ถ้าคิดว่า เด็กๆ แค่อ่านหนังสือออก ท่องจำได้ แล้วเอาไปใช้ตอบข้อสอบก็เพียงพอแล้ว ต้องถือว่าเป็นเรื่องคิดผิดอย่างมหันต์!!!
เพราะความจริงแล้วเด็กๆ ยังมีศักยภาพมากมายซ่อนอยู่ ขณะที่เขากำลังอ่าน เขากำลังสะสมความรู้ ความคิด ... จากนักอ่านที่คอยเก็บข้อมูลอย่างเดียว บางทีเขาอาจจะอยากนำเรื่องที่อ่าน มาบอกเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ได้ฟังบ้างก็ได้
เชื่อหรือไม่ว่าเจ้าหนูตัวน้อยของเรานั้น วันหนึ่งจะกลายเป็น “นักเล่า” ที่เก่งกาจไม่แพ้ผู้ใหญ่เลยทีเดียว
ในวันเสาร์ที่ 8 - วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม 2554 นี้ อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก นิตยสาร Mother&Care และภาคีเครือข่าย จัด “โครงการลับสมอง ประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน ครั้งที่ 6” โครงการดีๆ ที่ปั้น “นักอ่าน”ตัวน้อย ให้กลายเป็น “นักเล่า” ฝีปากคม ที่เล่าเรื่องราวได้น่าติดตาม สนุกสนานจนผู้ใหญ่ต้องทึ่งในความสามารถ
เวลาบ่ายโมง ณ ลานสานฝัน ในวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2554 เด็กๆ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ รวมถึงสื่อมวลชน มาอยู่ในการประกวดโครงการลับสมอง ประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทานรอบชิงชนะเลิศ ประเภทเดี่ยว อายุ 4-6 ปี ซึ่งเด็กๆ ที่เข้ามาถึงรอบนี้มีทั้งหมด 21 คน เป็นตัวแทนจากกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้
ในรอบชิงชนะเลิศ แม้จะเป็นการประกวดเล่านิทานของเด็กๆ ในชั้นอนุบาล แต่ได้รับเกียรติจากผู้ใหญ่ใจดี ทั้ง 5 ท่าน ร่วมมาเป็นคณะกรรมการในการตัดสินในวันนี้ ซึ่งแต่ละท่านล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการศึกษา และการอ่านทั้งสิ้น ได้แก่
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้
คุณทิพย์สุดา สุเมธเสนีย์ นักวิชาการจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
คุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก
คุณปรีดา ปัญญาจันทร์ นักแต่งนิทานและนักเล่านิทาน
และ คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Mother&Care
กรรมการกล่าวให้ข้อคิดและให้กำลังใจผู้เข้าร่วมการประกวด
ก่อนจะเริ่มการประกวดอย่างเป็นทางการ พิธีกรได้เชิญกรรมการทั้งห้าท่าน กล่าวข้อคิดและให้กำลังใจผู้เข้าร่วมประกวดทุกคน รวมถึงผู้ปกครองและกองเชียร์ที่มากันแน่นขนัดเต็มลานสานฝัน ซึ่งกรรมการแต่ละท่านให้กำลังใจเด็กๆ ให้ใช้ความสามารถกันอย่างเต็มที่ และกรรมการทุกคนก็เตรียมพร้อม รอฟังนิทานจากเด็กๆ ที่จะมาเล่ากันอย่างสนุกสนานในวันนี้
ด้านคุณเรืองศักดิ์ บอกกล่าวแก่ผู้ชมในงานถึงความสำคัญของนิทานว่าทำให้เกิดความสบายใจ และการเล่านิทานในบรรยากาศที่ดี อย่างบรรยากาศในบ้านก็ทำให้เด็กสบายใจ ซึ่งวันนี้อาจจะเปลี่ยนเวทีจากบ้านมาเป็นเวทีจริงๆที่มีผู้ชมเยอะขึ้น เด็กๆ อาจจะเกิดอาการประหม่า ดังนั้นพ่อแม่และกองเชียร์ไม่ควรทำให้เด็กไม่สบายใจ ควรให้เด็กมีความสุขกับการเล่าในสิ่งที่เขามีความสุข ขอให้ทุกคนมีความสุขร่วมกันกับการได้ฟังนิทานของเด็กๆ
“ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สามไม่สำคัญ เด็กทุกคนเป็นที่หนึ่งในใจของทุกคน เด็กๆ ชนะใจตัวเอง และชนะใจพวกเราทุกๆ คน”
ด้าน อ.ปรีดา ได้เล่าประสบการณ์ส่วนตัวจากการที่เคยเป็นครูอนุบาลและเคยเล่านิทานให้เด็กๆ ฟังว่าทุกครั้งที่เล่าจะได้รับพลังจากเด็กๆ กลับมา และเห็นว่าพ่อแม่ยุคใหม่มีวัฒนธรรมการอ่านหนังสือและเล่านิทานมากขึ้น ดังนั้นเด็กๆ จากพ่อแม่ยุคใหม่จะเล่านิทานได้ดี
หลากลีลาการเล่านิทาน
สำหรับนิทานของน้องนั้นๆ มีมากมายหลายเรื่อง บางเรื่องเป็นนิทานที่ผู้ใหญ่รู้จักกันดีอยู่แล้ว เช่น หมูสามตัว หนูน้อยหมวกแดง บางเรื่องเป็นนิทานที่เขียนขึ้นมาใหม่ในปัจจุบัน เช่น ย.ยักษ์ไม่ยอมยิ้ม นิทานแต่ละเรื่องที่หนูน้อยชายหญิงหยิบมาเล่า ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนได้ฟังนิทานกันอย่างสนุกสนานหลายสิบเรื่องในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
แม้จะมีน้องๆ บางคนที่ยังตื่นเวที กับการออกมาเล่าเรื่องต่อหน้าคนเยอะๆ อยู่บ้างแต่ก็สามารถแก้ปัญหาและเล่าเรื่องกันจนจบ และมอบรอยยิ้มให้กับผู้ฟังทุกคนได้อย่างดี
นอกจากน้องๆ ต้องใช้ความจำอย่างสูง ในการจำเรื่องราวของนิทานที่เนื้อหาบางเรื่องยาวและซับซ้อนแล้ว ท่าทางที่ประกอบการเล่าของน้องๆ แต่ละคนนั้น ยังมีเทคนิคในการเล่าเรื่องมากมาย บางคนใช้อุปกรณ์ประกอบเช่น หมวกรูปสัตว์ต่างๆ หรือใช้หุ่นมือ อย่างน้องนิกกี้ - ด.ญ.ณัฐชยา เรืองศรีไชยะ ที่เล่าเรื่องอีกากับเหยือก ก็ใช้หุ่นมืออีกาประกอบการเล่า หรือน้องมาวิน - ด.ช.วิศรุต สันติภราดรวงศ์ ที่มาเล่าเรื่องเชือกวิเศษ ก็มีการใช้เชือกด้วย
พูดคุยกับน้องๆ นักเล่านิทาน
หลังจากจบการเล่านิทานของบรรดาหนูน้อยนักเล่าทั้ง 21 คน ทีมงานและคณะกรรมการได้รวมคะแนนกันอย่างเร่งด่วน และปรึกษากันเพื่อตัดสินผลคะแนนอย่างเป็นธรรม ซึ่งกรรมการแต่ละท่านต่างต้องกุมขมับ และต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าตัดสินยากมาก เพราะน้องๆ แต่ละคนที่มาในวันนี้เต็มไปด้วยความสามารถในการเล่าเรื่อง
ดร.ทัศนัย ได้กล่าวว่า “เด็กเหล่านี้มีแวว มีพรสวรรค์ในการใช้ภาษา ในการแสดงออก อย่างที่คุณพ่อคุณแม่และทุกคนจะเห็นว่าเด็กๆ ใช้ภาษาได้เป็นอย่างดี เล่าให้ทุกคนได้รู้เรื่อง ทำให้เราสนุกสนานตามไปด้วย แม้นิทานบางเรื่องจะยาวมาก แต่จะเห็นว่าความสามารถของเขาจะจำ และถ่ายทอดตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง อีกส่วนหนึ่งคือความสามารถการแสดงออก ความกล้า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และสามารถครองเวทีได้”
ด้าน คุณพจมาน พงษ์ไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านติดตามตรวจสอบการดำเนินการบริหารจัด การศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นประธานในงานวันนี้ ได้ร่วมพูดคุย และขอชื่นชมความสามารถของเด็ก และแรงสนับสนุนของสมาชิกทุกคนในครอบครัว
“สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่รางวัล สิ่งที่พ่อแม่ได้ทำให้ลูกทุกคนในวันนี้ คือ โอกาสที่ครั้งหนึ่งเด็กจะจำวันนี้อย่างไม่มีวันลืม เราเป็นผู้ใหญ่เราต้องสร้างโอกาสให้กับลูกหลานของเรา ขอให้ทุกคนได้ร่วมแสดงความยินดีกับเด็กทุกคน เด็กทุกคนในวันนี้คือผู้ชนะ”
น้องอิ๊นท์และครอบครัว
และแล้วช่วงเวลาสำคัญที่ทุกคนตั้งตารอก็มาถึง เมื่อคะแนนจากคณะกรรมการแต่ละท่านได้รวมเป็นที่เรียบร้อย รายชื่อของนักเล่านิทานตัวน้อยที่ได้รับรางวัลมีดังนี้
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ด.ญ. อินท์นรี มิ่งขวัญ หรือ “น้องอิ๊นท์” กับนิทานเรื่อง “ย.ยักษ์ไม่ยอมยิ้ม” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ย.ยักษ์ตนหนึ่งที่ไม่ยอมแปรงฟันจนฟันผุ สุดท้ายจึงต้องไปหาหมอฟัน ในนิทานเปรียบฟันของยักษ์เป็นเหมือนต้นไม้ที่ต้องมีการดูแลรักษา ซึ่งมีตอนที่หมอฟันต้องชวน ย.ยักษ์คุย เวลา ย.ยักษ์ตอบกลับจะต้องพูดไม่ชัด เช่น “อั๊บอ๋ม” (ครับผม) พอน้องอิ๊นท์เล่าแล้วต้องพูดสลับตัวอักษรในประโยคคำพูด ให้เป็นตัว อ.อ่าง ทั้งหมดนั้น เธอพูดได้อย่างถูกต้องทุกคำและทำเสียงเลียนแบบคนพูดไม่ชัดได้อย่างแนบเนียน เตรียมพร้อมมาดีแบบนี้ก็เรียกคะแนนไปจากคณะกรรมการได้เต็มๆ ได้รับถ้วยรางวัลจาก ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี พร้อมเงินสด 20,000 บาท และของที่ระลึก
น้องอิ๊นท์รับว่าต้องซ้อมบ่อยมากทุกๆ วัน แต่ไม่รู้สึกว่าการเล่านิทานเป็นเรื่องยาก เพราะอ่านหนังสือนิทานให้เพื่อนที่โรงเรียนฟังเป็นประจำ และตัวเองชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะนิทานพื้นบ้านไทย
ส่วนคุณจุฑารัตน์ มิ่งขวัญ คุณแม่ของน้องอิ๊นท์ รู้สึกดีใจกับความสำเร็จของลูกสาวตัวน้อยเป็นอย่างมาก ซึ่งตอนแรกในการจะให้น้องมาประกวดนั้น ตนเองไม่คิดคาดหวังเอาไว้สูง เพียงแค่คิดให้ลูกสาวได้เล่าเรื่องตามธรรมชาติเหมือนที่เล่าเวลาอยู่บ้าน ในการเลือกนิทานที่จะเล่านั้น คุณแม่ยังบอกว่าให้น้องอิ๊นท์เลือกเรื่องที่ตัวเองชอบ เพื่อที่จะได้เล่าอย่างถนัด สิ่งที่คุณแม่และครูช่วยเหลือในการฝึกนั้น มีเพียงการพูดแนะนำตัวและพูดขอบคุณ
“เรื่องไหนที่เขาชอบ เขาจะสามารถอ่านแล้วจำ พอเขาจำได้ทุกขั้นตอน เขาจะใส่การแสดงเข้าไปเอง พอเขาได้มาดูเพื่อนเล่า เพื่อนแสดง เขาจะบอกเองว่าอยากจะทำแบบนั้น อยากทำแบบนี้บ้าง”
ส่วน รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ด.ญ.อาเมลี ฟลอเรนซ์ ฟอนลีสเอาท์ (น้องข้าวปุ้น) ที่มาเล่านิทานเรื่อง “ลูกหมูสามตัว” ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ พร้อมแสดงลีลาลูกหมูสามตัวได้อย่างร่าเริง ได้รับเกียรติบัตร เงินสด 10,000 บาทและของที่ระลึก
รองชนะเลิศอันดับสอง มี 2 รางวัลด้วยกัน ได้แก่ ด.ญ.กฤตพร คงจันทร์วุฒิพร (น้องเมจิก) เล่านิทานเรื่อง “มดขยันกับจั๊กจั่นเสียงใส” และ ด.ญ.ฆฤษวี ศิวาวุธ (น้องต้นน้ำ) กับนิทานเรื่อง “ขนมรวมพลัง” ได้รับเกียรติบัตร เงินสด 5,000 บาทและของที่ระลึก
สำหรับน้องๆ ทุกคนที่ผ่านเข้ามาจนถึงรอบชนะเลิศนี้จะได้รับเกียรติบัตร เงินรางวัลและของที่ระลึก ด้วยเช่นกัน
โครงการในครั้งนี้ยังไม่จบลง เพราะยังเหลือการประกวดรอบชิงชนะเลิศ ประเภทเดี่ยว อายุ 6-9 ปี และประเภทครอบครัวในวันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม2554 ซึ่งทุกคนคงต้องมาร่วมลุ้นกันว่าจะมีใครบ้างที่ได้เป็นหนูน้อยนักเล่านิทานคนต่อไป
พลตรัย