หลังจบ โครงการ TK Young Writer 2011 เราก็ได้น้องๆ นักเขียนหน้าใหม่มากฝีมือที่จะมาร่วมทำงานกับ TK park เพื่อผลิตผลงานดีๆ ออกสู่สายตาทุกคน แต่ก็ใช่ว่าการอบรมนักเขียนจะสิ้นสุดลงทันทีที่จบโครงการ เพราะฝีมือการเขียนนั้นเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง วันนี้ TK park จึงได้เชิญนักเขียนสารคดีมืออาชีพ เจ้าของรางวัลศิลปาธร ปี 2552 ผู้ได้รับฉายาจากวงการนักเขียนว่าเป็น “เจ้าแม่สารคดีชีวิตด้านมืด” อย่าง คุณอรสม สุทธิสาคร มาให้ความรู้น้องๆ นักเขียนหน้าใหม่เกี่ยวกับเทคนิคการสัมภาษณ์ เพื่อให้บรรดานักเขียนฝึกหัดได้เรียนรู้วิธีการสัมภาษณ์ที่ถูกต้อง และเคล็ดลับในการพูดคุยกับแหล่งข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลในระดับลึกซึ่งทำให้เขียนสารคดีได้อย่างมีคุณภาพ
การอบรมในเดือนก่อนหน้านี้ คุณอรสมได้บอกเล่าถึงวิธีการสัมภาษณ์ที่ถูกต้องว่า ข้อสำคัญที่นักเขียนสารคดีควรต้องตระหนักคือ แหล่งข้อมูลเป็นเสมือนอาจารย์ผู้ให้ความรู้เรา ดังนั้นการเข้าหาแหล่งข้อมูลควรต้องนอบน้อม มีสัมมาคารวะ แต่ก็ต้องดูความเหมาะสมด้วย เช่น ถ้าแหล่งข้อมูลเด็กกว่ามากๆ ก็ไม่ถึงขนาดต้องไหว้ จากนั้นจึงเริ่มด้วยการพูดคุยกันอย่างสุภาพ โดยอาจจะพูดคุยเกริ่นด้วยเรื่องชีวิตทั่วไป ชีวิตครอบครัว แล้วจึงเข้าสู่ประเด็นคำถามที่ตั้งเอาไว้
ในระหว่างการสัมภาษณ์ นักเขียนสารคดีต้องคอยควบคุมการพูดคุยให้อยู่ในประเด็นที่ตั้งไว้ จะต้องพูดคุยอย่างระมัดระวัง ให้เกียรติผู้ให้สัมภาษณ์เสมอ เช่น หากคำถามใดที่ผู้ถูกสัมภาษณ์มีที่ท่าไม่ค่อยอยากตอบมากนัก ผู้สัมภาษณ์ก็ไม่ควรถามย้ำๆ เพื่อเค้นเอาคำตอบ หรือบางครั้งผู้ถูกสัมภาษณ์สะเทือนใจร้องไห้ ผู้สัมภาษณ์ก็ต้องมีสติควบคุมสถานการณ์ให้ได้ โดยอาจปลอบโยนและปล่อยให้ผู้ให้สัมภาษณ์ได้ระบายความสะเทือนใจหรือคับแค้นใจ เสมือนว่าเขาเป็นญาติของเรา
จากนั้นคุณอรสมจึงเล่าถึงประสบการณ์ที่เคยไปสัมภาษณ์ที่น่าประทับใจในครั้งหนึ่งที่เคยไปทำงานสัมภาษณ์นักโทษหญิงในคุก ซึ่งมีรายหนึ่งที่ถูกใส่ความจนต้องจำคุกตลอดชีวิต เมื่อเธอคนนั้นได้พูดคุยเปิดอกจนหมดเปลือกก็ร้องไห้ แล้วขอบคุณคุณอรสมทั้งน้ำตาว่าทำให้เธอมีโอกาสได้พูด ได้ระบายความคับแค้นใจ ได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตนเองเพื่อจะได้นำไปเป็นอุทธาหรณ์ให้แก่คนอื่นๆ ซึ่งสำหรับนักเขียนสารคดีแล้ว การได้ช่วยเหลือคนอื่น เป็นปากเสียงให้ผู้ทุกข์ยากเช่นนี้ นับเป็นความสุขที่คุณอรสมถือว่าเป็น “อภิสิทธิ์ของนักเขียนสารคดี”
เมื่อจบการอบรมในครั้งก่อน คุณอรสมได้ฝากการบ้านเล็กๆ ให้น้องๆ นักเขียนรุ่นใหม่ นั่นคือการเขียนบทความสัมภาษณ์ชิ้นเล็กๆ โดยให้ไปสัมภาษณ์คนใกล้ตัว อาจจะเป็นเพื่อนหรือญาติสนิทก็ได้ แล้วจะได้นำชิ้นงานนั้นมาตรวจแก้และให้คำแนะนำในครั้งต่อไป
วันนี้จึงเป็นขั้นตอนของการตรวจแก้งานและให้คำแนะนำของคุณอรสมต่อชิ้นงานที่น้องๆ ส่งมาในครั้งก่อน โดยคุณอรสมกล่าวชื่นชมผลงานของนักเขียนรุ่นใหม่ของ TK ว่าเป็นนักเขียนที่มีฝีมือพอตัวอยู่แล้ว สามารถนำประเด็นเล็กๆ มาเขียนให้จับใจได้ ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของนักเขียนประการหนึ่ง คือรู้จักมองเรื่องธรรมดาให้มีแง่มุม จับประเด็นที่คนอื่นอาจมองข้ามมาขยายเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจได้
นอกจากนั้นคุณอรสมยังชื่นชมเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในกลวิธีการนำเสนองานของน้องๆ ว่ามีหลากหลาย เช่น การตั้งชื่อเรื่องที่ช่วยเร้าความสนใจ เช่น “ผู้มองโลกอย่างคนตาบอด” “คำตอบสุดท้ายจากลูกชายคนแรก” “จุดเริ่มต้นของความสงบ จุดจบของกิเลส” เป็นต้น ซึ่งชื่อเหล่านี้จะสังเกตได้ว่ามีการเล่นกับความขัดแย้ง ทำให้เห็นการเปรียบเทียบระหว่างสองสิ่งที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจว่าเรื่องจะเป็นอย่างไรและจะจบลงอย่างไร
คุณอรสมกล่าวถึงชิ้นงานในภาพรวม
จากนั้นจึงเป็นการให้ผู้เข้าอบรมเล่าถึงเรื่องราวการสัมภาษณ์ที่ได้ไปทำงานมาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นการคุยกับเพื่อนหรือคนรู้จัก จึงทำให้การพูดคุยไม่ยากนัก เช่น น้องน้ำพลอย - จารุวรรณ ชื่นชูศรี เจ้าของผลงาน “คำตอบสุดท้ายจากลูกชายคนแรก” ซึ่งเป็นเรื่องราวชีวิตของลูกคนโตของครอบครัวตระกูลคนจีนครอบครัวหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของเพื่อนสนิทใกล้ตัวเธอนั่นเอง เธอกล่าวว่าการพูดคุยนั้นไม่ลำบากนักเพราะเป็นคนใกล้ตัว และเจ้าของเรื่องก็ยินดีให้เปิดเผยเรื่องราวอยู่แล้วเพราะอยากให้เป็นอุทธาหรณ์แก่ครอบครัวอื่นๆ นั่นเอง
คุณอรสมให้น้องๆ นักเขียนเล่าถึงประสบการณ์การสัมภาษณ์
น้องน้ำพลอยเล่าถึงประสบการณ์สัมภาษณ์
ส่วนด้านที่เป็นข้อเสียของงานนั้น คุณอรสมได้ให้ภาพรวมเอาไว้ว่าหลายคนยังมีปัญหาเรื่องการใช้สรรพนามในการเล่าเรื่องอยู่บ้าง เช่น ใช้เขา หรือเธอ ในการเล่าไปจนจบเรื่อง ซึ่งเมื่ออ่านแล้วจะทำให้เกิดความรู้สึกซ้ำๆ หากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง หรือเลือกใช้คำอื่นมาแทน เช่น แทนที่จะใช้ เขา ก็ใช้สรรพนามอื่น อาทิ ชายวัยกลางคน หญิงสาวแววตาสดใส เป็นต้น
ประการที่สองคือ ในหลายจุดยังติดสำนวนภาษาต่างประเทศ เช่น เป็นอะไรที่ (Something Like that) เขาถูกกระทำ (Passive Voice) เขาสามารถทำได้ (He can do) ซึ่งสำหรับรูปประโยคภาษาไทยนั้นไม่ควรให้เยิ่นเย้อ ยกตัวอย่างเช่นเขาสามารถทำได้ ก็เขียนสั้นๆ ไปว่าเขาทำได้ โดยไม่ต้องมีคำว่าสามารถมาขยายอีก
ประการที่สามคือ เนื้องานยังขาดส่วนที่เป็นบรรยากาศในการพูดคุย แม้บางคนอาจจะคิดว่าไม่จำเป็น แต่การใส่บรรยากาศการพูดคุยในงานเขียนจะทำให้ผู้อ่านได้ซึมซับบรรยากาศ ทำให้งานเขียนมีเสน่ห์ยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นการทำให้ผู้อ่านรู้จักผู้ให้สัมภาษณ์ได้มากขึ้นอีกด้วย เช่น การบรรยายรอยยิ้ม แววตา เสียงหัวเราะ ผู้อ่านก็จะรับรู้ได้ว่าผู้ให้สัมภาษณ์เป็นคนอารมณ์ดี เป็นต้น
จากนั้นจึงเป็นการให้คำแนะนำในแต่ละงาน ซึ่งคุณอรสมได้ตรวจทุกชิ้นงานอย่างละเอียด โดยแต่ละคนก็มีรายละเอียดแตกต่างกันไป เช่น การใช้คำผิด ใช้ไม้ยมกผิด การใช้คำว่า “มัน” ใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเว้นวรรคตอนผิด เป็นต้น เมื่อคุณอรสมให้คำแนะนำแก่น้องๆ จนครบทุกชิ้นงานแล้วก็ปิดการอบรมลงอย่างประทับใจ และทิ้งท้ายไว้ว่าหากมีปัญหาใดๆ ก็ขอให้ติดต่อมา คุณอรสมยินดีช่วยเหลือเสมอ
คุณอรสมให้คำแนะนำในแต่ละชิ้นงาน
ตัวอย่างงานที่คุณอรสมตรวจ
น้องแพรวา มั่นพลศรี กล่าวถึงความประทับใจจากการอบรมครั้งนี้ว่า ไม่ผิดหวังที่ได้มาอบรมกับนักเขียนสารคดีรุ่นใหญ่อย่างคุณอรสม ซึ่งทำให้เธอมั่นใจที่จะก้าวไปสู่เส้นทางการเป็นนักเขียนมากขึ้น
“ครั้งแรกที่ได้ทราบข่าวการอบรมนี้ ก็ตอบตกลงทันทีทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ดูปฏิทินตัวเองเลยว่าว่างจริงรึเปล่า และคิดว่าต้องมาให้ได้ เพราะเคยได้ยินชื่อพี่อรสมมานานแล้ว และโดยส่วนตัวก็อยากเขียนงานที่เป็นเชิงสารคดี คิดว่ามาครั้งนี้ต้องได้อะไรดีๆ แน่นอน แล้วก็ไม่ผิดหวัง
“ในทุกๆ ครั้งที่ไปค่ายเกี่ยวกับงานเขียน มักจะได้รับแรงบันดาลใจหรืออะไรสักอย่างที่กระตุ้นให้ได้ใช้สมองขบคิดเรื่องราวหรือประเด็นต่างๆ อย่างลึกซึ้ง ครั้งนี้ก็เช่นกัน อาจเป็นการได้ค้นหาแนวทางใหม่ของตัวเอง หรือรู้ว่าแท้จริงแล้ว ฉันอยากเป็นคนเขียนถ่ายทอดเรื่องราวแบบไหน แม้จะยังฟันธงคำตอบไม่ได้ แต่การวิจารณ์งานเขียนของพี่อรสม ทำให้ฉันได้แง่มุมใหม่ และได้ย้อนกลับมามองตัวเอง บางสิ่งที่ฉันเชื่อโดยสนิทใจ อาจไม่ใช่บางอย่างที่คนทั่วไปเขาคิดกัน นั่นคือที่มาของความเอนเอียงที่เกิดขึ้นในงานเขียน แม้ฉันจะเชื่อว่าจริง แม้คนบางส่วนจะเชื่อว่าจริง แต่คนที่ไม่เชื่อว่าจริง อาจมีมากกว่าหลายเท่าตัว"
“ฉันได้กลับมาคิดว่า แล้วถ้างานของฉัน เนื้อหาที่ฉันอยากจะเขียน หรือบางสิ่งที่ฉันอยากถ่ายทอด ซึ่งฉันเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง แต่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการคัดค้านของคนอ่าน ฉันควรทำอย่างไรกับมัน แม้ครั้งแรกจะสับสนกับการคิดหาแนวทางของตัวเอง แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากในความรู้สึกก็คือ ฉันจะไม่โกหกตัวเอง และจะไม่โกหกคนอ่าน
“ขอบคุณพี่อรสมที่โยนก้อนความคิดมาให้ได้ขบเคี้ยว และทำให้รู้ว่า ถ้าอยากได้งานเขียนสารคดีเยี่ยมๆ สักชิ้น ต้องทำอย่างไรบ้าง สิ่งที่เหลือก็คงมีแค่การลงมือทำ หนูจะเดินตามศรัทธาและความฝันนี้ต่อไปค่ะ
“อยากให้ TK Park จัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เลยค่ะ”
หนอนหนังสือตัวอ้วน