เทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก กรุงเทพฯ 2567 Children's Picture Book Festival เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่ง SandClock Books ในฐานะผู้จัดงาน ได้คัดสรรกิจกรรมและนิทรรศการว่าด้วย "เพื่อนรักจากนิทาน" มาเนรมิตพื้นที่ภายในศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ Thailand Creative & Design Center (TCDC) ให้อบอุ่นคึกคัก มีชีวิตชีวา และเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพระหว่างนักอ่านตัวน้อยกับตัวละครในโลกนิทาน
สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลฯ ในครั้งนี้ ผ่านกิจกรรมที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย ดังนี้
เริ่มวันแรกของ Bangkok Children's Picture Book Festival (30 พ.ย. 67) พี่เบน ชวันธร มงคลเลิศลพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมการเรียนรู้ ได้ขึ้นเวที "อีเล้งเค้งโค้ง 30 ปี หนังสือดีคู่บ้าน(คู่เมือง)" เพื่อเฉลิมฉลองการเดินทางที่ยาวนานของเจ้าห่านหน้าบึ้งหน้าบูดขวัญใจเด็กไทยตลอดสามทศวรรษ
บนเวที มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยระหว่างทางโดยผู้ร่วมสร้างสรรค์และต่อยอดผลงานเหล่านี้สู่สากล ทั้งคุณแต้ว ระพีพรรณ พัฒนาเวช และคุณเซฟ พีริยา พงษ์สาริกัน เลขาธิการมูลนิธิหนังสือเด็กไทยสู่สากล (ThaiBBY)
"อีเล้งเค้งโค้ง" เป็นชุดนิทานภาพ ผลงานของครูชีวัน วิสาสะ ซึ่งถือกำเนิดเมื่อปี พ.ศ. 2534 และตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบันที่ตีพิมพ์แล้วถึง 24 ครั้ง ซึ่งทุกเล่มล้วนคงเสน่ห์ในการใช้สำนวนภาษาเข้าใจง่าย ชุดคำคล้องจอง คำซ้ำ เทคนิคการใช้ฟอนต์ การจัดองค์ประกอบ และการสร้างสรรค์ภาพประกอบที่บอกเล่าเรื่องในอีกหลากหลายมิติผ่านอวัจนภาษา
ความพิเศษสุดของงานนี้คือครูชีวัน วิสาสะ ได้เปิดแฟ้มผลงานส่วนตัวที่บรรจุเจ้าห่านหลายตัวที่เคยมาสมัครเป็น "อีเล้งเค้งโค้ง" รวมถึงภาพสเก็ตช์ งานทดลอง และต้นฉบับผลงานล่าสุดที่ "อีเล้งเค้งโค้ง" ไปเยือนประเทศสวีเดนที่กำลังรอตีพิมพ์ รวมถึงกิจกรรมเป่าเค้กฉลองวันเกิด 30 ปี ของ "อีเล้งเค้งโค้ง" อันแสนอบอุ่น
เช้าวันเสาร์สัปดาห์ที่สองของเทศกาล (7 ธ.ค. 67) คุณวัฒนชัย วินิจจะกูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ ร่วมวงเสวนา “ให้หัวใจนักอ่านผลิบานที่ห้องสมุด” ในส่วนของ Parent’s Workshop โดยหยิบยกเรื่องราวน่าสนใจจากทั่วโลกเกี่ยวกับการทำงานของห้องสมุดที่สร้างประสบการณ์ที่ดีสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ รักการอ่าน โดยเล่าถึงห้องสมุดหลากรูปแบบที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ห้องสมุด pop-up กลางแจ้ง ห้องสมุดในป่า หรือแม้แต่ห้องสมุดจิ๋วในร้านให้บริการเครื่องซักผ้าแบบหยอดเหรียญ ที่ต่างสะท้อนจิตวิญญาณสำคัญของห้องสมุด นั่นคือการเข้าถึง (Accessibility) และการไม่เลือกปฏิบัติ (Inclusivity) เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้อย่างเท่าเทียม
ทางด้านคุณกิ๊บ อลิสสา อุปศรี และคุณคุมิ มัทสุโอะ จากมูลนิธิเมล็ดฝัน เล่าถึงการสร้างวัฒนธรรมการอ่านในญี่ปุ่น ซึ่งมีรากฐานจากกฎหมายส่งเสริมการอ่านตั้งแต่ปี 1950 ที่ผลักดันให้เด็กเข้าถึงหนังสือได้ทุกที่ ทั้งในห้องสมุด ชุมชน หรือมุมหนังสือในบ้าน (บุงโกะ) กิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเล่านิทานช่วยสร้างความใกล้ชิดกับหนังสือ ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศมีห้องสมุดกว่า 3,310 แห่งในปี 2024
ด้านคุณบุณยอร จันทรเสน จากหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร เล่าถึงความพยายามของกรุงเทพมหานครในการส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดหาหนังสือใหม่ให้ห้องสมุดทุกเดือน และการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เข้าถึงได้ง่าย
และล่าสุดเมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2567 ครูเจ อุษา ศรีนวล นักจัดการความรู้อาวุโส จากฝ่ายกิจกรรมการเรียนรู้ของ TK Park นำเด็ก ๆ และผู้ปกครองจากเกือบ 30 ครอบครัวเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการถึงเรื่องราวธรรมชาติ ผ่านการแสดงคามิชิไบ “กำเนิดส้มแสนอร่อย” เรื่องเล่าพื้นบ้านของเกาหลีใต้ โดย อี ซู จิน ต่อด้วยกิจกรรมเล่านิทานอีก 2 เรื่อง “ความลับของคุณส้ม” โดย Matsuko Nakajima และ “จดหมายจากผืนป่า” โดย Reiko Katayama และ Ken Katayama
ส่งท้ายความพิเศษกับกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ต่อยอดจากนิทานชุดนี้ ซึ่งครูเจเตรียมไว้ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้อย่างรอบด้าน กับเวิร์กช็อป “จดหมายลับที่มีรสเปรี้ยวอมหวาน” ที่ให้เด็กแต่ละคนเขียนจดหมายลับด้วยน้ำหมึกล่องหนซึ่งทำจากน้ำส้มคั้นสด เมื่อแห้งแล้วจะไม่ปรากฏข้อความให้เห็น แต่เมื่อครูเจสาธิตโดยการนำจดหมายลับไปอังบนควันเทียนหรือแหล่งความร้อน บริเวณที่เขียนจะปรากฏเป็นสีเข้มเพราะคาร์บอนในน้ำตาลที่มีอยู่ในน้ำส้มเกิดปฏิกริยาเมื่อเจอความร้อน หรือที่เรียกว่า caramelized นั่นเอง
สำหรับกิจกรรมอื่น ๆ จาก Bangkok Children's Picture Book Festival จะยังคงดำเนินต่อเนื่องจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2567 เวลา 10:30–19:00 น. (หยุดวันจันทร์) ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ Thailand Creative & Design Center (TCDC)