เล่นตามพ่อ ถักทอฝันจากการเล่น
เด็กทุกคนย่อมเติบโตมาพร้อมกับ ‘การเล่น’ ซึ่งเปรียบเสมือนการเรียนรู้นอกตำราเรียนที่สนุกที่สุด แต่น้อยคนนักที่คาดคิดว่าการเล่นนี้จะสามารถต่อยอดพัฒนาเป็นทักษะ เป็นความสามารถ และถึงขั้นเป็นอัจฉริยะ เพื่อนำทางไปสู่ความฝันเมื่อถึงคราวเป็นผู้ใหญ่ได้
วันพ่อปีนี้ อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงได้จัด กิจกรรมเนื่องในวันพ่อแห่งชาติ 2557 เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย ในชื่อกิจกรรมว่า เล่นตามพ่อ กิจกรรมที่ทำให้เรียนรู้พระจริยวัตรเกี่ยวกับการเล่นของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวฯ เมื่อยังทรงพระเยาว์ที่ได้พัฒนามาเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ มากมาย อันทำให้ปวงชนชาวไทยได้มีชีวิตอย่างปกติสุขมาจนปัจจุบัน โดยจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 5 - 14 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา
บริเวณลานฝันได้ถูกเนรมิตให้กลายเป็นเหมือนสนามเด็กเล่น ซึ่งไม่ใช่การเล่นธรรมดา แต่เป็นการเล่นตามพ่อหลวง พ่อลูกหลายคู่ได้จูงมือมาเล่นด้วยกันอย่างคับคั่ง เช่นเดียวกับเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงอนุญาตให้พระองค์ทรงเล่นกับพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้อย่างอิสระในบริเวณวังสระปทุม ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกลางแจ้งในกระบะทราย ตัวต่อไม้ หรือเรือจำลอง
ฐานเล่นฐานแรกมีชื่อว่า แผนที่ชีวิต มีกิจกรรมให้เด็กๆ ได้ทดลองต่อจิ๊กซอว์รูปแผนที่ประเทศไทย เพื่อเรียนรู้หลักการด้านภูมิศาสตร์ ไม่ต่างจากความสนพระราชหฤทัยในถนนหนทางหรือภูมิศาสตร์ ซึ่งเกิดจากการเล่นตัวต่อรูปแผนที่ประเทศไทย ก่อนที่จะทรงนำมาประยุกต์พัฒนากลายเป็นโครงการจากแนวพระราชดำริด้านการจราจร เช่น ถนนห้วยมงคล จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนจากตลาดเข้าไปยังบ้านห้วยมงคล เพื่อช่วยย่นเวลาการเดินทาง, โครงการถนนรัชดาภิเษก (ถนนวงแหวนชั้นใน) ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนเพิ่มขึ้นเป็นถนนวงแหวนเพื่อพระราชทานเป็นของ ขวัญแก่ประชาชนแทนการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก, โครงข่ายจตุรทิศตะวันตก-ตะวันออก เป็นการแก้ไขปัญหาจราจรจากฝั่งตะวันตกถึงฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ, โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบริเวณถนนบรมราชชนนีและทางแยกสะพานสมเด็จพระปิ่น เกล้า, โครงการสะพานพระราม 8 เชื่อมต่อกับโครงการทางคู่ขนานลอยฟ้า ช่วยให้การเดินทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามีความสะดวกขึ้น, โครงการตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาจราจรในจุดที่รถติดอย่างรวดเร็ว ช่วยทำคลอดและนำหญิงใกล้คลอดส่งโรงพยาบาล หรือช่วยทำหน้าที่ปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บบนท้องถนน เป็นต้น
ในฐานเล่นที่สองมีชื่อว่า สร้างเขื่อน เคลื่อนคลอง ที่ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การวิธีการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระองค์ ผ่านการเล่นสร้างเขื่อนด้วยวัสดุอย่างทราย ดินเหนียว ดินร่วน และกรวดหินของจริง รวมไปถึงการเรียนรู้ผ่านโมเดลจำลองเขื่อนภูมิพลขนาดใหญ่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องการชลประทานและการจัดการน้ำ มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จากการทรงเล่นเทน้ำลงในกระบะทราย ทรงสังเกตและจดจำจนพัฒนาสู่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการจัดการ น้ำหรือการชลประทาน เช่น เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนอเนกประสงค์ของประเทศไทยที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้, เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เขื่อนคอนกรีตบดอัดที่ยาวที่สุดในโลกที่ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำ นครนายก แก้ปัญหาดินเปรี้ยว กักเก็บน้ำในการเกษตร และอุปโภคบริโภค, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เขื่อนดินที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญในการชลประทาน ป้องกันอุทกภัย เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่, ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ จ.นครศรีธรรมราช โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังเพื่อป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มและเก็บกักน้ำ จืด รวมทั้งบรรเทาปัญหาน้ำท่วม และคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ช่วยการบริหารจัดการน้ำ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และป้องกันน้ำเค็มเข้ารุกพื้นที่ทางการเกษตร
และในฐานเล่นต่อมาเรียกได้ว่าเป็นฐานที่ให้เด็กๆ ได้แสดงความสามารถด้านการประดิษฐ์อย่างสุดฝีมือเลยทีเดียว ในฐานเล่นที่มีชื่อว่า ช่างใหญ่วัยเยาว์ กับการเล่นต่อ ‘เรือใบมด’ จากไม้ไอติม จึงได้เห็นภาพอันอบอุ่นของพ่อกับลูกที่ช่วยกันต่อเรือกันอย่างขะมักเขม้น
‘เรือใบมด’ เป็นเรือใบที่ทรงต่อด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง พร้อมทั้งให้ตกแต่งใบเรือเป็นลวดลายในแบบของตนเองอีกด้วย โดยมี อาจารย์พิสุทธิ์ สมประสงค์ จากกลุ่มงานประดิษฐ์ผู้สูงวัยและเว็บไซต์ www.jairsa.com เป็นผู้ออกแบบจำลองเรือใบมดเพื่อให้เด็กๆ สามารถประดิษฐ์ได้ง่ายๆ พร้อมทั้งได้นำผลงานเรือใบมดจำลองที่ทำมาจากไม้มาจัดแสดงอีกด้วย นับเป็นงานฝีมือที่สวยงามมากทีเดียว และเป็นหนึ่งความภูมิใจของอาจารย์พิสุทธิ์ที่ได้ออกแบบเรือจำลองของพ่อหลวง นี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปรีชาสามารถในการออกแบบและการต่อเรือ ด้วยพระองค์เอง ตั้งแต่แบบเรือจำลองไปจนถึงเรือใบที่ทรงต่อขึ้นเองเพื่อใช้แข่งขัน ซึ่งในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักกีฬาเรือใบทีมชาติไทย และทรงชนะเลิศได้รับเหรียญทองจากการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค แสดงออกถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านการกีฬาให้ชาวไทยและโลกได้รู้จัก
มาถึงฐานเล่นสุดท้ายที่มีชื่อว่า น้ำคือชีวิต ที่ให้เด็กๆ ได้รู้จัก ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’ ผ่านการต่อโมเดลกระดาษ นับเป็นอีกกิจกรรมที่ให้เด็กๆ ได้แสดงทักษะการเล่นไม่แพ้การต่อเรือเลยทีเดียว
‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’ เป็นสิ่งประดิษฐ์เพื่อช่วยบำบัดน้ำเสีย โดยทรงได้รับแรงบันดาลพระราชหฤทัยจาก ‘หลุก’ เครื่องวิดน้ำเข้านาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้รับสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ประเภทเครื่องกลเติมอากาศเป็นเครื่องที่ 9 ของโลก ในปีพ.ศ. 2543 ได้รับรางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นสามรางวัล และรางวัลสรรเสริญในพระอัจฉริยภาพสองรางวัลจากประเทศเบลเยียมอีกด้วย โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริส่วนใหญ่ มักเป็นเรื่องของการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำ ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นและตระหนักในปัญหาเรื่องนี้เป็น อย่างยิ่ง เพราะพระองค์ทรงคุ้นเคยกับน้ำมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์นั่นเอง
เชื่อว่าการเล่นของเด็กๆ ทั้ง 4 ฐานตามพ่อหลวงในกิจกรรมครั้งนี้ จึงไม่ใช่การเล่นเพื่อฝึกฝนทักษะและสร้างการเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังได้ปลูกฝังพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นหลักใน การทำงานและดำเนินชีวิต ให้ความฝันเมื่อเติบใหญ่ของเด็กๆ ได้กลายเป็นจริงตามรอยพ่อหลวง การเล่นจึงไม่ใช่ ‘เรื่องเล่นๆ’ อย่างแน่นอน
ดังพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะอาจารย์ ครู และนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 ความว่า
“...การ จะเล่าเรียนหรือทำการใดๆ ให้สำเร็จด้วยดี โดยตลอดนั้น ขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงเป็นใหญ่ เพราะความตั้งใจจริงนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะช่วยกำจัดความเกียจคร้าน ความอ่อนแอ และความท้อถอย ได้อย่างดียิ่ง จะปลูกฝังความเอาใจใส่ ความขยันหมั่นเพียร และความเข้มแข็ง ให้เกิดเป็นนิสัยและนิสัยที่ดีที่ปลูกไว้แต่เยาว์วัย จะเป็นคุณสมบัติติดตัวไป ในวันข้างหน้า จะช่วยพาตัวให้องอาจสามารถ เอาชนะอุปสรรค และปัญหาต่างๆ ได้โดยตลอด และประสบความสำเร็จความเจริญรุ่งเรืองต่อไปในชีวิต...”
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย