สนุกสนาน ฮาเฮ ลิเกร่วมสมัย
ในบรรดานาฏศิลป์ไทย “ลิเก” คือศิลปะการแสดงที่คนไทยคุ้นเคยอันดับต้นๆ ไม่ว่าจะจากรายการโทรทัศน์ ละคร เพลงลูกทุ่ง หลายคนที่ยังไม่เคยดูลิเกอย่างจริงจัง อาจคิดว่าลิเกเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ คนสูงวัย เป็นการแสดงที่น่าเบื่อและดูยาก เชย ไม่เหมาะกับคนสมัยใหม่
นั่นอาจเป็นเพราะการที่ไม่ได้มาสัมผัสกับลิเกอย่างแท้จริง เพราะการแสดงประเภทนี้แม้จะแต่งตัวแพรวพราวเหมือนยุคก่อนๆ แต่เนื้อเรื่องกลับมีความ “ร่วมสมัย” ให้การแสดงไม่ได้เข้าใจยากหรือไม่ทันยุคทันสมัยอย่างที่คิดและความคิดที่ว่า ลิเกเป็นเรื่องเชยนั้น ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน เพราะยังมีคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจเป็นลิเกพร้อมที่จะสืบสานนาฏศิลป์ของไทยให้ คงอยู่ต่อไป
ความเป็นมาของการแสดงลิเก
ลิเก เป็นนาฏศิลป์ไทยที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย คำว่า ลิเก เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษา ฮิบรู ว่า ซาคูร (Zakhur) ซึ่งหมายถึง การสวดสรรเสริญพระเจ้าในศาสนายูดาย หรือยิว มาแต่โบราณหลายพันปี เมื่อการสวดนี้แพร่หลายมาถึงเมืองไทย การเรียกก็เปลี่ยนเป็น ยิเก หรือ ยี่เก (Yikay) โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเรียกว่า ลิเก (Likay) และใช้เรียกอย่างเป็นทางการตั้งแต่นั้นมา ส่วนคำว่า ยี่เก ยังคงใช้เรียกกันอยู่
ลิเก เป็นการแสดงที่ผู้แสดงเจรจาร้องและรำตามเนื้อเรื่อง ที่มาจากวรรณคดีไทยที่มีชื่อเสียง หรือเป็นเรื่องที่คิดขึ้นมาใหม่ก็ได้ มีวงดนตรีปี่พาทย์บรรเลงประกอบการแสดง โดยผู้แสดงจะสวมชุดไทยประยุกต์ที่ประดับตกแต่งให้มีความวิจิตรแวววาว
และเนื่องจากการแสดงประเภทนี้มีมายาวนานและมีอยู่หลายภูมิภาค ลิเกจึงแบ่งได้ออกเป็นหลายประเภท เช่น “ลิเกป่า” ที่ได้รับความนิยมทางภาคใต้ การแสดงบางอย่างมีความคล้ายกับมโนราห์ “ลิเกลูกบท” ซึ่งเป็นการแสดงผสมกับการขับร้องและบรรเลงเพลงลูกบท ใช้เครื่องดนตรีปี่พาทย์ประกอบแทนรำมะนา แต่งกายตามที่นิยมในสมัยนั้น ผู้แสดงเป็นชายล้วน “ลิเกทรงเครื่อง” มีท่ารำเป็นระเบียบแบบแผน แต่งตัวคล้ายละครรำ มีการออกแขกก่อนแสดงตามเนื้อเรื่อง ลิเกที่แสดงจนในปัจจุบันเป็นลิเกประเภทนี้
โดยขั้นตอนการแสดงลิเกจะเริ่มต้นจากการโหมโรง หรือประโคมดนตรีวงปี่พาทย์เพื่อแสดงความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้เกิดความเป็นสิริมงคล และเพื่อเป็นการประกาศให้ชาวบ้านรู้ว่ากำลังจะมีการแสดงลิเกขึ้น ก่อนจะมีการไหว้ครู รำบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ออกแขกแนะนำเรื่องที่จะแสดง ขอบคุณเจ้าภาพ และอวยพรผู้ชม การแสดงลิเกจึงจะเริ่มต้นขึ้น
น้องนาย คนรุ่นใหม่หัวใจลิเก
สิ่งที่ทำให้ลิเกยังคงอยู่ต่อไปได้ คือบุคคลสองกลุ่ม หนึ่งคือผู้ชม และสองคือผู้แสดง
หากลิเกเป็นเรื่องของคนสูงวัย วันหนึ่งลิเกอาจจะเป็นเพียงนาฏศิลป์ที่ถูกบันทึกไว้เพื่อเปิดให้คนรุ่นหลัง ได้ศึกษาอดีตเท่านั้น แต่เพราะยังมีกลุ่มคนที่ชื่นชอบและพร้อมจะสานต่อลิเก การแสดงนี้จึงมีสายป่านยาวต่อไป
“น้องนาย - มงคล สะอาดบุญญพัฒน์” หนุ่มวัย 28 ปี ชาวจังหวัดนครสวรรค์ และ The Comedian Thailand Season 1 คือ อีกหนึ่งคนที่รักและต้องการสานต่อการแสดงลิเกไว้ ความสนใจลิเกของน้องนาย เริ่มมาจากการมีครอบครัวเป็นลิเก ความเป็นลิเกของเขาจึงผ่านมาทางสายเลือดโดยตรงและการซึมซับจากสิ่งรอบตัวมา ตั้งแต่เด็ก ถึงตอนแรกเขาจะไม่ได้รู้สึกหลงรักลิเก แต่เมื่อมีเหตุการณ์จำเป็นที่ทำให้เขาต้องแสดงลิเกแทนพ่อ น้องนายก็สามารถทำได้ดีจนได้เป็นพระเอกประจำคณะ ก่อนที่จะขอเปลี่ยนแนวทางมาเป็นตลกของคณะแทน เพราะตัวเองเป็นคนสนุกสนาน
เสน่ห์ของลิเกสำหรับน้องนาย คือการได้ร้องได้รำ และการแสดงสดแบบไม่มีผู้กำกับสั่งคัต ทุกการแสดงบนเวทีจึงมีแค่เทคเดียว กลายเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของผู้แสดงว่าจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อ เกิดขึ้นได้อย่างไร จะเล่นกับคนดูแต่ละกลุ่มอย่างไรให้เขาสนุกสนานไปกับการแสดง และแม้การแสดงจะเป็นเรื่องเดิม แต่การเจอเหตุการณ์ที่ทำให้มีการปรับบทอยู่ทุกครั้งที่ทำการแสดง ก็ได้กลายมาเป็นเสน่ห์ของการแสดงประเภทนี้
จริงอยู่ ที่ลิเกในสมัยนี้ไม่เป็นที่นิยมเท่าสมัยก่อน แต่ที่น้องนายยังคงมุ่งมั่นที่จะสืบสานงานด้านนี้ต่อไป เพราะเขาเชื่อว่าลิเกเป็นเรื่องไม่น่าเบื่อ และ “ความร่วมสมัย” ที่เข้ามาในลิเกนี่เอง ที่จะทำให้ลิเกยังคงอยู่ต่อไป
ลิเกกับความร่วมสมัย
“ความร่วมสมัย” หมายถึง การที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดยังคงเกี่ยวข้องกับคนในยุคสมัยปัจจุบัน อย่าง “ลิเกร่วมสมัย” ที่มีเนื้อเรื่องที่มีความทันต่อยุคสมัย ผู้ชมมีความรู้สึกเกี่ยวข้องกับละครเรื่องนั้นๆ เมื่อผู้ชมสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวมาสู่ตัวเองได้ ก็จะทำให้เกิดความสนใจตั้งแต่เริ่มต้นจนจบเรื่อง ลิเกในยุคปัจจุบันจึงไม่ได้นำเพียงแค่นำเรื่องราววรรณคดีมาแสดง แต่ผูกเรื่องราวใหม่ให้ทันต่อยุคต่อความชื่นชอบในสมัยนั้นๆ และปรับขั้นตอนการแสดงให้มีความกระชับขึ้น ปรับเครื่องแต่งกายให้มีความทันสมัย เช่น สวมวิกผมสีสันสดใส ปรับเครื่องแต่งกายให้มีความเป็นสากล เพิ่มผู้แสดงตลกและสอดแทรกบทสนทนาที่มีความสนุกสนาน ทำให้ลิเกธรรมดา กลายเป็นลิเกร่วมสมัย ที่ดูง่ายและไม่น่าเบื่อ
ความพยายามของลิเกในปัจจุบัน ที่จะทำให้คนดูกลับมาสนใจนั้น จึงไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่ว่า ลิเกเป็นศิลปะของชนชาติไทยที่ทุกคนต้องร่วมอนุรักษ์ไว้เท่านั้น แต่เพราะลิเกเป็นการแสดงที่มีความสนุกสนาน เรื่องราวสะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมของสังคมไทยขณะนั้น เพื่อให้ผู้ชมนำไปปรับใช้หรือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้ เพราะเมื่อลิเกเข้าไปอยู่ในหัวใจได้แล้ว การสืบสานเพื่อให้ลิเกคงอยู่ต่อไปถึงรุ่นลูกหลานก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
พี่ตองก้า