แจ้งเกิดอีเวนต์จากความคิดสร้างสรรค์
ทุกครั้งเวลาไปงานอีเวนต์ต่างๆ นอกจากจะสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับกิจกรรมภายในงานแล้ว เรายังชอบแอบมองบรรดาทีมงานหลายสิบหลายร้อยชีวิตที่กำลังตั้งใจทำงานอย่างแข็งขัน พลางชื่นชมในความ กระฉับกระเฉงและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังงานเหลือล้นของมนุษย์อีเวนต์เหล่านั้น ฉากหน้าที่เราเห็น งานของพวกเขาแม้จะเหน็ดเหนื่อยแต่ก็ดูน่าสนุกไม่เบา แต่ฉากหลังล่ะจะสนุกอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจหรือไม่?
คุณมด-ทรงพล ไตรเนตร Production & Creative Director บริษัท Index Creative Village จำกัด ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการอีเวนต์มากว่า 20 ปี อีกทั้งยังผ่านประสบการณ์สุดท้าทายบุกเบิกไปรับตำแหน่ง Country Manager ณ เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ ได้มาแบ่งปันเรื่องราวและเปิดเผยแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับงานอีเวนต์แบบไม่มีกั๊ก ในงานเสวนา TK (S)park Learning Festival : แจ้งเกิดอีเวนต์จากความคิดสร้างสรรค์
งานอีเวนต์คืออะไร
เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ เวลาญาติผู้ใหญ่ถามว่าทำงานอะไร? ผมต้องตอบพวกเขาว่า รับจัดงานรื่นเริง เพราะคำว่าอีเวนต์ยังไม่เป็นที่รู้จักและยังไม่ได้รับการเชิดหน้าชูตาในสังคมเท่าสมัยนี้ อีเวนต์เป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาด ซึ่งเราจะทำอะไรก็ได้ให้เป็นที่สนใจ บางคนเข้าใจว่าอีเวนต์ต้องประกอบไปด้วยเวที มีพิธีกร และองค์ประกอบต่างๆ มากมาย แต่ผมมองว่าอีเวนต์คืออะไรก็ได้ที่สามารถเรียกร้องความสนใจและสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย โดยขึ้นอยู่กับว่าคนจัดงานจะเลือกใช้กลวิธีอย่างไรบ้าง อย่างที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่ตอนนี้ก็ถือเป็นอีเวนต์ หรือบิลบอร์ดหนึ่งชิ้นถ้าเราใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปมันก็สามารถกลายเป็นอีเวนต์ได้
ทำไมเราจึงต้องจัดอีเวนต์
ข้อดีของการจัดงานอีเวนต์คือมันทำให้คนที่เข้าร่วมได้รับประสบการณ์อย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยากขายน้ำดื่มแล้วลงโฆษณาในสิ่งพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ คนก็จะรู้จักว่าน้ำดื่มนี้ยี่ห้ออะไร แต่ถ้าอยากมอบประสบการณ์ตรงให้กลุ่มเป้าหมายสัมผัสได้ถึงความสดชื่น สะอาด บริสุทธิ์ อยากให้คนทั่วไปได้ทดลองดื่มน้ำ การจัดอีเวนต์ก็คือทางเลือกที่ตอบโจทย์ เพราะคนที่มางานอีเวนต์จะได้รับประสบการณ์ครบทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นอกจากนี้ในบางอีเวนต์ยังมีการแจกแบบสอบถาม เพื่อวัดผลตอบรับทันทีหลังงานจบ
ภาพรวมของอีเวนต์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ต้นตำรับของอีเวนต์ในยุคแรกๆ น่าจะเป็นการขับรถไปต่างจังหวัดต่างๆ เพื่อนำหนังกลางแปลงไปเร่ฉายพ่วงด้วยการขายยา ส่วนในยุคปัจจุบันอีเวนต์ก็มีหลากหลายรูปแบบ ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดีก็พวกงานที่จัดตามลานกิจกรรมห้างสรรพสินค้าทั่วไป คอนเสิร์ต งานเปิดตัวสินค้า เปิดตัวร้านอาหาร งานออกบูธเล็กๆ ตามป้ายรถเมล์ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งมักจะเน้นการเชิญชวนกลุ่มเป้าหมายให้เดินทางมาร่วมงาน หรือพยายามเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแบบเห็นหน้าค่าตากัน แต่ในอนาคตผมมองว่าอีเวนต์จะใช้คนและทรัพยากรน้อยลงมาก ตัวอย่างเช่น การวิ่งการกุศลรับบริจาคเงินของคุณตูน-บอดี้สแลม จะเห็นว่าเขาไม่ได้จัดงานใหญ่โตอะไร แต่สามารถรวบรวมเงินบริจาคได้มากถึง 70 ล้านบาท เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ไปไกลเพราะใช้อิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์เข้ามาช่วย
ต่อไปในอนาคตหลายๆ อีเวนต์จะปรับเปลี่ยนหน้าที่ไปเป็น Source ในการผลิตเนื้อหาเพื่อป้อนเข้าไปในสื่อสังคมออนไลน์ บางอีเวนต์อาจต้องการการจุดประกายแค่นิดเดียว ไม่ต้องใช้งบประมาณเยอะ ไม่ต้องมีฉาก ไม่ต้องจัดไฟ ไม่ต้องมีเวทีด้วยซ้ำไป แค่มีเนื้อหาบางอย่างที่นำไปต่อยอดในสื่อสังคมออนไลน์ได้ หรือบางอีเวนต์ที่ต้องการนำเสนอรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อาจยังจำเป็นต้องใช้เทคนิคเดิมในการจัดงานอยู่ แต่ก็ต้องทำควบคู่กันไปกับการเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่ว่ารูปแบบของอีเวนต์ รูปแบบของสื่อจะเปลี่ยนไปอย่างไร สิ่งที่ไม่เคยหายไปไหนและจะต้องคงอยู่ตลอดไปก็คือไอเดียในการสร้างสรรค์งานให้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย
กระบวนการสร้างสรรค์อีเวนต์
อันดับแรกต้องตั้งวัตถุประสงค์ก่อน เพราะอีเวนต์คือการสื่อสารการตลาดรูปแบบหนึ่ง บางกรณีแม้จะเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน แต่ถ้าวัตถุประสงค์ที่วางไว้แตกต่างกัน กระบวนการทำงานและวิธีสื่อสารก็ย่อมแตกต่างตามไปด้วย หลังจากกำหนดวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้แล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือการวางคอนเซ็ปต์ กลั่นกรองครีเอทีฟไอเดียเจ๋งๆ ออกมา และสุดท้ายก็จบด้วยการคุยกันเรื่องงบประมาณ ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าไอเดียที่คิดไว้จะออกมาเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน โลกแห่งความเป็นจริงเราแข่งขันกันที่เวลากับเงิน แต่ทั้งนี้ผมมักพูดกับลูกค้าเสมอว่า อย่าเพิ่งสนใจว่างานจะแพงหรือไม่แพง ขอให้ดูไอเดียกันก่อน เพราะถ้าเอาเงินมาเป็นตัวตั้งต้นมันมักจะทำให้ครีเอทีฟคิดไอเดียออกมาได้ไม่สุด
คนแบบไหนเหมาะจะทำงานอีเวนต์
คุณต้องรักในสิ่งที่ทำ พอรักแล้วคุณจะใส่ใจและทำได้ดี คนทำอีเวนต์ต้องเป็นนักเล่าเรื่อง นักสื่อสาร นักกิจกรรม ชอบทำอะไรแปลกใหม่ เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมทีม ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล อาชีพนี้เหมือนเป็นเป็ดที่ต้องมีความรู้รอบด้าน เพราะเวลาที่จะจัดอีเวนต์เกี่ยวกับอะไรสักอย่าง เช่น รถยนต์ น้ำดื่ม คุณจำเป็นต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นเพื่อนำมาคิดครีเอทีฟไอเดีย คุณจะต้องเป็นคนยืดหยุ่นและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี เนื่องจากความยากของงานอีเวนต์อย่างหนึ่งคือ สิ่งที่ถูกต้องและใช้ได้ในอีเวนต์ครั้งนี้ ไม่ได้แปลว่ามันจะใช้ได้ดีในครั้งหน้า ที่สำคัญคือต้องมีพลังงานเยอะ เพราะอาชีพนี้ทำงานไม่เป็นเวลา บางครั้งอาจจะเลิกงานดึกมาก อีกทั้งยังต้องเป็นคนตรงต่อเวลาและมีความรับผิดชอบสูง ซึ่งเรื่องพวกนี้มันสอนกันยากมาก
คุณมด เผยเคล็ดลับในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ คือ เปิดรับสื่อทุกประเภทและเปิดรับสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เวลาดูหนังเรื่องหนึ่ง ผมดูหมดเลยทั้งคอมพิวเตอร์กราฟิก เพลงประกอบ Transition ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เราเก็บเล็กผสมน้อยเอาไว้ แล้ววันหนึ่งมันสามารถเอามาใช้ในการทำงานได้หมด หรือการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนบ่อยๆ ก็ช่วยได้เช่นกัน