“หนังสือภาพที่งดงามคือหอศิลป์ชั้นเลิศใกล้ตัวเด็ก”
เป็นวรรคทองจากปกหลังของหนังสือนิทานเรื่อง พญาเถนขี้ลืม เขียนโดยคำพูน บุญทวี นักเขียนซีไรต์ สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก ที่เปรียบเปรยหนังสือภาพสำหรับเด็กกับหอศิลป์ได้อย่างน่าสนใจ เพราะอันที่จริง หนังสือนิทานที่มีภาพประกอบงดงามก็ไม่ต่างอะไรกับงานศิลปะที่จะช่วยจรรโลงจิตใจให้เด็กรู้จักคุณค่าและความงามตั้งแต่ยังเล็กๆ ดังนั้นหนังสือที่ดีจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างเด็กให้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้
ด้วยความตระหนักรู้ในคุณค่าของหนังสือดี ทางอุทยานการเรียนรู้ TK park สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก นิตยสาร Mother&Care และภาคีเครือข่าย จึงร่วมกันจัดงาน “ร้อยกิจกรรมวันหนังสือเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2554” ในวันที่ 1-3 เมษายน 2554 โดยในงานมีกิจกรรมสำคัญคือ งานเสวนาเรื่อง “หนังสือในการพัฒนาเด็กด้อยโอกาสให้ฉลาด สมรรถนะดี” ที่จะช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้รู้จักหนังสือดีที่จะช่วยให้ลูกได้มีพัฒนาการสมวัย โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรชื่อดัง แพทย์หญิงจิตรา วงศ์บุญสิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงดูเด็ก เจ้าของผลงานหนังสือ “ออกแบบลูกรักด้วยวิธีเลี้ยง” และคุณสุธาทิพ ธัชยพงษ์ รองประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก โดยมีคุณปอง - เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กเป็นพิธีกรดำเนินรายการ
ร่วมเสวนากับแพทย์หญิงจิตรา และคุณสุธาทิพ
คุณหมอจิตราได้เริ่มต้นการเสวนาโดยกล่าวถึงการเลี้ยงดูและการเตรียมความพร้อมให้ลูก ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะกำหนดให้เขาเติบโตมาเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าเราต่างก็ปรารถนาดีต่อลูกไม่ต่างจากคนอื่น แต่ถ้าวิธีเลี้ยงดูของเราผิดเสียแล้ว เด็กก็จะเติบโตมามีปัญหาได้ การเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กนั้นต้องรู้จักเตรียมให้เขาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทางร่างกายนั้นคือเลี้ยงดูเขามิให้พิกลพิการ ให้เขากินนมแม่เพื่อที่จะได้รับสารอาหารครบถ้วน เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตในทุกๆ ด้าน นอกจากนั้นยังต้องให้ความอบอุ่นแก่เขา และสื่อสารกับเด็กบ่อยๆ เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งการอ่านหนังสือให้เด็กฟังก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการตรงนี้ได้ เมื่อเด็กมีความพร้อมทางร่างกายแล้ว ทางด้านจิตใจเช่นเรื่อง ความเข้มแข็ง คุณธรรมจริยธรรมต่างๆ จะได้รับการปลูกฝังง่ายขึ้น
สิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กพัฒนาได้เร็วขึ้นคือการมี “เข็มทิศชีวิต” ทำให้เขารู้สึกแน่วแน่มั่นคงในการก้าวเดินต่อไป หนังสือที่ดีนั้นจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะมาช่วยตั้งเข็มทิศนี้ให้แก่เด็กโดยที่เด็กอาจไม่รู้ตัว เช่น หนังสือชีวประวัติบุคคลสำคัญที่จะมีเรื่องราวชีวิต ข้อคิดต่างๆ ตลอดจนการฝ่าฟันอุปสรรคของบุคคลเหล่านั้นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในบั้นปลาย การอ่านหนังสือเหล่านี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็ก ทำให้เด็กมีบุคคลที่ประทับใจไว้เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิต
“แบบอย่างแห่งความประทับใจนั้นสำคัญมาก เพราะวัยเด็กนั้นเป็นวัยที่ช่างจดจำและเลียนแบบสิ่งที่เขาได้รู้ได้เห็น ดังนั้นหากพ่อแม่ได้ทำให้เขาพบตัวอย่างที่ดี เขาก็จะเลียนแบบตัวอย่างที่ดี ทำให้เขาเป็นคนดี”
นอกจากตัวอย่างในหนังสือแล้ว พ่อแม่เองก็เป็นตัวอย่างสำคัญที่เด็กจะเลียนแบบ โดยมีผลการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จะมีสมองส่วนหนึ่งที่จะคอยสะท้อน (Reflex) พฤติกรรมของพ่อแม่ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะติดตัวไปจนตาย ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ คุณหมอได้ยกตัวอย่างตัวละครในนิยายที่รู้จักกันดีอย่าง “เมาคลี” มนุษย์ที่ตกไปอยู่ในฝูงหมาป่าตั้งแต่เด็ก ทำให้เขามีพฤติกรรมเหมือนหมาป่าทุกประการ แม้โตแล้วและรู้ว่าตัวเองเป็นมนุษย์ ก็ไม่อาจลบล้างพฤติกรรมของหมาป่าไปได้
ดังนั้นพ่อแม่จึงเปรียบเสมือนกระจกเงาของลูก การจะสอนให้ลูกเป็นคนดีจึงต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่าง เพราะตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน การทำตัวเป็นตัวอย่างนั้นทำได้ไม่ยาก คือต้องทำตัวน่านับถือและไว้ใจได้ กล่าวคือ ต้องทำตามคำพูดตัวเอง และทำตามกติกาที่ตกลงกันไว้ และที่สำคัญคือ ต้องไม่เป็นคนขี้บ่น พูดถึงแต่ความต้องการของตนเอง เพราะการบ่นนั้นนอกจากจะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาแล้ว ยังจะคอยซ้ำเติมปัญหาให้แย่ลงอีก
“พ่อแม่ต้องรักษาคำพูดของตัวเอง ทำตามกติกาอยู่เสมอ เพื่อให้ลูกเกิดความเชื่อถือและไว้ใจ อย่าคาดหวังกับทุกสิ่งทุกอย่างมากเกินไป เพราะหากไม่ได้ดังใจ ตัวเราจะหงุดหงิด อารมณ์เสียพาลใส่ลูกทุกครั้งที่เราบ่น สิ่งที่ไม่รู้คือ เราได้สูญเสียความรักจากลูกลงไปทีละน้อย และลูกรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า”
กุศโลบายที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เทคนิคการโน้มน้าวใจให้ลูกปฏิบัติตาม คุณหมอเรียกเทคนิคนี้ว่า “I-Message” คือแทนที่จะพูดคำว่า “ไม่” เราควรจะพูดว่า “พ่อ/แม่อยากให้ลูก...” เช่น ไม่อยากให้ลูกไปเที่ยว แทนที่จะพูดว่า “แม่ไม่อยากให้ลูกไปเที่ยว” ก็พูดใหม่ว่า “แม่อยากให้ลูกอยู่บ้านมากกว่า” การพูดแบบ I-Message ทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่ถูกบังคับ ทำให้ไม่ต่อต้าน เทคนิคนี้สามารถนำไปใช้ได้กับทุกอย่าง เช่น เรื่องการชักชวนให้ลูกอ่านหนังสือ การเลือกหนังสือ/สื่อให้ลูกอ่าน
ผู้เข้าร่วมเสวนาเต็มห้อง
คุณสุธาทิพ ธัชยพงษ์ รองประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก กล่าวถึงการโน้มน้าวให้เด็กอ่านหนังสือว่า เป็นอย่างที่คุณหมอได้กล่าวไว้คือ ต้องไม่ใช่การบังคับ แต่ต้องเริ่มด้วยความรู้สึกว่า เขาได้เลือกเองด้วยความชอบของเขาเอง ความคิดเช่นนี้ทำให้เขารู้สึกตื่นเต้นและอยากจะทำ ในอดีตนั้น เรื่องการอ่านมักจะเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ได้จัดหนังสือไว้ให้เด็กเลยว่าเขาจะต้องอ่านหนังสืออะไรๆ แต่ในปัจจุบันเราควรจะต้องเริ่มที่คำถามที่ว่า เขาชอบหนังสืออะไร
คุณสุธาทิพได้ยกตัวอย่างกิจกรรม “ทอฝันปันหนังสือให้น้อง” ซึ่งเป็นกิจกรรมล่าสุดของมูลนิธิฯ ที่มีแนวคิดอยู่บนคำถามดังกล่าว โดยจัดกิจกรรมให้บรรดาเด็กด้อยโอกาสสองถึงสามร้อยคนได้รับคูปองจำนวน 400 บาท ให้เขาได้นำไปซื้อหนังสือเด็กที่เขาอยากได้ ทำให้เขาได้เลือกหนังสือที่อยากอ่าน เมื่อเขามีหนังสือที่อยากอ่าน เขาก็จะอ่าน ซึ่งจะต่างจากหนังสือที่เขาไม่ได้เลือกซื้อ แต่มีคนบังคับให้อ่านอย่างแน่นอน
เมื่อเริ่มที่ความชอบของเด็กแล้ว สิ่งสำคัญประการที่สองคือ จะทำอย่างไรให้การอ่านนั้นมีคุณภาพ ซึ่งคุณสุธาทิพได้แนะนำกิจกรรมที่มูลนิธิได้ทดลองทำคือ การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการอ่าน ทั้งจากเด็กวัยเดียวกันและจากผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่จะมีประสบการณ์คอยชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง ตลอดจนแนะนำหนังสือที่มีคุณภาพตามความสนใจของเด็ก โดยคุณสุธาทิพได้ยกตัวอย่างหนังสือของสำนักพิมพ์วัยรุ่นแห่งหนึ่งที่เด็กผู้หญิงนิยมซื้อหามาอ่านเป็นจำนวนมาก เมื่อตนเองได้ลองซื้อไปอ่านก็พบว่ามีเรื่องราวบางอย่างที่ไม่เหมาะสมกับวัย เช่นว่า การแข่งขันกันจีบผู้ชาย การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเด็กจึงเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยชี้แนะให้เด็กรู้ถึงความถูกต้องเหมาะสมมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การอ่านมีคุณภาพ
ประการสุดท้ายคือ ผู้ใหญ่เองก็ต้องเป็นแบบอย่างให้แก่เด็ก คือ ต้องเป็นคนรักการอ่านเช่นกัน ไม่ใช่สักแต่ว่าให้เด็กรักการอ่าน แต่ตนเองไม่อ่านหนังสือ เพราะหากผู้ใหญ่เองไม่รักการอ่าน ไม่อ่านหนังสือ ก็จะไม่มีความรู้อะไรไปแลกเปลี่ยนกับเด็ก รู้ไม่เท่าทันเรื่องที่เด็กกำลังอ่าน เด็กพูดถึงหนังสืออะไรก็จะตอบไม่ได้ รวมถึงไม่สามารถชี้แนะแนวทางการอ่านให้เด็กได้ เหมือนที่คุณหมอได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า พ่อแม่คือกระจกเงาของลูก ถ้าพ่อแม่ไม่รักการอ่าน ก็คงหวังให้เด็กเป็นคนรักการอ่านได้ยาก
การเสวนาจบลงด้วยความชื่นมื่น คณาจารย์จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมเสวนากลุ่มใหญ่ได้แสดงน้ำใจมอบผลไม้ขึ้นชื่ออย่างส้มโชกุนเป็นที่ระลึกให้แก่วิทยากร และได้ถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก
มอบของที่ระลึกให้แก่วิทยากร
แม้ว่าหนังสือดีนั้นสำคัญกับเด็กอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่สมบูรณ์แบบ แต่กระนั้น ถึงหนังสือจะดีเลิศสักเท่าไร หากเด็กไม่เต็มใจอ่าน หนังสือนั้นก็ไม่ต่างจากเศษกระดาษแผ่นหนึ่ง ดังนั้น หนังสือดีจึงไม่สำคัญเท่ากับให้เด็กได้ตระหนักถึงคุณค่าของหนังสือ และเป็นคนรักการอ่าน ดังที่คุณสุธาทิพได้พูดถึงอุดมการณ์ของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กว่า
“การนำหนังสือสู่เด็ก ไม่สำคัญเท่านำเด็กสู่หนังสือ”
หนอนหนังสือตัวอ้วน