ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ได้นำเสนอแนวคิดว่าด้วยการปฏิรูประบบการเรียนรู้ โดยแบ่งเนื้อหาเป็น 3 ประเด็น คือ การเรียนรู้กับสังคม ลักษณะของการปฏิรูป และการปฏิรูปการเรียนรู้สู่การปฏิรูปสังคม
การเรียนรู้กับสังคม
ที่ผ่านมาสังคมมนุษย์ได้มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ จากสังคมแบบหาของป่าล่าสัตว์ เป็นสังคมแบบเกษตรกรรม สังคมแบบอุตสาหกรรม และสังคมแบบเทคโนโลยีที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 1965 ลักษณะสังคม และการเรียนรู้ ต่างก็เป็นตัวแปรที่ส่งผลกระทบเกี่ยวเนื่องระหว่างกัน การเรียนรู้เป็นไปตามสภาพของสังคม และสังคมก็เป็นไปตามการเรียนรู้
เช่นนั้นแล้วการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลย่อมแตกต่างออกไปจากยุคก่อนหน้านี้ เด็กรุ่นใหม่จะเริ่มเป็น Digital Native ขณะที่ผู้ใหญ่ยังเป็น Digital Immigrant การเรียนรู้จากอุปกรณ์แท็บเล็ต และหลักสูตรแบบ e-learning จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และจะเข้ามาแทนที่การสอนแบบมีครูยืนบรรยายอยู่หน้าห้อง อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อควรระวังในการใช้เทคโนโลยี หากผู้ใหญ่ปล่อยให้เด็กอยู่กับสิ่งเหล่านี้เพียงลำพัง เด็กก็อาจจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ที่ขาดความใส่ใจต่อสิ่งรอบตัว
ลักษณะของการปฏิรูป
* ลักษณะสังคมที่พึงปรารถนา
การปฏิรูปหมายถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่พึงปรารถนา ซึ่งควรจะมีแนวทาง ดังนี้
1. มีประสิทธิภาพในการผลิต กล่าวคือ มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า มีทรัพยากรมนุษย์ที่รู้จักปรับตัวและแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา และมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่เอื้ออำนวย
2. เป็นสังคมที่เป็นธรรม ไม่ใช่สังคมที่รวยกระจุกจนกระจาย หากแต่มีระบบยุติธรรมที่ทำให้คนมีความเท่าเทียมกันภายใต้ระบบกฎหมาย
3. เป็นสังคมที่มีคุณธรรม ผู้คนชื่นชมในความจริง ความดี ความงาม
* ลักษณะการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง
1. เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ซึ่งควรจะเปลี่ยนจาก Massive Education เป็น Participatory Education อาจใช้เวลาสอนหนังสือเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนได้อภิปรายถกเถียง เล่นเกม หรือมีประสบการณ์ใหม่ๆ โดยที่ครูเป็นเหมือนโค้ช หรือ Facilitator ด้านผู้เรียนก็ไม่ควรมีบทบาทรับความรู้เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องรักที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนให้เกิดความรู้และทักษะใหม่ที่ไม่คุ้นเคย
2. จุดไฟแห่งการอยากรู้อยากเห็น อัลเบิร์ต ไอนสไตน์กล่าวว่า “การศึกษาคือสิ่งที่หลงเหลืออยู่ในตัวคน หลังจากได้ลืมสิ่งที่โรงเรียนสอนไปหมดแล้ว” ดังนั้นการยัดเยียดความรู้ลงไปในสมองเด็กซึ่งมีโอกาสที่เขาจะลืมได้ จึงไม่สำคัญเท่ากับการกระตุ้นให้เด็กเกิดความอยากรู้ซึ่งจะทำให้เขาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
3. ร่วมรับผิดชอบกับระบบการเรียนรู้ คนไทยจำนวนไม่น้อยที่มองว่าการศึกษาเป็นหน้าที่ของครูและผลักภาระทั้งหมดให้กับโรงเรียน ทั้งที่จริงๆ แล้วเด็กอยู่กับครูเพียง 14% เท่านั้น พ่อแม่และสังคมล้วนมีส่วนสำคัญในการกำหนดชะตากรรมของเด็ก
4. สนับสนุนการเรียนรู้หลายๆ ลักษณะ ไม่เฉพาะแต่การเรียนในห้องเรียนเท่านั้น แต่การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ตลอดชีวิต ส่วนท้องถิ่นหรือภาคส่วนอื่นๆ ก็ควรมีส่วนร่วมในการสร้างแหล่งเรียนรู้เช่นกันเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับสังคม
การปฏิรูปการเรียนรู้สู่การปฏิรูปสังคม
คนที่จะเป็นกำลังในการขับเคลื่อนไปสู่สังคมที่พึงปรารถนา ควรจะมีคุณลักษณะดังนี้
1. มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ทั้งทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิต และทักษะด้านเทคโนโลยี
2. มีความรู้ในการทำมาหากินและการดำรงชีพ
3. มีทัศนคติและค่านิยมที่เป็นบวก เช่น การมองโลกในแง่ดีสร้างสรรค์ มีความกตัญญู
4. มีพฤติกรรมที่ดี ประการสำคัญก็คือ มีความเป็นมนุษย์ และมีความเป็นพลเมืองที่ดี
ดร.วรากรณ์ มีความเห็นว่าคนไทยรุ่นใหม่มีแนวโน้มด้านลบบางประการที่สังคมควรจะตระหนัก อาทิ
1. มองว่าตนเองเป็นมีสิทธิ์อันชอบธรรมในการเป็นผู้รับสิ่งต่างๆ ทั้งจากครอบครัวและสังคม ทำให้คนรุ่นใหม่หลีกเลี่ยงที่จะทำงานหนัก ไม่จำเป็นที่จะต้องไคว่คว้าสิ่งที่ต้องการด้วยตนเอง
2. ขาดความบากบั่น ไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ต้องการความสำเร็จที่ได้มาง่ายและเร็ว
3. ให้ความสำคัญกับอารมณ์มากกว่าเหตุผล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก
4. ให้ความสำคัญกับเงิน/ความร่ำรวย แต่อาจไม่เท่ากับการได้แสดงออกหรือการได้รับการยอมรับว่าตนมีความสามารถ ซึ่งผู้ใหญ่สามารถพลิกให้เยาวชนได้แสดงออกและสร้างสรรค์ในทางบวกได้
วีดิทัศน์ ปฏิรูประบบการเรียนรู้ คือการปฏิรูปสังคมที่แท้จริง โดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ บันทึกในโอกาสการประชุมวิชาการประจำปี 2557 (TK Forum 2014) ของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้