VIDEO
วีดิทัศน์ A New Tale of the Public Library in the Networked Society บรรยายโดย รอล์ฟ เฮเพล (Rolf Hapel) ผู้อำนวยการงานบริการประชาชนและห้องสมุด Dokk1 เมืองอาร์ฮุส อดีตกรรมการที่ปรึกษาโครงการ Global Libraries ของมูลนิธิบิลแอนด์เมลินดาเกตส์ บันทึกในโอกาสการประชุมวิชาการประจำปี 2561 (TK Forum 2018) หัวข้อ “Creating Better Library: The Unfinished Knowledge”
วัตถุประสงค์ของห้องสมุดในยุคอุตสาหกรรม คือสถานที่ที่ทุกคนสามารถเข้าไปค้นคว้าหาความรู้ ซึ่งห้องสมุดหลายแห่งในอเมริกาและอังกฤษประสบความสำเร็จในการตอบโจทย์ดังกล่าว แต่เมื่อสังคมและเศรษฐกิจเติบโตขึ้นและก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ความท้าทายใหม่ๆ จึงเกิดขึ้น และผลักดันให้ห้องสมุดต้องเริ่มเปลี่ยนแปลง
เดนมาร์กเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ผู้คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง สังคมมีปัญหาที่ซับซ้อนขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ คือมีเด็กและหนุ่มสาวลดลง มีผู้อพยพและคนย้ายถิ่นจำนวนมาก ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้รับการศึกษาและไม่มีงานทำ ฮาร์ฮุสเป็นเมืองใหญ่อันดับสองและเป็นเมืองท่าสำคัญของประเทศ มีเป้าหมายที่จะก้าวไปสู่เมืองอัจฉริยะ (smart city) ซึ่งคุณภาพของเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับการวางผังเมืองเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความรู้ การสื่อสาร และคุณภาพของคนด้วย
ห้องสมุด Dokk1 จึงสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนในเมืองไปอีกอย่างน้อย 100-120 ปีข้างหน้า โดยมีการขบคิดรายละเอียดในการออกแบบและใช้งานพื้นที่อย่างละเอียดถี่ถ้วน อาคารห้องสมุดใช้กระแสไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเพียงพอสำหรับการเปิดให้บริการห้องสมุดตลอด 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน
รอล์ฟ เฮเพล (Rolf Hapel) กล่าวว่า ความท้าทายของห้องสมุดคือการมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างห้องสมุดกับชีวิตผู้คน แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ห้องสมุดยังเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือและจำเป็นต้องรักษาไว้ ทว่าจะไม่ใช่สถานที่สำหรับเข้าไปเพื่อค้นหาความรู้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นสถานที่สำหรับให้ผู้คนได้พบปะ ทดลอง และใช้สมอง นำไปสู่โมเดลการพัฒนาพื้นที่ของห้องสมุด (ทั้งกายภาพและดิจิทัล) ของเดนมาร์กเพื่อการเรียนรู้ ที่เรียกว่า “แบบจำลองจัตวกาศ” หรือ Four Spaces Model
การออกแบบพื้นที่และการให้บริการของห้องสมุด Dokk1 กินระยะเวลายาวนานหลายปี โดยได้นำการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดมาใช้ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและช่วยกันคิดหาทางออกให้กับปัญหา จนกลายเป็นต้นแบบเพื่อนำไปใช้ทดลองจริงว่าก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่
เมื่อปี 2010 ประเทศเดนมาร์กได้ริเริ่มกลยุทธ์การพัฒนาเพื่อสังคมแห่งความรู้ ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่ การมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลโดยใช้เทคโนโลยีแบบเปิด (Open Source) การเป็นห้องสมุดแบบเปิด (Open Library) ซึ่งผู้คนสามารถเข้ามาใช้บริการได้ทุกวัน ทุกเวลา และแนวคิดในการทำงานโดยอาศัยความร่วมมือ (Partnership)
ห้องสมุด Dokk1 มีบทบาทสำคัญในด้านการพัฒนาเมือง โดยยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ 17 ประการ ตัวอย่างการให้บริการที่น่าสนใจเช่น ห้องสมุดได้สร้างแพลตฟอร์มเกี่ยวกับเมืองเช่นระบบการจราจร ระบบประปา ระบบไฟฟ้า ซึ่งบริษัทต่างๆ สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้สะดวก มีการติดตั้งเครือข่ายซึ่งช่วยให้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้นและมีราคาถูกลง จัดงาน Open Culture Day เพื่อแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม มีกิจกรรม Open Data Hackathon ให้โปรแกรมเมอร์ได้สังสรรค์แลกเปลี่ยนกัน รวมทั้งกำลังจะสร้างแพลตฟอร์มให้พลเมืองได้มีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านระบบดิจิทัล ล่าสุดห้องสมุดมีพนักงานใหม่เป็นหุ่นยนต์ชื่อนอร์มา (Norma) ซึ่งสามารถพูดภาษาเดนิชและอังกฤษ
กิจกรรมการเรียนรู้มากมายที่เกิดขึ้นในห้องสมุด Dokk 1 มีทั้งดำเนินการโดยห้องสมุดและอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในฐานะหุ้นส่วน กว่า 130 แห่ง รอล์ฟ เฮเพล เห็นว่านี่เป็นโมเดลในการทำงานที่ยอดเยี่ยม เพราะทำให้ผู้ใช้บริการได้ร่วมกิจกรรมที่มีเนื้อหาและรูปแบบหลากหลาย อีกทั้งห้องสมุดไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างเพื่อจัดกิจกรรม