จะมีสักกี่วงดนตรีที่มีการเล่นสดอันเป็นเอกลักษณ์ คอนเสิร์ตทุกครั้งไม่ใช่แค่การร้องเพลงหรือเล่นดนตรี แต่เป็นการโชว์อันสนุกสนาน ที่มีทั้งนักมวยปล้ำ คนพ่นไฟ และนักดนตรีสวมคอสตูมแปลกๆ อยู่บนเวที คล้ายการดูละครสัตว์ที่มีบทเพลงร็อกบรรเลงประกอบ พร้อมด้วยการโยนลูกบอลหลากสี เป่าฟองสบู่ หรือแม้กระทั่งกระโยนขนมแจก!
เชื่อว่าคงไม่มีวงไหนมีการเล่นคอนเสิร์ตได้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เท่ากับวงที่มีชื่อว่า Paradox พาราด็อกซ์ อีกแล้ว
TK park Music ed. 2014 ครั้งที่ 10 ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการส่งท้ายกิจกรรมนี้ในปีนี้ ด้วยวงร็อกอัลเทอร์เนทีฟในตำนานกับตอนที่มีชื่อว่า “สวนสนุกดนตรีของ Paradox” ที่ พวกเขาเนรมิตลานสานฝัน ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ให้กลายเป็นสวนสนุกดนตรีขนาดย่อมให้แฟนเพลงได้สนุกสนานกัน เมื่อวันเสาร์ที่ 27 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา
พาราด็อกซ์เปิดเวทีสวนสนุกด้วยเพลงมันๆ อย่าง ‘ซักซี้ดนึง’ เพลงประกอบภาพยนตร์ SuckSeed ห่วยขั้นเทพ และเพลงสร้างแรงบันดาลใจอย่าง ‘รถไฟขบวนแห่งความฝัน’ ที่ถึงแม้จะมาในแบบอะคูสติก แต่ความสนุกและความมันไม่ได้น้อยไปกว่าคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบเลยแม้แต่น้อย
วงพาราด็อกซ์เป็นวงดนตรีที่มีอายุในวงการเพลงไทยมาเกือบ 20 ปีแล้ว นับตั้งแต่ออกอัลบั้มแรกที่ชื่อว่า ‘Lunatic Planet’ ในปี 2539 จนถึงทุกวันนี้วงพาราด็อกซ์ก็ยังมีผลงานเพลงมาอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด
เป็นที่ทราบกันดีว่าสมาชิกในวงไม่ได้มีแค่ ต้า - อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา (ร้องนำ/กีตาร์), บิ๊ก - ขจัดภัย กาญจนาภา (กีตาร์), สอง - จักรพงศ์ สิริริน (เบส) และ โจอี้ - เสรฐพร กฤดากร ณ อยุธยา (กลอง) เท่านั้น แต่ยังมีตำแหน่ง ว๊ากเกอร์ หรือ อ๊อฟ - ชาญณรงค์ วังเย็น และตำแหน่ง โจ๊กเกอร์ หรือ เก่ง - นัทธา กมลรัตนกุล ที่มาช่วยสร้างสีสันบนเวทีคอนเสิร์ต ต้าเล่าว่าจุดเริ่มต้นมาจากการท้าทายกันในกลุ่มเพื่อน ว่ากล้าไปทำอะไรเพี้ยนๆ บนเวทีไหม ครั้งแรกเป็นงาน 7 สีคอนเสิร์ต เก่งก็กล้าแต่งชุดนักศึกษาร.ด. ไปร้องตะโกนบนเวที ซึ่งเก่งก็ได้ช่วยอัดเสียงเป็นเสียงครูฝึกร.ด.ในเพลง ‘ร.ด.Dance’ อยู่แล้ว หลังจากนั้นก็มีอีกหนึ่งสมาชิกอย่างอ๊อฟมาแต่งชุดเป็นนักมวยปล้ำ โดยช่วยร้องประสานเสียงบนเวทีอีกด้วย
นอกจากว๊ากเกอร์และโจ๊กเกอร์แล้ว อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของวงพาราด็อกซ์คือความคิดสร้างสรรค์ในการแสดงสดบนเวที ที่ไม่ใช่แค่การเล่นดนตรีและร้องเพลงปกติ ต้าเล่าถึงที่มาว่า “เริ่ม มาจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ที่เราเรียน เวลามีงานกิจกรรมต่างๆ ที่เราไปเล่นก็มีพี่ๆ น้องๆ ที่นั่งอยู่หลังเวทีอยากจะสนุกกับเรา เขาก็ไม่รู้จะเล่นอะไร ร้องเพลงก็ไม่เป็น ก็เลยหาอะไรมาเล่นแทน เช่น บางคนก็พ่นไฟได้ บางคนก็โยนลูกบอลแบบกายกรรมได้ พอเล่นไปเราก็รู้สึกสนุก หลังจากนั้นก็เลยอยากเอาความรู้สึกแบบนี้ไปมอบให้กับคนดูที่อื่นบ้าง ผสมกับความรู้สึกอยากจะแกล้งคนดูให้ตกใจเล่น สร้างสีสันเป็นปาร์ตี้ขึ้นมา กลายเป็นจุดเด่นที่คนชอบ เวลาไปเล่นโชว์ที่ไหนก็อยากให้คึกคัก ช่วงหลังก็มีรุ่นน้อง มีแฟนเพลงขอมาเล่นกับเราด้วยตามงานต่างๆ ถึงขั้นไปทัวร์ด้วยกันเลย” ถือเป็นสิ่งเซอร์ไพรซ์คนดูได้ทุกๆ เวทีที่พวกเขาไปเล่นเลยทีเดียว
พาราด็อกซ์มีเพลงดังที่ยังคงติดหูคนฟังมาตลอดมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ฤดูร้อน, น้องเปิ้ล, Sexy, LOVE, ทาส, ดาว, ส่งรักส่งยิ้ม พาราด็อกซ์ยังมีเพลงชื่อแปลกๆ ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของต้า ที่มีความโดดเด่นจนไม่น่าเชื่อว่าจะปรากฏอยู่ในเพลงไทย
“เวลา อ่านหนังสือผมมักจะเจอคำแปลกๆ เวลาเจอจะจดสะสมไว้ จะหนักไปทางคำเก่าๆ เชยๆ ที่คนไม่ค่อยใช้ แต่คลาสสิกหน่อย เราสนุกกับมันเลยเอามาใช้ในเพลง คำบางคำก็เหมือนเมล็ดพันธุ์ที่จะแตกงอกออกมาเป็นเนื้อเพลงในอนาคต จะจินตนาการออกมาเป็นเรื่องอะไรได้บ้าง ถ้าเป็นภาพวาดก็แต้มสีสันให้มันฉูดฉาดหน่อย ถ้าเป็นอาหารก็ผสมเครื่องปรุงให้มีรสชาติหน่อย” ต้าเล่าที่มาของคำแปลกๆ ในชื่อเพลง ก่อนจะอธิบายถึงที่มาของเพลง ‘ผงาดง้ำค้ำโลก’ ว่า “ผมเคยเป็นพิธีกรร่วมกับพี่สองในรายการ Alive แล้วชอบเล่นมุขว่า วันนี้หดหู่ห่อเหี่ยว แล้วชอบพูดผิดเป็น หดเหี่ยวห่อหู่ ก็เลยได้ไอเดียคำว่า เหี่ยว ทำให้นึกไปถึงเรื่องทะลึ่ง จึงลองเปลี่ยนจากเรื่องทะลึ่งให้กลายเป็นปลุกใจให้คนลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง จนได้คำว่า ผงาดง้ำค้ำโลก มา”
ส่วนอีกเพลงที่มีชื่อว่า ‘หลุมศพปลาวาฬ’ ก็เป็นอีกหนึ่งเพลงที่หลายคนอยากรู้ถึงที่มา “เพลงนี้เจอจากการอ่านเรื่องสั้นของพี่ต๊ะ จักรพันธุ์ ขวัญมงคล ที่ชื่อว่า ‘หลุมศพปลาดาว’ ผมรู้สึกว่าคำนี้มันสวย แล้วมีเพลงเก่าของวงที่ชื่อว่า ‘โดดน้ำตาย’ จะมีแฟนเพลงเข้าใจผิดตรงท่อนฮุกที่ร้องว่า โอ้ ดวงตะวันน่ารัก แล้วแฟนเพลงฟังผิดเป็น โอ้ ดูปลาวาฬน่ารัก แล้วมีแฟนเพลงมาทักว่าชอบเพลงนี้เพราะว่ามีคำว่า ปลาวาฬ แต่ละคนก็ตีความไปต่างกัน เหมือนเราฟังเพลงเมืองนอก ฟังไม่รู้เรื่องก็ตีความต่างไป คนเราจับใจความต่างกัน เหมือนภาพ abstract แต่เราเปลี่ยนจากการมองภาพ เป็นการฟังแบบ abstract เลยได้ไอเดียเรื่องการนำคำต่างๆ ที่ไม่ปะติดปะต่อกันมาเชื่อมโยงกัน เรารู้สึกว่าใหม่มากในวงการเพลงไทย ส่วนเรื่องทำไมต้องเป็นปลาวาฬ เพราะเกิดอาหารหมั่นไส้ว่าทำไมคนชอบนึกถึงปลาวาฬตัวนี้ เลยให้มันจบชีวิตลงด้วยเพลงนี้เลย อยากให้เพลงเล่นกับจินตนาการความรู้สึกของตัวเองได้ตลอดเวลา” ต้าเล่ายาวถึงที่มาของชื่อและเนื้อหาแปลกๆ ในเพลงนี้ ที่ตั้งใจให้คนฟังได้ตีความเอาเอง
ตลอดเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา พาราด็อกซ์เป็นวงดนตรีที่ได้ชื่อว่าแทบไม่เปลี่ยนสมาชิกในวงเลย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่วงดนตรีวงหนึ่งจะทำได้เช่นนี้ “เรา พยายามสร้างข้อตกลงร่วมกัน เพื่อช่วยป้องกันการเกิดปัญหาในการผิดใจ วงเราจะไม่ค่อยพูดมากหรือมีปัญหาอะไรมาก แต่ก็เคยทะเลาะกัน เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ บ้าง คำประจำวงคือ ยังไงก็ได้ ซึ่งวิธีนี้ใช้ได้กับทุกระบบเลย” ต้าเผยเคล็ดลับ ก่อนที่สองจะช่วยเสริมว่า “เป็นเรื่องปกติของวงดนตรี ไม่ว่าวงไหนๆ จะเมืองไทยหรือเมืองนอก ก็ต้องมีปัญหาบ้าง ด้วยความที่วงเราใช้ความยืดหยุ่นเหมือนเราอยู่กับครอบครัว เพื่อนก็คือเพื่อน ยืดหยุ่นกันไป”
และตลอดเวลาที่พาราด็อกซ์อยู่ในวงการเพลง ผลงานเพลงคุณภาพและการแสดงสดอันยอดเยี่ยมคือสิ่งยืนยันได้อย่างดีถึงความ ตั้งใจของพวกเขา “สิ่งที่เห็นผลจริงๆ คือเราคิดและเราทำจริงๆ คิดเมื่อไรทำเมื่อนั้น จะประสบความสำเร็จหรือเปล่านั้น เราก็ยังทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ” ต้ากล่าวถึงการลงมือทำของพาราด็อกซ์ที่ยังคงไม่หยุด
“วัย รุ่นอยากทำอะไรก็ทำเลย บางทีอย่าไปตกกับดักที่เรียกว่า ประสบความสำเร็จหรือชนะแล้ว เพราะความสำเร็จของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเราทำไปเรื่อยๆ จนเกิดความชอบหรือทักษะ บางทีการได้ออกซิงเกิลหรืออัลบั้ม โด่งดัง ร่ำรวย อาจจะไม่ใช่แล้ว เราอาจแค่เล่นดนตรีแล้วมีความสุขมากกว่า อยากให้ทุกคนสนุกไปเลย อย่าไปกลัวว่าจะสำเร็จไหม ออกไปทำก่อน ถ้าเรามีความสุข ความสำเร็จจะมาเอง” สองทิ้งท้ายเป็นแรงบันดาลใจให้กับวัยรุ่นได้ลงมือทำในสิ่งที่ชอบ
หลังจากที่ได้พูดคุยกันเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงช่วงเวลาแห่งความสนุกในช่วงท้าย ที่พาราด็อกซ์ขนเพลงมามอบให้กับแฟนเพลงที่นั่งเต็มพื้นที่ลานสานฝันอย่าง เต็มอิ่ม ทั้งเพลงใหม่ล่าสุด เพลงฮิต และเพลงหาฟังยาก ไม่ว่าจะเป็นเพลง พรุ่งนี้, สามมิติ, ฤดูร้อน, หลุมศพปลาวาฬ, ลา ลา ลา, ไถล ก่อนจะปิดท้ายด้วยเพลงสุดมันอย่าง ‘น้องเปิ้ล’ ที่มีการเซอร์ไพรซ์เชิญแฟนพันธุ์แท้พาราด็อกซ์ถึงสองคนขึ้นมาช่วยกันร่วม ร้องบนเวทีด้วย และที่สำคัญที่ขาดไม่ได้คือการโยนขนมแจกแฟนเพลง
จากกิจกรรมในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตอะคูสติกเล็กๆ แต่ถ้านับจากทุกเพลงที่ทุกคนร้องตามได้ เสียงกรี๊ด รอยยิ้ม และความสนุก พูดได้เลยว่า สวนสนุกดนตรีของพาราด็อกซ์ เปิดให้บริการมอบความสุขกับแฟนเพลงได้ไม่แพ้สวนสนุกจริงๆ เลยทีเดียว
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย