8 หนังสือ (แปล) เปลี่ยนชีวิต
หากไร้ซึ่งการทำงานของนักแปล หนังสือย่อมไม่อาจเดินทางได้ทั่วโลก ไม่มีการแลกเปลี่ยนทางวรรณกรรมเกิดขึ้น หนังสือฝรั่งเศสจะไม่มาสู่สายตาของนักอ่านชาวจีน คนอังกฤษจะไม่ได้อ่านหนังสือของอินเดีย... หนังสือแปลจึงนำพาความรู้แต่ละมุมโลก มาให้คนต่างเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมได้ศึกษาเรียนรู้
นอกจากนี้ มีหนังสือ (แปล) ดีๆ อีกหลายเล่ม ถ้าใครได้ลองอ่านแล้วจะได้พบแรงบันดาลใจ มาเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนชีวิต และเปิดดวงตาให้มองโลกใบนี้ได้กว้างขึ้น
1.เจ้าชายน้อย
ผู้เขียน อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี
ผู้แปล พงาพันธุ์
วรรณกรรม เยาวชนสัญชาติฝรั่งเศส ได้รับการแปลกว่า 190 ภาษาและมียอดจำหน่ายกว่า 80 ล้านเล่มทั่วโลก แม้จะมีเนื้อหาด้านเสียดสีโลกของผู้ใหญ่ แต่อีกด้านหนึ่งกลับสะท้อนความรัก ความสัมพันธ์ของคนเรา ผ่านสายตาของเจ้าชายน้อย กับการเดินทางไปพบผู้คนในดวงดาวต่างๆ
2.โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง
ผู้เขียน เท็ตสึโกะ คุโรยานางิ
ผู้แปล ผุสดี นาวาวิจิต
เรื่อง จริงของเด็กหญิงโต๊ะโตะจังกับการใช้ชีวิตในห้องเรียนรถไฟที่ “โทโมเอ” โรงเรียนประถมศึกษาในกรุงโตเกียว เนื้อหาพูดถึงระบบการศึกษาที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้การดูแลของครูใหญ่โคบายาชิที่มีวิสัยทัศน์และวางรากฐานปรัชญาทางการ ศึกษาไว้ได้อย่างน่าสนใจ
3.ติสตูนักปลูกต้นไม้
ผู้เขียน โมรีส ดรูอง
ผู้แปล อำพรรณ โอตระกูล
หนังสือ ที่มีผู้กล่าวขานกันทั่วโลก นับแต่เริ่มพิมพ์ฉบับภาษาฝรั่งเศสครั้งแรกใน ค.ศ. 1968 ’ติสตู นักปลูกต้นไม้' เป็นเรื่องของเด็กผู้ชายผู้ซึ่งไม่ยอมถูกครอบงำตามความคิดของผู้ใหญ่ วันหนึ่งเขาลงมือปลูกต้นไม้ ทำให้คุก โรงพยาบาล ชุมชนแออัด กลายเป็นสถานที่สวยงาม และทำให้เด็กชายค้นพบว่า ดอกไม้สามารถสกัดกั้นความชั่วร้ายได้
4.เหยื่ออธรรม
ผู้เขียน วิกตอร์ อูโก
ผู้แปล วิภาดา กิตติโกวิท
“เหยื่ออธรรม” เป็นหนึ่งในวรรณกรรมอมตะของฝรั่งเศสและวรรณกรรมโลก มีทั้งหมด 5 ภาค เนื้อหาเกี่ยวกับ ฌอง
วัล ฌอง ชาวนายากจน ต้องเลี้ยงดูหลานตามลำพัง ไม่มีเงินซื้ออาหาร จนต้องขโมยขนมปังและถูกจับติดคุกถึง 19 ปี เนื้อหาหลักพูดถึงความเหลื่อมล้ำ และการต่อสู้ ระหว่างชนชั้น ศรัทธาและความดีงามของมนุษย์
5.ไม่ครบห้า
ผู้เขียน โอโตทาเกะ ฮิโรทาดะ
ผู้แปล พรอนงค์ นิยมค้า
ชีวประวัติ ของชายหนุ่มซึ่งเกิดมามีร่างกาย “ไม่ครบห้า” เพราะไม่มีสองแขนและสองขา ต้องใช้ชีวิตครึ่งท่อนอยู่บนรถเข็นไฟฟ้า แต่เขาสามารถใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปโดยไม่รู้สึกว่าความพิการจะเป็นอุปสรรค ในการดำเนินชีวิต หากเป็นเพียงความไม่สะดวกเล็กๆ ในชีวิต
6.โจนาธาน ลิฟวิงตัน : นางนวล
ผู้เขียน ริชาร์ด บาก
ผู้แปล ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
โจ นาธานฯ หนังสือว่าด้วยการแสวงหาความหมายของชีวิต การตั้งคำถามกับประเพณี และความเชื่อ หนังสือเล่มนี้จึงถูกหยิบยกออกมาพิมพ์ หรือพูดถึงกันในหลายครั้ง ในช่วงเวลาที่ผู้คนถูกกดทับให้อยู่ภายในกรอบ หรือระเบียบของสังคม
7.กามนิต
ผู้เขียน คาร์ล อดอล์ฟ เจลเลอร์รุป
ผู้แปล เสฐียรโกเศศ–นาคะประทีป
ผล งานของนักเขียนชาวเดนมาร์ก เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ค.ศ. 1917 ฉบับภาษาไทยแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ (The Pilgrim Kamanita) ซึ่งแปลมาจากต้นฉบับภาษาเยอรมัน (Der Pilger Kamanita) อีกทอดหนึ่ง เป็นนิยายอิงแนวความเชื่อในพุทธศาสนา มีการเชื่อมโยงหลักธรรมกับความรัก ความทุกข์ และหนทางแห่งการดับทุกข์ กล่าวถึงกามนิต ชายหนุ่มผู้ปรารถนาจะพบพระพุทธเจ้าเพื่อจะได้ขจัดความทุกข์ต่างๆ และได้พบกับความสุขอันเป็น
นิรันดร์
8.นิทานเวตาล
ผู้เขียน วรรณกรรมสันสกฤตโบราณ
ผู้แปล พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือ น.ม.ส.
นิทาน ซ้อนนิทาน จำนวน 25 เรื่อง มีโครงเรื่องหลักเป็นการตอบปัญหาระหว่างพระวิกรมาทิตย์ กษัตริย์แห่งกรุงอุชชิยนี กับเวตาล ปีศาจที่มีร่างกายกึ่งมนุษย์กับค้างคาว เนื้อหาสะท้อนวัฒนธรรมและคติความเชื่อของชาวอินเดียโบราณ
ฉบับภาษาไทย ของ น.ม.ส. มีความโดดเด่นด้านการใช้ภาษาสละสลวย ซึ่งแปลจากฉบับภาษาอังกฤษของริชาร์ด ฟรานซิส เบอร์ตัน จำนวน 9 เรื่อง และสำนวนแปลของ ซี.เอช. ทอว์นีย์ อีก 1 เรื่อง