ทางสายกลาง ทางสายพิณของ คำเม้า เปิดถนน
ในอดีตนั้น การเป็นศิลปินนักดนตรีมักจะถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีเกียรติ คำว่า ‘เต้นกินรำกิน’ เป็นคำสบประมาทอย่างรุนแรงที่ทำให้นักดนตรีหลายคนต้องหันเหออกจากเส้นทางนี้ ไปนักต่อนักแล้ว มีเพียงแค่ไม่กี่คนที่มุ่งมั่นพิสูจน์ให้ได้เห็นว่า การเป็นศิลปินนักดนตรีคืออาชีพที่มีเกียรติอย่างแท้จริง
และหนึ่งในนั้นคือเส้นทางดนตรีของศิลปินอย่าง คำเม้า เปิดถนน ปรมาจารย์พิณแห่งเมืองร้อยเอ็ด อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงได้จัดกิจกรรม TK Music Ed. 2016: บนเส้นทางสายพิณ ของ คำเม้า เปิดถนน กับเรื่องราวชีวิตบนเส้นทางสายพิณที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ผ่านอุปสรรคมากมาย ก่อนจะนำพาดนตรีพื้นบ้านอีสานให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก
จุดเริ่มต้นบนเส้นทางสายพิณ
คำเม้า เปิดถนน มีชื่อจริงว่า พิณเพชร ทิพย์ประเสริฐ เป็นชาวร้อยเอ็ดโดยกำเนิด ชีวิตในวัยเด็กนั้นเรียกได้ว่ามีเสียงพิณบรรเลงให้ได้ยินอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากพิณเป็นเสียงดนตรีพื้นบ้านของภาคอีสาน ประกอบกับพ่อที่เป็นหมอพิณรักษาคนป่วย เสียงพิณจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต“พ่อดีดพิณตั้งแต่หนุ่ม สมัยจีบแม่ใหม่ๆ คือได้ยินเสียงพิณตั้งแต่อยู่ในท้อง และพ่อเป็นหมอพิณรักษาคนป่วย แต่ไม่ได้คิดว่าจะเล่นเป็นอาชีพ หาเงินหาทอง เล่นเอาแค่ความสนุก ถ้าเขามีงานก็เรียกไปเล่น ไม่มีงานก็เล่นอยู่บ้านกับพ่อแม่”
จากการเล่นพิณแค่เอาสนุก ไม่ได้คิดจะเล่นเป็นอาชีพหรืออยากเป็นศิลปิน จึงทำให้คำเม้าเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อมาหางานทำเหมือนอย่างที่คนหนุ่มชาวอีสานเลือก แต่ด้วยความรักในเสียงพิณ เขาจึงหยิบพิณติดตัวมาด้วย “เพิ่ง รู้ว่าพิณหาเงินได้ตอนอายุสิบแปด ตอนนั้นลงมากรุงเทพฯ ทำงานก่อสร้างที่สำโรง พอดีเอาพิณมาด้วยแล้วมีคนเห็นว่าเล่นพิณได้ เลยได้ขึ้นไปดีดพิณครั้งแรกที่ห้างอิมพีเรียล ซึ่งผมทำงานได้วันละสามสิบห้าบาท แต่ไปดีดพิณคืนนั้นคืนเดียวได้ห้าหกร้อยบาท เลยรู้ว่าการดีดพิณก็ทำเป็นอาชีพได้เหมือนกัน” คำเม้าเล่าถึงเส้นทางสายพิณที่ได้เลือกแล้ว
หลังจากนั้นคำเม้าก็เดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพฯ และร้อยเอ็ดอยู่หลายปีเพื่อทำงาน ขณะเดียวกันก็มีงานประกวดดีดพิณได้เงินรางวัลมาบ้าง แต่ยังไม่ได้ทำเป็นอาชีพ “มีเพื่อนมาบอกว่าถ้าเล่นพิณได้อย่างนี้ ไม่ต้องทำงานหรอก เราก็ถามจะเล่นยังไงให้ได้เงิน เขาก็บอกต้องดีดเปิดหมวกขอทาน ผมไม่ชอบคำว่า ขอทาน ผมก็ไม่เอา จนมีหมอลำมาเล่นที่ร้านอาหาร เขาก็เรียกผมไปดีดพิณกับเขา แต่ช่วงนั้นก็ยังไม่ได้เล่นเป็นอาชีพ ยังทำงานอย่างอื่นอยู่”
ด้วยฝีมือการเล่นพิณที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็กและเสียงพิณที่ไม่เคยห่างกาย การจะยึดอาชีพเป็นศิลปินเล่นพิณจึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขา จนกระทั่งได้มีอัลบั้มเป็นของตนเองเป็นครั้งแรก แม้ว่าอัลบั้มแรกๆ จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ด้วยทักษะการดีดพิณและทักษะด้านดนตรีที่พัฒนาไม่เคยหยุด อัลบั้มถัดมาคำเม้าได้คิดลายพิณใหม่ๆ มาใช้บรรเลงแทนเสียงร้อง ไปจนถึงการทดลองนำดนตรีสากลมาผสมผสาน โดยไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของลายพิณแบบอีสานดั้งเดิม จึงส่งให้ชื่อของ คำเม้า เปิดถนน เริ่มกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ทางสายกลาง ทางสายพิณ
การเล่นพิณของคำเม้าไม่ใช่เพียงแค่การบรรเลงเสียงพิณเพื่อสร้างความบันเทิง เพียงอย่างเดียว แต่การเล่นพิณของเขายังสะท้อนถึงวิถีชีวิตในแบบที่เขายึดมั่น นั่นคือทางสายกลางตามหลักพระพุทธศาสนา “เวลาเหนื่อยๆ ก็จะดีดพิณกล่อมจิตใจตัวเอง พ่อบอกว่าพิณเอาติดตัวไปไหนด้วย เพราะพิณเป็นของสูงที่พระอินทร์ใช้ดีดให้พระพุทธเจ้าฟัง ทำให้จิตใจดี ไม่มีศัตรู มีเพื่อนมีฝูง กินอยู่กับพิณนอนอยู่กับพิณมาสามสิบกว่าปีแล้ว”
พิณเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ซึ่งในตำนานกล่าวถึงพิณกับทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ที่พระอินทร์เคยดีดพิณให้พระพุทธเจ้าขณะที่กำลังบำเพ็ญทุกกรกิริยา โดยสายพิณเส้นหนึ่งที่ตึงดีดก็ขาด สายที่หย่อนก็ดีดไม่เพราะ ส่วนอีกสายที่ตั้งมาอย่างพอดีก็ไพเราะกังวาล พระพุทธเจ้าจึงเดินทางสายกลาง
“ในจักรวาลนี้ถ้าไม่อยู่ทางสายกลางนี้ก็ไม่รอดสักอย่าง อากาศไม่พอดีก็อยู่ไม่ได้ น้ำไม่พอดีก็ทำอะไรไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องพอดีหมด เหมือนกับสายพิณของพระอินทร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจผมมาตลอด” คำเม้ากล่าวถึงเส้นทางสายกลางที่เขาถอดหลักคิดมาจากพิณที่เขาเล่นอยู่นั่น เอง
พิณอีสานอะราวด์เดอะเวิลด์
แน่นอนอยู่แล้วว่า ดนตรีพื้นบ้านของอีสานถูกหูถูกจริตชาวอีสานอยู่แล้ว เพราะเป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กันมาช้านาน แต่คงไม่มีใครคาดคิดว่าดนตรีอย่างหมอลำจะไปถูกหูชาวต่างชาติที่ไม่รู้จัก วัฒนธรรมของอีสานเลยสักนิด
“เมื่อสามสี่ปีก่อน ดีเจมาฟต์ไซ (ณัฐพล เสียงสุคนธ์) ติดต่อมาว่าอยากทำวงดนตรีเกี่ยวกับพิณ ไม่ต้องเอาคนร้อง ฝรั่งจะเข้าใจดนตรีของเราได้ เพราะไม่ต้องแปลเนื้อร้อง ซ้อมกันไม่กี่เดือนก็ได้ไปเล่นที่เมืองนอก” คำเม้าหมายถึงวง The Paradise Bangkok Molam International Band วงดนตรีที่นำเอาความเป็นไทยและเทศผสมผสานได้อย่างลงตัว ซึ่งได้ไปตระเวนเล่นในเทศกาลดนตรีทั้งยุโรป อเมริกา และในเอเชียอีกหลายประเทศ
“พิณก็ยังเป็นพิณเหมือนเดิม แต่จังหวะมายังไง เบสใส่ไปเท่าไร กล่องเท่าไร มันก็มาอีกแบบหนึ่ง เราก็เล่นของเรา แต่อาจจะเล่นไม่เหมือนที่เราเล่นประจำ” คำเม้าอธิบายถึงการผสมผสานกันครึ่งทางระหว่างเครื่องดนตรีไทยพื้นบ้านและ เครื่องดนตรีสากลที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวต่างชาติ
และเมื่อวงเริ่มเป็นกระแสและเป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงทำให้หลายคนเริ่มสนใจอยากศึกษาหัดเล่นพิณบ้าง ซึ่งคำเม้าเองก็ยังเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย “ต้องชอบเพลงหมอลำก่อน ต้องศึกษาว่าโบราณมายังไง ศึกษาว่าเป็นมรดกของไทย ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ทุกวันนี้อยากให้ต่างชาติเข้ามาศึกษาของเรามากกว่านี้ ส่วนมากเราจะไปศึกษาของเขามากกว่า” เขาได้แนะนำถึงคนที่สนใจว่าต้องมีใจรักที่อยากจะเป็นนักดนตรีหมอลำจริงๆ
จากจุดเริ่มต้นที่คำเม้าเติบโตมากับเสียงพิณ ที่ถึงแม้ในช่วงแรกจะยังไม่ได้เลือกการเล่นพิณให้เป็นอาชีพ แต่เมื่อมั่นใจกับเส้นทางสายพิณที่เลือกแล้ว ด้วยทักษะด้านดนตรีและการยึดมั่นในหลักทางสายกลางก็ได้นำพาให้เขาประสบความ สำเร็จและพิสูจน์ว่าอาชีพนักดนตรีเป็นอาชีพที่มีเกียรติ เปิดทางให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นคุณค่าของดนตรีพื้นบ้านและนำออกไปเผยแพร่สู่คน ฟังทั่วโลกได้เช่นกัน
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย