TK Reading Club ตอน วรรณกรรมแปล
หากพูดถึงวรรณกรรมแปลที่กำลังเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์อยู่ในขณะนี้ เชื่อว่า Fifty Shades of Grey (ฟิฟตี้เชดส์ออฟเกรย์) คงเป็นนวนิยายลำดับต้นๆ ที่คอวรรณกรรมแปล (อายุ 21+) นึกถึง เพราะนวนิยายเรื่องนี้ได้ชื่อว่าเป็น นวนิยายรักอีโรติกสุดเร่าร้อนแห่งศตวรรษที่ 21 และขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยยอดขายเกินกว่า 80 ล้านเล่มทั่วโลก!
TK Reading Club ประจำเดือนมีนาคม 2558 จึงไม่รอช้า จัดกิจกรรมเชิญชวนคอวรรณกรรมแปลมาล้อมวงพูดคุยกับ คุณนันทพร ปีเลย์ เจ้าของผลงานแปลสุดฮ็อท ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการแปลมากว่า 20 ปี เธอพร้อมจะมาบอกเล่าเบื้องหลังการทำงานแปลนวนิยายสุดแซ่บเล่มนี้ และเผยทุกแง่มุมของชีวิตนักแปลอย่างหมดเปลือก
การเติบโตมาในครอบครัวนัก อ่าน ปลูกฝังให้คุณนันทพรชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก และเริ่มสนใจการแปลอย่างจริงจัง เมื่อได้เรียนวิชาการแปล ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ปี 3 ผลงานแปลเล่มแรกของเธอคือหนังสือเกมปริศนาง่ายๆ ก่อนจะขยับขยายมาสู่งานแปลที่ต้องใช้ทักษะมากขึ้นอย่างนวนิยาย
ขั้นตอนการแปลนวนิยาย
“ส่วนใหญ่ต้องพยายามส่งใบสมัครไปตามสำนักพิมพ์ แล้วเขาจะให้แบบทดสอบมาลองแปล หรือนักแปลบางคนอาจใช้วิธีหาหนังสือที่สนใจและยังไม่มีคนแปล ลองแปลส่งไปให้สำนักพิมพ์พิจารณา” คุณนันทพรแบ่งประสบการณ์แก่มือใหม่ที่อยากไต่เต้าสู่นักแปลมืออาชีพ “นวนิยายหนึ่งเล่มสำนักพิมพ์จะให้เวลาแปลประมาณ 2-3 เดือน แต่ส่วนใหญ่เราทำช้ากว่านั้น เพราะทำงานประจำด้วย บางคน 1-2 เดือนเขาก็แปลกันเสร็จแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเนื้อหา นักแปลบางคนจะใช้วิธีอ่านให้จบทั้งเล่มก่อนหนึ่งรอบแล้วค่อยลงมือแปล ส่วนวิธีทำงานของเราถ้าเล่มไหนที่เป็นงานด่วนมาก ก็มักจะอ่านแบบข้ามๆ หรืออ่านเรื่องย่อตามเว็บไซต์ เพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาโดยรวม ก่อนจะมาไล่แปลไปทีละบท แต่จริงๆ ถ้าจะให้ดีควรอ่านให้จบหนึ่งรอบก่อน จะได้เข้าใจว่าความสัมพันธ์ตัวละครเป็นยังไง I และ You ในแต่ละที่หมายถึงใคร เพราะจุดที่พลาดง่ายคือเนื้อหาส่วนที่ตัวละครสองคนคุยสลับกันไปมา ตรงนี้นักแปลต้องรอบคอบมากเป็นพิเศษ”
นอกจากนี้คุณนันทพรยังกล่าวเสริมอีกว่า เวลาแปลจะใช้พจนานุกรมเล่มเดียวไม่ได้ เพราะสำนวนบางอย่างไม่ได้มีในพจนานุกรมทุกเล่ม งานแปลบางชิ้นต้องเปิดพจนานุกรมหลายเล่ม หรือค้นข้อมูลออนไลน์เพิ่มเติม เนื่องจากนักเขียนฝั่งอเมริกา ยุโรป หรือออสเตรเลีย บางทีก็ใช้ภาษาแตกต่างกัน นักแปลจึงถือว่าเป็นอาชีพที่เรียนรู้ไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่มีสิ้นสุด อย่างที่คุณนันทพรบอกไว้ว่า “คนเราถ้าทำงานแล้วคิดว่าตัวเองเก่ง...คือจบ เพราะคุณจะไม่พัฒนาแล้ว”
อุปสรรคในการแปล Fifty Shades of Grey
ความยากในการแปลนวนิยายอีโรติก อยู่ที่การเลือกใช้คำให้สื่อความหมายตรงกับต้นฉบับ ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามแปลไม่ให้โป๊เกินไป จนขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะอาจผิด พรบ.จดแจ้งการพิมพ์ แต่ก็ยังต้องตอบสนองต่ออารมณ์โรแมนซ์และแฟนตาซีของผู้อ่านได้ “ฉากรักบางส่วน เช่น ตอนพระเอกพานางเอกเข้าห้อง Red Room of Pain หรือส่วนที่พูดถึงเพศวิถีเยอะๆ และอุปกรณ์ทรมานต่างๆ บ.ก. เขาก็ตัดออกไปพอสมควร โดยรวมแล้วต้องพูดตรงๆ ว่าเวอร์ชั่นแปลไม่สามารถใช้คำแรงเท่าต้นฉบับได้ ซึ่งทำให้คนอ่านบางคนไม่ชอบ แต่ความยากในการทำงานคือเราไม่สามารถฟันธงได้ว่าศีลธรรมอันดีตามที่ระบุไว้ ใน พรบ. เขาอนุญาตให้วาบหวิวได้แค่ไหน เพราะเราไม่ใช่คนตัดสิน ไม่ใช่คนบังคับใช้กฎหมาย ในมุมของสำนักพิมพ์จึงต้องเซฟไว้ก่อนเพื่อไม่ให้หนังสือถูกแบน”
ส่วนคำศัพท์เฉพาะทางต่างๆ เกี่ยวกับอุปกรณ์ทรมานที่พระเอกใช้เพื่อเพิ่มอรรถรสทางเพศ ก็เป็นสิ่งที่ผู้แปลต้องศึกษาเพิ่มเติม รวมถึงข้อมูลบางอย่าง เช่น คำศัพท์เกี่ยวกับการเล่นเครื่องร่อน หรือ ฉากพระเอกขับเฮลิคอปเตอร์ ก็ต้องค้นหาข้อมูลให้ถูกต้องแม่นยำว่าภาษาที่เขาใช้กันจริงๆ ในแวดวงการบินเป็นยังไง เพื่อให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ไม่ใช่แปลโดยเน้นแค่ความสนุกสนานเพลิดเพลินเป็นหลักเท่านั้น
รายได้ของนักแปล
“รายได้ของนักแปลจะขึ้นอยู่กับสำนักพิมพ์ บางที่เป็นแบบเหมาจ่ายครั้งเดียว ถึงแม้มีการพิมพ์ซ้ำเขาก็ไม่แบ่งเปอร์เซ็นต์ให้นักแปลแล้ว แต่บางสำนักพิมพ์บางแห่งก็คิดตามเปอร์เซ็นต์ยอดพิมพ์ ถ้ามีการพิมพ์ซ้ำนักแปลก็ได้ค่าลิขสิทธิ์เพิ่ม” คุณนันทพรอธิบาย “ก่อนจะไปสมัครทำงานแปลกับสำนักพิมพ์ อย่าลืมหาข้อมูลล่วงหน้าว่าเขาจ่ายค่าตอบแทนแบบไหน ค่าตอบแทนคุ้มไหม จ่ายช้าหรือเปล่า สมัยนี้มีอินเทอร์เน็ต มีเว็บบอร์ด มีกลุ่มนักแปล นักแปลหน้าใหม่สามารถเข้าไปโพสต์ถามได้ว่ารับงานราคานี้สมเหตุสมผลไหม อย่างพ็อกเกตบุ๊คบางทีก็คิดเป็นหน้า นักแปลใหม่ๆ อาจได้สักหน้าละ 150 บาท หรือมากกว่านี้ ซึ่งจะคิดเป็นหน้าเอสี่และมีการกำหนดขนาดฟอนต์ที่ชัดเจน แต่ถ้าจ่ายเงินแบบนับคำส่วนใหญ่จะเป็นงานเอกสาร หรือบางคนคิดราคาเป็นไบท์ (Byte) เลยก็มี” ทางที่ดีนักแปลจึงควรสอบถามราคาให้แน่นอน และตกลงกับสำนักพิมพ์ให้เรียบร้อยก่อนรับงานทุกครั้ง
คุณสมบัติของนักแปลที่ดี
คุณนันทพรเผยเคล็ดลับว่า
1. นักแปลต้องมีความสามารถทางภาษาทั้งต้นทางและปลายทางดีเท่าๆ กัน เก่งเฉพาะภาษาใดภาษาหนึ่งไม่ได้ เพราะคุณจะไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้ดีพอ
2. ถ้ามีคำแปลกๆ หรือสำนวนที่ไม่คุ้น ควรสืบค้นจากหนังสือ อินเทอร์เน็ต หรือสอบถามจากผู้รู้ อย่างกรณีที่เราเคยเจอคือนักแปลคนหนึ่ง แปล Miranda Warning ว่า คำเตือนมิแรนด้า แต่ความหมายจริงๆ มันคือสิทธิของผู้ต้องหา เจอแบบนี้รู้เลยว่านักแปลทำงานไม่ละเอียดและไม่สืบค้น
3. นักแปลที่อ่านหนังสือเยอะ อ่านหลากหลายแนว ทั้งนิยาย วิชาการ บทความ สารคดี จะได้ประโยชน์มาก ควรอ่านงานคนอื่นบ้างเพื่อดูว่าเขาใช้ภาษายังไง และควรเสพสื่อหลายๆ อย่าง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง บางทีมันก็เอามาช่วยกับงานแปลได้ หลายครั้งมันทำให้เราประหยัดเวลาในการค้นหาข้อมูลไปได้เยอะ
4. ต้องละเอียดรอบคอบ การที่เคยทำงานบรรณาธิการมาก่อน ก็มีส่วนช่วยในการทำงานแปลเยอะเหมือนกัน เพราะมันทำให้เราต้องละเอียดมากขึ้น จริงๆ นักแปลทุกคนควรละเอียดอยู่แล้ว เคยมีกรณีหนึ่งในเว็บบอร์ดพันทิปเมื่อประมาณสิบปีก่อน ที่คนอ่านเขาเจอว่า นวนิยายแปลแนวสยองขวัญหนา 200 กว่าหน้า แปลผิด 800 กว่าจุด เหมือนกับบรรณาธิการก็ไม่ได้ตรวจทาน นี่เป็นกรณีตัวอย่างที่เราจำฝังใจเลยว่า จะหวังพึ่งกองบรรณาธิการอย่างเดียวไม่ได้ หน้าที่ของนักแปลต้องรับผิดชอบผลงานของตัวเองให้ดีที่สุดก่อนเป็นอันดับแรก
สุธาสินี เลิศวัชระสารกุล