ในวันแดดร่มของเดือนฤดูร้อน คุณพ่อคุณแม่หลายครอบครัวปั่นจักรยานพาลูกๆ มายังเต็นท์สีขาวซึ่งอยู่มุมหนึ่งในสวนสาธารณะยอดนิยมของคนกรุง ที่นั่นได้แบ่งพื้นที่เล็กๆ ให้กับกิจกรรมน่ารักๆ สำหรับทุกคนในครอบครัว
วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2554 มหัศจรรย์แห่งวันเที่ยว อ่าน เล่น เล่น กับกิจกรรม TK Mobile Library ‘หนังสือเดินเท้า เรื่องเล่าเดินทาง’ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำ ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) กิจกรรมเริ่มต้นกันตั้งแต่ช่วงสายๆ ไปจนถึงเวลาเคารพธงชาติตอนเย็น โดยมีกิจกรรมเสริมสร้างความรู้และเติมเต็มความสุขให้กับทุกคนในครอบครัวมากมายในพื้นที่เต็นท์ขนาดหนึ่งห้องเรียน ไว้รองรับ 3 กิจกรรมในวันนี้ ได้แก่ ลานเรียนรู้ ลานนิทาน และลานเสวนา
ก่อนจะเข้าสู่ ‘ลานเรียนรู้’ คุณพ่อคุณแม่จะต้องพาลูกๆ ไปลงทะเบียนเพื่อรับกระดาษใบเล็กๆ สำหรับประทับตราในแต่ละฐานเมื่อเล่นผ่านด่านได้ โดยกิจกรรมในส่วนนี้จะมีเวลายาวนานกว่าส่วนอื่นๆ เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงสายๆ ไปจนถึงบ่ายๆ ซึ่งแต่ละเกมในลานเรียนรู้นั้นมีความตั้งใจให้น้องๆ หนูๆ ได้ฝึกสมองพร้อมขยับแขนขาให้ร่างกายได้แข็งแรงกับ 3 เกมแสนสนุก สำหรับเด็กวัยอนุบาลถึงประถมต้น
ใกล้ผ่านเกมที่ 1 แล้ว
เกมที่ 1 ‘เส้นสายลายคณิต’ เรียนรู้คณิตศาสตร์ผ่านการลากเส้นบนแผ่นกระดาษ ซึ่งเกมนี้จะฝึกทั้งทักษะด้านการคำนวณและสมาธิให้กับเด็กๆ เริ่มต้นจากการหาคำตอบโจทย์คณิตศาสตร์จากจุดแรก ได้ผลลัพธ์เท่าไรลากเส้นไปยังจุดที่เป็นคำตอบ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เมื่อครบ 5 จุด เด็กๆ จะพบว่าภาพที่วาดออกมานั้นเป็นรูปอะไร
หากเป็นรูปที่ถูกต้อง ประทับตราผ่านเกมที่ 1 กันไปเลย!!
ใครไปถึงเส้นชัยก่อน ชนะ!!
เกมที่ 2 ‘Up & Down’ เพิ่มพูนทักษะภาษา ขยับแข้งขยับขาพาร่างกายเคลื่อนไหว พร้อมไขปริศนาทางคณิตศาสตร์ ด้วยเกม Up & Down ซึ่งหน้าตาคล้ายๆ กับเกมบันไดงูที่ถูกขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น โดยผู้เล่นจะเป็นหมากขยับเดินหน้าถอยหลังตามจำนวนและคำสั่ง Up & Down บนหน้าลูกเต๋าที่โยนได้ เช่น ถ้าโยนได้ Up 1 จะได้ก้าวไปยังช่องถัดไป 1 ช่อง แต่ถ้าโยนได้ Down 3 จะต้องถอยหลังกลับไป 3 ช่อง ใครเดินไปถึงเส้นชัยได้ถือว่าผ่าน เกมนี้เป็นเกมที่เล่นได้ถึงครั้งละ 3 คน จึงสร้างเสียงหัวเราะให้ทั้งเด็กๆ และผู้ปกครองที่มาช่วยกันลุ้นว่าลูกๆ หลานๆ คนไหนจะถึงเส้นชัยก่อนกัน
ผ่านเกมนี้ ประทับตราไปอีกหนึ่ง แล้วก้าวขาไปเกมต่อไป
ลูกเป็ดตัวแรกกำลังบินไปตะกร้า
เกมที่ 3 ‘ตามหาลูกเป็ด’ ขยับร่างกายไปพร้อมกับคณิตศาสตร์แสนสนุก เริ่มต้นจากการโยนลูกเต๋าคณิตศาสตร์ที่จะมีโจทย์ให้คำนวณผลลัพธ์ เช่น 2 + 3 คิดออกมาได้เท่าไร ไปตามหาลูกเป็ด (ของเล่น) ที่ซ่อนอยู่ในลิ้นชักให้ได้จำนวนตามนั้น จากนั้นทดสอบความแม่นยำ ถ้าโยนลูกเป็ดลงตะกร้า (ทางพี่ๆ ทีมงานใจดีกระซิบว่าไม่ต้องโยนลงตะกร้าครบทุกตัวก็ได้นะ) ก็จะผ่านเกมที่ 3 ครบ 3 แต้ม นำไปแลกของรางวัลจากพี่ๆ ทีมงานได้เลย!!
คุณพ่อคุณแม่และเด็กๆ กำลังตั้งใจฟังนิทาน
ช่วงบ่ายแก่ๆ ลานเรียนรู้แปลงร่างกลายเป็น ‘ลานนิทาน’ ที่เด็กๆ จะได้สนุกสนานกับนิทานสร้างเสริมจินตนาการ ซึ่งเหมือนกับเป็นสิ่งที่เด็กๆ รอคอย เพราะเพียงแค่พี่ๆ ประกาศว่านิทานกำลังจะเริ่มต้น เด็กๆ ก็รีบวิ่งมานั่งล้อมวงกันอย่างว่องไว โดยในวันนี้พี่ๆ ทีเคได้นำนิทาน 2 เรื่องมาเล่าให้ฟัง เรื่องแรก คือ ‘หนอนจอมหิว’ เรื่องราวของเจ้าหนอนตัวเล็กๆ ที่กินทุกอย่างจนตัวอ้วนพี ก่อนที่มันจะกลายเป็นผีเสื้อแสนสวย นิทานเรื่องต่อไป คือ ‘หัวผักกาดยักษ์’ เป็นเรื่องของคุณตาคนหนึ่งที่ปลูกผักกาดไว้ที่บ้าน เมื่อผักกาดโตเต็มที่คุณตาคิดจะดึงผักกาดขึ้นมา แต่แรงของคนคนเดียวไม่สามารถดึงหัวผักกาดยักษ์นั่นออกมาได้ จึงได้ไปเรียกคุณยายให้มาช่วย และเกิดการเรียกคนนั้นคนนี้ในบ้านกันต่อมาเรื่อยๆ เมื่อหลายแรงรวมพลังกัน หัวผักกาดยักษ์จึงถูกดึงออกมาจากผืนดินได้สำเร็จ
นิทานสองเรื่องนี้สร้างความสนุกสนานให้กับเด็กๆ เพราะนอกจากนั่งฟังแล้ว ทุกคนยังได้มีส่วนร่วมในการช่วยนับจำนวนผลไม้ ที่เจ้าหนอนกินอย่างสนุกสนานจากนิทานเรื่องแรก ส่วนเรื่องที่สองเด็กๆ จะได้แง่คิดเกี่ยวเรื่องความสามัคคีที่แฝงอยู่ในนิทาน
หลังจบจากนิทานซึ่งเด็กๆ ชื่นชอบกัน ก็มาถึงเวลาของผู้ใหญ่ เมื่อลานนิทานถูกปรับเปลี่ยนไปเป็น ‘ลานเสวนา’ โดยโจทย์การพูดคุยครั้งนี้ คือ “อยากให้ลูกน้อยพูดได้สองภาษา ต้องทำอย่างไร” คำตอบมีอยู่ในการเสวนาเรื่อง ‘เด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้’ โดยคุณพงษ์ระพี เตชพาหพงษ์ เจ้าของเว็บไซต์ www.2pasa.com
สองคุณพ่อแบ่งปันประสบการณ์สร้างลูกให้เป็นเด็กสองภาษา
การเสวนาในวันนี้เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันระหว่างคุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้ลูกเก่งทั้งสองภาษา โดยคุณพงษ์ระพีเป็นคุณพ่อของน้องเพ่ยเพ่ย ซึ่งพูดได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพราะได้รับการฝึกฝนจากคุณพ่อตั้งแต่แรกเกิด โดยคุณพงษ์ระพีได้อธิบายถึงคำว่าเด็กสองภาษาไว้ว่า
“เด็กสองภาษาเป็นแนวคิดให้เด็กพูดภาษาที่สองแบบธรรมชาติ โดยไม่มีการท่องศัพท์ ไวยากรณ์ แต่เด็กพูดได้ถูกต้อง คนที่สอนโดยหลักคือพ่อแม่ ที่จะให้เด็กได้เรียนรู้อย่างค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปจากธรรมชาติ เหมือนการพูดภาษาไทย ที่เราเองไม่เคยคิดถึงเรื่อง grammar”
การพูดภาษาที่สองแบบธรรมชาตินั้น หากจะนึกเทียบเคียงให้ง่ายขึ้น ก็เหมือนกับการที่คนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีภาษาถิ่นของตัวเอง สามารถพูดได้ทั้งภาษาถิ่นและภาษากลาง โดยไม่ต้องมาเสียเวลาถอดรหัสเป็นตัวหนังสือแล้วนำมาแปรผลเป็นภาพในสมอง เหมือนกับที่คนไทยส่วนใหญ่ (ที่ยังเป็นไม้เบื่อไม้เมากับภาษาอังกฤษ) เสียเวลากับการถอดรหัสอันซับซ้อนนี้
การสร้างลูกให้เป็นเด็กสองภาษาที่คุณพงษ์ระพีได้แบ่งปันให้คุณพ่อคุณแม่ได้ฟัง คือการค่อยๆ ฝึกลูกให้เรียนรู้ศัพท์ง่ายๆ เริ่มได้ตั้งแต่วัยหัดพูด เพื่อให้ความเข้าใจของเขาเป็นไปอย่างอัตโนมัติ เช่น เมื่อหยิบหนังสือขึ้นมา ให้บอกกับลูกว่า “book” โดยไม่ต้องมาแปลให้ฟังว่า “หนังสือ” เพราะลูกจะเรียนรู้จากสิ่งที่เห็นและนำคำนี้ไปเก็บในสมองว่าเมื่อเห็นวัตถุลักษณะนี้ เรียกว่า book
แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจมากคือ ‘ความถูกต้อง’ ของสิ่งที่สอนไป ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์ การออกเสียง ที่จะต้องถูกต้องแม่นยำเหมือนเจ้าของภาษา เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเริ่มฝึกลูกให้พูดภาษาอังกฤษได้คล่องนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องมาทบทวนภาษาของตัวเองให้แข็งแรงด้วย
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มกังวลว่า ตัวเองไม่เก่งภาษาอังกฤษจะสอนลูกให้เป็นเด็กสองภาษาได้หรือไม่ ความกังวลเหล่านี้จะหมดไปเมื่อได้ฟังประสบการณ์การเลี้ยงลูกให้เก่งภาษาที่สองของคุณพ่อน้องเนย ซึ่งมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในวันนี้ด้วย โดยได้เล่าถึงการฝึกลูกให้ว่า คุณแม่ของน้องเนยเป็นคนฝึกฝนภาษาที่สองให้กับน้องเนยมากกว่าตัวคุณพ่อเองเล็กน้อย เพราะคุณแม่ใช้เวลาอยู่กับลูกมากกว่า ซึ่งหลังจากที่อ่านหนังสือของคุณพงษ์ระพีที่เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กสองภาษา วันรุ่งขึ้นคุณแม่ก็เริ่มฝึกลูกจากคำศัพท์ง่ายๆ ในชีวิตประจำวันทีละคำ เมื่อลูกเริ่มเข้าใจก็เริ่มพูดเป็นประโยค และสามารถพูดโต้ตอบกลับมาได้ ซึ่งระหว่างการฝึกฝนลูกนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษของตัวเองด้วย โดยเรียนรู้ทั้งจากหนังสือและเว็บไซต์ที่เราสามารถฟังการออกเสียงที่ถูกต้องของเจ้าของภาษาได้ จึงมีความมั่นใจว่าสิ่งที่สอนลูกไปเป็นภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง ปัจจุบันน้องเนยสามารถพูดภาษาอังกฤษได้เก่งเหมือนกับภาษาไทย ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนในโรงเรียนสองภาษา
คุณพงษ์ระพีทิ้งท้ายไว้ก่อนจบการเสวนาว่า คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ สอนสิ่งที่ถูกต้องมั่นใจวันละเล็กวันละน้อย ดีกว่าการพยายามยัดเยียดคำศัพท์มากมาย เร่งรัดลูกให้เป็นเด็กสองภาษาโดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องของภาษาที่สอนไปและความรู้สึกของลูกว่าวันนี้เขาพร้อมรับการเรียนรู้ได้แค่ไหน
การที่ครอบครัวมาใช้เวลาอยู่ร่วมกับที่สวนรถไฟในวันนี้ แม้จะเป็นเวลาไม่กี่ชั่วโมงในการทำกิจกรรมร่วมกัน แต่สิ่งที่ทุกครอบครัวจะได้รับกลับไปนั้นเต็มเปี่ยมด้วยความรู้และความสุขของทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณลูก
เป็นวันเสาร์มหัศจรรย์แห่งวันเที่ยว อ่าน เล่น เล่น จริงๆ
พี่ตองก้า