วรรณแวว แวววรรณ กับการเดินทางที่มากกว่าการเดินทาง
“30 วัน 9 ประเทศ 2 แฝดสาว ที่เดินทางกลับเมืองไทยด้วยรถไฟจากอังกฤษ”
คือคำโปรยที่อยู่บนหนังสือที่ชื่อว่า ‘Wish Us Luck ขอให้เราโชคดี’ และเป็นคำจำกัดความเดียวกันของภาพยนตร์สารคดีในชื่อเดียวกัน ที่ทำให้ใครหลายคนสนใจเรื่องราวนี้ขึ้นมาทันที ไม่เพียงแค่เป็นการเดินทางภายใน 30 วันที่ผ่านถึง 9 ประเทศ แต่ยังเป็นการเดินทางด้วยรถไฟเพียงอย่างเดียวจากประเทศอังกฤษกลับสู่ประเทศไทยอีกด้วย
อุทยานการเรียนรู้ TK park ชวนเปิดโลกการอ่านการท่องเที่ยวกับกิจกรรม “Inspired by Idol สนทนาภาษาท่องเที่ยวกับ วรรณแววและแวววรรณ หงษ์วิวัฒน์” สองสาวฝาแฝดเจ้าของเรื่องราวดังกล่าว ที่มาเล่าประสบการณ์เบื้องหลังภาพยนตร์สารคดีที่ชื่อว่า ‘Wish Us Luck ขอให้เราโชคดี’ ที่เคยเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ House ก่อนจะได้รับความนิยมถึงขนาดยืนโรงฉายเป็นเวลานับเดือน รวมไปถึงหนังสือในชื่อเดียวกัน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม 2557 ณ ลานสานฝัน
บรรยากาศการพูดคุย
จุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งนี้ ต้องย้อนกลับไปถึงความหลงใหลในศาสตร์ภาพยนตร์ของทั้งสองสาว
“ก่อนที่จะเลือกเรียนคณะนิเทศฯ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองชอบทำหนัง ไม่ได้ตั้งใจเรียนภาพยนตร์ด้วย ตั้งใจจะเรียนวารสารมากกว่า แต่ด้วยบรรยากาศของคณะที่คนชอบทำหนังกัน เลยอยากทำบ้าง พอได้ทำก็เลยคิดว่าอยากเรียนด้านภาพยนตร์ ตอนเรียนก็มีงานให้ทำอยู่ตลอด กับแววเวลาคิดอะไรเราจะมาแชร์ร่วมกัน คุยไปคุยมาก็เกิดไอเดีย จึงอยากทำสิ่งที่คิดให้เป็นภาพขึ้นมาด้วยกัน” วรรณแววเล่าถึงที่มาของความชอบ ก่อนที่แวววรรณจะเล่าถึงเหตุผลของตัวเองว่า “ตอนจะเข้ามหาวิทยาลัยไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรดี ก็เลยเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ไป ซึ่งก็เรียนได้ แต่ไม่ได้อยากทำงานธนาคาร ไม่ได้อยากกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ เวลาทำหนังกับวรรณรู้สึกแฮปปี้มากกว่า ออกกองก็สนุกกว่า เหมือนเราอยากทำสิ่งที่จินตนาการไว้ให้ออกมาเป็นรูปธรรม”
หลังจากที่เรียนจบระดับปริญญาตรีทั้งสองต่างทำงานในเส้นทางที่ร่ำเรียนมา ก่อนจะตัดสินใจไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย University for the Creative Arts ประเทศอังกฤษ ในคอร์ส Artists’ Film Video and Photography โดยศึกษาเกี่ยวกับการสร้างงานศิลปะโดยใช้สื่ออย่างวิดีโอหรือภาพถ่าย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ โดยอาศัยวิชาความรู้ที่เรียนมาประกอบกับทักษะในการทำหนังสั้น ซึ่งก่อนหน้านี้สองสาวเคยทำหนังสั้นส่งประกวดเทศกาลหนังสั้นของมูลนิธิหนังไทยด้วยกันมาก่อน
โปสเตอร์ของภาพยนตร์
“พอดีว่าได้ไปอ่านหนังสือของพี่ก้อง ทรงกลด บางยี่ขัน เรื่อง ‘ดาวหางเหนือทางรถไฟ’ อ่านจบแล้วอยากไปเที่ยวมาก คิดว่าถ้ารอหลังจากนี้ก็คงจะไปยากกว่านี้ เพราะเส้นทางที่พี่ก้องเดินทางจากจีนไปรัสเซีย มันใกล้กว่ากลับไปเมืองไทยแล้วเดินทางผ่านเส้นทางนี้ และการเดินทางโดยรถไฟในยุโรปมันไม่ยากเลย เราเลยรู้สึกว่าเป็นไปได้ ประกอบกับช่วงนั้นเป็นช่วง Summer Break อยู่แล้ว ยังไงก็ต้องกลับเมืองไทย ก็กลับรถไฟเลยแล้วกัน ส่วนตัวเราก็ไม่เคยได้ชื่อว่าเป็นแบ็กแพ็กเกอร์มาก่อน พอเราจะคิดว่าจะเที่ยวแล้ว ก็คิดว่าทำโปรเจกต์นี้ส่งอาจารย์ดีกว่า” แววเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ ‘Wish Us Luck ขอให้เราโชคดี’ ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกที่ทั้งสองลงมือกำกับเอง
ในการขั้นตอนของการวางแผนถ่ายทำ ด้วยความที่แวววรรณเป็นคนอยากไปเที่ยว เธอจึงเป็นคนวางแผนเส้นทาง ทำเอกสารของวีซ่า จองโรงแรม ส่วนวรรณแววก็รับหน้าที่เป็นช่างเทคนิค ดูแลเรื่องอุปกรณ์การถ่ายทำ ส่วนภาพรวมทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทั้งสองคนจะคุยปรึกษาร่วมกัน
“ตอนเขียน Project Proposal ส่งอาจารย์จะต้องเขียนให้นามธรรมดูดี มี Coming of age การเดินทางพลิกผันชีวิต เราต้องเติบโตเป็นคนใหม่ แต่พอไปก็เกิดขึ้นจริงๆ แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นในหนัง ซึ่งพอมาถึงหัวลำโพงเราก็คิดว่าจะไม่ไปอีกแล้ว ต้องรอให้เราหายเหนื่อยแล้วค่อยมองย้อนกลับมาถึงการเดินทางครั้งนี้ว่าเราเรียนรู้อะไรบ้าง” แวววรรณเผยถึงความรู้สึกหลังจากที่เดินทางด้วยรถไฟผ่านทั้งหมด 9 ประเทศ เริ่มต้นตั้งแต่ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย มองโกเลีย จีน เวียดนาม ลาว และไทย
บรรยากาศระหว่างการเดินทาง
แน่นอนว่าในระยะเวลากว่า 30 วัน ระหว่างทางทั้งพวกเธอสองต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมาย ทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างในชีวิต แวววรรณได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์มาแบ่งปันให้ฟังว่า
“มันไม่ได้มีเหตุการณ์เดียวที่พีคที่สุด เหมือนสะสมมากกว่า เพราะว่าพอเราเที่ยวจนเหนื่อยแล้ว เราจะระแวงไปหมด กลัวจะโดนหลอกหรือเปล่า ทำให้เรามองโลกในแง่ร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ ทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียเหรอ ไม่เห็นโรแมนติกตรงไหนเลย เป็นเพราะว่าสภาพจิตใจเราไม่พร้อมที่จะเห็นอะไรสวยๆ ทุกอย่างจะแย่หมด
“อย่างเหตุการณ์ที่เมืองอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย เราต้องขึ้นแท็กซี่เพื่อไปชมจุดวิวที่สวยที่สุดของเมือง แท็กซี่จะไม่มีป้ายบอก ใครจะมาขับแท็กซี่ก็ได้ น่ากลัวมาก เราก็คุยกันว่าถ้าเราไม่มีตังค์ย่อย เขาต้องโกงแน่ๆ เลย สุดท้ายเขาก็โกงจริงๆ เราก็เถียงกับเขาจนเขายอมให้จ่ายเท่าที่ตกลงกันไว้ ซึ่งเงินที่เขาโกงเป็นเงินแค่ 11 บาท
“อีกเหตุการณ์หนึ่งคือตอนไปเที่ยววัด ไกด์บุ๊กบอกว่าให้ออกจากที่นี่ก่อน 6 โมงเย็น เพราะจะมีมิจฉาชีพออกมา ตอนที่เดินออกจากวัดก็มีพระเดินตามมา เราก็บอกวรรณว่าให้เก็บกล้องดีๆ สุดท้ายพระท่านมาถามว่าเราเป็นคนญี่ปุ่นหรือเปล่า เพราะสนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาก อยากจะพูดคุยด้วยเท่านั้น เราคิดว่าเขาไม่ดีไปก่อนแล้ว จริงแล้วคนที่คิดไม่ดีคือเรา หลังจากตอนนั้นเราก็รู้สึกดีมากขึ้น ไม่ตัดสินอะไรล่วงหน้าอีก”
เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง นอกเหนือจากประสบการณ์ที่ได้รับแล้ว สองฝาแฝดสาวกลับบอกว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงเท่าไรนัก “ก่อนหน้าที่เราไม่เคยเป็นแบ็กแพ็กเกอร์มาก่อน เหมือนเรากระโดดมาทำสิ่งยากเลย พอเราผ่านมาได้ก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรยากแล้ว ต่อให้เป็นสถานที่ที่เราพูดกับเขาไม่ได้หรือลำบากมากก็ตาม ไม่รู้สึกว่าเปลี่ยนชีวิตเท่าไร แต่เป็นการเพิ่มวิธีคิด เพิ่มความกล้ามากกว่า” วรรณอธิบายสิ่งที่ได้รับ ก่อนที่แววจะบอกว่ารู้สึกไม่ต่างกัน “จริงๆ เราก็เป็นเหมือนเดิม นิสัยเหมือนเดิม เพียงแต่ว่า ก่อนหน้านี้เวลาเราไปเที่ยวไหนก็จะกังวลนู่นนี่ รอเพื่อนไปให้ครบ รอคนอื่นมาเป็นผู้นำ ตอนนี้ไปเองก็ได้ เหมือนเขี่ยเส้นผมออกจากภูเขาที่คอยล้อมไม่ให้เราออกไปไหน” เรียกได้ว่าสิ่งที่ได้รับนั้นไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่กลับเป็นความกล้าที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
ภาพสวยๆ ของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
ก่อนหน้าที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ House ได้เริ่มต้นฉายที่งาน Third Class Citizen ก่อน ซึ่งเป็นกิจกรรมฉายภาพยนตร์ของกลุ่มนักทำหนังสั้นที่รวมตัวเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยหลังจากที่ฉายก็มีเสียงตอบรับที่ดีจนทั้งสองคาดไม่ถึงเลยทีเดียว “ฟีดแบ็กก็ดีเดินคาด มีคอมเมนต์หนึ่งที่ประทับใจมาก ตอนไปฉายที่เชียงใหม่ มีพี่คนหนึ่งที่ดูไม่ใช่เด็กแนววัยรุ่นเลย เป็นคนทำงานทั่วไป เขามาบอกว่าตอนแรกไม่แน่ใจว่าจะมาดูหนังเรื่องนี้ไหม เป็นหนังอินดี้หรือเปล่า กลัวดูไม่รู้เรื่อง แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจมาดู เพราะว่าเส้นทางสายทรานส์ไซบีเรียเป็นเส้นทางที่เขาวาดฝันว่าอยากจะไปเที่ยวสักครั้งหนึ่ง เขาดูแล้วรู้สึกไม่ผิดหวังอินและเข้าใจ เป็นคอมเมนต์ที่จริงใจกับเรา ทำให้รู้สึกมีกำลังใจกับงานชิ้นนี้มาก”
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทั้งสองตัดสินใจนำ ‘Wish Us Luck ขอให้เราโชคดี’ เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ House ในที่สุด หลังจากลังเลอยู่นาน เพราะกลัวเสียงตอบรับที่ไม่ดี “มันคือสิ่งที่เราอยากทำ แต่ไม่รู้ว่าคนอยากดูหรือเปล่า เพราะค่อนข้างเป็นหนังที่ส่วนตัวมาก และเราก็ไม่ได้เป็นที่รู้จัก คิดเรื่องนี้อยู่นานมาก พอถึงจุดหนึ่งก็ตัดสินใจฉาย เพราะถ้ามัวแต่คิดอยู่กับตัวเองก็ไม่มีทางได้คำตอบ สู้เรายอมรับผลไม่ว่าจะบวกหรือลบดีกว่า”
ปก Wish Us Luck ขอให้เราโชคดี เวอร์ชันหนังสือ
และหลังจากนั้นอีกเกือบหนึ่งปีต่อมา แฟนๆ ของ ‘Wish Us Luck ขอให้เราโชคดี’ ก็ได้รับข่าวดี เมื่อแวววรรณได้ถ่ายทอดเรื่องราวจากทริปนี้ออกมาในรูปแบบหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กในชื่อเดียวกับภาพยนตร์ “ต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งในการตกตะกอนสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้น ผ่านเวลาไปปีหนึ่งถึงจะค่อยเขียนหนังสือออกมา ประเด็นในหนังกับหนังสือจึงไม่เหมือนกัน”
นอกจากผลงานภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้แล้ว ผลงานชิ้นต่อมาของสองฝาแฝดสาวคือวิดีโอรายการสอนทำอาหารที่ชื่อว่า ‘C.I.Y Cook It Yourself’ ของสำนักพิมพ์แสงแดด ซึ่งเป็นธุรกิจของที่บ้านเธอเอง โดยนำเอาทักษะด้านภาพยนตร์มาผสานกับการทำอาหาร จนออกมาเป็นรายการสอนทำอาหารที่ไม่เหมือนรายการทั่วไป
“ก่อนหน้าสำนักพิมพ์แสงแดดทำสื่อสิ่งพิมพ์มาตลอด แต่เรารู้สึกว่ายุคนี้ค่อนข้างจะได้รับความสนใจน้อยลง เราต้องมีสื่ออื่นบ้าง เพื่อรองรับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เราก็เลยอยากทำงานวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เน้นความครีเอทีฟให้เห็นความเป็นศิลปะที่ไม่ใช่แค่อาหาร” แววเล่าถึงที่มา วรรณจึงเสริมถึงวิธีคิดว่า “วิธีคิดก็ต่างกัน เพราะไม่ได้เล่าเรื่องอะไรมาก เราจะมองอาหารเป็นภาพมากกว่า เราเป็นคนชอบกิน เราก็เติบโตมากับอาหาร บางทีเรารู้สึกว่าถ้าเราถ่ายแบบมีกล้องสองมุมตัดสลับกัน เหมือนคนดูยังไม่ได้เข้าไปประกอบอาหารเอง เลยต้องมีช็อตที่มีมือแทนสายตาคนดูด้วย”
หนังสือเล่มล่าสุดของแวววรรณ
และล่าสุดการเดินทางอีกครั้งของพวกเธอก็ได้รับการถ่ายทอดออกมาในหนังสืออีกเล่มที่ชื่อว่า ‘HOKKAIDO HOME-MADE’ ที่เปลี่ยนเส้นทางไปยังประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับครอบครัว “หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องของทริปครอบครัวที่เดินทางไปฮอกไกโด เพราะว่าหลังจาก Wish Us Luck ทุกคนก็จะถามว่าจะเดินทางไปไหนอีก กลายเป็นว่าเราได้ไปทริปกับครอบครัวพ่อแม่หลานตั้ง 12 คน ซึ่งรู้สึกว่าไม่เท่เลย แต่เรารู้สึกว่านี่คือทริปสามัญที่ทุกคนไปกัน เพราะฉะนั้นหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ไกด์บุ๊ก แต่เป็นหนังสือที่บอกเล่าความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวผ่านการเดินทาง อย่างพ่อแม่ยิ่งแก่ยิ่งทำไมใจร้อนมากขึ้น หรือหลานที่เพิ่งเกิดมาในยุคที่มีอินเทอร์เน็ตแล้ว เขาก็จะมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง จะมีเรื่องราวของหลายเจเนอเรชันที่แตกต่างกัน” แวววรรณผู้เขียนหนังสือเล่ายิ้มๆ ถึงผลงานชิ้นล่าสุด
แม้การเดินทางของ วรรณแววและแวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ จะถึงที่หมายปลายทางไปนานแล้ว แต่จากผลงานทั้งหลายที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าการเดินทางของสองสาวฝาแฝดคู่นี้ยังไม่สิ้นสุดแน่นอน
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย