บทเรียนรู้รอดปลอดภัย 4:
เมื่อเผชิญสาธารณภัย
สาธารณภัยคือภัยที่เกิดขึ้นกับคนหมู่มากในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ประกอบไปด้วยภัยที่คาดเดาได้ล่วงหน้าและคาดเดาไม่ได้ ซึ่งสร้างความสูญเสียได้ทั้งร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน การเรียนรู้จักภัยประเภทต่างๆ และทักษะการเอาตัวรอดจึงเป็นสิ่งที่เด็กๆ และผู้ใหญ่ทุกคนควรจะศึกษาไว้
อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมมือกับสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม ค่ายรู้รอดปลอดภัย ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากกิจกรรม เตรียมตัว รู้รอด โดยครั้งนี้มาในรูปแบบของค่ายฝึกทักษะเต็มรูปแบบ เปิดโอกาสให้เด็กๆ อายุระหว่าง 9 - 12 ปี จำนวน 45 คนได้ฝึกฝนทักษะในการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นถึง 2 วันเต็ม ในวันที่ 16 - 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ด้วยการเรียนรู้ทั้งทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติจริง โดยความร่วมมือของทีมบุคลากรจากโรงพยาบาลราชวิถี, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย, สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร, มูลนิธิร่วมกตัญญู, มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง, ศูนย์ความปลอดภัย โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
ฐานการเรียนรู้ออกเป็น 4 ฐานกิจกรรมใหญ่ๆ โดย กิจกรรมการเรียนรู้ที่ 4 เมื่อเผชิญสาธารณภัย ที่ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จักสาธารณภัยประเภทต่างๆ ตั้งแต่สาเหตุของการเกิดไปจนถึงวิธีการเอาตัวรอด
ภัยจากแผ่นดินไหว
ประเทศไทยมีภูมิประเทศที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในจุดเสี่ยงที่เกิดแผ่นดินไหวได้บ่อยๆ แต่ก็มีพบบ้างประปรายทางภาคเหนือ ทักษะในการเอาตัวรอดจึงเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ไว้เพื่อความไม่ประมาท
พี่ๆ จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลายครั้งมีการสูญเสียน้อยกว่าที่คาดการณ์ สวนทางกับความความรุนแรงที่เกิดขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าชาวญี่ปุ่นทุกคนได้รับการฝึกฝนทักษะในการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์นี้กันตั้งแต่อายุยังน้อย พี่ๆ จึงแนะนำทักษะที่ง่ายที่สุดหากเกิดแผ่นดินไหวอย่างแรกคือการพยายามไปอยู่ในพื้นที่โล่งที่สุด เพื่อไม่ให้มีสิ่งของหล่นใส่ แต่ถ้าหากอยู่ในอาคารก็ให้ท่องจำเทคนิค 3 คำง่ายๆ ดังต่อไปนี้
หมอบ คือการหมอบตัวลงให้ต่ำ แล้วมุดเข้าหาที่กำบัง เช่น โต๊ะ เพื่อป้องกันสิ่งของที่จะร่วงหล่นลงมา
ป้อง คือการป้องกันอวัยวะที่สำคัญที่สุดอย่างศีรษะ ไม่ให้โผล่ออกมานอกที่กำบัง
เกาะ คือการหากที่ยึดเกาะที่มั่นคงไว้ เช่น ขาโต๊ะ
นอกจากนั้นพี่ๆ ยังได้สอนเทคนิคการเอาตัวรอดขณะที่นั่งรถโดยสาร คือ หมอบก้มหัวให้ต่ำที่สุด เอามือป้องหัว และเกาะขาเก้าอี้รถ ซึ่งเทคนิคทั้งสองอย่างนี้ เด็กๆ ได้ลองทดลองปฏิบัติจริง โดยมีพี่ๆ แนะนำอย่างใกล้ชิด
ภัยจากน้ำท่วม
ภัยที่คนไทยส่วนใหญ่เคยเผชิญวิกฤตมาแล้ว เมื่อปี 2554 ทำให้เด็กๆ หลายคนพอจะมีทักษะในการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์น้ำท่วมมาบ้าง แต่ก็ยังมีอีกหลายทักษะที่เชื่อว่าหลายคนยังไม่เคยรู้มาก่อน พี่ๆ จากมูลนิธิร่วมกตัญญูจึงได้แนะนำเทคนิคในการประยุกต์สิ่งเหลือใช้ในบ้านมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการเอาตัวรอดได้
อย่างแรกคือ เสื้อชูชีพ สิ่งสำคัญที่ต้องใช้เมื่อต้องฝ่ากระแสน้ำท่วม และเป็นหนึ่งในสิ่งที่ขาดแคลนเมื่อเกิดวิกฤตครั้งที่แล้ว พี่ๆ ได้สอนวิธีการนำขวดน้ำขนาดใหญ่มาทำเป็นเสื้อชูชีพ โดยการนำขวดใส่ไว้ในเสื้อยืดแล้วปิดฝา ก็สามารถนำมาใช้ทดแทนเสื้อชูชีพได้ชั่วคราว
และอย่างที่สองคือ รองเท้าบูท เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญและขาดแคลนในช่วงวิกฤตครั้งก่อนเช่นกัน เพราะน้ำที่ขังอาจมีเชื้อโรคปะปนอยู่ จึงควรใส่รองเท้าบูทเพื่อป้องกันเชื้อโรค พี่ๆ ได้สอนวิธีการนำถุงขยะขนาดใหญ่มาประยุกต์ให้เป็นรองเท้าบูทได้ โดยการสวมพันไว้รอบขา แล้วใช้เชือกมัดให้แน่น จะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เท้าของเราโดนน้ำได้
ภัยจากไฟไหม้
นับว่าเป็นภัยที่เกิดขึ้นได้ง่ายที่สุด สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ และที่สำคัญอาจเกิดขึ้นได้จากความประมาทของมนุษย์เอง ทำให้ทักษะในการเอาตัวรอดจากไฟไหม้จึงมีขั้นตอนที่ยากเป็นพิเศษ พี่ๆ จากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ที่เป็นถึงเจ้าหน้าที่นักดับเพลิงตัวจริง ได้มาสอนเทคนิคในการตัวรอดแก่เด็กๆ อย่างละเอียดที่สุด
เริ่มต้นด้วยเทคนิคในการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ไฟไหม้ 5 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1.ป้องกันไม่ให้เกิด
2.ถ้าเกิดต้องรีบแจ้ง 199
3.แจ้งเสร็จต้องรีบดับ
4.ดับไม่ได้อย่าให้ลาม
5.ลามต้องรีบหนี
เมื่อถึงขั้นตอนการหนี พี่ๆ ก็ได้จำลองสถานการณ์เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นจริงๆ ให้เด็กๆ ได้ลองปฏิบัติ อย่างแรกที่ต้องทำคือการหมอบร่างกายให้ต่ำที่สุด เพราะควันจะลอยขึ้นสูงทำให้ด้านล่างยังมีอากาศสำหรับหายใจได้อยู่ หลังจากนั้นจึงใช้ผ้ามาพันปิดจมูกเพื่อป้องกันการสำลักควัน แต่ถ้ามีถุงกันควันที่มีลักษณะเป็นถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่ก็ให้ใช้ตักอากาศจากด้านล่างแล้วคลุมศีรษะไว้ จะสามารถหายใจอยู่ได้ประมาณ 3 นาที แล้วรีบเดินหาทางหนีไฟออกจากอาคารให้เร็วที่สุด
เทคนิคหนึ่งเมื่อต้องเปิดประตู ให้ลองแตะกลอนประตูด้วยหลังมือก่อน เพื่อทดสอบว่าร้อนพอจะจับได้หรือไม่ และยังเป็นการทดสอบว่าห้องที่อยู่หลังประตูนั้นมีไฟที่กำลังลุกไหม้อยู่หรือเปล่า เพื่อหาทางหนีทางอื่นต่อไป
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า สาธารณภัยคือภัยที่เกิดขึ้นกับคนหมู่มาก หากเด็กๆ มีทักษะในการเอาตัวรอดอย่างถูกต้องแล้ว ไม่เพียงแต่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังประสบภัยเช่นกันให้สามารถเอาตัวรอดอย่างปลอดภัยไปพร้อมๆ กันได้
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย