5 วิธีปลูกฝังให้ลูกน้อยรักการอ่าน ไปกับแพทย์หญิงเสาวภา พรจินดารักษ์
หากกล่าวถึงการอ่านนอกจากจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสติปัญญา ยังเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ ลูก คนในครอบครัว ผู้ปกครองจึงมีบทบาทสำคัญในการเปิดโลกการเรียนรู้ของลูกผ่านการอ่าน การเล่าเรื่อง หรือการเล่านิทาน ล้วนแต่เป็นแนวทางการเตรียมความพร้อมเด็กให้มีศักยภาพ เพื่อการเรียนรู้ได้ในระยะยาว
อุทยานการเรียนรู้ TK park จัดกิจกรรมชวนคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองที่สนใจ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิด ในหัวข้อ “เริ่มต้นการอ่านอย่างไรให้เหมาะกับวัยของลูกน้อย” โดย แพทย์หญิงเสาวภา พรจินดารักษ์ เจ้าของเพจ “หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก” หนังสือ “ปราบลูกดื้อ รับมือลูกกินยาก” และนิทานชุด “รัน”, “ทั่นทั่น”, “หมีน้อย...เก่งจัง”
ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านได้ตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง
ตอนที่เด็กอยู่ในท้อง เขาได้ยินเสียงแม่อยู่แล้ว เคยมีงานวิจัยบอกว่า เพลงที่คุณแม่เปิดบ่อยๆ ตอนลูกอยู่ในท้อง พอเขาคลอดออกมาแล้ว เขาจะมีปฏิกิริยากับเพลงนั้น ซึ่งสะท้อนบอกได้ว่าเด็กสามารถจำอะไรตอนที่เขาอยู่ในครรภ์ เพราะฉะนั้นการที่บอกว่าเรามานั่งอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง อาจจะไม่ได้ตรงไปตรงมาว่าลูกจะรักการอ่าน แต่ทำให้เขาคุ้นชินกับเมโลดี้
อ่านนิทานให้เด็กปฐมวัยฟัง เพื่อสร้างกิจวัตรการคุ้นชินกับเสียง
หนังสือนิทานมีลักษณะการอ่านหลายแบบ เราไม่ได้เน้นให้เด็กเข้าใจ แต่เน้นให้คุ้นชินกับโทนเสียง โดยเฉพาะหนังสือที่มีคำคล้องจอง หมอคิดว่าถ้าอ่านให้เด็ก 2-3 ขวบ ฟัง เขาไม่ได้เข้าใจ แต่เขาจะชินกับเสียง ยิ่งอ่านให้เขาฟังทุกคืนๆ ยิ่งทำให้ชีวิตเขามีรูปแบบ
อ่านให้สมบทบาท และทำให้ลูกใช้ทั้งตามอง หูฟัง
สิ่งที่ทำให้เปิดหูเขาได้ คือวิธีการเล่า เวลาเล่าหนังสือ เราอาจต้องใส่น้ำเสียงสื่อความรู้สึก และต้องสอดคล้องไปกับสีหน้า อันนี้จะช่วยให้เด็กจดจ่ออยู่กับหนังสือได้ คือสิ่งที่เขามองตรงหน้า สอดคล้องกับเสียง และเมื่อเด็กอายุประมาณ 1-1.5 ขวบ พ่อแม่ ควรคิดถึงประโยคยาวๆ ไม่ควรใส่แต่คำโดด ไม่อย่างนั้นลูกก็อาจจะจำเป็นชิ้นๆ สิ่งที่ควรทำคือ ควรเชื่อมให้เป็นประโยคยาวๆ โดยใส่สีหน้า ท่าทางให้เด็กเข้าใจประโยคนั้น
พูดคุยกับลูกอย่างสนุกสนานระหว่างอ่าน เพื่อช่วยให้เด็กคิดเป็น รู้จักตั้งคำถาม หาคำตอบ
คำถามจะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ 1-2 ขวบ เด็กมักมีคำถาม เวลาเราเล่า อะไร ใคร ที่ไหน เช่น ใคร โดนฉีดยา ซึ่งคำตอบมันก็ตรงตัว ไม่ซับซ้อน และจะง่ายกับคำถามว่าทำไม ซึ่งจะเกิดเมื่อเด็กประมาณ 3 ปี จะเริ่มถามว่าทำไมเพราะจะมีการวิเคราะห์เกิดขึ้น คำถามว่า ทำไม ทำให้เด็กแตกฉานทางความคิด หมอจะมีสูตรอย่างนี้ เวลาถาม เราถามเพื่อทบทวนว่าลูกเข้าใจไหม ซึ่งเป็นฝึกให้เขาได้คิดย้อนกลับ ตรงนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุย ให้คำแนะนำเพิ่มเติมกับลูกน้อยได้ เพื่อให้ลูกเกิดความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ
อ่านเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ด้วยการชวนเด็กจินตนาการถึงตัวละครเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมที่ดี
อันที่หนึ่ง ให้เด็กคิดภาพตาม อันที่สอง เราอยากให้เขามีแรงบันดาลใจ ซึ่งการอ่านบางทีสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกได้ เพราะฉะนั้นเวลาอ่านเราต้องมีแรงบันดาลใจ ต้องพยายามชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอในคนที่มีพฤติกรรมที่ไม่ดี คือถ้าเราไม่คิดว่าอ่านเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ จะกลายเป็นการอ่านเพื่อเปรียบเทียบ เช่น ลูกมีพฤติกรรมกินข้าวยาก เราอาจยกนิทาน ทันทั่น นี่ลูกดูสิ ทันทั่นกินข้าวไป ดูไอแพตไป เขาจะกินหมดหรือเปล่านี่ ไม่ใช่ ไปใส่ลูกว่า ดูสิทันทั่นกินข้าวไป ดูไอแพตไป ดูสินี่มันดีไหม ถ้าเขาต้องฟังนิทานแล้วเจอแบบนี้ เขาจะรู้สึกว่าโดนอบรมหลายรอบ ทั้งตอนกินข้าวจนถึงตอนฟังนิทาน ฉะนั้นเราควรอ่านเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรม ชี้ให้เขาเห็นว่าสิ่งที่ทันทั่นทำ จะส่งผลอย่างไร ชวนลูกคิดเรื่องตัวละครในนิทาน พอเขาต้องตอบ เขาจะนึกถึงตัวเอง และถ้าเขาตอบได้ดี เราก็ต้องเสริมแรงบวกเข้าไป เขาจะก็ได้คิดว่า เออจริงด้วยเนอะ หรือเราควรเปลี่ยน