เดี๋ยวนี้จะหันมองไปทางไหน ก็เจอแต่ข้าวของและวัฒนธรรมจากต่างประเทศล้อมรอบ ตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผม ที่อยู่อาศัย อาหาร รถยนต์ หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์เครื่องใช้ ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ
เราแทบจะมองหา “ความเป็นไทย” จากสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวไม่ได้เลย
หลายคนอาจคิดสงสัย ว่าวิถีชีวิตแบบไทยและภูมิปัญญาไทยที่มีพัฒนาการมายาวนานนับหลายร้อยปี จนเป็นชาติไทยในทุกวันนี้ จะมีหน้าตาเป็นแบบไหน? และยังมีสืบทอดกันอยู่รึเปล่า?
อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงชวนทุกคนมาร่วมค้นหาตัวตนจากอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคต ภายในงาน “สุขดี...ที่สยาม” ในวันเสาร์ที่ 3 - อาทิตย์ที่ 4 และ วันเสาร์ที่ 10 - อาทิตย์ที่ 11 มีนาคม 2555 เวลา 11.00-17.00 น. ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ผ่าน 3 ฐานกิจกรรม ที่จะพาความสุขในอดีตมาวางไว้ในปัจจุบันให้ทุกคนได้สัมผัสกับภูมิปัญญาไทยดั้งเดิม ได้แก่
“สบายดีที่สยาม” ร่วมกันค้นหาความลับในการรักษาโรคด้วยการแพทย์แผนไทย
“กินดีที่สยาม” เรียนรู้วัฒนธรรมอาหารไทย จากอาหารพื้นบ้าน และอาหารไทยในวรรณคดี
และ “เล่นดีที่สยาม” พบกับของเล่นจากภูมิปัญญาไทยสมัยโบราณ จนมาเป็นของเล่นยุคใหม่ในระบบดิจิตอล
สบายดีที่สยาม
ในฐานนี้จะเป็นการสาธิตและให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพโดยแพทย์แผนไทย จากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดสอนวิชาเวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย การผดุงครรภ์ และการนวดไทยด้วย
ในส่วนของการเรียนการสอนวิชาแพทย์แผนไทยนั้น อย่างวิชาเภสัชกรรมไทย จะต้องเรียนรู้ตั้งแต่ราก กิ่งของพืชสมุนไพร หรือต้นยานั้นมีสรรพคุณอย่างไร จนถึงกระบวนการทำยา และในวิชาการนวดแผนไทยนั้น นักศึกษาจะต้องเรียนรู้เรื่องกายวิภาคอย่างละเอียด และการฝึกกำลังนิ้วโดยใช้วิธี “การยกกระดาน” คือ การนั่งขัดสมาธิเพชรและใช้นิ้วมือยกตัวให้สูงขึ้น
สบายดีที่สยามกับแพทย์แผนไทย
การนวดที่นำมาใช้ในการรักษา ทางคณะได้ใช้วิธีการ “นวดแบบราชสำนัก” ซึ่งถือเป็นการนวดที่ใช้ในพระราชวังมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังนั้นท่าทางต่างๆ ในการนวดต้องสุภาพและมักนวดด้วยนิ้วหัวแม่มือและฝ่ามือเท่านั้น ไม่มีการนอนคว่ำ เพื่อให้สามารถควบคุมน้ำหนักในการนวดไม่ให้มากเกินไป ซึ่งจะแตกต่างกับการ “นวดแบบเชลยศักดิ์” (นวดแบบพื้นบ้าน) ที่จะใช้ศอก เข่าและฝ่าเท้าในการเหยียบนวดและมีการเหวี่ยงตัว ดัดตัว
นอกจากนี้ ท่าการนวดแบบราชสำนักยังมีท่าทางต่างๆ ที่ประยุกต์มาจากท่ารำไทยและมวยไทย เช่น ท่าหกสูงหกกลางหกต่ำ เพื่อบรรเทาอาการปวดบริเวณบ่าและไหล่ ท่าหนุมานถวายแหวนนวดเพื่อผ่อนคลายบริเวณหลัง และท่าพรหมสี่หน้า รักษาอาการเมื่อยล้าบริเวณต้นคอ
อ.นุสรา อุปเสน อาจารย์ประจำหลักสูตรแพทย์แผนไทย ได้เล่าให้ฟังว่าวิธีการนวดแบบราชสำนักมีข้อดีคือ การรักษาค่อนข้างจะเห็นผลทันตา เพราะจุดในการนวดกดลงไปจะเป็นจุดที่ทำให้หายจากโรค แต่อาจจะทำให้คนไข้บางรายรู้สึกเจ็บมาก ถ้าไปโดนใน “จุดกดเจ็บ” แต่ไม่เป็นอันตราย
ก่อนจะเริ่มต้นการนวดหรือการรักษานั้น จะต้องมีการตรวจวัดความดันของคนไข้ก่อน และซักถามประวัติข้อมูลเบื้องต้น ว่ามีอาการบาดเจ็บในบริเวณใด เพราะการนวดนั้นไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันสูงและมะเร็งในระยะแพร่กระจาย แต่ถ้าคนไข้ป่วยเป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้น อ.นุสรายืนยันว่าสามารถนวดได้ เพื่อช่วยให้คนไข้ได้รับความผ่อนคลาย และกระตุ้นการทำงานของร่างกาย
“การรักษาอย่างแพทย์แผนไทยเป็นการรักษาแบบองค์รวม ไม่จำเป็นว่าจะต้องรักษาเฉพาะส่วน เราจะรักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจด้วย”
หลังจากได้รับการนวดเพื่อบำบัดอาการเจ็บป่วย และผ่อนคลายความเมื่อยล้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะแพทย์ยังให้คำแนะนำวิธีการบริหารร่างกาย การออกกำลังกาย อาหารการกิน และการใช้ชีวิตประจำวันด้วย
สาธิตท่าการนวดแบบราชสำนัก
กินดีที่สยาม
หลังจากสบายเนื้อสบายตัว หายเมื่อยกันแล้ว เรามาถึงฐานที่สองของงาน นั่นคือ “กินดีที่สยาม” ซึ่งนำเมนูของหวานชวนหิวที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี คือ “ขนมบัวลอย” เป็นเมนูที่ทุกคนสามารถลองทำกันง่ายๆ ภายในครอบครัว แค่เคี่ยวน้ำตาล ใส่กะทิ และปั้นแป้งเพื่อนำไปต้มก็จะได้บัวลอยแสนอร่อยกันแล้ว
และอีกหนึ่งเมนูคือ “ข้าวหุง” หนึ่งในอาหารไทยในวรรณคดี จากกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
“ข้าวหุง” เป็นเมนูเก่าแก่ มีสีสัน หน้าตาและรสชาติคล้ายๆ “ข้าวหมก” โดยใส่ผงเครื่องเทศและมีการปรุงรสที่คล้ายกัน แต่มีความแตกต่างคือ “ข้าวหุง” จะใส่ลูกเกด ถั่วและหอมเจียว ซึ่งเครื่องเทศในข้าวหุงมีสรรพคุณทางยา ช่วยในการขับลม และบำรุงโลหิต
กินดีที่สยาม กับอาหารในวรรณคดี
คุณต่อ - นิรวิทธ์ โพธิ์ปัญญาศักดิ์ นักศึกษาสาขาการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร วิทยาลัยดุสิตธานี ผู้สาธิตการทำเมนู “ข้าวหุง” ในวันนี้ ได้ร่วมพูดคุยว่า ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่จะรู้สึกแปลกใจ ว่าการทำข้าวหุงนั้นไม่ยากเลย เพราะมีส่วนประกอบที่คล้ายกับข้าวหมก ซึ่งทุกคนสามารถลองทำทานเองที่บ้านกันได้ โดยไม่ต้องไปหาซื้อจากข้างนอก และการทำอาหารทานเองยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและสอนให้เด็กๆ ได้รู้จักรับผิดชอบและช่วยเหลืองานบ้านด้วย
“เราน่าจะกลับไปสู่สมัยโบราณ ให้เด็กๆ ช่วยเตรียมของ หุงข้าว หั่นผัก หั่นเนื้อ แล้วค่อยๆ เรียนรู้วิธีการแกง เรียนรู้การทำเมนูต่างๆ ไปเรื่อยๆ ควรเริ่มจากของง่ายๆ ให้เด็กๆ ได้ลองใช้ทักษะ ได้ฝึกจากสิ่งที่เห็นก่อน”
สุดท้ายพ่อครัวหัวป่าก์ ยังฝากเคล็ดลับสำหรับคนที่อยากเริ่มลองทำอาหารด้วยว่าการทำครัวจะต้องไม่กลัวอยู่สองอย่างคือ “มีด” และ “ความร้อน”
สาธิตการทำข้าวหุง และบัวลอย
เล่นดีที่สยาม
ฐานสุดท้าย นำของเล่นไทยตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงยุคดิจิตอล มาให้เด็กๆ และพ่อแม่ ได้ลองเล่นสนุกร่วมกัน มีตั้งแต่ว่าวไทย ลูกเต๋า หมากขุม พัดสีรุ้ง เกมบันไดงู หม้อข้าวหม้อแกง ให้เด็กๆ ได้หัดเล่นขายของ หรือแม้กระทั่งเกมคอมพิวเตอร์ ที่นำวรรณคดี เช่น รามเกียรติ์ หรือประวัติศาสตร์ไทยมาทำเป็นเกมเนื้อหาสนุกๆ มีสาระดีๆ ปลอดพิษภัยอย่างแน่นอน
เล่นดีที่สยาม กับของเล่นหลากหลาย
ของเล่นไทย เช่น หมากขุม ว่าว พัดสีรุ้ง
หลงเดินกลับไปในอดีตเพื่อหาวิถีไทยกันจนเพลิน ทั้งนวดตัวจนสบาย แวะกินจนอื่มท้อง และได้เล่นให้สนุกแล้ว เรียกว่ามางานนี้ต้องได้โกย “ความสุข” กลับบ้านไปไม่มากก็น้อยแน่นอน
พลตรัย