สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park จัดงานสัมมนาสาธารณะ Inquiry-based Learning ปลุกความสงสัย จุดไฟการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในวันที่ 15 กันยายน 2566 ณ ห้องเคนซิงตัน โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ
งานสัมมนานี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ Learning Fest Bangkok 2023↗ ซึ่งจัดขึ้นในธีม "Wonderlearn - สงสัยให้สุด เป็นมนุษย์ไม่หยุดเอ๊ะ" โดยมีเป้าหมายคือการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของความสงสัยใคร่รู้ ในฐานะก้าวแรกที่สำคัญของเส้นทางสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต
ข้อสรุปเบื้องต้นจากงานที่ที่หลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน นั่นคือ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ความสงสัยนำไปสู่การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ คือการสร้างระบบนิเวศที่เข้มแข็ง ที่อาจประกอบไปด้วย คน กลไก รวมถึงทรัพยากรที่สามารถเข้าถึงเพื่อค้นหาคำตอบได้ แต่เราจะสร้างระบบนิเวศแบบนั้นได้อย่างไร และทำอย่างไรความช่างสงสัยถึงจะกลายเป็นทัศนคติ ไม่ใช่เพียงกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียน
งานสัมมนาเริ่มต้นด้วยการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Sparking Curiosity through Spirals of Inquiry” โดย ดร.จูดี้ ฮัลเบิร์ต และ ดร. ลินดา เคเซอร์ ผู้อำนวยการเครือข่ายการศึกษาแบบสืบเสาะและการศึกษาพื้นถิ่น (NOIIE) ประเทศแคนาดา ที่เชื่อว่าการสร้างเด็กช่างสงสัยต้องเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยผู้ใหญ่ที่ใคร่รู้ วิทยากรได้นำเสนอกระบวนการที่เรียกว่า ‘เกลียวแห่งการสืบเสาะ’ หรือ The Spiral of Inquiry ที่จุดประกายให้ผู้สอนหันมาคิดก่อนลงมือออกแบบการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกปลอดภัยพอที่จะแสดงศักยภาพและพลังแห่งการสงสัยออกมา
ที่สำคัญก็คือการเริ่มต้นสร้างเครือข่ายอาจเริ่มจากกลุ่มเล็ก ๆ กิจกรรมเล็ก ๆ ที่ไม่ได้คาดหวังจะเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน แต่ค่อย ๆ ทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในระบบ
ลำดับถัดมาเป็นการสัมมนาในหัวข้อ “สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้แบบสืบเสาะ บ่มเพาะการคิดเชิงวิพากษ์ในสังคมไทย” เชิญชวนวิทยากรมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและบอกเล่าประสบการณ์ ว่าด้วยสถานการณ์ด้านการคิดเชิงวิพากษ์ในประเทศไทย อุปสรรคแบบไหนที่ขัดขวางไม่ให้ผู้เรียนสงสัย ตั้งคำถาม หรือคิดต่าง รวมถึงเรามีหน่วยงาน เครือข่าย หรือแม้กระทั่งกระบวนการที่สอนให้ผู้เรียน คิดเป็น และตัดสินใจเป็นมากน้อยแค่ไหน เพื่อฉายให้เห็นภาพว่าในประเทศไทยก็มีกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนหัดสังเกต ตั้งคำถาม เชื่อมโยงการเรียนกับประเด็นในสังคม ร่วมอภิปรายโดย รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ครูภาคิน นิมมานนรวงศ์ และณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน
ปิดท้ายด้วยการเปิดประเด็น ร่วมวิเคราะห์ และถกทิศทางการเรียนรู้แบบสืบเสาะ ผ่านการตั้งคำถามให้ผู้ร่วมสัมมนาลองนำไปขบคิดต่อ โดย ณิชา พิทยาพงศกร และ ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ มีประเด็นที่น่าสนใจฝากไว้ให้พิจารณา เช่น สังคมไทยเอื้อต่อการกระตุ้นให้คนสงสัยจริงหรือไม่ หากความสงสัยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ใคร หรือ อะไร ฆ่าความสงสัยให้ตายไป หรือความจริงแล้ว ความสงสัยอาจจะฆ่าไม่ตายแต่ถูกผลักดันออกมาในอีกช่องทางหนึ่งที่ไม่ถูกปิดกั้น ความเร่งรีบในชีวิตประจำวันทำให้ผู้คนเหนื่อยล้าเกินกว่าที่จะเรียนรู้หรือไม่ การสืบเสาะคือสัญชาตญาณเริ่มต้นของมนุษย์ แต่เรามักจะสืบเสาะเมื่อพบกับเรื่องราวที่รู้สึก ‘เชื่อมโยงได้’ และคำถามส่งท้ายคือ...
เราจะนำแนวคิด Inquiry-based และประเด็นที่ถกกันอย่างออกรสในวันนี้ไปใช้ต่อได้อย่างไร?
เป็นโจทย์ที่ฝากไว้ และชักชวนให้หาคำตอบร่วมกัน
หมายเหตุ: สำหรับท่านที่พลาดงานสัมมนาสาธารณะในครั้งนี้ สามารถติดตามชมย้อนหลังได้ทาง Facebook เพจ TheKOMMON.co↗ และเพจ TK Park อุทยานการเรียนรู้↗