TK Reading Club ตอน เหมืองแร่
เมื่อวันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2559 เวลา 14.00 น. ที่ผ่านมานี้ อุทยานการเรียนรู้ TK park เชิญชวนนักอ่านคอวรรณกรรมเข้าร่วมกิจกรรม TK Reading Club ณ ห้อง Learning Auditorium อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 Dazzle Zone ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในตอน “เหมืองแร่” ชวนนักอ่านสัมผัสเสน่ห์ของเรื่องราวชีวิตชาวเหมืองแร่ปักษ์ใต้เมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว ที่ผูกพันกันตั้งแต่หัวหน้างานจนถึงแรงงาน จากปลายปากกาของนักเขียนเรื่องสั้นชั้นครูผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบรรณาธิการแห่งบรรณาธิการ “คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2534 ผู้ซึ่งได้รับรางวัลและการยกเป็นนักเขียนอมตะ ประจำปีพุทธศักราช 2557 จากมูลนิธิอมตะ โดยในวันนี้ได้รับเกียรติจากพี่ยศ วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเลี้ยงห้าแก้ว ก่อตั้งโดยคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ และผู้ก่อตั้งบริษัท คาริศมา (เวิลด์ไวด์) จำกัด มาเป็นวิทยากร ทั้งนี้พี่ยศได้มาถ่ายทอดและเล่าเรื่องราวชีวิตของคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ตั้งแต่ช่วงที่เริ่มเขียนหนังสือ ในส่วนนักอ่านที่มานั่งล้อมวงพูดคุยก็ให้การต้อนรับกันอย่างอบอุ่นทีเดียว
เริ่มต้นชีวิตชาวเหมืองแร่
ต่อข้อสงสัยที่ว่า เหตุใดคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์จึงเลือกจะไปใช้ชีวิตที่เหมืองแร่ พี่ยศเล่าว่าคุณอาจินต์ไม่ได้เลือก แต่คุณพ่อของคุณอาจินต์คือ ขุนปัญจพรรคพิบูล (พิบูล ปัญจพรรค์) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาบังคับให้ไปซึ่งตอนนั้นคุณอาจินต์กำลังเรียนอยู่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจวบกับเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณอาจินต์หนีไปอยู่ต่างจังหวัด จึงสนิทกับชาวบ้านและสนใจแง่มุมเรื่องราวชีวิตของชาวบ้านซึ่งจุดเชื้อไฟความอยากเป็นนักเขียนมากกว่าวิศวกร คุณอาจินต์จึงพยายามเขียนหนังสือมาตลอด ซึ่งภาษาก็ไพเราะแต่เนื้อหาไม่แน่น ไม่มีแก่นเรื่อง คุณพ่อจึงพาไปทำงานเหมืองแร่เพื่อให้รู้จักการทำงานจริง ๆ
ราว พ.ศ. 2492 เมื่อไปอยู่เหมืองได้ราวครึ่งปี คุณอาจินต์ก็เขียนเรื่องสั้นเรื่อง “เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก” ได้ลงตีพิมพ์ในพิมพ์ไทย ได้ค่าเรื่อง 80 บาท ซึ่งก็ถือว่าได้เยอะ (ราว 5,000 บาทในสมัยนี้) คุณชอุ่ม ปัญจพรรค์ (พี่สาว) จึงมารับกลับกรุงเทพ แต่คุณอาจินต์ไม่กลับ เพราะตั้งใจว่าจะทำงานเหมืองแร่ สลับกับเขียนเรื่องส่งไปสำนักพิมพ์ แต่ช่วงนั้นก็ยังไม่ได้ลงตีพิมพ์อะไรอีก แต่คุณอาจินต์ก็ไม่ท้อ ไม่กลับ ยังคงทำงานต่อไปทั้งที่ไม่มีใครบังคับ และทั้งที่คุณพ่อก็ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอื่นแล้วด้วย
คุณอาจินต์ทำงานในเหมืองแร่หลายปี ช่วงท้าย ๆ ของการใช้ชีวิตเหมืองคือช่วงที่เรือขุดแร่เริ่มจมเพราะไม่มีแร่ให้ขุด เงินนายช่างฝรั่งก็หายไปกับเรือ นายช่างฝรั่งจึงเลิกกิจการเหมืองแร่ คุณอาจินต์ซึ่งเป็นคนสนิทของนายฝรั่งไม่ได้ตามนายฝรั่งไปขุดแร่ต่อที่ออสเตรเลีย แต่นายฝรั่งก็ได้มอบใบประกาศนียบัตรเหมืองแร่แก่คุณอาจินต์ก่อนกลับกรุงเทพฯ
ชีวิตนักประพันธ์เหมืองแร่
ถึงตอนนี้พี่ยศได้โชว์สมุดการทำงานของคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ให้นักอ่านดู ซึ่งแสดงให้เห็นความรักและมุมานะในอาชีพของตนอย่างยิ่ง เพราะคุณอาจินต์ขวนขวายศึกษางานเขียนของนักเขียนท่านอื่น ๆ แล้วจดเอาไว้ว่าอ่านหนังสือของใครแล้วบ้าง เช่น ศรีบูรพา แม่อนงค์ น.ม.ส. ฮิวเมอริสต์ คึกฤทธิ์ หลวงวิจิตรวาทการ เสฐียรโกเศศ นาคะประทีป
เมื่อคุณอาจินต์กลับมาจากเหมืองแร่ก็เริ่มต้นเขียนหนังสือ ทั้งบทนำ บทความ บันทึก ความเรียงพรรณนาชีวิตเหมืองแร่ โดยได้ลองเขียนนวนิยายหลายแบบ เช่น แนวบู๊ แบบอรชรและอรวรรณ ในชื่อ “นรกเหมืองแร่” แต่เขียนไม่จบ ต่อมาคุณอาจินต์ได้เขียนเรื่อง “ในเหมืองแร่มีนิยาย” ซึ่งเป็นนวนิยายเรื่องแรกจนจบ และได้รับการตีพิมพ์ที่บูรพาภิรมย์ของยาขอบ แต่ยังไม่ได้ค่าเรื่องเนื่องจากเป็นธรรมเนียมของนักเขียนในสมัยก่อนที่จะยังไม่ได้รับค่าเรื่องหากยังไม่มีชื่อเสียง
คุณชอุ่ม ปัญจพรรค์ก็แนะนำให้เขียนหนังสือต่อไปเพราะเห็นว่าน้องชายเขียนหนังสือได้แล้ว คุณอาจินต์จึงเขียนนวนิยายเรื่อง “บ้านแร่” ได้ลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารโฆษณาสารซึ่งคุณชอุ่มเป็นบรรณาธิการเมื่อปีพ.ศ.2496 บ้านแร่เป็นเรื่องที่คุณอาจินต์แต่งขึ้นแต่ยังไม่ชอบนัก เพราะภาษายังไม่เป็นตัวของตัวเองเท่าไหร่
จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2497 เรื่องสั้นเรื่องแรกนับจากกลับจากเหมืองแร่คือ “สัญญาต่อหน้าเหล้า” ได้ลงตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ภายใต้นามปากกา “จินตเทพ” โดยมีประหยัด ศ. นาคะนาทเป็นบรรณาธิการ
พี่ยศเผยว่าแนวการเขียนของคุณอาจินต์คือ การเขียนจากประสบการณ์จริง เช่น เรื่องสัญญาต่อหน้าเหล้า มาจากเรื่องจริงในวงเหล้าหน้าบ้านของคุณอาจินต์เกิดจากการมอง สังเกต แล้วจินตนาการ ดังที่คุณอาจินต์เคยกล่าวว่า “ไม่มีอะไรจะเชือดเฉือนได้เท่ากับเรื่องจริง”
จากเรื่องสั้นเรื่องนี้เองที่เป็นจุดกำเนิดทำให้คุณอาจินต์เริ่มมีชื่อเสียง เวลานั้นจึงเขียนเรื่องสั้นส่งสยามรัฐกับนิตยสารฉบับอื่น ๆ หลาย ๆ ที่ เช่น สายฝนบ้าง ชาวกรุงบ้าง บรรณาธิการถึงกับมารองานจากคุณอาจินต์
กำเนิดเรื่องสั้นเรื่องแรกจากเหมืองแร่
คุณอาจินต์กลั่นกรองเรื่องสั้นจากประสบการณ์ชีวิตในเหมืองแร่ 4 ปี โดยที่ไม่ได้บันทึก ใช้วิธีจดจำเรื่องราว ช่วงที่คุณอาจินต์เริ่มเขียนเรื่องสั้นจากเหมืองแร่นั้นจึงเขียนตามที่นึกออก เหตุการณ์จึงไม่เรียงตามลำดับเวลา
ปี พ.ศ.2503 เรื่องสั้นเรื่องแรกจากเหมืองแร่คือ “ผีตัวแรก” ได้ตีพิมพ์ เป็นการเล่าประสบการณ์เจอผีในวันแรกของคุณอาจินต์ที่ไปนอนห้องพักคนงานที่เหมืองแร่ โดยกลายเป็นเรื่องขำขันหักมุมไปเมื่อคุณอาจินต์รู้ในที่สุดว่าเสียงที่นึกว่าเป็นผี แท้จริงคือเสียงของสัตว์ที่ติดอยู่ในห้อง แต่เมื่อรู้แล้ว คุณอาจินต์กลับไม่ได้เอามันออกไปจากห้อง เพราะกลัวว่าจะได้ยินเสียงขึ้นมาอีกทั้ง ๆ ที่เอามันออกไปแล้ว
เรื่องสั้นฉีกแนวของไทย
เวลานั้นเรื่องสั้นของคุณอาจินต์ถือเป็นความแปลกใหม่ในแวดวงวรรณกรรมไทยเนื่องจากนิตยสารต่าง ๆ นิยมตีพิมพ์เรื่องยาวเป็นตอน ๆ คือ นวนิยาย หรือเรื่องสั้นขนาดยาว เช่นของมาลัย ชูพินิจ แม่อนงค์ เพื่อให้ผู้อ่านติดตามทุกเล่ม ขณะที่เรื่องของคุณอาจินต์กลับเป็นเรื่องสั้นจบในตอน แต่ก็ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากผู้อ่าน
นอกจากรูปแบบวรรณกรรมของคุณอาจินต์จะแตกต่างจากนักเขียนท่านอื่นแล้ว แนวเรื่องก็ยังแตกต่างด้วย คือหลายสำนักพิมพ์นิยมพิมพ์นวนิยายแนวพาฝัน เป็นเรื่องของคนมีฐานะ ไม่มีใครอยากพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับแรงงานอย่างเหมืองแร่
รวมเล่มเหมืองแร่
หลังจากประสบความสำเร็จจากเรื่องสั้นสัญญาต่อหน้าเหล้า ปี พ.ศ.2498 คุณอาจินต์ทำงานเขียนอย่างเต็มตัว ทั้งเขียนเรื่องสั้นส่งนิตยสาร และถูกรับเข้าทำงานทำหน้าที่เขียนผังรายการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม จนกระทั่งปี พ.ศ.2499 ได้เป็นบรรณาธิการนิตยสารรายเดือน “ไทยโทรทัศน์” ของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 ระหว่างนั้นได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มากมาย เช่น ได้ไปดูงานด้านโทรทัศน์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้เขียนเล่าเรื่องเป็นบทความรายวัน คือ “คนเมืองนอก” พร้อม ๆ กับการซื้อหาเรื่องสั้นและนวนิยายภาษาอังกฤษมาอ่านเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมซื้อ เช่นเรื่องที่ชอบมากคือ “The complete poetry and prose of Walt Whitman” ซึ่งช่วงนี้เองที่คุณอาจินต์ไม่ได้เขียนเรื่องสั้นเพราะต้องเขียนบทละครโทรทัศน์ (ลักษณะเหมือนซิตคอม) เป็นตอน ๆ กว่า 50 เรื่อง
ต่อมาในปี พ.ศ.2508 คุณอาจินต์ได้รวบรวมเรื่องสั้นและตั้งชื่อหนังสือรวมเรื่องสั้นว่า “ตะลุยเหมืองแร่” เพื่อตีพิมพ์เองภายใต้ชื่อสำนักพิมพ์ “โอเลี้ยงห้าแก้ว” ซึ่งเขาก่อตั้งขึ้น โดยรวบรวมเรื่องสั้น 13 เรื่อง พร้อมกันนี้ยังรวมเอาบทความเรื่อง “สีชมพูยังไม่จาง” ที่ลงตีพิมพ์ในวารสารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาตีพิมพ์ด้วย พี่ยศกล่าวเพิ่มเติมอย่างติดตลกว่าคุณอาจินต์เรียกว่า “บ่นความ” เนื่องจากกล่าวถึงเรื่องที่รุ่นพี่ร่วมคณะของคุณอาจินต์คนหนึ่งกล่าวว่าในเชิงดูถูกที่คุณอาจินต์ไปทำงานใช้แรงงานที่เหมืองแร่ คุณอาจินต์จึงเขียนตอนหนึ่งในบทความชิ้นนี้ว่า “สีชมพูจะไม่จางด้วยเหงื่อ แต่มันจะจางด้วยน้ำลาย”
ผลปรากฏว่ารวมเรื่องสั้นตะลุยเหมืองแร่ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก จึงทำให้มีรวมเรื่องสั้นเหมืองแร่เล่มที่สองตามมา คือ “เหมืองน้ำหมึก” โดยรวบรวมเรื่องสั้นส่วนใหญ่จากสยามรัฐกับชาวกรุง รวมทั้งรวบรวมผลงานเก่า ๆ ที่มีชื่อไว้ด้วย คือ เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก
จากนั้นคุณอาจินต์ก็รวบรวมเรื่องสั้นจากเหมืองแร่เรื่อยมา คือ เล่มที่สาม "เสียงเรียกจากเหมืองแร่" รวบรวมเรื่องสั้น 19 เรื่อง เล่มที่สี่ สวัสดีเหมืองแร่ โดยในเล่มนี้ยังตีพิมพ์เรื่อง “น้ำกับน้ำใจ” ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสั้นที่มีชื่อเสียงพอสมควรในสมัยนั้น จนอาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง บรรณาธิการสตรีสารคัดเลือกแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อส่งนิตยสารเอเชียแมกกาซีน ถือเป็นนักเขียนคนแรกที่ได้ลงนิตยสารนี้
นอกจากนี้ยังมี “ซีรี่ส์เหมืองแร่” อีกหลายเล่มที่คุณอาจินต์รวบรวมเรื่องสั้นจากเหมืองแร่มาตีพิมพ์ เช่น เดี่ยวเหมืองแร่ นักเลงเหมืองแร่ นอกจากนี้ยังมีการจัดแบ่งอีกมากมาย เช่น เซตเรื่องสั้นเหมืองแร่แบบ 1 เล่มต่อ 1 ตัวละคร เช่น “นายฝรั่ง” “ไอ้ไข่” “กรรมกรสไตรค์” เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันพี่ยศ บรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเลี้ยงห้าแก้วก็รับหน้าที่รวบรวมเรื่องสั้นเหมืองแร่และจัดเรียงตามลำดับเวลา ปัจจุบันคุณช้าง ขรรค์ชัย บุนปาน รับหน้าที่บรรณาธิการตีพิมพ์ภายใต้สำนักพิมพ์มติชน
นอกเหมืองแร่
แม้ว่าเรื่องสั้นจากเหมืองแร่ของคุณอาจินต์จะประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่คุณอาจินต์ก็เขียนแนวอื่นเพื่อให้หลากหลาย เพราะไม่อยากผูกติดแต่กับเรื่องเหมืองแร่ โดยเรื่องหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากคือ “จุฬาฯปฏิเสธข้าพเจ้า” ซึ่งคุณอาจินต์เขียนสลับกันกับเรื่องสั้นอื่น ๆ และเรื่องเหมืองแร่ โดยเล่าเรื่องราวชีวิตการเรียนและการทำงานในเหมืองแร่ เริ่มตั้งแต่การเล่าการเรียนในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมาคุณอาจินต์ถูกรีไทร์ แต่ก็ยังรักและเชื่อว่า “เลือดสีชมพูยังไม่จาง” ตราบที่เขาตั้งใจทำงานหนัก
หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากนักอ่านคือ “ปรัชยาไส้” ซึ่งรวบรวมบทความจากนิตยสารฟ้าเมืองไทย เป็นข้อเขียนที่คุณอาจินต์บรรยายการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปที่หาเช้ากินค่ำ ซึ่งพวกเขาก็ล้วนมี “ปรัชญา” ประจำใจที่ใช้ “ยาไส้” หรือใช้ในการดำรงชีวิตได้ไม่ต่างจากนักปราชญ์ ในภายหลังยังมีการรวบรวม “เรื่องสั้นนอกเหมืองแร่” ซึ่งเป็นรวมเรื่องสั้นนอกเหนือจากหนังสือเซตเหมืองแร่ไว้อีกด้วย
นอกจากนี้คุณอาจินต์ยังก้าวสู่บทบาทใหม่คือ “การเป็นบรรณาธิการ” อีกด้วย โดยได้ก่อตั้งนิตยสาร “ฟ้าเมืองไทย” ขึ้นในปีพ.ศ.2512 ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการ ได้สร้างนักเขียนที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก จนได้ชื่อว่าเป็น “บรรณาธิการแห่งบรรณาธิการ”
วิถีชีวิตคนเหมืองแร่
พี่ยศกล่าวว่าเรื่องสั้นเหมืองแร่เป็นเรื่องแนวผู้ชาย ๆ มีเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงน้อยมาก หรือมีก็เป็นการเล่าถึงผู้หญิงที่เป็นภรรยาชาวเหมือง เป็นต้น มักจะมีเรื่องวิถีทดสอบลูกผู้ชาย เช่น เรื่องการพนันขันต่อ การตั้งวงเหล้า
ที่สำคัญเรื่องสั้นเหมืองแร่เป็นเรื่องสั้นสะท้อนชีวิตคนทำงานเหมืองแร่ คุณอาจินต์น่าจะเป็นนักเขียนคนเดียวที่เขียนแนวเหมืองแร่คนในเหมืองไม่จำเป็นต้องใช้เงินใช้ความรู้มาก ตัวละครใช้ชีวิตโชกโชน ดิ้นรนทำมาหากิน ดำเนินชีวิตที่อยู่รอดโดยไร้ยศถาบรรดาศักดิ์
ชีวิตหลังเหมืองแร่
พี่ยศเล่าชีวิตหลังเหมืองแร่ (ชีวิตในปัจจุบัน) ของคุณอาจินต์ว่า แม้ทุกวันนี้คุณอาจินต์จะอายุร่วม 90 ปีแล้ว แต่ก็ยังแข็งแรงเขียนหนังสือทุกวัน เพราะคุณอาจินต์กล่าวว่าเป็นศิลปินแห่งชาติต้องไม่กินเงินเดือนเปล่า ๆ นอกจากนี้คุณอาจินต์ยังคงไม่ทิ้งการเป็นบรรณาธิการด้วยการให้คนรอบข้าง “เขียนเรื่องสั้น” เช่น คนขี่จักรยานยนต์รับจ้างชื่อรุ่งเกียรติ ซึ่งเขียนเรื่องส่งให้ลุง ซึ่งแทบจะไม่ต้องแก้อะไร เพราะมาจากประสบการณ์จริงในชีวิตซึ่งมีความน่าสนใจในตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งคล้ายกับตอนที่คุณอาจินต์เป็นบรรณาธิการนิตยสารตอนฟ้าเมืองไทย มีคอลัมน์ฉันรักหมู่บ้าน ได้ให้ชาวบ้านเขียนเรื่องส่งมา
ความประทับใจต่อเรื่องเหมืองแร่
สำหรับพี่ยศซึ่งอ่านทุกเล่มก็ชอบและประทับใจทุกเล่ม ตรงใจทุกประโยคมีการหักมุมที่คาดไม่ถึง ซึ่งที่จริงไม่ใช่การเขียนหักมุม แต่เป็นเรื่องจริงที่เปิดเรื่องอย่างเฉไฉให้คิดไปในทางอื่น แล้วค่อยเล่าไปในทางตรงกันข้ามซึ่งสุดท้ายก็จบดี หรือเรียกว่าเป็นแนวจากร้ายกลายเป็นดีเกือบทุกเรื่อง เต็มไปด้วยอุดมคติในการใช้ชีวิตและสอดแทรกเรื่องมนุษยธรรม
ส่วนผู้อ่านประทับใจเรื่องสั้นหลายเรื่องเช่นกัน เช่น เรื่อง “ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม” ที่เหมืองคุณอาจินต์พบชายคนหนึ่งมาขอสมัครงานเป็นคนงาน เขาพาภรรยาซึ่งกำลังตั้งครรภ์มาด้วย ปรากฏว่าชายคนนี้เคยเป็นผู้นำสไตรค์ (ประท้วงขอขึ้นค่าแรงคนงาน) จากอีกเหมืองหนึ่ง แต่นายช่างก็รับเขาเข้ามาด้วยเหตุผลว่า “เขาคนนี้เป็นคนละคนกับคนนั้น” คือชายหนุ่มผู้นำสไตรค์เป็นชายหนุ่มโสด แต่ชายผู้นี้มีภรรยาและลูกแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องสั้นที่ทำให้อิ่มใจ สะท้อนให้เห็นความมีน้ำใจและมนุษยธรรม
นักอ่านท่านหนึ่งกล่าวว่าชอบเรื่อง “ความรักชาติของชาวเหมืองแร่” เล่าเรื่องของนายฝรั่งที่สร้างสถานการณ์คนขโมยแร่ แล้วให้คุณอาจินต์ไปจับโจรเพื่อทดสอบความซื่อสัตย์ของคุณอาจินต์ เป็นการถกเถียงกันว่าความรักชาติของชาวเหมืองแร่อยู่ตรงไหน เมื่อโจรกล่าวว่าแร่เป็นของคนไทยของประเทศไทย ส่วนคุณอาจินต์ก็กล่าวว่านายช่างฝรั่งก็จ่ายภาษีเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้นายฝรั่งแค่จึงขึ้นเงินเดือนให้คุณอาจินต์
เรื่อง “น้ำกับน้ำใจ” ก็เป็นอีกเรื่องที่มีชื่อเสียงและมีหลายคนชื่นชอบ เล่าเรื่องของชาวมุสลิมเหมืองแร่ที่อยู่ในช่วงถือศีลอดแล้วต้องทำงานหน้าเตาไฟก็กินน้ำไม่ได้แม้จะร้อนมากชาวเหมืองแร่อื่น ๆ ก็ยั่ว สุดท้ายหัวหน้าย้ายชาวมุสลิมไปทำงานกะกลางคืนเพื่อให้เขากินน้ำได้
และเมื่อถามว่าคุณอาจินต์น่าจะชอบเรื่องใดมากที่สุด พี่ยศตอบว่าน่าจะชอบทุกเรื่อง เพราะถ้าไม่ชอบคงไม่ยอมเขียนจนเสร็จ เนื่องจากคุณอาจินต์มีเรื่องที่เขียนไม่จบเยอะมากเนื่องจากรู้สึกว่ายังไม่ดีพอ แต่เรื่องนอกเหมืองแร่ที่ชอบที่สุดน่าจะเป็นสีชมพูยังไม่จาง เนื่องจากเป็นความฝังใจของคุณอาจินต์ว่าสีชมพูหรือความเป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยมันไม่ได้หายไปไหนหากตั้งใจทำงาน เพราะงานหนักต่างหากคือความภูมิใจ
คุณค่าของเรื่องสั้นเหมืองแร่
พี่ยศเล่าว่าอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยกล่าวไว้ว่า เหมืองแร่เป็นงานที่มีคุณค่า สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้
ส่วนสำนักพิมพ์มติชนก็ได้กล่าวไว้ว่านี่คือ “สารานุกรมเหมืองแร่” มากยิ่งกว่าตัวเหมืองแร่เอง เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เรื่องเหมืองแร่ซึ่งหาได้ยากในประเทศไทย เช่น บอกเล่าวิธีการทำเหมืองแร่ในสมัยก่อน คือ เรือขุดจะวิ่งเข้าไปในป่าแล้วขุดหาเหมืองแร่จนเมื่อแร่ใกล้หมด เรือก็จะค่อย ๆ จม ส่วนการทำเหมืองแร่สมัยใหม่ใช้การฉีดน้ำ ไม่เจาะไม่ขุด แร่เป็นรายได้หลักช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองแร่มีราคาแพง เพราะขาดแคลนแร่ ขาดแคลนเหล็กมาทำช้อน กระป๋อง ทำให้ช่วงปีพ.ศ. 2490 - 2501 มีการทำสัมปทานขุดแร่ในประเทศไทยมาก
นักอ่านท่านหนึ่งกล่าวว่าเรื่องสั้นเหมืองแร่สามารถเป็นต้นแบบการเขียนได้ หากนักเขียนคนไหนอยากเขียนสารคดีก็สามารถนำไปเป็นตัวอย่างได้ เรื่องสั้นเหมืองแร่สนุกกว่าการเล่าไปเรื่อย ๆ เป็นไดอะรี่ที่มีชีวิต มีลีลา สะท้อนให้เห็นชีวิตที่มีสองด้าน มีดีมีร้าย อ่านได้เรื่อย ๆ ไม่เบื่อ
คุณจารุวรรณ ภรรยาของพี่ยศกล่าวว่าเรื่องสั้นเหมืองแร่สนุก สอดแทรกแง่คิดจากมนุษยธรรม สะท้อนให้เห็นชีวิตอย่างละเอียดลออ เป็นโลกที่เป็นโรงละครเหมืองแร่ เห็นชีวิตของคน เข้าใจทั้งตัวเองและมนุษย์โลก
พี่ยศกล่าวว่าคุณค่าของเรื่องสั้นเหมืองแร่นั้นคือการสามารถประยุกต์ใช้ในชีวิดจริงได้เลย อนึ่งตัวพี่ยศเองเวลาประสบปัญหาก็เคยนำข้อคิดจากเรื่องเหมืองแร่ไปใช้คือ ”ต้องทำให้ถูกต้อง แล้วมันจะดีเอง”
กิจกรรม TK Reading Club ตอน เหมืองแร่ จบลงพร้อมความอบอุ่น ความรู้ และความสนุกสนาน ทุกท่านได้ร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
แล้วกลับมาพบกับกิจกรรมดี ๆ เช่นนี้ได้ใหม่ในครั้งหน้า
เพราะการอ่านไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในตำราเรียน…
Chestina Inkgirl
ข้อมูลอ้างอิง
1. https://th.wikipedia.org/wiki/อาจินต์_ปัญจพรรค์
2. http://www.matichon.co.th/adsbook/bookexpo2014/highlight07.php