สำหรับเด็กๆ หนังสือภาพเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดโลกการอ่าน เปิดประตูสู่จินตนาการ ที่พาเขาไปผจญภัยในดินแดนต่างๆ ขณะเดียวกันก็สอดแทรกความคิด หรือความรู้ที่มีประโยชน์ สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park จึงก้าวเข้ามาอยู่เบื้องหลังการทำหนังสือภาพสร้างสรรค์ชุดสื่อสาระท้องถิ่น ที่บอกเล่าเรื่องราวความงดงามของแต่ละจังหวัด ทั้ง ลำปาง ปัตตานี นราธิวาส ฉะเชิงเทรา ตราด พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน พิจิตร ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด สงขลา ภูเก็ต กระบี่ และนครราชสีมา ให้แต่ละจังหวัดมีหนังสือภาพท้องถิ่นสำหรับเด็กเป็นของตัวเอง และนี่คือเหตุผลที่เราอยากชวน คุณพ่อ คุณแม่ ครู ผู้ปกครอง ให้พาเด็กๆ มาอ่านหนังสือภาพด้วยกัน
1. หนังสือภาพที่สร้างสรรค์ให้เหมาะกับวัยของเด็กๆ ก่อนจะเลือกหนังสือให้อ่านสักเล่ม คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครู อาจเกิดความกังวลว่าหนังสือ เล่มนี้จะเหมาะกับวัยของเด็กไหม จะอ่านยาก มีภาพวาด หรือภาพถ่ายที่เข้าใจยากหรือเปล่า ดังนั้น หนังสือภาพในชุดสื่อสาระท้องถิ่น จึงมีการแบ่งหนังสือออกมาให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่อายุ 4 – 12 ปี ระดับช่วงชั้นอนุบาล - ประถมศึกษา รวมทั้งมีฉบับภาษาอังกฤษ สำหรับเด็กๆ ที่อยากฝึกภาษาด้วย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ สามารถชักชวนให้ลูกอ่านไปพร้อมกันได้ พร้อมกันนี้ ในแต่ละเล่ม คำนึงถึงความสัมพันธ์ของสถาบันครอบครัว ผู้ปกครองกับเด็กๆ และสถาบันการศึกษา ครูกับนักเรียน จึงมีคำแนะนำต่างๆ เช่น ชวนเด็กๆ อ่านอย่างไรให้สนุก หรือชวนเด็กๆ ทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง อย่างในหนังสือประเพณีแสนงาม ของจังหวัดลำปาง พาไปรู้จักกับ ‘ตุงไส้หมู’ สิ่งที่นิยมใช้ปักบนเจดีย์ทรายคู่กับตุง 12 ราศี เพื่อบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี พระธาตุประจำปีเกิด และถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งครูหรือผู้ปกครอง สามารถจัดเวิร์กชอป สอนเด็กๆ ประดิษฐ์ตุงไส้หมูขึ้นมาเองได้ ผ่านขั้นตอนการทำในหนังสือ นอกจากนี้ในแต่ละจังหวัด ยังมีคู่มือสร้างสรรค์จากสาระท้องถิ่นอีก 1 เล่ม ถือเป็นคู่มือให้คุณครู พาเด็กมาอ่าน แล้วออกไปเล่นสนุกกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นของตัวเองได้อีกมากมาย 2. ภูมิใจกับภูมิปัญญาในท้องถิ่นของตนเอง ด้านเนื้อหาภายในหนังสือภาพชุดสาระท้องถิ่น ได้บอกเล่าเรื่องราว เอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต อาหารการกิน ขนม ของเล่น และสัตว์ประจำถิ่น ซึ่งขณะอ่าน เด็กๆ จะไม่รู้สึกน่าเบื่อ หรือไม่น่าสนใจ เพราะด้วยเทคนิคการเขียน และการทำภาพประกอบ จะเหมือนพาเด็กๆ ออกไปผจญภัยในนิทาน หรือการ์ตูน กับแก๊งเพื่อนวัยซน ที่ช่วยกันตะลุยผ่านด่านไปเรื่อยๆ โดยมีฉากหลังเป็นสภาพแวดล้อมอันแสนคุ้นเคย อย่างเช่น หนังสือบ้านฉัน บ้านเธอ (ปัตตานีกีตอ) ของจังหวัดปัตตานี พาไปรู้จักสาหร่ายผมนาง ที่ชาวบ้านนิยมนำไปทำยำสาหร่าย เป็นอาหารว่างที่มีรสเปรี้ยวนำ หวานตาม และเผ็ดนิดๆ ซึ่งพอ อ่านแล้วอยากลองกินบ้างเลย เมื่ออ่านจบแล้ว สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ โดยไม่รู้ตัว คือสายตาที่มองเห็นคุณค่าความเป็นท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น แม้เมื่อก่อนอาจจะมองข้ามไป แต่วันนี้จะเกิดแรงบันดาลใจในการอยากเก็บรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ 3. เขียนและวาด โดยนักเขียนและนักวาดภาพประกอบชื่อดัง วิธีการเลือกนักเขียนและนัดวาดภาพประกอบ หัวใจสำคัญคือการเลือกคนในพื้นที่ เกิดและเติบโตในท้องถิ่นนั้นๆ และเหมาะกับสไตล์ของเรื่อง อย่างเช่น รศ. เกริก ยุ้นพันธ์ นักเขียนนิทานภาพสำหรับเด็ก อาจารย์ประจำสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และผู้ก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น ซึ่งเป็นชาวบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ลงมือเขียนนิทานร้อยกรอง เรื่อง ‘ยายเช้า ชวนเด็กๆ ไปเที่ยวแปดริ้ว’ ครูชีวัน วิสาสะ นักเขียนที่สร้าง ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ เจ้าห่านอารมณ์บ่จอยมาเป็นขวัญใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 20 ปี ก็มาเขียนเรื่อง อีเล้งเค้งโค้ง ไปตลาด....ไปตราด และ สมุทรสาคร สนุกสาคร ตุ๊บปอง - เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป นักเขียนหนังสือสำหรับเด็กมากว่า 80 เล่ม ได้เขียนเรื่อง ตุ๊กติ๊กกับตุ๊บปอง ไปเที่ยวพิษณุโลก ที่ใช้เทคนิคแต่งนิทานคำคล้องจอง ทำให้เมื่ออ่านออกเสียงจะสนุกยิ่งขึ้น เช่น “แอ่น แอ๊น ถึงเมืองสองแคว อ้ะแต่ ช้าแต่ อุ๊ย…เร็วจังเลย” รวมทั้งการดูแลเนื้อหาทั้งหมดโดยบรรณาธิการสำหรับเด็กมืออาชีพ แต้ว - ระพีพรรณ พัฒนาเวช ผู้ทำหนังสือสำหรับเด็กมากว่า 20 ปี ทำให้มั่นใจได้เลยว่าเป็นหนังสือภาพที่เหมาะกับเด็กไทย ผู้เขียนและผู้วาด ใช้ความทุ่มเท มุมมองละเอียดละอ่อน ลงพื้นที่ ไปเก็บข้อมูลในด้านต่างๆ มากกว่าการค้นหาจากอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถนำเสนอความเป็นปัจจุบัน และชีวิตของผู้คนให้ออกมาโลดแล่นในหนังสือภาพ รวมทั้งยังมองหาจุดเด่นของท้องถิ่นที่คนอื่นมองไม่เห็น เพื่อนำมาเสนอในรูปแบบที่เด็กๆ สามารถอ่านและเข้าใจได้ง่ายอีกด้วย 4. สร้างเสริมจินตนาการ พัฒนาการใช้ภาษา พัฒนาชีวิต เทคนิคการนำเสนอในหนังสือภาพชุดสาระท้องถิ่น ได้เปิดโอกาสให้ให้เด็กคิด จินตนาการ มีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเหตุผลหลัก ที่เด็กๆ ควรอ่านหนังสือนิทานตั้งแต่ยังเล็ก ยิ่งในด้านการใช้ภาษา สำหรับเล่มที่เหมาะกับเด็กเล็กอายุ 4-6 ขวบ ก็จะใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย และเน้นการใช้ภาพ ใช้สีเข้ามาช่วยอธิบาย เพื่อกระตุ้นจินตนาการมากขึ้น ส่วนเด็กที่อยู่ช่วงชั้นประถม จะได้เรียนรู้การใช้ภาษาที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง การเขียนผจญภัยที่ทำให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการคิดและตัดสินใจ ซึ่งกระบวนการนี้จะสอดแทรกคุณธรรรมและจริยธรรมเข้าไปอย่างแนบเนียนโดยเด็กๆ ไม่รู้ตัว หนังสือภาพสร้างสรรค์ชุดสื่อสาระท้องถิ่น สามารถอ่านได้ที่เครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ของแต่ละจังหวัด รวมทั้งอ่านอีบุ๊กผ่านแอปพลิเคชัน TK Park Online Library ห้องสมุดออนไลน์ของสถาบันอุทยานการเรียนรู้ เด็กๆ เลิกเรียนจากโรงเรียนแล้ว มาชวนอ่านหนังสือภาพด้วยกันนะ