต้องมาตีความใหม่เพราะเขียนรวมกันหมด ไม่ได้แยกว่าใครพูดอะไรในขณะที่เรื่องมัทนะพาธามีบอกทั้งหมด ไม่ว่าจะการจัดเวที การเปิดเพลง การเดินออกฉาก การบรรยายถึงโต๊ะเก้าอี้ ตัวละครชัดเจนว่าใครพูดประโยคไหน เหมือนคนคุยกันปกติตอบโต้กัน ไปจนถึงบอกว่าทำไมต้องใช้กาพย์แบบนี้ ตอนไหนต้องเล่าเร็วก็เปลี่ยนมทใช้ฉันท์แบบเร็วๆ ฉากไหนต้องการพร่ำพรรณนาก็เปลี่ยนรูปแบบฉันท์
ตัวละครที่ชอบที่สุดในเรื่องมัทนะพาธา
น้องนักอ่านแสดงความเห็นสุดแหวกแนวว่า ชอบนางค่อมที่เป็นคนขี้เมาท์ช่างฟ้อง
นักอ่านอีกท่านร่วมแสดงคามเห็นว่าชอบศุภางค์ทหารเอกของท้าวชัยเสน เพราะหล่อเท่ ชายชาติทหาร รักชาติ
น้องนักอ่านอีกคนหนึ่งบอกว่าถ้าเป็นสมัยนี้อาจจะเลือกชอบสุเทษณ์เพราะรวยและมีอำนาจ
ส่วนวิวกล่าวว่า ชอบเรื่องที่กลมกล่อม แต่ไม่ได้ชอบตัวละคร อย่างไรก็ตามอ่านแล้วก็อิน รำคาญความใจง่ายของมัทนา และไม่ชอบที่ชัยเสนไม่เคลียร์เรื่องภรรยาก่อน แต่ถ้าให้เลือกว่าชอบใครที่สุดน่าจะเป็นพระฤๅษี (เรียกเสียงหัวเราะจากนักอ่านได้ทั้งห้อง) เพราะชิลดี ตั้งแต่ขุดกุหลาบมาปลูก รับเป็นลูกสาว ถ้าอกหักก็กลับมา
มัทนะพาธา : ใครเจ็บเพราะความรักมากที่สุด
น้องนักอ่านแสดงความเห็นว่า ท้าวชัยเสนน่าจะเจ็บที่สุดเพราะหลงเชื่อคนที่ไม่ได้รักไปทำร้ายคนรัก สุดท้ายไม่เหลือใครอยู่ข้างตัวเลย แม้แต่คนรับใช้ใกล้ชิดก็ตายไป วิวเสริมว่าท้าวชัยเสนเจ็บเพราะทำตัวเอง
นักอ่านอีกคนแสดงความเห็นว่าตัวละครทุกตัวเจ็บคนละแบบ สุเทษณ์ก็เจ็บเพราะเป็นคนเริ่มเรื่อง หลอกตัวเองไปวันๆ มัทนาเจ็บเพราะตัดสินใจผิดพลาด
น้องนักอ่านคนหนึ่งกล่าวว่ามัทนาเจ็บที่สุด เดี๋ยวโดนสาป เดี๋ยวโดนสั่งประหาร ตอนแรกปิดกั้นตัวเองเหมือนกุหลาบมีหนามป้องกันตัว พอเปิดใจก็โดนทำร้าย พอสุดท้ายต้องปิดกั้นตัวเองตลอดชีวิต เป็นดอกกุหลาบ
วิวกล่าวว่าตัวละครในเรื่องอย่างจัณฑีก็น่าสงสาร ถ้าเราเป็นจัณฑีเราจะอยู่เฉยเหรอ ก็ไม่ ฉันผิดตรงไหน ฉันรักเขา และได้แต่งงานกับคนที่รัก แล้วเป็นเมียหลวงด้วย ทำไมต้องยอมเมียน้อย น้องนักอ่านจึงเสริมว่าเหมือนมเหสีในซีรีส์เกาหลีเรื่องทงอี พอละครเล่าในมุมมองของมเหสี มเหสีก็ไม่ได้ร้าย
วรรณคดีไทยให้อะไร
น้องนักอ่านแสดงความเห็นว่าเรื่องนี้มีความแอบเสิร์ด อย่างมัทนาอยู่ดีๆ ก็โดนสาปอยู่เรื่อยๆ มันไม่ใช่เรื่องบุญกรรมอะไรเลย มัทนาไม่ได้ทำอะไรผิดก็โดนตลอด สุเทษณ์สุดท้ายก็ยังมีอำนาจเสวยสุขบนสวรรค์เหมือนเดิม ทำให้เห็นว่าอำนาจมันไม่เท่ากัน ไม่มีความเท่าเทียมที่แท้จริง
วิวเสริมว่าสมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มมีอิทธิพลความคิดตะวันตกเข้ามา เริ่มมีคอนเซ็ปต์ความรักแบบใหม่คือการกล่าวถึงเรื่องความรักว่าการหาคนที่รักกันจริง ๆ และเข้ากันได้จริง ๆ มันยาก สมัยนั้นเริ่มมีการหย่า อย่างเรื่องหัวใจชายหนุ่ม พูดถึงตัวละครเอกชายที่แต่งงานกับสาวจีนที่เรียบร้อยมาก พระเอกไม่ชอบ จึงเลิกกัน ไปแต่งงานกับคนที่สอง คนนี้เที่ยวกลางคืนทุกคืน ไปด้วยกันไม่ได้ก็เลิกกัน จนกระทั่งไปเจอคนที่สามถึงเข้ากันได้ เริ่มมีคอนเซ็ปต์ใหม่ว่าผู้หญิงไม่ใช่เพียงเครื่องประดับหรือสมบัติของผู้ชายอีกแล้ว
ผู้หญิงในวรรณคดีไทยไม่มีสิทธิ์?
วิวย้อนถามว่าคำว่าวรรณคดีไทยนิยามอย่างไร เขียนเป็นภาษาไทยไหม อย่างเรื่องพระอภัยมณีนางละเวงเป็นตัวละครที่ได้รับอิทธิพลจากควีนวิคตอเรีย นางละเวงก็มีสิทธิ์มีเสียง มีอำนาจมาก ผู้หญิงในวรรณคดีไทยมีไม่กี่คนที่มีสิทธิ์เลือกในชีวิตนอกจากนางละเวง คือ นางรจนาเลือกสามีเองได้ สาวิตรี และมัทนา สมัยก่อนสังคมไทยแบ่งหน้าที่ชัดเจน ผู้ชายทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงอยู่ดูแลบ้าน มีอำนาจมีสิทธิ์ในบ้าน
บทเรียนจากเรื่อง
วิวตอบว่าบทเรียนที่ได้จากเรื่องมัทนะพาธาคือ ไม่มีอะไรในโลกที่เราควบคุมได้โดยเฉพาะเรื่องความรัก ความรักคือความเจ็บปวด นอกจากนี้วรรณคดีต้องใช้คำดีและก้าวข้ามผ่านเวลา คือสิ่งสอนใจยังคงสอนได้อยู่แม้ผ่านยุคสมัยมานาน
วรรคโปรดในดวงใจ
วิวกล่าวว่าวรรคโปรดในดวงใจคือ ตอนที่สุเทษณ์ตอบโต้กับนางมัทนา เป็นการบิดคำและเล่นคำที่ไพเราะ เนื่องจากนางมัทนาต้องมนตร์ให้พูดตามใจสุเทษณ์จึงมีการเล่นคำ เช่น สุเทษณ์จีบนางมัทนาว่า “อ้าโฉมวิไลยะสุปริยา มะทะนาสุรางค์ศรี พี่รักและกอบอภิระตี บมีเว้นสิเน่ห์นัก บอกหน่อยเถิดว่าดะรุณีเจ้า ก็จะยอมสมัครรัก” มัทนาตอบกลับว่า ตูข้าสมัครฤมิสมัคร ก็มิขัดจะคล้อยตาม คือจะสมัครหรือมิสมัครก็แล้วแต่ท่าน ตามใจท่าน เป็นการเล่นคำย้อนสุเทษณ์
นักอ่านท่านหนึ่งบอกว่า ชอบบทท้าวชัยเสนจีบนางมัทนา มัทนาบอกถ้าตามท้าวชัยเสนไปเลยก็ดูใจง่าย ท้าวชัยเสนจึงบอกว่า “เหมือนโฉมดะรุณี นะแหละยื่นสุหัตถ์มา ล้วงใจดนุคร่า และกระลึงหทัยไว้ แต่นั้นก็อนงค์ นะสิยังบคืนให้ กำดวงฤดิใน วรหัตถะแน่นครัน! หากนางบมิชอบ และจะคืนหะทัยนิ้น ข้านี้ก็จะศัล ยะพิลาปพิไรวอน” คือเป็นการบอกว่านางมัทนากำหัวใจข้าไว้แล้ว จะบีบก็ตายจะคลายก็รอด
วิวเสริมว่าอีกท่อนที่ชอบเป็นอีทิสังฉันท์ ให้ความรู้สึกวิ้งวับแวววาวบรรยายความรักที่โลกเป็นสีชมพูได้ดี เช่น “อ้าแอร่มระเรื่อรุจี ประดุจมะโนภิรมระตี ณ แรกรัก แสงอรุณวิโรจน์นะภาประจักษ์ แฉล้มเฉลาและโสภินัก ณ ฉันใด หญิงและชาย ณ ยามระตีอุทัย สว่าง ณ กลาง กะมลละไม ก็ฉันนั้น”
ความรักในวรรณคดีไทย
น้องนักอ่านคนหนึ่งออกตัวว่าในชั้นเรียนยังไม่ได้เรียนวรรณคดีที่เกี่ยยวกับเรื่องรักมากนัก แต่หากกล่าวถึงความรักก็ชอบเรื่องความรักของแม่กับลูกในเรื่องขุนช้างขุนแผนที่วันทองรักพลายงาม
วิวกล่าวว่าเรื่องความรักในวรรณคดีมีมากมายอย่างเรื่องกามนิต-วาสิฏฐี ความรักคือสีนิลเหมือนศอพระศิวะที่รักคนทั้งโลกเลยยอมกลืนพิษจนศอเป็นสีดำ ส่วนเรื่องสาวิตรี “ความรักเหมือนน้ำอมฤต ได้ดื่มแล้วชื่นจิตพิศวง ระงับโรคโศกสูญพูนพะวง เพราะรักรื่นยืนยงยั่วยวนใจ” ส่วนใหญ่ในวรรณคดีไทยก็สมหวังเรื่องความรักแต่ในปัจจุบันนี้ความรักไม่สมหวังมากขนาดนั้น ถ้าจะให้ตรงกับยุคสมัยหน่อยก็น่าจะท่อนวรรคทองของพระฤๅษี “ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน”
ส่วนความรักในเรื่องมัทนะพาธาที่แฝงอยู่นอกจากความรักเรื่องชาย-หญิงคือ ความรักชาติ ตามแบบนิยมของสมัยรัชกาลที่ 6 คือต้องมีความชาตินิยม เพราะเป็นช่วงใกล้สงครามโลกครั้งที่ 1 เช่น ความรักชาติรักกษัตริย์ของศุภางค์ ยอมไปตายในสงคราม
โศกนาฏกรรมความรักแบบโรเมโอและจูเลียต!?
วิวกล่าวว่าเรื่องมัทนะพาธาไม่เหมือนเรื่องโรเมโอและจูเลียต เพราะโครงเรื่องต่าง โรเมโอและจูเลียตเป็นความรักต้องห้ามของสองตระกูลที่เกลียดกัน เป็นเงื่อนไขของสังคม ขณะที่เรื่องมัทนะพาธารักกันได้ แต่ตัวเองสร้างเงื่อนไขไว้เอง
ทางออกของความรักของนางมัทนา
ช่วงสุดท้ายของเสวนาในวันนี้คือการร่วมกันหาทางออกให้ความรักที่ไม่สมหวังของนางมัทนาว่า “ถ้าหากเราเป็นนางมัทนา จะทำอย่างไร” นักอ่านคนแรกบอกว่าให้ฤาษีเข้าฌาน ช่วยเช็กให้ก่อนว่าท้าวชัยเสนว่างมั้ย มีเมียหรือยัง ค่อยตัดสินใจว่าจะไปกับเขา เรียกเสียงหัวเราะแก่ทั้งห้องว่าเป็นไอเดียที่ดี
นักอ่านอีกคนกล่าวว่า นางมัทนาควรอยู่บ้าน ไม่ต้องไปกับใครเลย ไม่ควรไปด้วยแต่แรก เพราะต่อให้ไปเป็นมเหสี เดี๋ยวท้าวชัยเสนก็มีสนมอีก น่าจะอยู่กับฤๅษี
ส่วนริบบิ้น พิธีกรสาวบอกว่า พ่อสอนว่าให้รักคนที่รักเรา คงจบที่สุเทษณ์แต่แรก วิวถามกลับว่าแล้วสุเทษณ์รักจริงมั้ย เป็นคนเจ้าอารมณ์และมีอำนาจมากอาจจะน่ากลัวเกินกว่าจะอยู่ด้วย
วิวแสดงความเห็นว่าสุเทษณ์ไม่ได้ใหญ่ที่สุดในสวรรค์ ถ้าตนเป็นนางมัทนาคงไปหาพระอินทร์เพื่อฟ้อง อีกทั้งจริง ๆ หากสาปมาก็สาปกลับได้
สุดท้ายวิวฝากว่า TK Reading Club เปิดมุมมันส์ของวรรณคดีไทย เป็นวงสนทนาที่มีแต่คนรักชอบวรรณคดีจึงรู้สึกสนุกและยินดีมากที่มีการจัดเสวนาเช่นนี้ขึ้น
กิจกรรม TK Reading Club ตอน มัทนะพาธา จบลงพร้อมความอบอุ่นและความสนุกสนาน วิทยากรและนักอ่านทุกท่านได้ร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
แล้วพบกับกิจกรรมดี ๆ เช่นนี้ได้ใหม่ในโอกาสหน้า
...เพราะการอ่านไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในตำราเรียน...
Chestina Inkgirl