VIDEO
ห้องสมุดของไต้หวันก็เช่นเดียวกันกับห้องสมุดทั้งหลายทั่วโลก ที่ประสบกับความท้าทายที่สำคัญเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล การลงทุนด้านห้องสมุดจึงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ จากที่มุ่งเน้นการดึงดูดให้คนเข้าห้องสมุด ให้กลายเป็นห้องสมุดที่เดินไปหาผู้ใช้บริการ รวมทั้งสรรหาระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ และการสร้างเนื้อหาข้อมูลดิจิทัล
ห้องสมุดสมัยใหม่ของใต้หวันก้าวพ้นไปจากการเป็นห้องสมุดในอาคารขนาดใหญ่ แต่พยายามเข้าถึงผู้อ่านในหลายๆ รูปแบบ ทั้งรถห้องสมุดเคลื่อนที่ บริการส่งหนังสือถึงบ้าน ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ และที่โดดเด่นมากก็คือ ห้องสมุดขนาดเล็กแบบบริการตนเอง 24 ชั่วโมง ซึ่งตั้งอยู่ตามห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟฟ้า สวนสาธารณะ และพื้นที่สาธารณะอื่นๆ การยืมคืนเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว เพียงผู้ใช้บริการสอดบัตร MRT Easy Card แล้วเลือกหนังสือ ประตูตู้ก็จะเปิดให้สามารถหยิบหนังสือไปสแกนเพื่อยืมออก และเมื่อต้องการจะคืนก็สามารถนำหนังสือมาหย่อนลงกล่องคืน เจิ้ง ฉู่ เสียน ให้ข้อคิดเห็นที่น่าคิดว่า ความสำเร็จของการให้บริการนี้ไม่ได้เกิดจากการนำเทคโนโลยีมาใช้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะสติปัญญาและความมีระเบียบวินัยของประชาชนชาวไต้หวันด้วยด้วย
เมื่อกล่าวถึงห้องสมุดที่มีความทันสมัยในไต้หวัน ก็จะต้องนึกถึงห้องสมุดไทเป ซึ่งเป็นแห่งแรกที่นำร่องใช้ระบบ RFID ในการจัดการ ก่อนที่จะกระจายระบบนี้ไปยังห้องสมุดสาธารณะแห่งอื่นๆ ระบบการจัดการที่ดีขึ้นทำให้ใช้แรงงานคนลดลง และผู้ใช้บริการมีความสะดวกในการยืมคืนมากขึ้นด้วย สอดคล้องไปกับแนวทางการทำห้องสมุดขนาดเล็กแบบบริการตนเอง ที่จำเป็นจะต้องมีประสิทธิภาพเป็นเยี่ยม คล่องตัว แม้ว่าห้องสมุดบางแห่งจะไม่มีเจ้าหน้าที่เลยก็สามารถให้บริการได้
พฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปของคนยุคใหม่ ทำให้ห้องสมุดไต้หวันพยายามจัดสิ่งแวดล้อมแบบดิจิทัลให้สอดคล้องกัน ดังเช่น คูหาสำหรับอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ พื้นที่สำหรับค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต บริการให้ยืมคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต จอทัชสกรีนขนาดใหญ่หรือกำแพงอิเล็กทรอนิกส์สำหรับในห้ผู้ใช้บริการได้มีปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลของห้องสมุด รวมถึงพื้นที่ดิจิทัลในรูปแบบเว็บไซต์สำหรับกลุ่มคนต่างๆ ทั้ง เว็บไซต์สำหรับเด็ก เว็บไซต์สำหรับผู้สูงอายุ เว็บไซต์สำหรับคนต่างถิ่น เว็บไซต์สำหรับผู้ที่ใช้ภาษาอื่น เป็นต้น
ห้องสมุดของไต้หวันได้พัฒนาเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นเองตั้งแต่ปี 2009 โดยการแปลงข้อมูลที่มีอยู่เดิมเป็นดิจิทัล เริ่มจากจดหมายเหตุและเอกสารทางราชการ เพื่อให้สาธารณะชนสามารถเข้าถึงได้ผ่านอินเทอร์เน็ต ต่อมาจึงดัดแปลงพวกหนังสือโบราณที่ทรงคุณค่า นอกจากนี้ยังมีการจัดซื้อทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้บริการ ได้แก่ วารสารอิเล็กทรอนิกส์ ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ อีมีเดีย และอีมิวสิค รวมทั้งยังดำเนินการเชื่อมต่อกับทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานอื่นภาครัฐเพื่อให้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ห้องสมุดของไต้หวันยังปรับตัวโดยริเริ่มการให้บริการเชิงดิจิทัล เช่น การแจ้งเตือนและการส่งข่าวสารผ่านข้อความอิเล็กทรอนิกส์ บริการถามตอบออนไลน์ การชมกิจกรรมของห้องสมุดย้อนหลังออนไลน์ แอพพลิเคชั่นทางอุปกรณ์โมบาย การจัดอบรมเทคโนโลยีแก่ผู่สนใจ บริการยืมคืนระหว่างห้องสมุดต่างประเทศ และบริการฐานข้อมูลต่างๆ อาทิ ฐานข้อมูลหนังสือเก่า ฐานข้อมูลภาพถ้องถิ่น ฐานข้อมูลวรรณกรรมร่วมสมัย ฐานข้อมูลจารึกโบราณ
วีดิทัศน์ New Paradigm for Taiwan's Public Libraries and National Library in Digital Era โดย ดร.เจิ้ง ฉู่ เสียน บันทึกในโอกาสการประชุมวิชาการประจำปี 2557 (TK Forum 2014) ของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้