ปิดเทอมนี้อุทยานการเรียนรู้ TK park ชวนน้องๆ เยาวชนและครอบครัวมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมหานครแห่งการอ่านของโลกกับกิจกรรมเนื่องในโอกาสกรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก ทั้งนี้ อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านตั้งแต่วันเสาร์ที่ 20 – วันพุธที่ 24 เมษายน 2556 อาทิ นิทรรศการเก้าตัวเลขที่นักอ่านต้องรู้ เป็นการรวบรวมข้อมูลน่ารู้เรื่องการอ่านของคนไทยและความรู้เกี่ยวกับเมืองหนังสือโลก นิทรรศการเล่มนี้สิน่าอ่านซึ่งเป็นการแนะนำหนังสือน่าอ่านจากคนดังมากมาย และนิทรรศการแอพฯ
น่าอ่าน รวมถึงกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ อาทิ การทำที่คั่นหนังสือแม่เหล็ก การทำสมุดทำมือรวบรวมคำคมจากนักคิดนักเขียน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเยาวชนคนดนตรี TK Band ที่มาขับกล่อมบรรเลงบทเพลงเพราะๆ ให้ผู้ที่มาร่วมงานได้เพลิดเพลินใจอีกด้วย
ทั้งนี้ในวันเสาร์ที่ 20 เมษายน2556 เวลา 14.00 น. ที่ผ่านมา อุทยานการเรียนรู้ TK park ยังมีกิจกรรมที่สำคัญ คือ การประกาศผลการประกวด POET-THREE บทกวีสามบรรทัด ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง TK park กับ บุ๊คโมบี้ โดยมีการจัดอบรมให้กับเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 16-23 ปี เข้าร่วมอบรม เพื่อฝึกฝน พัฒนาตัวเอง อบรมเขียนและออกแบบบทกวีสามบรรทัด ต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ – 16 มีนาคม 2556 และเปิดรับผลงานเพื่อประกวดทั้งจากผู้เข้าร่วมอบรมและผู้สมัครจากเว็บไซต์บุ๊คโมบี้ จากนั้นจึงคัดเลือกเหลือ 20 คนเข้ารอบสุดท้ายของการประกวด นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดแสดงบทกวีของผู้เข้ารอบ 20 คนสุดท้ายด้วย
นิทรรศการการจัดแสดงผลงานของผู้เข้ารอบสุดท้าย
เมื่อถึงเวลางานน้องแอม ศศิวรรณ โมกขเสน เยาวชนนักเขียนจากโครงการ TK Young Writer 2008 รับหน้าที่เป็นพิธีกร ในช่วงแรกพิธีกรได้กล่าวนำผู้ร่วมงานให้ชมการประมวลภาพโครงการ POET-THREE ทั้งหมดนับตั้งแต่วันแรก ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรมคับคั่ง รวมถึงมีวิทยากรที่หมุนเวียนเปลี่ยนกันมาแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านที่ตนถนัด เพราะนอกเหนือจากการฝึกเขียนบทกวีแล้ว ปัจจัยอื่นๆ เช่นการออกแบบและภาพประกอบก็เป็นการกระตุ้นให้ผู้เขียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากขึ้น โดยมีวิทยากรอาทิ คุณเป้ -อารักษ์อมรศุภศิริและคุณตุลย์ ไวฑูรเกียรตินักร้องนำวงอพาร์ทเมนท์คุณป้ามาให้ความรู้เรื่องการแต่งเพลงเพื่อประยุกต์ใช้กับการแต่งบทกวี คุณสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อนิ้วกลม มาให้ความรู้เรื่องการออกแบบกวี คุณเบิ้ม กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล นักออกแบบจาก Wrongdesign House มาให้ความรู้เรื่องการออกแบบภาพประกอบให้สอดคล้องกับบทกวี เป็นต้น
หลังจากชมวิดีทัศน์การอบรมแล้ว ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park ได้กล่าวถึงโครงการความร่วมมือระหว่างอุทยานการเรียนรู้ TK park กับ บุ๊คโมบี้ ว่ามีความยินดีที่ได้ร่วมกันจัดโครงการดีๆ เพื่อสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในการเขียน
คุณปราบดา หยุ่นได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง อุทยานการเรียนรู้ TK park กับ บุ๊คโมบี้ ว่ารู้สึกประทับใจมากและมีความยินดีเช่นกันที่ได้ร่วมกันจัดโครงการดังกล่าว เริ่มแรกตนเพียงมานำเสนอไอเดียให้กับอุทยานการเรียนรู้ TK park แต่ไม่คาดคิดว่านอกจากอุทยานการเรียนรู้ TK park จะร่วมมือและสนับสนุนเต็มที่แล้วยังช่วยทำให้โครงการออกมาสมบูรณ์ เป็นรูปเป็นร่างและดีกว่าที่คาดไว้ ตนเองมีแนวคิดที่จะจัดประกวดบทกวีสามบรรทัดมานานพร้อมๆ กับช่วงที่ตั้งเว็บไซต์ Bookmobyเพราะอยากให้มีผู้ใช้พื้นที่ออนไลน์หรือ social network อย่างมีประสิทธิภาพไว้เพื่อเขียนหนังสือ หรือเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ
ขณะที่บทกวีสามบรรทัดก็มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายร้อยปีแล้วเป็นการเขียนบทกวีสั้นๆ ที่แบ่งเป็นสามบรรทัด ที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ ไฮกุ บทกวีสามบรรทัดของญี่ปุ่นที่เน้นการเขียนอย่างฉับพลันและเรียบง่าย โดยมักเป็นการสื่อถึงธรรมชาติ ความรู้สึก และปรัชญาชีวิต ดังนั้นจึงเกิดความคิดที่จะนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาผสมผสานรวมกันเพื่อจุดประกายให้คนเห็นว่าการเขียนบทกวีสามบรรทัด การเขียนกับการเลือกใช้ภาพเป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นทั้งสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ และถึงแม้ว่าบทกวีสั้นๆ เพียงสามบรรทัดนี้หากคนเขียนให้เวลากับการคิด คนอ่านให้เวลากับการตีความและความสร้างสรรค์ของผู้เขียน เราก็จะได้อะไรมากมาย ดังนั้นตนเองจึงมีความต้องการที่จะเผยแพร่วิธีคิดวิธีเขียนดังกล่าว
บรรยากาศผู้เข้าร่วมงานประกาศผลการประกวด POET-THREE
ต่อมาเป็นการแสดงผลงานของผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 20 คน คุณปราบดาซึ่งทำหน้าที่กรรมการตัดสินได้แสดงความคิดเห็นเพื่อ
ติชมผลงานของทุกคนคุณปราบดาได้กล่าวถึงข้อดีข้อด้อย รวมทั้งจุดเด่นของผลงานแต่ละชิ้นโดยพิจารณาจากภาพรวมทั้งหมดทั้งภาพประกอบที่เลือกใช้ว่าเข้ากับเนื้อหาหรือไม่ ถ้อยคำที่ใช้สละสลวยคมคายหรือเข้าใจยากง่ายมากน้อยเพียงใด รวมถึงสารที่ต้องการสื่อออกมาว่าลึกซึ้งแหลมคมอย่างไร
คุณปราบดา หยุ่นติชมผลงานแต่ละชิ้นของผู้เข้ารอบสุดท้าย
แล้วช่วงเวลาที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง นั่นคือการประกาศผลการประกวดโครงการ POET-THREE บทกวีสามบรรทัดโดยผลออกมาเป็นเอกฉันท์และมีผู้ชนะ 2 ท่านคือ คุณวริษฐ์ บูรณปัทมะ ซึ่งเลือกใช้ภาพท้องฟ้าสีฟ้าพร้อมกับบทกวีที่ว่า “ฉันตั้งใจจะเขียนถึงสันติภาพ แต่กระดาษก็บางเกินไป ดินสอก็แหลมเกินไป” และคุณรัฐกร พันธรักษ์ ซึ่งเลือกใช้ภาพรั้วลวดหนามพร้อมกับบทกวีที่ว่า “ความเจ็บปวด เก็บซ่อน ความงดงาม” ทั้งสองท่านก็ได้รับมอบของที่ระลึกจากอุทยานการเรียนรู้ TK park เป็นคอมพิวเตอร์แท๊บเล็ต ACER รุ่น ICONIA B1 และผู้เข้ารอบสุดท้ายทุกท่านก็ได้รับของรางวัลจากอุทยานการเรียนรู้ TK park เช่นกัน พร้อมกันนี้ผู้เข้ารอบสุดท้ายร่วมกันถ่ายภาพเป็นที่ระลึก
ผู้เข้ารอบสุดท้ายร่วมกันถ่ายภาพเป็นที่ระลึก
เมื่อกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการเขียนบทกวีของผู้ชนะการประกวดทั้งสองท่าน คุณวริษฐ์ บูรณปัทมะกล่าวว่า เขาได้
แรงบันดาลใจจากภาพท้องฟ้าที่ถ่ายขึ้นเองซึ่งทำให้เขาคิดถึงสันติภาพ จึงเกิดแรงบันดาลใจในการแต่งบทกวีดังกล่าว ส่วนคุณรัฐกร พันธรักษ์กล่าวว่า เขาได้แรงบันดาลใจจากภาพที่ตนเองถ่ายเก็บไว้ ภาพดังกล่าวคือภาพรั้วลวดหนามที่ชวนให้นึกถึงความเจ็บปวด แต่เขานำมาคิดต่อว่าเหตุใดจึงยังชอบความเจ็บปวดนั้น ซึ่งก็เป็นเพราะมันเก็บซ่อนความงดงามไว้นั่นเอง
สำคัญของการรักหนังสือที่แท้จริงน่าจะเป็นไม่ว่าจะเขียนกี่บรรทัด หรืออ่านกี่บรรทัดก็ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่การให้เวลากับการคิดและการตีความที่จะทำให้เราได้อะไรมามากมาย ดังที่คุณปราบดา หยุ่นกล่าวไว้
ChestinaInkgirl
ข้อมูลอ้างอิง
http://bookmoby.com/2013/01/21/poet-three/
http://www.tkpark.or.th/eng/news_detail/188/