ท่ามกลางกระแสลมรักที่ยังพัดผ่านไปไม่หมดดี ความรักที่เจือด้วยความงดงามของศิลปะจึงพัดผ่านมายังอุทยานการเรียนรู้ TK park อีกครั้ง กับกิจกรรม เส้น - สาย - ลาย - รัก: เมื่อรักบรรจบ ที่อุดมไปด้วยกิจกรรมหลากหลาย ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสัมผัสได้ถึงความรักที่ยังอบอวลตลอดเดือนนี้ ผ่านแง่มุมอันงดงามของศิลปะและการให้โอกาสระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
กิจกรรมที่ดำเนินมาตลอดสัปดาห์ ตั้งแต่วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ จนถึงวันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งก็คือวันนี้ กิจกรรมที่เกิดขึ้นในวันสุดท้ายจึงเหมือนเป็นการสรุปความหมายของความรักให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รู้สึกกันมากขึ้น กับเรื่องราวความรักที่จะมาบรรจบกับทุกสิ่ง ในกิจกรรมที่เกิดขึ้นต่อไปนี้
เมื่อรักบรรจบศิลปะ
นิทรรศการศิลปะแห่งความรัก
นิทรรศการศิลปะขนาดเล็กที่จัดแสดงอยู่ ณ ลานด้านหน้าห้องมินิเธียเตอร์ คือการถ่ายทอดมุมมองเรื่องความรักของศิลปินที่มาจากหลายสาขาอาชีพ ผ่านผลงานที่ใช้เทคนิคหลากรูปแบบ สะท้อนแนวคิดที่มีต่อความรัก ความสงบ และศรัทธา ที่มีต่อตนเอง สังคม และเพื่อนมนุษย์ ซึ่งมีความงดงามเป็นอย่างมาก
ผลงานสะเทือนใจของไทกิ
ตัวอย่างผลงานชิ้นแรกของ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ศิลปิน ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ เชื้อสายไทย-ญี่ปุ่น ที่นำเทคนิค Video Installation มาใช้ถ่ายทอดเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่กำลังเสียใจและเสียน้ำตาจากความรัก ในผลงานที่ชื่อว่า นอกเสียจากเขาโกหก นอกเสียจากเขาโกหก Unless he tells a lie Unless he tells a lie หรือจะเป็นผลงานที่ชื่อว่า โปสการ์ดจากความทรงจำ ผลงานของ อาจารย์ ดร. เกรียงไกร เกิดศิริ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ได้แรงบันดาลใจในการสร้างผลงานจากการที่เดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และเก็บความทรงจำเหล่านั้นมาถ่ายทอดลงในแผ่นโปสการ์ดที่วาดขึ้นเอง เพื่อเก็บความรู้สึกและความรักให้คงอยู่ตลอดไป
ผลงานอันงดงามจากกาแฟผง
ผลงานชิ้นต่อไปที่ชื่อว่า สะพานถัวเจียง ผลงานของ ปรีดา ลิ้มนนทกุล จิตรกรใจเพชรผู้พิการ ใช้เทคนิคการวาดด้วยกาแฟผง ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากแม่ที่บอกว่าคนเชื้อสายจีนทั่วโลกต้องกลับไปเยี่ยมประเทศจีนสักครั้ง ภาพวาดจากกาแฟภาพนี้จึงถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อประเทศจีน เติมเต็มความรักที่มีต่อบรรพบุรุษของตนเองได้อย่างงดงาม ส่วนผลงานของศิลปินคนพิการอีกท่านคือ ชีวิต ผลงานของ พิเชษฐ์ ฮวบเล็ก จิตรกรสีน้ำ ผู้ใช้ปากวาดภาพ ถึงแม้ร่างกายจะเคลื่อนไหวไม่ได้ แต่หัวใจกลับสามารถโบยบินได้อย่างอิสระ จึงถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานภาพวาดสีน้ำที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตที่งดงามเกินกว่าใครจะคาดคิด
นอกจากนี้ยังมีผลงานของศิลปินท่านอื่นอีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งล้วนแล้วแต่ถ่ายทอดมุมมองความรักในแบบของตนออกมาได้อย่างงดงามเช่นกัน
เมื่อรักบรรจบโอกาส
ตุ๊กตาถักไหมพรมแสนน่ารัก
ส่วนหนึ่งของกิจกรรมแห่งความรักครั้งนี้ ก็ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มคนพิการจากโครงการ By Heart ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนให้คนพิการจากทั่วประเทศได้มีสินค้าเป็นของตัวเองและออกจำหน่ายในวงกว้าง ด้วยการจัดการระบบสินค้าอย่างมีมาตรฐาน สินค้าทุกชิ้นจึงผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาอย่างดีก่อนออกจำหน่าย ซึ่งบริเวณโซน VR ก็ได้เปิดเป็นมุมจำหน่ายสินค้าดังกล่าวอีกด้ว
การ์ดป๊อปอัพแสนประณีต
“เราอยากจะสร้างแบรนด์ให้กับคนพิการ คือคนพิการมีสินค้าเยอะมาก ซึ่งเป็นสินค้าที่มีคุณภาพทั้งสิ้น แต่คนพิการจะขาดช่องทาง เราจึงหาตลาดให้เขา เรียกได้ว่าซื้อด้วยจิต ผลิตด้วยใจ คนที่ซื้อก็ไม่อยากให้ซื้อด้วยความสงสาร ในขณะเดียวกันคนพิการก็อยากผลิตให้ด้วยจิตใจของเขา เราอยากให้ได้ทั้งสองอย่าง” คำกล่าวของคุณไพบูลย์ แดงประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีดับบลิวดี มัลติมีเดีย จำกัด ผู้ริเริ่มโครงการ By Heart ที่เป็นสื่อกลางให้คนพิการและคนทั่วไปได้เข้าใจซึ่งกันและกัน ผ่านผลงานศิลปะฝีมือคนพิการแขนงต่างๆ
การเวิร์คช็อปจากใจถึงใจ
ผลงานที่นำมาจำหน่ายส่วนใหญ่จึงเป็นผลงานหัตถศิลป์และงานฝีมือเป็นส่วนใหญ่ ถือเป็นข้อดีของความพิการที่พวกเขาจะมีความตั้งใจและสมาธิมากกว่าคนปกติจึงสามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพออกมาได้ ตัวอย่างเช่นผลงาน ดอกไม้จากดินญี่ปุ่น สวนในขวดแก้ว ตุ๊กตาถักไหมพรม และการ์ดป๊อปอัพ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานทำมือที่เปี่ยมไปด้วยความสวยงามและคุณภาพทั้งสิ้น นอกจากนั้นภายในงานยังมีกิจกรรมเวิร์คช็อปการทำสินค้าดังกล่าว จากผู้พิการที่อยากจะถ่ายทอดความรู้ให้กับคนปกติ โดยทำหน้าที่เสมือนเป็นสะพานเชื่อมให้คนพิการและคนปกติได้เรียนรู้และเข้าใจกันและกันมากขึ้น
เมื่อรักบรรจบชีวิต
การเสวนาแห่งศรัทธา ความฝัน และความรัก
ทางด้านกิจกรรมบนเวทีลานสานฝันก็ได้บอกเล่าเรื่องราวความรักผ่านการฉายภาพยนตร์และการเสวนา เริ่มต้นกิจกรรมกับหนังสั้นแนวทดลองเรื่อง ถ้อยคำที่ถูกสาป ผลงานของ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ซึ่งหนังสั้นเรื่องนี้ได้รับรางวัลวิจิตรมาตราในเทศกาลหนังสั้น ครั้งที่ 13 เนื้อหาของเรื่องนำเสนอผ่านการเล่นระหว่างภาพและเสียงที่มีความขัดแย้งกัน เปี่ยมไปด้วยความคลุมเครือลึกลับ ชวนให้ผู้ชมพินิจพิเคราะห์ค้นหาคำตอบอย่างถี่ถ้วนในทุกๆ นาทีที่ภาพและเสียงกำลังเคลื่อนไหว
สานต่อเรื่องราวความรักด้วยการเสวนาในหัวข้อ ศรัทธา ความฝัน และความรัก ว่าด้วยการค้นหาในสิ่งที่ชีวิตต้องการอย่างแท้จริง โดยวิทยากรอย่าง คุณไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ผู้กำกับหนังสั้นเจ้าของรางวัลวิจิตรมาตราในเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 13 ศิลปิน Visual Art ช่างภาพ อาจารย์พิเศษจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร คุณไพบูลย์ แดงประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีดับบลิวดี มัลติมีเดีย จำกัด ผู้เป็นสื่อกลางให้คนพิการและคนทั่วไปได้เข้าใจซึ่งกันและกัน ผ่านผลงานศิลปะฝีมือคนพิการแขนงต่างๆ และ คุณปรีดา ลิ้มนนทกุล หนึ่งในทีมงานบริหารจัดการโครงการ ของ บริษัท พีดับบลิวดี มัลติมีเดีย จำกัด รวมทั้งศิลปินที่เขียนภาพด้วยกาแฟ ดำเนินการเสวนาโดย คุณรวินทร์ คำโพธิ์ทอง (ตุ๊กตา) กองบรรณาธิการ สำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์
ศิลปินที่ทำงานเหมือนการใช้ชีวิต
“ผมอยากจะใช้สื่อของภาพเคลื่อนไหวและดนตรี มาผสมกันเป็นภาพยนตร์ ซึ่งเป็นสื่อสองอย่างที่สำคัญมากในชีวิตประจำวันและในแง่การที่จะเล่าอะไรบางอย่างออกมา” คุณไทกิเล่าถึงเป้าหมายในการใช้ศาสตร์ภาพยนตร์เพื่อบอกเล่าความคิดของตนเอง ทางด้านคุณไพบูลย์ก็ใช้มุมมองที่มีต่อคนพิการในแง่บวกเป็นแรงผลักดันในการตั้งเป้าหมาย “นิตยสาร PWD เราทำออกมาเพื่อเชื่อมคนภายนอกกับคนพิการให้ได้ โดยนำเสนอเรื่องราวของคนพิการที่ไม่ใช่โทนอเนจอนาถ ชวนให้สงสาร แต่เราทำให้คนเข้าใจกันมากกว่า”ส่วนคุณปรีดาเองก็ใช้แรงผลักดันที่เกิดจากตัวเองมาพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อคนพิการขึ้นมา “จุดเริ่มต้นในการทำงานเพื่อคนพิการ เนื่องจากผมเป็นคนพิการกลุ่มรุนแรง เวลาผมออกแบบซอฟต์แวร์ก็จะทำไปถึงกลุ่มคนพิการรุนแรงด้วย ซึ่งโดยส่วนใหญ่คนเหล่านี้อาจจบปริญญาตรี ถ้าประเทศชาติผลิตบุคลากรที่มีความรู้มาแล้ว แต่ถ้าเขาไม่ได้ใช้ความรู้ ประเทศเราก็จะเสียคนเหล่านี้ไปเลย”
ผู้ใช้ความพิการเป็นแรงผลักดันในการทำงาน
เมื่อถามถึงแนวคิดในการทำงาน วิทยากรแต่ละท่านก็มีวิธีการคิดและการทำงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายของตนเอง อย่างคุณไทกิก็มีการทำงานที่ไม่ต่างกับการใช้ชีวิตประจำวัน “วิธีการทำงานของผมก็เหมือนการใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่จะเป็นภาพที่ถ่ายเก็บไว้ เรียกว่า Stock Footage คือเราไปถ่ายแล้วเก็บไว้ในห้องสมุดของเรา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน พอถึงเวลาก็รวมออกมาเป็นธรรมชาติของงาน” คุณไพบูลย์ก็เล่าถึงโครงการ By Heart ที่มองเห็นถึงข้อดีของความพิการ “ผมจะพูดเสมอว่าความพิการถือเป็นข้อได้เปรียบ เพราะเขาจะมีสมาธิตั้งใจทำงาน ยิ่งถ้าเป็นงานแฮนด์เมดจะทำได้ดีมาก ส่วนใหญ่เขาจะมีฝีมือแต่ยังขาดช่องทางจำหน่าย รวมทั้งการสนับสนุน โครงการ By Heart จึงมีจุดประสงค์เพื่อต้องการยกระดับสินค้าของคนพิการขึ้นมา”
ส่วนคุณปรีดาก็ใช้แนวคิดที่อยากจะช่วยเหลือคนพิการด้วยกันในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะออกมา “ปกติผมทำงานด้านไอที แต่วันหนึ่งผมกับคุณไพบูลย์ไปเห็นภาพวาดสีน้ำของคนพิการ เป็นงานที่เข้าใจว่าคือการวาดภาพเพื่อบำบัดจิต กว่า 300 ภาพ เราก็เลยคัดภาพเหล่านี้ให้เหลือประมาณ 80 ภาพ แล้วไปคุยกับค่ายมือถือเพื่อให้ดาวน์โหลดภาพวาด คนพิการจึงเริ่มมีรายได้ ปรากฏว่ามีช่วงหนึ่งที่คนพิการส่งภาพวาดให้เราไม่ทัน ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็เห็นใจคนพิการด้วยกัน เพราะกว่าจะวาดรูปได้รูปหนึ่งต้องใช้เวลานาน ผมจึงเริ่มต้นจากภาพสีน้ำ จากที่ไม่เคยวาดมาก่อนเลย เวลาสี่เดือนนั้นผมวาดไปสี่สิบกว่าภาพ ผมจึงอยากจะเผยแพร่แนวคิดนี้ให้งานศิลปะอยู่ใกล้ตัวมากขึ้น” คุณปรีดากล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการวาดภาพ ซึ่งเขาก็ได้ใช้ความพิการสร้างโอกาสขึ้นมา “ถ้าใครมีความคิดด้านลบเกี่ยวกับความพิการ ผมไม่สนใจเลย แต่ผมรู้ว่าวันนี้ความพิการที่ผมเป็นอยู่ ไม่ใช่ว่าใครอยากจะเป็นก็เป็นได้ นี่คือโอกาสของผม ผมจึงใช้ความพิการอย่างเต็มที่และเป็นแรงส่งให้ผมทำงานต่อไปได้”
แม้จุดมุ่งหมายในเส้นทางชีวิตของวิทยากรทั้งสามท่าน ต่างมีที่มาแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่มีเหมือนกันก็คือความศรัทธา ความฝัน และความรัก
กาลเวลาที่ผ่านเลยไป ทำให้เดือนแห่งความรักจำต้องผ่านพ้นไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความรักจะเดินทางจากไปพร้อมกัน ความรักยังคงล่อยลอยอยู่รอบตัวเรา เพียงแค่เปิดใจมองหาเท่านั้น
เพราะความรักสามารถเดินทางไปบรรจบได้ ณ ทุกอณูของสรรพสิ่ง
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย