วีดิทัศน์ เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสังคมเชิงระบบด้วยปัญญารวมหมู่” บรรยายโดย ณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม (CUD4S) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม บันทึกในโอกาสการประชุม TK Forum 2021 หัวข้อ “Library and Public Space for Learning”
คนส่วนใหญ่มักมีความคิดว่าความฉลาดหรือปัญญาเป็นเรื่องของปัจเจก แต่โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่คนเดียวได้ การอยู่ร่วมกัน การมีปฏิสัมพันธ์ หรือการทำงานร่วมกัน สามารถทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ปัญญารวมหมู่’ (Collective Intelligence) แนวคิดนี้เชื่อในสมมติฐานว่า หากมีเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้คนที่หลากหลายสามารถมีความสัมพันธ์ที่เสมอภาคกัน จะก่อให้เกิดคุณค่าและประสิทธิภาพสูงสุดต่อสังคมส่วนรวม
งานวิจัยของ เอ็มไอที (MIT) ค้นพบว่า องค์ประกอบที่ทำให้เกิดปัญญารวมหมู่ ได้แก่ ระดับความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ความเสมอภาคในการแสดงความคิดเห็น และสัดส่วนของผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่ม คือยิ่งมีสัดส่วนเพิ่มยิ่งมีแนวโน้มที่ดี
โดยทั่วไปแล้วแนวคิดเรื่องปัญญารวมหมู่ถูกนำมาใช้ในธุรกิจเอกชน แต่ยังมีไม่มากนักที่นำมาใช้ในแง่ประโยชน์ของสาธารณะ ตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เช่น
- สวน Meiji Jingu ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นสุสานให้กษัตริย์องค์สุดท้ายของญี่ปุ่นเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว ผู้คนช่วยกันรวบรวมต้นไม้นับแสนต้นจากทั่วประเทศ ปัจจุบันได้งอกงามและกลายเป็นป่าถาวรที่ร่มรื่นกลางเมืองโตเกียว
- การผลิตวัคซีนชนิดใหม่มีการแบ่งปันองค์ความรู้กันในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี ในขณะที่สมัยก่อนอาจใช้เวลา 10-15 ปี
- นวัตกรรม Citizen Sensing Toolkit ซึ่งภาคประชาชนในเมืองบาร์เซโลนาช่วยกันซื้อชุดตรวจวัดคุณภาพอากาศมาติดไว้ตามบ้าน
- การระดมทุนเพื่อสร้างสะพานลอยในเมืองรอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์
- แพลตฟอร์มที่ชื่อ Nudge ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเปิดให้ประชาชนร่วมกันเสนอไอเดียพัฒนาเมือง และระดมทุนสนับสนุน
- แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ Khan Academy
- Studio School ต้นแบบโรงเรียนที่มีคุณภาพโดยใช้ต้นทุนเท่าโรงเรียนทั่วไป ซึ่งขยายผลไป 200 กว่าแห่งทั่วอังกฤษ
- โครงการพัฒนาเมืองเรคยาวิก (Reykjavik) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งประชาชนสามารถมีส่วนร่วมกับเทศบาล
- โครงการต้นแบบห้องสมุดประชาชนสาธารณะ ซึ่งสถาบันอุทยานการเรียนรู้กำลังดำเนินงานร่วมกับศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม (CUD4S) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย