กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ได้บุกเบิกเส้นทางสู่ความเป็นเมืองที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้คนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งโดยการส่งเสริมสนับสนุนจากฝ่ายบริหารท้องถิ่นเอง รวมถึงหน่วยงาน องค์กร และภาคส่วนต่าง ๆ ดังเช่นที่สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ได้จัดเทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ Learning Fest Bangkok 2023 ไปเมื่อกลางเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เมืองแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่กระตุ้นการเรียนรู้ให้กับทุกคนอยู่เสมอ
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 กรุงเทพมหานครได้รับคัดเลือกให้เข้าสู่เครือข่ายเมืองของการเรียนรู้ของ UNESCO หรือ UNESCO Global Network of Learning Cities (GNLC) สอดคล้องกับแผนงานของกรุงเทพมหานครที่ได้ระดมกำลังพันธมิตรเตรียมความพร้อมจัดเทศกาลการอ่านและการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร (BKK Read & Learn Festival) ครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2567
สำหรับเทศกาลนี้ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ได้เข้าไปมีบทบาทหลากหลายในกระบวนการจัดงาน ทั้งในระดับภาพรวม และเข้าร่วมจัดกิจกรรมย่อยประกอบเทศกาล สรุปได้ดังนี้
บทบาทที่ปรึกษาแนวทางการจัดเทศกาล
หลายเดือนก่อนเทศกาลการอ่านและการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร (BKK Read & Learn Festival) ปรากฏสู่สายตาสาธารณะ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ได้รับเชิญให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการระดมความคิดเห็นและให้คำปรึกษาด้านแนวคิดและกิจกรรมประกอบเทศกาล เพื่อให้เทศกาลการอ่านและการเรียนรู้ครั้งแรกนี้ สามารถดึงมิติของการอ่านและการเรียนรู้ที่หลากหลายมานำเสนอในเชิงกว้าง และสร้างการรับรู้ต่อตัวเทศกาลนี้ออกไปยังสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ในการจัดงานครั้งต่อ ๆ ไป ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เดียวกับที่สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ได้จัดเทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ Learning Fest Bangkok 2023 เป็นครั้งแรกไปก่อนหน้านี้
การเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับห้องสมุดมนุษย์ (Human Library)
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 คุณชวันธร มงคลเลิศลพ (พี่เบน) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมการเรียนรู้ TK Park ไปขึ้นเวทีบอกเล่าเรื่องราวในหัวข้อ Human Library: อ่าน “หนังสือมนุษย์” สัมผัสเรื่องราวด้วยหัวใจ ที่กิจกรรมหนังสือในสวน #1 "Human Library ห้องสมุดมนุษย์ในสวนที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ" ณ สวนลุมพินี โดยเป็นการบอกเล่าประสบการณ์ที่ TK Park ได้ผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนทักษะและประสบการณ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์บนพื้นที่สาธารณะ ผ่านกิจกรรมมากมาย ทั้งที่เกิดขึ้นที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park และผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการ “TK Park เปิดตำราวิชา แนะให้แนว” ตอน Question Me? เมื่อปีล่าสุด ที่ TK Park ชูกิจกรรม Human Library ให้เยาวชนมานั่งพูดคุยซักถามรุ่นพี่จากหลากหลายวงการ เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจกำหนดอนาคตของตัวเอง
การตัดสินรางวัลกิจกรรมการประกวด "BKK BookTok" และร่วมสนับสนุนรางวัล
คุณวิภาศัย นิยมาภา ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและการตลาด เป็นผู้แทนของสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ในคณะกรรมการตัดสินรางวัลกิจกรรมการประกวด "BKK BookTok" ร่วมกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน ซึ่งประกอบด้วยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ OKMD, สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park, สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) และ TikTok Thailand
BookTok คือ Hashtag ของวิดีโอสั้น ๆ ที่นักอ่านมาบอกเล่าเกี่ยวกับหนังสือ ทั้งการแนะนำ รีวิว และพูดคุยในประเด็นต่าง ๆ กันบน TikTok ดังนั้น การประกวด "BKK BookTok" จึงเป็นกิจกรรมที่ TK Park ยินดีให้การสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงการร่วมสนับสนุนรางวัล เพราะกิจกรรมนี้เป็นการล้อไปกับกระแสความสนใจของกลุ่มนักอ่าน ซึ่งในประเด็นนี้ คุณวิภาศัย กล่าวถึงในแง่ของความสอดคล้องกับพันธกิจของ TK Park ในการเสริมสร้างสังคมของการอ่านและการเรียนรู้ที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกมิติ
เข้าร่วมงานแถลงนโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้ของกรุงเทพมหานคร
คุณอิสระ โพธิจันทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ เป็นผู้แทน TK Park เข้าร่วมงานแถลงข่าว "Bangkok Learning City: Leaming for Life, Opportunities for All” ซึ่งเป็นกิจกรรมเปิดงานหนังสือในสวน ครั้งที่ 2 ที่สวนป่าเบญจกิติ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2567 เพื่อร่วมประกาศความตั้งใจในการเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งของกรุงเทพมหานคร ในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน
สำหรับงานแถลงข่าวนี้ ผู้แทนจาก UNESCO Bangkok มาบอกเล่าถึงที่มา ความสำคัญ และความคาดหวังที่จะเกิดขึ้นกับกรุงเทพมหานคร ในฐานะสมาชิกล่าสุดของ UNESCO Global Network of Learning Cities (GNLC) หรือเครือข่ายเมืองของการเรียนรู้ ที่ UNESCO ได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา
ตามด้วยการปักหมุดแถลงนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ของกรุงเทพมหานครของนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มุ่งทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ประกอบด้วย 1) ปลอดภัยดี 2) โปร่งใสดี 3) เศรษฐกิจดี 4) เดินทางดี 5) สิ่งแวดล้อมดี 6) สุขภาพดี 7) สังคมดี 8) เรียนดี และ 9) บริหารจัดการดี
การจัดมุมนิทานภาพนานาชาติ และกิจกรรม "ข้าวกล่องที่น่ารักที่สุดในโลก"
อีกมุมหนึ่งในงานหนังสือในสวน ครั้งที่ 2 กลางสวนป่าเบญจกิติ ทีมงาน TK Park เข้าจับจองเนินสนามหญ้า แล้วปูเสื่อกางร่ม เพื่อสร้างลานปิกนิกและมุมหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็ก ๆ โดยเฉพาะ โดยไฮไลต์ของงานนี้ คือกิจกรรม "ข้าวกล่องที่น่ารักที่สุดในโลก" ที่ครูเจ อุษา ศรีนวล นักออกแบบกิจกรรมมากประสบการณ์จาก TK Park ได้ออกแบบโดยใช้นิทานภาพเป็นจุดตั้งต้น เพื่อเปิดทักษะการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยโดยเฉพาะ โดยเด็ก ๆ และผู้ปกครอง ได้ร่วมกันใช้จินตนาการออกแบบข้าวกล่อง คัดสรรวัตถุดิบและวัสดุตกแต่งจากธรรมชาติรอบตัว มารังสรรค์ให้กลายเป็นข้าวกล่องเล็ก ๆ ในแบบของตัวเอง
สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ยินดีที่ได้ให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในภารกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อร่วมกันสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เกิดจากแรงขับเคลื่อนจากผู้คนมากมาย เพราะเราเชื่อว่าการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ย่อมต้องเกิดจากการเปิดโอกาสให้มีการทดลอง ทดสอบ สร้างสรรค์ ปรับเข้าหากัน และเปลี่ยนให้ทันบริบทและความท้าทายของโลกอยู่เสมอ